หัวตะเข้ เขตลาดกระบัง ชุมชนริมน้ำย่านชานกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลเรียนรู้สร้าง “งานชิ้นแรก” ของค่ายสารคดี ครั้งที่ 13 จาก 25 นักเขียน 25 ช่างภาพ จับคู่กันสร้างสรรค์ผลงานคู่ละเรื่อง ต่อจากนี้คือผลงานผ่านคมเลนส์และปลายปากกาของผู้ได้ชื่อว่าเป็นคลื่นลูกใหม่แห่งค่าย “คนบันทึกสังคม”


ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 13
งานเขียนสารคดี ดีเด่น
อภิชยา ทองศรี-เขียน
แพรวระวี รุ่งเรืองสาคร-ภาพ

ชุมชนหัวตะเข้ : กราฟฟิตีสร้างสัมพันธ์

ข้อใดเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของศิลปะ

1) ความสวยงาม 2) แรงบันดาลใจ 3) แนวคิด 4) ไม่มีข้อใดถูก

หากเจอคำถามแบบนี้ ประมาณสามในสี่ของคนในห้องส่ง 100 คนอาจเลือกตอบ “ความสวยงาม” กันหมด แต่ศิลปะมีค่าเท่าที่ตาเห็นได้เท่านั้นหรือ คำถามนี้พาเราออกเดินทางสู่หัวตะเข้ ชุมชนเก่าที่สอนให้เราชื่นชมศิลปะในมุมที่ต่างออกไป ในสถานที่ที่อุดมไปด้วยความหลากหลายแห่งนี้ ผู้คนอยู่กันอย่างมีศิลปะเป็นตัวเชื่อม

สำหรับย่านชานเมืองอย่างลาดกระบัง ที่เมื่อได้ยินชื่อหลายคนคงนึกถึงสถานที่สำคัญอยู่ 2 แห่งคือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสนามบินสุวรรณภูมิ ใครจะไปนึกว่าในซอกหลืบแสนลึกลับของซอยลาดกระบัง 17 จะมีชุมชนบ้านไม้โบราณ แหล่งท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์แบบเก่า อย่าง “ชุมชนหัวตะเข้” ซ่อนอยู่

ชื่อจริงของชุมชนนี้คือ หลวงพรต-ท่านเลี่ยม แต่ถูกเรียกติดปากไปแล้วว่าหัวตะเข้ สาเหตุมาจากเรื่องเล่าสมัยก่อนว่าย่านนี้มีจระเข้ชุกชุม และครั้งขุดคลองสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อเชื่อมคลองพระโขนงกับคลองฉะเชิงเทราก็เจอกะโหลกจระเข้เข้า ทำให้ชาวบ้านนำกะโหลกนี้ไปไว้ที่ศาลเจ้าหัวตะเข้ และนับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพื้นที่นับแต่นั้นมา

เราเริ่มการเดินทางในตอนเช้าช่วงที่แดดยังไม่ร้อนจัด เดินลัดเลาะจากปากซอยลาดกระบัง 17 เข้ามาด้านใน แม้จะไม่แน่ใจนักว่าตัวตลาดหัวตะเข้ตั้งอยู่ส่วนใดของชุมชน แต่ก็เลือกเดินตามชาวบ้านแถวนั้น จนไปเจอซอยเล็กๆ ในมุมลึกลับด้านซ้ายของถนน เมื่อเลี้ยวเข้าไปในซอย ตาของเราก็จับเข้ากับภาพของสะพานคอนกรีต มองขึ้นไปเรื่อยจนเห็นสิ่งที่ทำให้โล่งใจว่ามาถูกที่ นั่นคือป้ายพื้นสีเขียวหม่นที่มีร่องรอยแห่งความสึกหรอจากลม ฝน และเวลา บนป้ายปรากฏข้อความว่า

“ชุมชนหลวงพรต-ท่านเลี่ยม ยินดีต้อนรับ”

เดินขึ้นมาถึงจุดกึ่งกลางของสะพานที่ทอดสูงเชื่อมต่อคลองสองฝั่ง เราอดไม่ได้ที่จะหันไปมองทัศนียภาพรอบข้าง ภาพของบ้านไม้กับคลองที่ตั้งเคียงคู่กันเป็นภาพหายากในป่าคอนกรีตอย่างกรุงเทพฯ แต่เมื่อหันไปทางฝั่งที่เราข้ามมา บนกำแพงของอาคารเก่ากลับมีภาพกราฟฟิตีของเห้งเจีย หนึ่งในตัวละครเอกจากเรื่องไซอิ๋ว นิยายคลาสสิกของจีน กำลังขี่อยู่บนตัวจระเข้ตัวใหญ่ เกิดความสงสัยขึ้นเล็กน้อยในหัวของเรา ทำไมถึงมีภาพกราฟฟิตีสมัยใหม่อยู่ในแถบชุมชนเก่าอย่างนี้ได้นะ เราทดความสงสัยไว้ในใจก่อนตัดสินใจเดินต่อ

เมื่อพ้นเขตของสะพาน ความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นคงเหมือนพระเอกหนังเรื่องเจาะเวลาหาอดีต (Back to the Future) ภาพตรงหน้าเหมือนหลุดมาจากหนังสือรวบรวมภาพชุมชนสมัยเก่าไม่มีผิดเพี้ยน ระดับความตื่นเต้นยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อได้เดินสำรวจรอบๆ

ทอดสายตาดูจากระยะไกล สิ่งแรกของชุมชนที่ดึงดูดสายตาคือ บ้านไม้ที่มุงด้วยหลังคาสังกะสีเก่า บางช่วงใหม่หน่อยก็เป็นสีขาว แต่ส่วนใหญ่ก็ผ่านกาลเวลามานานจนกลายเป็นสีแดงอิฐสวยเด่นไปแล้ว เราขยับไปใกล้ชุมชนมากขึ้น เริ่มเห็นรายละเอียดของการตกแต่งแบบยุคเก่าเด่นชัดขึ้นในทุกองค์ประกอบ ทั้งกรอบประตู บานหน้าต่าง โต๊ะ เก้าอี้ ชั้นวางของ หรือแม้แต่ของสะสมโบราณของคนในชุมชนที่ตั้งใจวางไว้ให้คนข้างนอกเห็น เมื่อประสานเข้ากับความร่มรื่นที่ได้อิทธิพลมาจากการตั้งติดริมคลองประเวศบุรีรมย์ ทำให้ชุมชนหัวตะเข้แห่งนี้มีบรรยากาศที่เงียบสงบและเอื่อยเฉื่อย แต่กลับมีมนต์เสน่ห์ที่หาจากที่อื่นไม่ได้

ความสงสัยถูกจุดขึ้นอีกครั้ง ในขณะที่กำลังเดินสำรวจชุมชนเพื่อหาอาหารรองท้อง เราหันไปเห็นงานกราฟฟิตีบนเฟรมผ้าใบ รูปของชายสามตา ผู้มีผิวสีฟ้า กำลังอ่านหนังสือเรียน สปช. และขี่อยู่บนตัวควายที่มีปีกงอกออกมาจากหลัง จะว่าสวยก็สวย แต่อีกมุมหนึ่งเราก็มองว่าภาพแนวสตรีตอาร์ตที่แฝงความหมายของการขบถเอาไว้ ขัดกับอารมณ์ชวนรำลึกความหลังของตลาดอยู่เหมือนกัน

ช่วงสายเป็นเวลาที่เราเริ่มเห็นคำตอบ

ว่ากันว่าที่ปลายสายรุ้งมีหม้อทองคำ แต่ที่ฝั่งตรงข้ามสะพานไม้ของหัวตะเข้เราก็พบสมบัติซ่อนอยู่เช่นกัน

ต๊ะ-ดุรงค์ฤทธิ์ สุดสงวน หนึ่งในสมาชิกกลุ่มจิตอาสาที่รวมตัวกันเพื่อฟื้นฟูชุมชน หรือที่เรียกกันว่า “กลุ่มชุมชนคนรักหัวตะเข้” พาเราเดินข้ามสะพานไม้เก่าจนไปเจอกับสมบัติที่ว่า ความสวยงามและความสร้างสรรค์ของแนวกำแพงที่ตกแต่งด้วยรูปกราฟฟิตีของจระเข้ในสไตล์ต่างๆ ทอดยาวชวนมอง

