หัวตะเข้ เขตลาดกระบัง ชุมชนริมน้ำย่านชานกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลเรียนรู้สร้าง “งานชิ้นแรก” ของค่ายสารคดี ครั้งที่ 13 จาก 25 นักเขียน 25 ช่างภาพ จับคู่กันสร้างสรรค์ผลงานคู่ละเรื่อง ต่อจากนี้คือผลงานผ่านคมเลนส์และปลายปากกาของผู้ได้ชื่อว่าเป็นคลื่นลูกใหม่แห่งค่าย “คนบันทึกสังคม”


ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 13
งานภาพสารคดี ดีเด่น
เรื่อง : สลิลทิพย์ ดำรงมหาสวัสดิ์
ภาพ : ทศพร จิตร์สมสุข

jobbelieve01

jobbelieve02

ตรงข้ามซอยลาดกระบัง 17 ปากทางเข้าตลาดหัวตะเข้ ใต้สะพานกลางถนนใหญ่ แม้ไม่มีแสงส่องลงมาโดยตรง แต่พื้นที่ด้านล่างนี้ก็ไม่ได้มืดทึบหรือเงียบเหงา ใต้เสียงล้อรถและแดดร้อน นี่คือที่ซ่อนตัวของตลาดพระเครื่องย่านหัวตะเข้ ถึงแม้มีเนื้อที่ไม่มาก แต่ตลาดนี้ก็เดินสบายกว่าสายตามองเห็น

สองฝั่งของตลาดเรียงรายไปด้วยโต๊ะตัวน้อยใหญ่ บ้างเป็นกระเป๋า บ้างเป็นถาด บางคนจัดเรียงเป็นหมวดหมู่อย่างดี บางคนวางซ้อนรวมเป็นกองโตเหมือนชวนให้คนมาค้นหา เจ้าของโต๊ะแต่ละตัวมีทั้งอายุมากและวัยหนุ่มปะปนกันไป ทั้งส่องตำหนิพระ ตั้งใจขาย อ่านหนังสือพิมพ์ คุยกับเพื่อน จนถึงเล่นหมากรุก กิจกรรมมากมายเกิดขึ้นที่นี่ ให้คนที่เดินผ่านไปมา แม้ไม่ใช่ลูกค้า ได้อาศัยเป็นเส้นทางข้ามถนนที่ไม่วังเวงจนเกินไป

jobbelieve03 jobbelieve04
“ก็เป็นพื้นที่สาธารณะนี่นะ ฝนตกไม่เปียก แดดไม่ร้อน มีคนเดินผ่าน” สำราญ แก้วฉาย เจ้าของโต๊ะขายพระเครื่องเจ้าแรกของที่นี่เล่าถึงสาเหตุที่เลือกใช้พื้นที่ตรงนี้เปิดร้านมานานกว่า 7 ปี ก่อนจะมีเพื่อนคนอื่นตามมาจับจองพื้นที่ด้านข้าง จนรวมกันเกิดเป็นตลาดพระเครื่องใต้สะพานย่านหัวตะเข้

หลังจากเกษียณจากงานบริษัท สำราญก็เลือกมาขายพระเครื่องตามความสนใจเดิม ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นรายได้เลี้ยงดูตัวเอง และส่วนหนึ่งเพื่อมาเจอเพื่อน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทำกิจกรรมร่วมกัน ดั่งจะเห็นได้จากโต๊ะหมากรุกด้านหลังที่เดินค้างไว้

“จริงๆ ก็ไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลยนะ” สำราญเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการมาขายพระเครื่อง เขาเพียงเลือกรับพระตามความชอบของตัวเอง และปล่อยให้ลูกค้ามาเลือกองค์ที่ถูกใจกลับไปเท่านั้น

“ขายตั้งแต่ 6 โมงเช้านู่นแหละ เลิกสัก 5-6 โมงเย็น ทุกวัน ค่าที่ก็เก็บกันวันละ 20-30 บาท” สำราญอธิบายต่อว่าเงินค่าที่นี้ไม่ต้องรวมกันส่งให้เทศกิจหรือสำนักงานเขตที่ไหน แต่เอาไว้รวมกันเพื่อซื้อถุงเก็บขยะและเป็นเงินจ้างคนมาทำความสะอาดพื้นที่ใต้สะพานแห่งนี้ “เขาให้เราขาย เราก็ดูแลพื้นที่ให้เขา มันพื้นที่สาธารณะไง อย่างวันก่อนมีคนมาถ่ายหนักข้างหลัง โห ผมนี่พูดไม่ออกเลย ไล่ก็ไม่ได้ ไม่เก็บกวาดไม่ได้หรอก”

หากคนที่ไม่เคยสนใจเรื่องพระเครื่องมาก่อน เมื่อต้องการหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ อาจเลือกไม่ถูกว่าควรบูชาองค์ไหนดี คงอยากให้ใครช่วยแนะนำให้ แต่สำราญขอปฏิเสธ เขาเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถแนะนำให้ได้ ต้องมาศึกษาเอง เลือกดูเอง ชอบเองเท่านั้น

“มันอยู่ที่ใจนับถือ แล้วแต่คน อย่างของผมมีหลวงปู่ทวด ท่านมีประสบการณ์ให้นับถือ คือผมโดนคนทำร้ายก็รอดตาย รถยนต์ชน มอเตอร์ไซค์ชน ก็รอดมาได้” สำราญเล่าถึงพระที่ห้อยอยู่บนคอ

“เคยไปถามพวกคนเก็บศพตามป่อเต็กตึ๊ง แล้วเขาบอกว่าไม่เคยเจอศพที่ห้อยพระเป็นหลวงปู่ทวด ไม่มีเลยนะ แปลว่าท่านศักดิ์สิทธิ์มาก ช่วยให้แคล้วคลาด” หลังจากนั้นสำราญจึงห้อยหลวงปู่ทวดไว้กับตัวอยู่เสมอ พูดแล้วก็หยิบสร้อยทั้งเส้นออกมาให้ดู นอกจากหลวงปู่ทวดองค์ตรงกลางแล้ว ในสร้อยเส้นนี้ยังมีพระอีกสององค์ด้านข้าง

“คือเดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยมีที่ยึดเหนี่ยวในใจ พระบางรูปก็พึ่งไม่ได้ มีแต่พระที่เรานับถือแล้วพึ่งได้ ไหนๆถ้ามีแล้วก็ห้อยไปเหอะ” สำราญพูดพลางหัวเราะ

 

jobbelieve05 jobbelieve06

ส่วน ขวัญจิต เคารพ คนขายพระเครื่องผู้หญิงไม่กี่คนของที่นี่ ช่วยสรุปให้ว่า พระที่พอได้รับความนิยมเหมือนกันเท่าที่สังเกตได้ ส่วนใหญ่จะเป็นไปตามพื้นที่ที่อยู่อาศัย หากอยู่จังหวัดไหนมาก่อนก็จะเลือกบูชาพระจากบ้านเกิดตัวเอง หรือหากเป็นที่ตลาดหัวตะเข้แห่งนี้ คนส่วนใหญ่ก็จะเลือกนับถือหลวงปู่เผือก เพราะวัดของท่านอยู่ใกล้ที่นี่ (วัดกิ่งแก้ว)

เวลารับพระมาจากที่อื่น ย่อมมีทั้งพระจริงพระปลอมปนกันไป หากเป็นพระจริงสำราญก็ขายไปตามราคาที่ควรจะเป็น ส่วนพระปลอมนั้นเขาไม่ได้ทิ้ง แต่เก็บไว้ขายในราคาที่ถูกลงมา

“คนไม่มีเงินก็อยากมีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจนะ” สำราญพูดหนักแน่น

