วิชาสารคดี ๑๐๑
ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ศึกษาจากตัวอย่าง อ่านหนังสือให้กันฟัง

โครงเรื่องเป็นกระดูกสันหลังของงานเขียน

นักเขียนควรมีเพื่อช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น เรื่องไม่หลุดลอย ไม่หลงประเด็น และไปต่อในแต่ละย่อหน้า-แต่ละตอนได้ง่ายโดยราบรื่นตลอดเรื่อง

มืออาชีพอาจเพียงแต่วางโครงเรื่องไว้ในใจ หรือเขียนเค้าโครงไว้ดูเอง

แต่นักเขียนใหม่ในค่ายสารคดี ต้องเขียนออกมาให้ครูเห็น

เป็นการฝึกคิด ฝึกทำ (ให้เป็น) และเผื่อว่ามันยังไม่สมบูรณ์รอบด้าน ครูก็จะเสริมต่อได้

ครูอรสม สุทธิสาคร ปรมาจารย์สารคดีชีวิต

พี่ต่อ ธนญชัย ศรศรีวิชัย มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์

โครงเรื่อง หรือพล็อต (Plot) เป็นเค้าโครงความคิด แผนผัง หรือโครงสร้าง ที่บอกแผนการว่างานชิ้นนั้นจะเล่าถึงอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีการอย่างไร

อาจเขียนออกมาใน ๑ หน้ากระดาษ มีส่วนประกอบคร่าวๆ ได้แก่

  • หัวเรื่อง จะเล่าเรื่องอะไร
  • แนวคิด ทำไมจึงเล่าเรื่องนี้ ขอบเขตเนื้อหาจะกินคลุมถึงไหนอย่างไร เล่าเรื่องนี้เพื่ออะไร
  • ประเด็นหลัก หรือธีม (Theme) แก่นหลักของเรื่องที่ต้องการถ่ายทอด งานสารคดีโดยทั่วไปในเรื่องหนึ่งจะมีประเด็นหลักเพียงหนึ่งเดียว
  • ประเด็นย่อย เรื่องอื่นๆ ที่ควรกล่าวถึงในเรื่อง เพื่อเสริมส่งประเด็นหลักให้ชัดเจนขึ้น และทำให้เนื้อหาของเรื่องสมบูรณ์รอบด้าน ประเด็นย่อยหรือประเด็นรอง มีได้หลายประเด็น
  • แผนการเก็บข้อมูล จะเก็บข้อมูลอะไรบ้าง อย่างไร ลงพื้นที่ที่ไหน สัมภาษณ์ใครกี่คน

โครงเรื่องเปรียบเหมือนโครงการ (Project) ถ้าเข้าตากรรมการก็ง่ายที่จะได้รับอนุมัติงบ

ในแง่งานเขียนฝึกหัดในค่ายสารคดี เมื่อนักเขียนใหม่ถือโครงเรื่องมาขอคำปรึกษา ครูก็จะดูความน่าสนใจของประเด็น ความเป็นไปได้ในการเก็บข้อมูล–ซึ่งเป็นสิ่งขาดไม่ได้สำหรับงานสารคดี

ถ้าหัวเรื่องน่าสนใจ แผนการเข้าถึงแหล่งข้อมูลชัดเจน เห็นความเป็นไปได้ที่จะทำให้ปรากฏเป็นจริง ครูก็ “ซื้อ” คือเห็นดีเห็นงามยุส่งให้ดำเนินการต่อ

ถือเป็นความสำเร็จขั้นต้นในทำนอง “ประเด็นดีมีชัยไปครึ่ง” (แรก) โดยที่ยังไม่เกี่ยวกับว่าเขาจะ “เขียน” ออกมาได้ดีหรือไม่

แต่ก็พอเห็นหลักยึดให้มั่นใจได้ว่า การเริ่มต้นที่ดีจะเหมือนกับมีแผนที่ให้เดินไปสู่จุดหมายปลายทางได้โดยไม่หลงทาง

และแน่นอนว่าโครงเรื่องนั้นไม่ใช่กรอบเกณฑ์ตายตัว ทว่าสามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลาตามข้อมูลและสถานการณ์ที่ได้พานพบระหว่างทาง ขณะลงพื้นที่ ซึ่งหลายครั้งเราไม่รู้มาก่อนตอนที่เขียนโครงเรื่อง หรือบางเรื่องเราได้โครงเรื่องก็ต่อเมื่อกลับมาจากลงพื้นที่แล้ว เพราะก่อนหน้านั้นเรายังไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นเลยนอกจากความน่าสนใจของมัน ในกรณีเช่นนี้เราสามารถวางโครงเรื่องหลังจากเก็บข้อมูลก่อนลงมือเขียนก็ได้ ซึ่งยังทันการและเป็นประโยชน์ต่อการเขียนอยู่ดี

ทั้งหลายนี้คือความสำคัญของโครงเรื่อง

กลุ่มลูกโซ่ ค่ายสารคดี รุ่นที่ ๑๓ มีโครงเรื่องเข้าประกวด ๘ เรื่อง ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างบางส่วน

  • Drang Queen การแต่งตัวและแสดงตรงข้ามเพศตน / จากแนวคิดในการเปิดพื้นที่ให้คนในสังคมเข้าคนเพศทางเลือก ผ่านวัฒนธรรมการแสดง
  • ความเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งอันดามัน จากความเสื่อมโทรมยุคประมงทำลายล้าง สู่ประมงพื้นบ้านเพื่อการอนุรัษ์ทะเล
  • หุ่นสายเพื่อสังคม คณะหุ่นสายเสมา นำศิลปะพื้นบ้านมาสร้างสรรค์เพื่อเผยแพร่ความรู้
  • หมาติดล้อ กลุ่มอาสาสมัครทำวีลแชร์แจกจ่ายให้สัตว์พิการ รวมทั้งเปิดสอนวิธีทำวีลแชร์สัตว์พิการให้กับคนทั่วไปด้วย
  • องค์การช่วยเหลือสุนัขและแมวไม่มีเจ้าของ
  • โรงทานวัดซิกข์ ย่านพาหุรัด
  • การบริจาคอวัยวะและการปลูกถ่ายอวัยวะในยุคสมัยปัจจุบัน
  • ล่ามเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ ในโรงพยาบาลชายแดน
    ฯลฯ

ที่หวังว่าจะแปรรูปเป็นชิ้นงานที่อลังการตามหน้าหนัง