ต๊ะอธิบายที่มาของแนวคิดในการผสมผสานงานศิลปะแบบสตรีตกับชุมชนสมัยเก่าให้ฟังว่า เป็นเพราะเมื่อก่อนมักมีกลุ่มเด็กวัยรุ่นในชุมชนมาพ่นสีสเปรย์จนพื้นที่ดูเละเทะ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีลูกชายของต๊ะด้วย แต่แทนที่จะเกิดความรู้สึกไม่ชอบใจการกระทำดังกล่าว เขากลับเกิดความสงสัยแทน

“พ่อแม่เนี่ยมีสองทาง หนึ่งคือเข้าไปดู สองคือห้าม แต่ในมุมของเราก็อยากเข้าไปดูว่ามันคืออะไร เราอยากหาว่ามีทางใดที่เราจะสามารถเข้ากับลูกในจริตของเขาได้” ต๊ะกล่าว

ผลพวงจากความสงสัยทำให้เขาเข้าไปสัมผัสกับโลกของศิลปะแบบกราฟฟิตีมากขึ้น มากขนาดที่รวมทีมกับลูกชายเข้าประกวดแข่งขันวาดภาพกราฟฟิตี “มันไม่มีคนพ่นด้วย เราเลยไปพ่นด้วย ก็เลยได้รางวัลมา เราเป็นผู้แข่งขันแก่ที่สุดด้วย ตอนนั้นก็รู้สึกว่าสนุกดีเหมือนกัน” ต๊ะพูดถึงลูกชายหัวแก้วหัวแหวน

เมื่อความคิดเปลี่ยน ต๊ะก็เริ่มหันมาสนับสนุนการพ่นกราฟฟิตีอย่างจริงจัง จัดหากำแพงว่างๆ แล้วทำโครงการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนที่ชอบศิลปะแนวสตรีตและกราฟฟิตีอย่างเต็มที่ โดยโครงการนี้เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2557 และมีต่อเนื่องมากว่า 3 ปีแล้ว แต่ละปีจะใช้พลังของโซเชียลมีเดียในการรวบรวมคนมาทำ เนื่องจากไม่มีค่าตอบแทนให้ ศิลปินส่วนใหญ่ที่มาจึงเป็นกลุ่มคนที่อยากโชว์ของและต้องการพื้นที่ในการแสดงออกทางศิลปะ

ศิลปินแต่ละคนจะมีพื้นที่ของตัวเองที่สามารถพ่นออกมาในรูปแบบใดก็ได้ โดยอยู่ใต้แนวคิดเดียวกันคือ “หัวตะเข้” แล้วแต่ความสร้างสรรค์และการตีความของแต่ละคน “เมื่อเรามีไอเดียร่วมกัน ศิลปะมันถ่ายทอดได้หมด” เขาเสริม หลังจากบรรยายแนวคิดเบื้องหลังของแต่ละผลงานให้เราฟัง

น้ำเสียงของต๊ะฟังดูตื่นเต้นและภาคภูมิใจเป็นพิเศษเมื่อพูดถึงผลงานและความก้าวหน้าของลูกชาย สิ่งนี้ทำให้เราคิดขึ้นมาว่า การพยายามทำความเข้าใจความชอบของคนในครอบครัว และการหาจุดร่วมตรงกลางที่สามารถยืนด้วยกันได้ ทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้นได้

สมบัติของหัวตะเข้ที่ให้กลิ่นอายของยุคสมัยใหม่ได้เชิญชวนคนต่างถิ่นให้มาท่องเที่ยวกันมากมาย ต๊ะเสริมให้เราฟังว่า มีรายการทีวี ละคร นิตยสาร หรือสำนักข่าวออนไลน์หลายเจ้าเข้ามาติดต่อขอใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ มีกระทั่งสื่อจากต่างประเทศก็ยังเข้ามาเยี่ยมชม

“ตอนแรกมีปัญหากับชาวบ้านแถวนี้ ว่าเราพ่นอะไร ไม่สวย แต่พอมีคนมาดู รายการทีวีหลายๆ ช่องมา นิตยสารเปรียวมาถ่ายที่นี่ คนก็เริ่มชอบ การเปลี่ยนทัศนคติสำคัญมาก แต่ต้องใช้เวลา” ต๊ะกล่าว

