ผีสางเทวดา  เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


มีสำนวนไทยสมัยเก่าที่คนเดี๋ยวนี้อาจไม่ค่อยได้ยินกันแล้วคือ “หมอบราบคาบแก้ว” มีความหมายว่ายอมตามโดยดี ไม่มีขัดขืน สำนวนนี้ว่ากันว่ามีที่มาจากสิงโตหินอย่างที่เห็นตามหน้าวัดหรือเชิงบันไดโบสถ์วิหาร ซึ่งมักอยู่ในท่าทางหมอบ และมีก้อนหินกลมๆ ที่สมมติเป็น “ลูกแก้ว” ของโปรดของสิงโต คาบอยู่ในปาก กลิ้งไปกลิ้งมา บางทีเลยเรียกกันว่า “สิงโตคาบแก้ว”

สิงโตหินพวกนี้ สมัยต้นรัตนโกสินทร์นิยมสั่งเข้ามาจากเมืองจีนเอามาประดับวัด จึงเป็นสิงโตที่สร้างขึ้นตามจินตนาการของคนจีน ซึ่งย่อมต่างไปจาก “สิงห์” แบบไทย และไม่ใกล้เคียงเลยกับตัว Lion อย่างที่เราเห็นในสารคดีชีวิตสัตว์โลก

ดูเผินๆ สิงโตหินที่ตั้งประดับสองข้างทางเข้าวัดก็มีลักษณะเหมือนๆ กัน แต่หากใช้ความพินิจพิเคราะห์ให้ละเอียดขึ้นสักนิด จะพบว่ามีตัวหนึ่งเป็นตัวผู้ และอีกข้างหนึ่งเป็นตัวเมีย

เปล่านะ! ไม่ใช่จะให้ไปสังเกต “ตรงนั้น” หรอก แต่สิงโตตัวผู้มักใช้อุ้งเท้าเหยียบ “ลูกแก้ว” อีกลูกหนึ่งอยู่ ส่วนตัวเมียที่วางไว้คู่กันก็มักมีลูกสิงโตตัวน้อยเกาะแข้งเกาะขานัวเนีย บางตำราว่าตัวผู้ต้องอยู่ทางขวา ตัวเมียจะอยู่ทางซ้าย แต่เท่าที่เคยเห็นมาก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป ที่แน่ๆ คือไม่ว่าจะตัวเล็กตัวโต สิงโตหินจะต้องตั้งเป็นคู่ มีตัวผู้กับตัวเมียเสมอ

เว้นที่เดียว คือริมแม่น้ำเจ้าพระยาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ท่าน “กาญจนาคพันธุ์” (ขุนวิจิตรมาตรา สง่า กาญจนาคพันธุ์ 2440 – 2523) นักเขียน นักแต่งเพลง และนักสร้างภาพยนตร์คนสำคัญของไทยในอดีต เขียนเล่าเรื่องสิงโตตัวนี้ไว้ใน “เมืองธนบุรีศรีมหาอุทยาน” จากหนังสือ คอคิดขอเขียน ชุดที่ 3 ว่ามีผู้ใหญ่ท่านเล่าให้ฟังว่า ญาติคนหนึ่ง (ของผู้เล่า) ต้องคดีฆ่าคนตาย ถูกนำตัวลงเรือมาทางคลองบางกอกน้อยจะข้ามมาทางฝั่งกรุงเทพฯ ตัวเขาเองถูกตีตรวน คือมีโซ่ล่ามข้อเท้าสองข้างเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ให้หนีได้ง่ายๆ แต่พอเรือมาถึงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ต้องหาคนนี้กลับตัดสินใจโดดน้ำหนี เพราะเขาเป็นนักประดาน้ำอยู่แล้ว คิดว่าคงพอเอาตัวรอดได้

น้ำหนักตรวนที่ขาถ่วงตัวเขาให้ลงถึงพื้นก้นแม่น้ำ แต่เพื่อไม่ให้ตัวลอยขึ้นมา ก็ต้องหาอะไรมายึดเกาะไว้ มองซ้ายมองขวา ตกใจแทบสิ้นสติ เพราะแลเห็นตัวอะไรตะคุ่มๆ ในน้ำ ขนยาวปุกปุย ตาสองข้างลุกแดงเป็นแสงไฟ แต่เมื่อเห็นว่าตัวประหลาดนั้นไม่ขยับเขยื้อน เขาเลยตัดสินใจโผเข้าไปคว้าขนยาวๆ นั้นไว้ ปรากฏว่าเป็นตะไคร่น้ำ และพอเข้าใกล้ก็มองเห็นชัดขึ้นว่านั่นคือสิงโตหินตัวใหญ่

พอหมดลมที่จะกลั้นหายใจได้ ในที่สุดเขาก็ต้องโผล่ขึ้นเหนือน้ำ พอดีพบเรือข้าวที่ขึ้นล่องอยู่จึงขออาศัยเขาเกาะข้างเรือไปจนถึงแถวสามเสน ลอบขึ้นฝั่งไปขอความช่วยเหลือจากญาติ แล้วก็ทำตัวหายสาบสูญไปนับแต่นั้นมา ท่านกาญจนาคพันธุ์เล่าด้วยว่าผู้ใหญ่เคยบอกมาว่าที่ก้นแม่น้ำมีสิงโตหินอยู่สองตัว แต่ “ได้ยินว่าเอาตัวเล็กขึ้นมาตัวหนึ่งแล้ว  ดูเหมือนตั้งอยู่ริมน้ำหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง  เวลานี้จะอยู่หรือไม่ ไม่ทราบ ใต้น้ำยังมีตัวใหญ่อยู่อีกตัวหนึ่ง”

จนถึงเดี๋ยวนี้ “ตัวเล็ก” ที่ท่านกล่าวถึงยังคงอยู่ที่ริมแม่น้ำหลังโรงอาหารของมหาวิทยาลัย มีคนนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ รู้จักกันในนาม “เจ้าแม่สิงโตทอง” แต่เมื่อลองไปพิจารณาดูแล้ว สงสัยว่าอาจเป็นสิงโตตั้งหน้าทางขึ้นอาคารใน “วังหน้า” แต่เดิมก็เป็นได้ รวมถึงไม่อาจปักใจลงไปได้ว่าจะเป็นสิงโตตัวผู้หรือตัวเมีย เพราะส่วนขาของเดิมชำรุดหักพังไปหมด ที่เห็นในปัจจุบันเป็นขาปูนปั้นใหม่ ประกับไว้ด้วยเหล็กให้มั่นคงแข็งแรง จึงไม่อาจรู้ได้ว่าจะมีสิงโตตัวลูกสลักไว้ด้วยกันหรือเปล่า

“ของแก้บน” ของศาลนี้คือสิงโตคู่ตัวเล็กๆ มากมาย อาจเพราะเห็นว่า “เธอ” อยู่คนเดียว กลัวจะเหงา นอกจากนั้นยังมี “ลูกแก้ว” ทั้งแบบประดับกระจกเป็นลูกแก้วดิสโก้ และแบบลูกแก้วเด็กเล่น มาแขวนมาวางไว้ให้เจ้าแม่ได้เล่นเพลินๆ สมกับที่เป็น “สิงโตคาบแก้ว” ด้วย


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี