วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี
วีระศักร จันทร์ส่งแสง
สอนการเขียนให้เด็กนักเรียนรุ่นเล็กๆ ถือเป็นงานหินอย่างหนึ่ง แต่ก็ได้ทำกันมาเป็นรุ่นที่ ๓ แล้ว กับกลุ่มนักเรียนชั้นประถมของโรงเรียนในพื้นที่ตำบลหนองปลิง อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ในชื่อโครงการค่ายกล้าวรรณกรรม “หัวใจบันทึก” โครงการในลักษณะนอกกระแส และไม่อยู่ในขนบของงาน อบต. โดยทั่วไปเช่นนี้ เกิดขึ้นได้ด้วยการริเริ่มผลักดันของ สายฝน ตรีนาวงศ์ ปลัด อบต. หนองปลิง กับนพดล ปรางค์ทอง อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ที่เห็นความสำคัญของการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์การอ่านการเขียนลงในใจเด็กๆ ตั้งแต่วัยเยาว์
แม้ว่านั่นอาจไม่ใช่เรื่อง่ายดายนัก เพราะระบบการศึกษากระแสหลักของเมืองไทยไม่ได้ฝึกให้นักเรียนของเราใช้ทักษะด้าน “อัตนัย” เท่าไหร่นัก แต่หนักไปทาง “ปรนัย” ที่มีคำตอบสำเร็จรูปให้เลือกตอบแบบไม่ต้องคิดสรรถ้อยคำอธิบาย ทักษะการเขียนไม่อยู่ในวิถีชีวิตและชั่วโมงเรียน นอกจากคาบเรียงความ ครั้นต้องสอนการเขียนให้เด็ก ป.๓ – ป.๖ เขียนเล่าเรื่องอะไรแบบยาวๆ เราก็อาศัยวิชาเรียงความที่เขาเคยเรียนมานั่นล่ะเป็นฐานที่จะต่อยอดต่อไป โดยเริ่มจากให้เขาทบทวนโครงสร้างการเขียนเรียงความ ทุกคนตอบได้ว่าที่ต้องมี… บทนำ เนื้อเรื่อง สรุป เรื่องเล่าก็ใช้โครงสร้างเดียวกันนี้ เพียงแต่เติม “ชื่อเรื่อง” เข้าไปเป็นส่วนแรกสุดด้วย และการเล่าเรื่องด้วยภาษาเขียนแบบงานวรรณศิลป์นั้น ต้องไปให้ไกลกว่าเรื่องเล่าแบนๆ แบบนิทานที่มีแต่เสียงผู้เล่า
แต่ศัพท์แสงและทฤษฎีทั้งหลายอาจเป็นเรื่องเข้าใจได้ยากสำหรับเด็กชั้นประถมต้น ในโรงเรียนกลางท้องทุ่ง ตัวอย่างรูปธรรมจะช่วยให้เขาเข้าใจวิธีการง่ายๆ ได้สะดวกขึ้น ดังตัวอย่างหนังสือภาพสำหรับเด็กเรื่อง นี่คือหนังสือ ของ เลน สมิธ (ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ แปล) หนังสือเปิดเล่มด้วยหน้าแนะนำตัวละคร หนู ลา ลิง ลิงเป็นนักอ่าน อยู่กับหนังสือ ลาอยู่กับคอมพิวเตอร์ เปิดเรื่อง เมื่อทั้งคู่มาเจอกัน จากนั้นเรื่องราวดำเนินไปด้วยบทสนทนา “นั่นอะไรน่ะ?” (ลาถามลิง) “นี่คือหนังสือ” (ลิงตอบ) “เลื่อนหน้าจอ ยังไงเหรอ?” “ไม่ต้องเลื่อน เราพลิกหน้ากระดาษ นี่คือหนังสือ” “เขียนบล็อก ได้มั๊ย?” “ไม่ได้ นี่คือหนังสือ” “แล้วเมาส์ของนายอยู่ไหน?”
……
บางช่วงเรื่องถูกเล่าผ่านภาพ ด้วยเสียง ด้วยเรื่องราวการต่อสู้ที่อยู่ในหนังสือ นั่นคือน้ำเสียงและเทคนิควิธีการเล่าของผู้เขียน
เมื่อชี้นำให้เด็กๆ เห็นพวกเขาก็ทำป็นทันที เพราะเป็นเรื่องง่ายๆ แค่ถ่ายทอดเหตุการณ์และเสียงสนทนาออกมาแบบภาพบันทึก แทนการสรุปความมาเล่าเองทั้งหมด และเมื่อให้ลงมือทำ เด็กๆ โรงเรียนบ้านทุ่งดินขอ (เรืองฉายอุปถัมภ์) ก็ทำกันออกมาได้แบบเกินความคาดหมาย ทั้งประเภทงานร้อยแก้ว ที่เรียนกับวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง และธารา ศรีอนุรักษ์ และประเภทร้อยกรอง ที่เรียนกับ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ และอังคาร จันทาทิพย์
เรื่อง “อุบัติเหตุที่ลืมไม่ได้” ของ เจษฎา นุบาล (ชั้น ป.๖) เปิดเรื่องว่า แผลเป็นเท่านิ้วโป้ง ยังอยู่บนขาข้างซ้ายของผม เที่ยงวันนั้นผมได้กลับมาเก็บผ้าเข้าบ้าน ก่อนผมจะออกมาจากโรงงาน พ่อได้บอกผมว่า “อย่าไปขี่รถเล่นนะ” แต่ผมไม่ฟังที่พ่อพูด ผมกลับไปที่บ้าน ทำงานเสร็จผมก็ขี่มอเตอร์ไซค์ไปที่ทางเข้าโรงเรียน ผมไปตั้งจุดเริ่มต้นที่โบสถ์ แล้วก็เริ่มซิ่งไป พอมันเริ่มแรงมาก ข้างหลังก็เลยสะบัด ไปชนต้นไม้ เด็กชายถ่ายทอดประสบการณ์ด้านโลดโผนเมื่อช่วงปิดเทอมลงในหน้ากระดาษ จนจบเรื่องด้วยบทเรียนที่เกิดขึ้นในใจว่า “ต่อไปนี้ผมจะฟังพ่อครับ”
อาจเป็นครั้งเดียวในรอบปีหรือครั้งเดียวในชีวิต ที่เด็กน้อยในท้องทุ่งได้สัมผัสวิชาการเขียนจากนักเขียนตัวจริง แต่จุดเปลี่ยนในชีวิตใครหลายคน ก็มาจากประกายไฟเล็กๆ ที่ได้พานพบแบบไม่ได้จงใจและไม่ได้คาดหวังเป้าหมายไว้ล่วงหน้า
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา