หัวตะเข้ เขตลาดกระบัง ชุมชนริมน้ำย่านชานกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลเรียนรู้สร้าง “งานชิ้นแรก” ของค่ายสารคดี ครั้งที่ 13 จาก 25 นักเขียน 25 ช่างภาพ จับคู่กันสร้างสรรค์ผลงานคู่ละเรื่อง ต่อจากนี้คือผลงานผ่านคมเลนส์และปลายปากกาของผู้ได้ชื่อว่าเป็นคลื่นลูกใหม่แห่งค่าย “คนบันทึกสังคม”
ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 13
งานภาพสารคดี ดีเด่น
ณัฐริยา โสสีทา-เขียน
ศุภณัฐ ผากา-ภาพ
ป้ายชื่อร้านไพบูลย์การช่างแห่งหัวตะเข้ โดยมีพี่ตี๋ ชายผู้เป็นเจ้าของโรงกลึงเหล็กแห่งนี้กาลังทางานอยู่ทางด้านหลัง
เสียงเครื่องกลกำลังทำงานแว่วดังมาตามสายลม เสียงเสียดสีของอุปกรณ์บางชนิดคล้ายเสียงเครื่องมือของหมอฟันที่กำลังทำสงครามกับแมงกินฟันตัวร้าย เสียงนั้นฟังแล้วให้ความรู้สึกเสียวฟัน คันหูอย่างประหลาด สายลมไม่เพียงแต่พาเสียงมา เมื่อได้ย่างใกล้เข้าหาแหล่งกำเนิดเสียง กลิ่นฉุนคล้ายวัตถุโดนความร้อนก็ถูกลมหอบพัดปะปนในอากาศวิ่งเข้ามาทักทายประสาทรับกลิ่นอย่างแผ่วเบา
ชายวัยกลางคนผมหยิกมีหนวดเส้นเล็กเหนือริมฝีปากกำลังง่วนอยู่กับงานเบื้องหน้า ในมือกำยำถือเหล็กแท่งหนึ่งขนาดพอดีมือ เขายื่นแท่งเหล็กให้สัมผัสกับวงล้อเหล็กขนาดใหญ่กว่าที่กำลังหมุนด้วยความเร็วที่สายตาไม่อาจประมาณการได้ เมื่อทั้งสองพื้นผิวสัมผัสกัน เสียง กลิ่น พร้อมด้วยสะเก็ดไฟเล็กๆ ก็เต้นระบำไปพร้อมกัน
สถานที่แห่งนี้และบรรยากาศที่โอบล้อมชายผู้นั้นเต็มไปด้วยเหล็ก เหลียวซ้ายคือเหล็ก แลขวาก็คือเหล็ก เครื่องจักรสำหรับตัดเหล็ก เชื่อมเหล็ก กลึงเหล็ก เหล็กล้วนๆ ที่นี่คือ “ไพบูลย์การช่าง” โรงกลึงเหล็กที่เปิดมายาวนานแห่งหัวตะเข้
ชายผู้ก้มหน้าก้มตากับงานเหล็กคือ ตี๋-สุภชัย พจนะไพบูลย์ เจ้าของกิจการโรงกลึงเหล็กไพบูลย์การช่าง เขาจบการศึกษาด้านเทคโนโลยีการผลิตและอุตสาหกรรมจากวิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์) โรงกลึงเหล็กแห่งนี้ก่อตั้งโดยคุณเล็ก พจนะไพบูลย์ (คุณพ่อของตี๋) เมื่อปี 2520 แรกเริ่มดำเนินกิจการซ่อมและผลิตอุปกรณ์การเกษตร เช่น ผลิตท่อสูบนํ้า ซ่อมอุปกรณ์รถไถนา โครงรถไถ เพราะในสมัยนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่ทำการเกษตรและมีพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมาก เมื่อคุณพ่ออายุมากขึ้นจึงเริ่มวางมือ ตี๋ซึ่งเป็นลูกชายคนโตจึงสืบทอดกิจการต่อโดยมีความรู้และประสบการณ์จากการเรียนรู้งานกับคุณพ่อ
