หัวตะเข้ เขตลาดกระบัง ชุมชนริมน้ำย่านชานกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลเรียนรู้สร้าง “งานชิ้นแรก” ของค่ายสารคดี ครั้งที่ 13 จาก 25 นักเขียน 25 ช่างภาพ จับคู่กันสร้างสรรค์ผลงานคู่ละเรื่อง ต่อจากนี้คือผลงานผ่านคมเลนส์และปลายปากกาของผู้ได้ชื่อว่าเป็นคลื่นลูกใหม่แห่งค่าย “คนบันทึกสังคม”
ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 13
งานเขียนสารคดี ดีเด่น
ชยพล กล่ำปลี-เขียน
ชยพล รัศมี-ภาพ
ป้ายหน้าร้าน “หมอณรงค์นวดแผนไทย” ที่มีจุดประสงค์ให้ผู้พิการทางสายตาประกอบอาชีพ มีรายได้
ถ้าเปรียบชีวิตเป็นการเดินทาง ในแต่ละวันในแต่ละช่วงชีวิตเราก็คงต้องพบกับทางแยก ทางเปลี่ยว ทางลัด หรืออาจจะทางตันในบางครั้ง แต่เพราะชีวิตยังต้องก้าวเดินต่อไป จนแล้วจนรอดเราก็จำต้องหาทางออกให้กับชีวิตได้ในที่สุด
การเลือกจึงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา มีถูกผิดปะปนกันในแต่ละการตัดสินใจ ร้ายยิ่งกว่าสำหรับบางคนเขาอาจจะไม่มีทางเลือกเลยก็ได้ แต่จะทำอย่างไรเราถึงจะเปลี่ยนทางเลือกของเราให้กลายเป็นทางรอดได้ นั่นก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพและความชำนาญเส้นทางของนักเดินทางชีวิตด้วย
หมอณรงค์ หรือ นายณรงค์ ดวงภาค หมอนวดตาบอดที่คลุกคลีกับการนวดให้คนหายปวดคลายเมื่อยมาอย่างช่ำชอง เป็นหนึ่งในตัวอย่างของนักเดินทางชีวิตคนสู้เปลี่ยนทางเลือกให้เป็นทางรอด และตอนนี้เขาก็ไม่ได้เดินไปบนทางรอดแต่เพียงลำพัง หมอณรงค์ยังพาชีวิตเพื่อนคนตาบอดนับสิบชีวิตเดินไปบนเส้นทางที่มืดมนแค่เพียงดวงตาเท่านั้น
“หมอณรงค์” ณรงค์ ดวงภาค เจ้าของร้านหมอนวดกำลังใช้กรรมวิธีการนวดแบบราชสำนัก คือการใช้มือนวดเพียงอย่างเดียวให้แก่ลูกค้า และพี่ดาว (ขวา) หนึ่งในครอบครัวหมอนวด กำลังจดบันทึกสถิติการนวดในแต่ละวัน
“นวดแบบเชลยศักดิ์” คือการนวดที่ใช้อวัยวะอื่นนอกจากมือ ซึ่งเป็นตำรับที่หมอณรงค์นวดควบคู่กันไปแบบราชสำนัก
ยโสธร-หัวตะเข้
หมอณรงค์ในวัย 46 ปี เปิดบริการร้านนวดแผนไทยโดยคนตาบอดมากว่า 10 ปี ได้ย้ายเข้ามายัง“ชุมชนหัวตะเข้” ย่านลาดกระบังราวปีกว่า บนดินแดนที่เคยคลาคล่ำด้วยการค้า รอการฟื้นคืนด้วยคนรุ่นใหม่ ถึงแม้ว่าตัวเขาเองจะไม่ใช่คนพื้นที่ชุมชนหัวตะเข้มาแต่แรก แต่วันนี้เขาได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในความหลากหลายของชุมชนหัวตะเข้อย่างสมบูรณ์