การเข้ามาใช้สถานที่ของสื่อนอกจากจะทำให้รายได้ของคนในชุมชนเพิ่มขึ้นจากการซื้อของและเช่าสถานที่ของทีมงาน ยังทำให้นักท่องเที่ยวรู้จักและสนใจในเสน่ห์ของหัวตะเข้มากขึ้นด้วย

ภาชินี ชูเอม และ วิไลวรรณ ยะวงศ์ นักท่องเที่ยวที่เราได้พูดคุยด้วย เล่าให้ฟังว่า พวกเธอรู้จักตลาดหัวตะเข้จากเพจหนึ่งในเฟซบุ๊ก “พี่ชอบตลาดเก่าๆ พวกร้านแนววินเทจ” ภาชินีเอ่ยเมื่อเราถามถึงเหตุผลที่เธอสนใจมาเที่ยวที่นี่

ทั้งสองคนให้ความเห็นตรงกันว่า รูปแนวกราฟฟิตีทำให้พื้นที่ของหัวตะเข้ดูทันสมัยและน่าเดินมากขึ้น และน่าจะดึงดูดเด็กวัยรุ่นให้เข้ามาเที่ยวได้ “อย่างที่บางรักก็มีอยู่ไม่กี่ภาพเองนะ เห็นเด็กวัยรุ่นไปกันเต็มเลย เขาชอบไปถ่ายรูปกัน”

อีกด้านหนึ่ง เกรียงไกร แซ่อึ้ง เจ้าของร้านโชห่วยในตลาด กล่าวว่า ตัวเขาเองก็ชื่นชอบงานศิลปะ และมองว่ารูปกราฟฟิตีที่ซ่อนอยู่ในชุมชนดูสวยและน่าสนใจ อีกทั้งยังช่วยดึงดูดกลุ่มวัยรุ่นหรือวัยทำงานที่สนใจด้านศิลปะให้เข้ามาได้ด้วย ในด้านการผสมผสานงานกราฟฟิตีเข้ามาในส่วนอื่นของตลาด หากทำในลักษณะของการเป็นฉากหลังหรือสัญลักษณ์ให้คนมาถ่ายรูปก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องคำนึงด้วยว่าจะไม่ไปทำลายบรรยากาศความโบราณของตลาด

ปัจจุบันการแสดงภาพกราฟฟิตีส่วนใหญ่จะอยู่เฉพาะส่วนรอบนอกของชุมชน แต่ต๊ะได้เล่าเพิ่มเติมว่า ในอนาคตจะมีการพ่นบนเฟรมผ้าใบ และนำไปจัดวางตามที่ต่างๆ ในตลาด

“ที่นี่มีงานบ่อย เราก็จะเอาภาพกราฟฟิตียกไปเป็นฉากหลัง สมมุติพื้นที่ตรงนี้มีร้านนวดด้วย ก็จะวางภาพพวกนี้ไว้เป็นฉากสำหรับถ่ายรูป” ต๊ะกล่าว

 

ที่หัวตะเข้ ศิลปะไม่ใช่เรื่องแค่ความสวยงาม แต่เป็นเรื่องของการเชื่อมความสัมพันธ์ของทุกคนไว้ด้วยกัน

เชื่อมความเข้าใจของพ่อลูกที่มีความสนใจต่างกัน

เชื่อมความคิดคนในชุมชนให้รักษาสิ่งที่มีอยู่ แต่ก็ยอมรับสิ่งใหม่เข้ามาด้วย

และเชื่อมต่อคนต่างพื้นที่ด้วยการสร้างประสบการณ์ทางศิลปะร่วมกัน

สำหรับเรา หัวตะเข้คือสถานที่ลึกลับที่มีความงามซ่อนอยู่ กระนั้นความงามนี้ไม่ได้มาเฉพาะที่ตาเห็นและมือจับต้องได้เท่านั้น แต่มาจากการรับรู้ถึงความสัมพันธ์แนบแน่นของคนในชุมชนด้วย