“ผมเห็นมาตั้งแต่เด็ก เห็นทุกวันว่าเตี่ยทำอะไรบ้าง คุยกับลูกค้ายังไงบ้าง แล้วก็มีการตรวจสอบคุณภาพของงานที่ส่งออกไปว่ามีปัญหาอะไรบ้าง เพราะว่าพื้นที่การทำเกษตรกรรมแต่ละที่จะไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการปรับปรุงเครื่องไม้เครื่องมือหรือว่าอุปกรณ์ที่ส่งลูกค้าไป สังเกตเตี่ยกับช่างว่าเขาทำงานกันยังไง แก้ปัญหายังไง ผลของการเรียนรู้จึงเป็นการสั่งสมประสบการณ์โดยที่เราไม่รู้ตัว พอเตี่ยเสียแล้วเรามาทำเอง จึงรู้ว่านั่นคือประสบการณ์ที่มีค่ามาก ไม่สามารถหาเรียนได้จากตำราใด”
ปี 2555 คุณพ่อเสียชีวิต ตี๋จึงรับช่วงกิจการต่อทั้งหมดเพียงคนเดียว เนื่องจากตัวเขาเองยังไม่ได้แต่งงาน ส่วนน้องชายอีกสองคนแต่งงานแล้วและประกอบอาชีพอื่น แต่ทุกคนในครอบครัวก็ยังผูกพันและดูแลกันและกัน โดยคุณแม่คอยดูแลเรื่องอาหารและความเป็นอยู่ในบ้าน ส่วนน้องชายมีส่วนช่วยในการเคลื่อนย้ายสิ่งของบ้าง มาช่วยดูกิจการแทนบ้าง
สุรชัย พจนะไพบูลย์ (พี่ตี๋) ผู้สืบทอดกิจการโรงกลึงเหล็กไพบูลย์การช่างมาจากรุ่นพ่อ
แผ่นป้ายชื่อของโรงกลึงเหล็กแผ่นเก่าที่วางเรียงรายอยู่ภายในมุมหนึ่งของตัวร้าน
ไม่ต้องเกรงใจ ลูกเถ้าแก่ก็ด่าได้
นายช่างใหญ่วัย 43 ปีเล่าว่า สมัยที่คุณพ่อยังมีชีวิตอยู่ ที่ร้านมีนายช่างหลายคน แต่ละคนมีหน้าที่ต่างกันและมีความชำนาญเฉพาะด้าน คุณพ่อจะให้เขาไปดูและทำตามที่นายช่างสอน พร้อมทั้งอนุญาตให้นายช่างทุกคนสามารถตักเตือนสั่งสอนเขาในฐานะเป็นเด็กฝึกงาน โดยไม่ต้องเกรงใจว่าเป็นลูกเถ้าแก่ เขาเรียนรู้และผ่านทุกบทเรียนการช่างจากครูช่างหลากความเชี่ยวชาญจนจดจำได้ขึ้นใจและสามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ในวันที่เขาก้าวเข้ามาดูแลกิจการแทนคุณพ่ออย่างเต็มตัว นายช่างหลายคนก็อ่อนแรงผันแปรตามจำนวนอายุที่เพิ่มขึ้น ไม่สามารถทำงานต่อไป ตอนนี้เขาจึงเป็นทั้งเจ้าของกิจการและนายช่างเพียงคนเดียวของโรงกลึงแห่งนี้
“ต้องขอบคุณเขานะที่ด่าเรา ไม่งั้นเราไม่มีวันนี้”
นายช่างใหญ่ยิ้มกริ่ม ก้มหน้าพาแววตาขวยเขินซ่อนตัวมองเบื้องบน สองแขนประสานระหว่างอกด้วยความภูมิใจกับความพยายามในอดีตและความสำเร็จในปัจจุบัน
กระดานสำหรับเขียนข้อมูลที่จำเป็นในการทำงาน
หากตัดแบ่งเหล็กออกมาได้ตามขนาดที่วัดไว้ การทางานในขั้นตอนต่อๆไปจะง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น
กลึง เชื่อม ตัด งานถนัดเรารับประกัน