หมอณรงค์เล่าให้เราฟังว่าเขาเองเป็นคนยโสธร เริ่มแรกได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่ย่านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จับพลัดจับผลูได้เป็นช่างไม้ จากการอบรมในศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอดปากเกร็ด ทำให้เขามีความถนัดในงานช่างไม้ทุกอย่าง แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถเลือกเดินไปในเส้นทางของช่างไม้ได้เพราะเขาไม่มีเงินลงทุนมากพอที่จะเปิดโรงงานไม้ของตัวเอง เมื่อมองไม่เห็นช่องทางที่จะนำชีวิตของเขาไปสู่จุดมุ่งหมายได้ หมอณรงค์จึงเบนเข็มชีวิตไปสู่เส้นทางต่อไป
“ผมไม่ได้เลือกอย่างนี้นะเพราะว่ามันเป็นทางสุดท้าย เคยได้ยินไหมครับว่าสิ่งไหนตัวเองไม่ชอบนัก ส่วนใหญ่มันจะได้ เหมือนเราอยากกินของร้อนได้กินของเย็น อยากกินของเย็นได้กินของร้อน แต่เมื่อเราอยู่กับสิ่งไหน เราก็ทำสิ่งนั้นให้ได้ดีที่สุด แล้วเราก็จะมีความสุข ถึงเราไม่ชอบเราก็จะต้องปรับอยู่ให้ได้”
เมื่อความฝันและความหวังข้อหนึ่งของเราพังทลายลงไปไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม นั่นยังไม่ใช่ทางตันสำหรับเรา สำหรับหมอณรงค์ก็เช่นเดียวกัน เขาเชื่อว่าชีวิตของเราไม่อาจสมหวังไปกับทุกความต้องการ และสิ่งที่เราคาดหวังมันมักจะมาตรงข้ามเสมอ เหมือนอยากกินของร้อนกลับได้กินของเย็น อยากกินของเย็นกลับได้กินของร้อน ไม่ต่างอะไรกับชีวิตของหมอณรงค์ในเวลานั้น อยากจะเป็นช่างไม้ แต่สุดท้ายได้มาเป็นหมอนวด
สิ่งที่เขาต้องทำต่อไปคือการอยู่กับมันให้ได้และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด อะไรที่เป็นปัจจุบันเราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน หากไม่มีความสุขกับปัจจุบันแล้วเราจะมีความสุขกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึงได้อย่างนั้นหรือ วันนี้เราจึงอาจทำได้เพียงแค่รอโอกาสที่จะก้าวไปถึงความฝัน แต่วันหนึ่งเมื่อเราอยู่ใกล้มันที่สุด เราก็จะเอื้อมคว้ามันมาได้
ชีวิตนั้นจำเป็นต้องเลือก การตัดสินใจทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตล้วนมีความผิดพลาด มีค่าเสียโอกาส และไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ได้อย่างก็ต้องเสียอย่างอยู่วันยังค่ำ
หมอณรงค์ได้เริ่มผันชีวิตเข้าสู่อาชีพหมอนวดตั้งแต่ปี 2535 จนกระทั่งปัจจุบัน เขามุ่งมั่นตั้งใจที่จะยึดถืออาชีพนี้เป็นหลักพึ่งในการประกอบสัมมาอาชีพ จากการเริ่มลองผิดลองถูกในครั้งแรก หมอณรงค์เล่าว่าเขาเคยไปเรียนนวดในระยะเวลาสั้นๆ และลองเปิดให้บริการ แต่ปรากฏว่าการเรียนรู้สั้นๆ ในตอนนั้นไม่เพียงพอที่จะประกอบอาชีพได้ เขาจึงถอยหลังกลับไปเรียนใหม่ คลุกคลีและซึมซับวิชาการนวดด้วยการไปกินอยู่กับอาจารย์กว่าหนึ่งปี จนได้วิชานวดมาเป็นอาชีพในวันนี้