“อย่างพระจริงองค์ละ 20 ล้าน ใครจะมาซื้อ คนมีเงินน้อยทำไง เขาอยากได้เหมือนกัน ก็มาเอาอันนี้ไป อย่างมากก็ไปทำพิธี ใส่ไปในบาตรคนบวช ให้เขาสวดญัตติฯ นั่นแหละ ปลุกเสกแล้ว”

การสวดญัตติฯ ที่สำราญหมายถึง คือการสวดญัตติจตุตถกรรมวาจา บทสวดที่ใช้ในงานอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ตามความเชื่อของบางคนถือว่าเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์มาก ได้รับอานิสงส์ยิ่งใหญ่ สามารถใช้แทนการปลุกเสกพระได้ สำราญเทียบให้เห็นอย่างง่ายขึ้นว่า คนธรรมดาสวดญัตติฯ ยังสามารถเป็นพระสงฆ์ได้ พระเครื่องที่ผ่านการสวดญัตติฯ ก็ย่อมมีพุทธคุณเพียบพร้อมแน่นอน

ทางด้านขวัญจิตก็ยืนยันเช่นกันว่าพระปลอมพระจริงต่างขายได้ทั้งนั้น พระปลอมบางทีกลับขายดีกว่าด้วย เนื่องจากไม่มีตำหนิและราคาถูก นอกจากนี้พระปลอมยังเป็นที่นิยมของเหล่าคนอายุมาก เพื่อที่จะซื้อในจำนวนเยอะๆ ไปแจกลูกหลาน “เหมือนเป็นของขวัญไง ไม่ได้อยู่ด้วยกันก็ให้พระช่วยดูแล ให้พระคุ้มครอง”

jobbelieve07 jobbelieve08
สำหรับณรงค์ศักดิ์ หรือจี๊ด คนขับรถโรงเรียนที่ใช้เวลาว่างในวันหยุดเสาร์อาทิตย์มาขายพระเครื่อง มองว่า เพียงเป็นพระก็ควรค่าแก่การนับถือทั้งสิ้น หากได้ผ่านการปลุกเสกก็จะมีความมั่นใจมากขึ้นเท่านั้นเอง

“แท้ไม่แท้ เก่าใหม่ ใช้ได้หมด มันอยู่ที่ใจ พระอยู่ตรงไหนก็ไม่เสื่อม” เขากล่าวสรุป

หากให้สำราญพูดถึงอาชีพตัวเอง แม้จะทำอาชีพนี้มา 7 ปีแล้ว เขาก็ยอมรับว่ายังไม่เชี่ยวชาญอะไรมากมาย ถือเป็นงานอดิเรกเสียมากกว่า “ไม่ได้เป็นเซียน เป็นเทพอะไรหรอก เป็นคนธรรมดา เป็นแค่คนนั่งขายนี่แหละ”

“ใต้สะพาน บางครั้งก็รู้สึกว่ามันต่ำ แต่เราไม่ได้ทำให้มันต่ำ เราก็เอาโต๊ะมากาง เอาผ้ามาปู ไม่ได้วางเรี่ยกับพื้นให้ดูแย่สักหน่อย” ขวัญจิตพูดในมุมมองอาชีพของเธอกับพื้นที่แห่งนี้ และยังเล่าต่อถึงความฝันในอนาคตว่า อยากมีเงินมากขึ้นเพื่อที่จะซื้อพระได้มากขึ้นแล้วมาขายให้เยอะขึ้น เธอยืนยันว่าตัวเองพอใจกับอาชีพนี้แล้วโดยที่ไม่ได้มองหาอาชีพอื่นใดมาทดแทนเลย

“บางคนก็ดูถูกว่ามาขายพระ บอกว่าบาป เป็นเงินร้อน ไม่ดี แต่เราไม่ได้โกงใครไง เราก็ขายจนเลี้ยงลูกจนโตได้ คือตั้งแต่เขาอนุบาลเลยนะ แค่นี้มันก็ภูมิใจแล้วละ” ขวัญจิตจบประโยคด้วยรอยยิ้ม