ในโรงกลึงแห่งนี้แบ่งพื้นที่การใช้งานตามความถนัดและสะดวกของตี๋ เขาบอกว่าเป็นข้อดีเพราะทำคนเดียว คล่องตัว ใช้เอง เก็บเอง จดจำเอง บรรยากาศภายในร้านจึงเต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่วางเป็นระเบียบบ้าง ไม่เป็นระเบียบบ้างตามการใช้งานจริง เครื่องกลบางตัวมีสภาพค่อนข้างเก่าบ่งบอกถึงความเก่าแก่และฝีมือของนายช่างได้เป็นอย่างดี ส่วนหน้าร้านเป็นพื้นที่สำหรับกลึงเหล็ก และส่วนหลังร้านเป็นพื้นที่สำหรับเชื่อมเหล็ก มีป้ายร้านตัวอักษรสีขาวบนพื้นสีแดงติดที่กลางร้าน และมีป้ายชื่อร้านอีกหลายป้ายวางที่โต๊ะข้างๆ เมื่อสอบถามจึงรู้ว่าคุณพ่อตั้งใจจะเปลี่ยนชื่อร้านจาก “ไพบูลย์การช่าง” มาเป็น “ไพบูลย์พานิช” เพราะอายุมากแล้วจึงต้องการค้าขายเพียงอย่างเดียว ทำป้ายไว้แล้วแต่ยังไม่ทันได้เปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการ คุณพ่อเสียชีวิตไปก่อนจึงเก็บป้ายไว้และใช้ชื่อไพบูลย์การช่างดังเดิมเพราะเป็นชื่อที่จดทะเบียน ส่วนคำว่า “ไพบูลย์” ในชื่อร้าน เขาคิดว่ามาจากนามสกุล เพราะไม่เคยได้ถามคุณพ่อและคิดว่าน่าจะหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ความรุ่งเรือง
“หลักในการทำงานของเราก็คือ เอาใจลูกค้ามาใส่ใจเรา เพราะลูกค้าประสบปัญหามา เราจึงต้องแก้ให้ บางครั้งทำงานเกินกว่าราคาที่ลูกค้าจ่ายอีก เราพยายามให้ลูกค้าได้ของดีที่สุดแล้วก็สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุดในจำนวนเงินที่เขามีจำกัด ทั้งที่มาซ่อมและมาซื้อใหม่ ”
ตี๋ในฐานะเจ้าของกิจการพูดด้วยนํ้าเสียงหนักแน่นเพื่อรับประกันว่าลูกค้าที่ไว้วางใจเลือกใช้บริการร้านของเขาจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดกลับไปอย่างแน่นอน
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 7 นิ้ว ถึง 7 นิ้วครึ่ง เป็นขนาดมาตรฐานที่ร้านของพี่ตี๋สามารถรับงานได้
ในขั้นตอนของการเชื่อมเหล็ก บางครั้งอาจจาเป็นที่จะต้องใช้ท่อนเหล็กในการงัดช่องว่างของเหล็กที่ม้วนแล้วเพื่อไม่ให้แผ่นเหล็กเคลื่อนออกจากกัน ทาให้ไม่สามารถที่จะใช้หน้ากากเพื่อป้องกันอันตรายจากสะเก็ดไฟได้
ทำเท่าที่ไหว สบายใจคนเหล็ก
ในฐานะผู้ทำงานอย่างเด็ดเดี่ยวเพียงผู้เดียวในร้าน เขายอมรับว่าแม้จะมีประสบการณ์และความสามารถมากพอตัวแต่ก็ไม่สามารถรับงานของลูกค้าได้ทั้งหมด เพราะต้องทำงานคนเดียวจึงรับงานโดยอิงจากประสบการณ์เป็นหลักและความสามารถเป็นเกณฑ์ รับงานเท่าที่ทำไหวเพื่อให้สามารถใช้เวลากับงานได้อย่างเต็มที่และได้งานที่ดีมีคุณภาพ
โรงกลึงเหล็กไพบูลย์การช่างเปิดให้บริการทุกวัน โดยเปิดประมาณ 07.00-08.00 น. ปิดเวลา 17.00-17.30 น. เวลาเปิดปิดไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับความสะดวกของนายช่าง ลูกค้าหลายคนมักติดต่อให้ไปรับงานนอกสถานที่ แต่ด้วยกำลังที่มีเพียงคนเดียวจึงไม่สามารถรับงานได้ เขาจะให้คำปรึกษาลูกค้าแทน หรือแนะนำร้านที่สามารถรับงานได้ ถ้าลูกค้าต้องการให้เขาซ่อมให้แต่งานเกินความสามารถในการเคลื่อนย้ายก็จะใช้วิธีบอกขั้นตอนให้ลูกค้าถอดเฉพาะชิ้นส่วนที่พังมาซ่อมแล้วจึงกลับไปประกอบเอง อีกทั้งที่ตั้งโรงกลึงอยู่ลึกจึงเดินทางค่อนข้างลำบาก ในสมัยคุณพ่อยังมีการสัญจรทางนํ้า ส่วนใหญ่ลูกค้าเดินทางด้วยเรือจะสะดวกกว่า แต่ในสมัยนี้ไม่นิยมเดินทางด้วยเรือแล้ว เขาจึงแก้ปัญหาด้วยการไม่รับงานที่ใหญ่เกินตัว รับเฉพาะงานที่ลูกค้าสามารถแบกหรือหิ้วมาเองได้ ลูกค้าเข้าใจและคุ้นเคยกับวิธีการนี้เพราะส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำที่มาใช้บริการตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ
ในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูเกษตรกรรม เกษตรกรจะทำการเพาะปลูกพืชจึงใช้เครื่องสูบนํ้าบ่อยและใช้งานหนักจนบางทีเครื่องมีปัญหาสูบนํ้าไม่ได้ เครื่องดับ เครื่องพัง สายโทรศัพท์ของร้านจึงร้อนเป็นพิเศษ ที่นี่มีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องสูบนํ้าโดยตรงลูกค้าจึงแน่นตลอดฤดูกาล เป็นฤดูเพาะปลูกของเกษตรกรและฤดูเก็บเกี่ยวรายได้ของนายช่างด้วย
สภาพภายในของโรงกลึงเหล็ก โดยมีพี่ตี๋ที่กาลังกลึงเหล็กอยู่
คนเหล็ก
ภาพชายวัยกลางคนกำลังแนะนำร้านที่ตัวเองเป็นเจ้าของกิจการและสาธิตการทำงานของเครื่องกลแต่ละตัวในฐานะนายช่างใหญ่ เขาชี้โน่นทำนี่อย่างคล่องแคล่วพร้อมบรรยายอย่างมืออาชีพด้วยนํ้าเสียงสนุกสนานน่าสนใจ เสียงคนที่มีความสุขกับการทำงาน และเสียงงานที่เกิดจากความรักของคนที่มีความสุข จึงสะท้อนกระทบเหล็กดังกังวานในโรงกลึงแห่งนี้
งานเหล็กเป็นงานหนักและอันตรายมาก ต้องอาศัยความชำนาญและความระมัดระวังสูงจึงจะได้งานที่ดีที่สุด นายช่างใหญ่ผู้ผ่านงานเหล็กมานับไม่ถ้วนก็เคยประสบอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ จากการทำงาน เช่น โดนเหล็กบาดมือ โดนสะเก็ดไฟ แต่อุบัติเหตุใหญ่ไม่เคยมีเพราะเรียนรู้มาจากคุณพ่อว่าตรงจุดไหนเกิดปัญหาบ่อยแล้วจะรับมืออย่างไร อีกทั้งคุณพ่อได้ทำระบบคัตเอาต์ไฟฟ้าเป็นจุดๆ เวลาฝนตกอากาศชื้นหรือนํ้าท่วมสามารถตัดกระแสไฟได้เป็นจุดจึงไม่ต้องกังวลเรื่องไฟฟ้า และคุณพ่อสอนให้วางแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอนจึงทำงานได้อย่างปลอดภัยและคล่องตัว