เมื่อสอบถามถึงการเรียนการสอนว่าเป็นอย่างไร ในเมื่อลูกศิษย์มองไม่เห็นแล้วจะนวดเป็นได้หรือ หมอณรงค์ก็เล่าให้เราฟังถึงขั้นตอนการสอนของอาจารย์ว่า จะใช้วิธีนวดให้ดู ก็คือนวดไปที่ตัวของหมอณรงค์เอง ให้รู้ว่าควรจะกดน้ำหนักตรงไหน ออกแรงอย่างไรจึงจะทำให้คนไข้หายปวดเมื่อย แล้วเขาก็จะจดจำการนวดนั้นไปฝึกหัดกับเพื่อนๆ อีกทีหนึ่ง นี่คือวิธีการเรียนรู้ที่หมอณรงค์ใช้ในการจดจำวิชาการนวดจากอาจารย์
“อาลักษณ์ประจำร้าน” ดาว- สมาชิกหมอนวด นอกจากมีหน้าที่บริการนวดให้กับลูกค้าแล้ว ยังมีหน้าที่เป็นผู้จดบันทึกสถิติจำนวนชั่วโมงการนวดของสมาชิกทุกคน
มหาสมุทรแห่งจุดหมาย
“ผมว่าไม่ต่างกันนะครับ จุดมุ่งหมายเดียวกัน เปรียบเทียบเนี่ยเหมือนแม่น้ำหลายสาย ทุกสายก็ไหลไปลงที่มหาสมุทร จุดมุ่งหมายการนวดก็คือความสบาย หายเจ็บหายปวด”
อุปมาสายน้ำของหมอณรงค์ตอบคำถามของเราที่ว่า การนวดของคนตาบอดกับคนตาดีนั้นต่างกันหรือไม่ ซึ่งหมอณรงค์ได้เปรียบเทียบกับสายน้ำว่าคงไม่ต่างอะไรกับความหลากหลายของวิธีการและแนวคิดในการทำงานใดงานหนึ่งให้ลุล่วงไปด้วยความรู้ที่เพาะบ่มของแต่ละคน หมอณรงค์เองก็เชื่ออย่างนั้นว่า ด้วยความสามารถและวิชาความรู้ที่เขาได้ร่ำเรียนมาก็ย่อมจะเป็นอีกหนึ่งหนทางในวิธีการอันหลากหลายซึ่งจะนำไปสู่มหาสมุทรแห่งจุดหมายได้ไม่แพ้วิธีการนวดของคนอื่นๆ
เพราะสำหรับการนวด จุดมุ่งหมายคงหนีไม่พ้นการปลดเปลื้องจากพันธนาการความปวดเมื่อยทั่วสรรพางค์กาย ไม่ทันสิ้นสุดคำว่าสบายหายเจ็บปวดของหมอณรงค์ คุณยายที่กำลังถูกนวดอยู่ขณะที่เรากำลังสัมภาษณ์ก็ร้อง “โอย” ออกมาเบาๆ ให้เราได้ขำขันกันว่า เอ๊ะ นี่คือเสียงร้องของความสุข หรือเจ็บมากกว่าเดิมกันแน่
ช่วงเวลาที่เราไปถึง บรรยากาศของร้านนวดหมอณรงค์นั้นเรียกได้ว่าไม่ขาดสายจากลูกค้าที่แวะเวียนกันมา จึงทำให้ทุกเตียงในร้านไม่มีเตียงไหนว่างเลย ทั้งยังได้ยินเสียงโทรศัพท์จองคิวนวดกันอยู่ตลอด หมอณรงค์เล่าว่าวันหนึ่งเคยให้บริการนวดถึง 14 ชั่วโมงเลยทีเดียว โดยค่าบริการนวดแต่ละครั้งอยู่ที่ชั่วโมงละ 120 บาทเท่านั้น
เมื่อถามถึงชีวิตส่วนตัวของหมอณรงค์ว่าตอนนี้อยู่กับใคร มีครอบครัวหรือไม่ เขาตอบแต่เพียงสั้นๆ ว่า “นี่แหละครอบครัวใหญ่” ซึ่งก็คือครอบครัวพี่น้องในร้านหมอนวดแห่งนี้ที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยความถ้อยทีถ้อยอาศัย ทุกคนต่างมีหน้าที่ผลัดเวรกันเก็บกวาด ทำความสะอาดร้านให้อยู่ในสภาพพร้อมบริการเสมอ ทำงานร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ที่คอยดูแลซึ่งกันและกัน
“ชั่วโมงบินอักษรเบรลล์” สถิติที่ถูกเขียนในรูปแบบอักษรสำหรับผู้พิการทางสายตาในแต่ละวัน การจดบันทึกมีไว้เพื่อให้ผู้มีชั่วโมงนวดน้อยที่สุดของวันได้ออกปฏิบัติการบริการลูกค้าคนแรกของวัน
“ถ้าเราไม่มีแบบในชีวิต เราจะลำบาก”
หมอณรงค์ให้แง่คิดจากชีวิตตอนหนึ่งของเขาเองว่า ชีวิตเราต้องมีความรู้เก็บเอาไว้ในลิ้นชัก เราจะต้องออกไปหาความรู้จากที่อื่นๆ มาเพิ่มพูนความรู้ในลิ้นชักของเราให้มากขึ้น เมื่อเราประสบปัญหาแบบไหนก็ตามเราก็จะรู้ได้ว่าเราต้องเอาวิธีการแก้ไขปัญหาแบบใดออกมาใช้ เพราะแบบในชีวิตจะเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดีให้กับการเดินทางไปตามทางเลือกของเราเป็นไปอย่างราบรื่น
แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังมีคำถามอยู่ว่าอะไรที่ทำให้หมอณรงค์ก้าวผ่านจุดเปลี่ยนในชีวิตและยืนหยัดมาจนถึงวันนี้
หมอณรงค์ได้แสดงทัศนะให้กับเราว่า “เราไม่อยากเป็นภาระของครอบครัว ไม่อยากเป็นภาระของสังคม เราจึงช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด” และยังฝากแนวคิดถึงหลายคนที่กำลังท้อแท้ในชีวิตไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะกำลังพบเจอปัญหาอะไรในชีวิตด้วยว่า
“อยากให้เขาเอาความสามารถของเขามาใช้ ความสามารถของมนุษย์มีทุกคน ใครจะเอาออกมาใช้ตอนไหน ต้องรู้จักตัวเอง ถ้ารู้จักตัวเองปัญหาทุกอย่างต้องแก้ไขได้หมด”
“กองไว้” ปลอกหมอนและผ้าปูที่นอน จะมีเปลี่ยนหลังจากการบริการลูกค้าเสร็จสิ้น เพื่อเป็นการรักษาอนามัยของลูกค้ารายถัดไปที่มาใช้บริการ
รวมกันเราอยู่
การถือกำเนิดของร้านหมอนวดตาบอดเกิดขึ้นด้วยแรงผลักดันในชีวิตของหมอณรงค์ที่ไม่เคยย่อท้อ ทำให้สามารถเปิดร้านนวดที่มีลูกค้ามากมาย การอยู่ร่วมกันกับเพื่อนผู้พิการทางสายตาคนอื่นๆ ก็ช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นเพราะมีคนที่คอยเป็นห่วงเป็นใยและเข้าใจกันมากที่สุดอยู่ร่วมกัน คอยพึ่งพากัน
หมอณรงค์เองก็ไม่ปฏิเสธว่าการอยู่ร่วมกันของกลุ่มผู้พิการทางสายตานี้ยังเป็นการตลาดดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพื่ออุดหนุนผู้พิการทางสายตาด้วยตามสโลแกนของร้านที่ว่า “โปรดร่วมใจสนับสนุนให้คนพิการมีงานทำ” ทั้งนี้หมอณรงค์ยังกล่าวด้วยว่ายินดีจะช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาด้วยกันให้ได้มีอาชีพมีรายได้ โดยจะสอนวิชานวดให้ฟรีหากใครสนใจ
ทางหลักหากเลือกได้
“ผมอยากทำนา ครอบครัวของผมเป็นชาวนา” ชาวนา คืออาชีพที่หมอณรงค์อยากกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดในจังหวัดยโสธร ทุกวันนี้ที่นาของหมอณรงค์ก็ยังไม่ถูกทิ้งร้าง เพราะพี่น้องของหมอณรงค์ก็ยังทำนาแล้วแบ่งรายได้ให้หมอณรงค์อยู่เนืองๆ
ชาวนา คงจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดหากหมอณรงค์เลือกได้
จากทางเลือกที่ไม่ได้คิดจะเลือก เป็นทางเลือกสุดท้ายอย่างที่หมอณรงค์กล่าวไว้ แต่ในวันนี้ทางเลือกนั้นได้กลายมาเป็นทางรอด และเป็นอาชีพที่นำพาหมอณรงค์และเพื่อนหมอนวดอีกนับสิบชีวิตให้มีอาชีพที่เลี้ยงตัวได้ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างเข้มแข็งด้วยลำแข้งของพวกเขาเอง แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของทุกคน หากมีความตั้งใจต่อการทำสิ่งใด ก็จะสามารถสร้างงานสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับตัวเองได้
โอกาสที่เกิดขึ้นจากการไขว่คว้าย่อมจะมาถึงผู้ที่ตามหามันเสมอ ก่อนจะจากกันคำถามสุดท้ายที่เราถามหมอณรงค์ก็คือ หมอณรงค์คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จในการทำงานของตัวเองหรือต่อสังคมแล้วหรือยัง หมอณรงค์ตอบอย่างไม่ลังเลว่า “มีเหนือกว่าผมอีกครับ อย่าคิดว่าเก่ง ยังมีเก่งกว่านี้อีกเยอะ”
หมอณรงค์ยังได้ฝากข้อคิดถึงการเรียนรู้เอาไว้ว่า การเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่รู้จบ ไม่เหมือนกับการอ่านหนังสือที่ย่อมจะถึงหน้าสุดท้าย แต่การเรียนรู้ของชีวิตนั้นไม่เคยมีจุดจบ
หากเปรียบเทียบก็คงไม่ต่างอะไรกับการเดินทางมายังชุมชนหัวตะเข้ ซึ่งก็เป็นเพียงการเริ่มต้นของการเรียนรู้เท่านั้น พร้อมกับฝากคำถามไว้ให้กับพวกเราว่า
“เหมือนวันนี้ที่มาตลาดหัวตะเข้ แล้วรู้ไหมล่ะว่าหางตะเข้มันอยู่ไหน”
จากชีวิตของหมอณรงค์ได้สะท้อนภาพของนักเดินทางชีวิตคนหนึ่ง เตือนย้ำว่าเราทุกคนล้วนเป็นนักเดินทางชีวิตเช่นกัน บางวันเราอาจจะต้องเจอทางแยก ทางตัน หรือทางเลือก ไม่ต่างกับหมอณรงค์ คงได้แค่เพียงหวังว่าเมื่อถึงวันนั้นเราจะสามารถเปลี่ยนทางเลือกให้เป็นทางรอดได้อย่างหยัดยืน
เกี่ยวกับคู่นักเขียน-ช่างภาพ ค่ายสารคดีครั้งที่ 13
ชยพล กล่ำปลี
เรียนจบภูมิศาสตร์ ชื่นชอบพม่า ประวัติศาสตร์และตึกรามบ้านช่อง หากได้ออกไปเที่ยวจะชอบยืนมองดูตึกและขึ้นไปมองดูเมืองในมุมที่สูงที่สุด เพื่อฟังเสียงลมหายใจของเมือง
อาร์ท-ชยพล รัศมี
ว่าที่บัณฑิตโบราณคดีศิลปากร ผู้หลงใหลในการถ่ายภาพท้องฟ้ายามอาทิตย์ตกดิน การเดินทางต่างแดนเพียงลำพังคือสิ่งที่ชื่นชอบและใฝ่หา ภาพถ่ายหาใช่เพียงแต่มีแต่ความงามด้านสุนทรียะ แต่การใส่ชีวิตภาพถ่ายคือความงามอันสมบูรณ์แบบ