นายช่างใหญ่เล่าถึงรายได้ของโรงกลึงว่าแม้จะเป็นรายได้หลักแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย เพราะมีลูกค้าลดลงเนื่องจากเกษตรกรน้อยลง พื้นที่ทำการเกษตรน้อยลง จึงหาอาชีพเสริมอื่นๆ ที่สามารถทำในเวลาว่างเพื่อสร้างรายได้เสริม ตอนนี้เขารับจ้างถ่ายภาพตามงานต่างๆ เพราะเป็นคนชอบถ่ายภาพอยู่แล้ว เขาเชื่อว่าการถ่ายภาพชุมชน สถานที่ หรืองานพิธีต่างๆ เป็นการบันทึกความทรงจำของบุคคลที่อยู่ในภาพนั้นๆ ภาพถ่ายจะยังคงอยู่กับเราไปตลอดเป็นสิบๆ ปีจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานของคนที่อยู่ในภาพ เป็นเครื่องยืนยันเหตุการณ์ว่าในอดีตเกิดอะไรขึ้นบ้าง สามารถเป็นประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นหน้าจะได้เรียนรู้ จึงใช้ความชอบส่วนตัวมาเป็นอาชีพเสริม เมื่อชุมชนจัดกิจกรรมหรือมีเหตุการณ์ต่างๆ เขาก็จะรับหน้าที่ถ่ายภาพเพื่อเก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์ของชุมชนและใช้เป็นภาพประกอบในงานราชการ เช่นเมื่อครั้งที่เกิดไฟไหม้ในชุมชน ภาพถ่ายของเขาเป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้ประสบภัยที่ต้องการนำภาพเป็นหลักฐานเพื่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการ นอกจากการถ่ายภาพแล้ว เขายังแบ่งปันความรู้และสนับสนุนอุปกรณ์การช่างในกิจกรรมซ่อมแซมหรือปรับปรุงสถานที่ของชุมชนด้วย
. . .
เรื่องราวของเหล็กได้ไหลเข้าสู่โสตประสาทพอเหมาะแก่การรับรู้ กลิ่นของเหล็กที่ถูกกลึง เชื่อม ตัดแต่งด้วยความร้อน โคจรเจือจางในลมหายใจพอประมาณ ภาพเคลื่อนไหวของชายวัยกลางคนผมหยิกมีหนวดเส้นเล็กเหนือริมฝีปาก ผู้สร้างและถ่ายทอดเรื่องราวมากมายในโรงกลึงเหล็กแห่งนี้ได้ถูกบันทึกในความทรงจำของข้าพเจ้าพอสมควรแล้ว เวลางานของเขาจึงต้องดำเนินต่อไป
ข้าพเจ้าหันหลังแล้วก้าวกลับสู่ทางเดิน เสียงเครื่องกลกำลังทำงานแว่วดังมาตามสายลม เสียงเสียดสีของอุปกรณ์บางชนิดคล้ายเสียงเครื่องมือของหมอฟันที่กำลังทำสงครามกับแมงกินฟันตัวร้าย เสียงนั้นฟังแล้วให้ความรู้สึกเสียวฟัน คุ้นหูอย่างประหลาด สายลมไม่เพียงแต่พาเสียงมา เมื่อได้ย่างไกลออกห่างจากแหล่งกำเนิดเสียง กลิ่นฉุนคล้ายวัตถุโดนความร้อนซึ่งถูกลมหอบพัดปะปนในอากาศวิ่งเข้ามาทักทายประสาทรับกลิ่นอย่างรุนแรงก็ค่อยๆ จางหายไปกับจำนวนก้าวที่มากขึ้น และความทรงจำที่กำลังถูกบันทึก
เกี่ยวกับคู่นักเขียน-ช่างภาพ ค่ายสารคดีครั้งที่ 13
ณัฐริยา โสสีทา
นักศึกษาสาวขาลุยจากรั้ว มช. รักการเดินทาง หลงใหลหนังสือและการจดบันทึก ชอบสังเกตวิถีของสิ่งมีชีวิตสามัญธรรมดาที่มีคุณค่าและน่าสนใจ
ศุภณัฐ ผากา
เด็กหนุ่มผู้เคยไปใช้ชีวิต ณ ประเทศไต้หวัน ในชั้นม.5 และจากนักศึกษาที่กำลังจะขึ้นชั้นปีที่ 4 สู่การเป็นเฟรชชี่ในรั้วมหาวิทยาลัยรังสิต ยอมซิ่วเพื่อเดินตามความฝันของตัวเองในคณะศิลปะและการออกแบบ สาขาศิลปะภาพถ่าย ชื่นชอบการท่องเที่ยวและการถ่ายรูปเป็นชีวิตจิตใจ โดยหวังว่าจะได้จัดนิทรรศการภาพถ่ายในชื่อของตัวเองสักครั้ง