387special1

ดั่งกันและกัน ติช นัท ฮันห์ และเราทุกคน

ติช นัท ฮันห์

พระมหาเถระในพุทธศาสนามหายานนิกายเซนชาวเวียดนาม ที่เขียนหนังสือและบทกวีมากมายเพื่อเผยแผ่พุทธธรรม และนำการปฏิบัติในวิถีแห่งสติและความเบิกบาน

เมื่อยังเป็นภิกษุหนุ่มในยุคสงครามเวียดนาม ท่านใช้หลักธรรมนำการเรียกร้องสันติภาพให้ประเทศบ้านเกิด

กระทั่งสงครามยุติแต่ท่านต้องพรากจากบ้านไปเกือบ ๔๐ ปี โดยมีชุมชนหมู่บ้านพลัมในประเทศฝรั่งเศสเป็นที่พำนักปฏิบัติธรรม เขียนหนังสือ ทำสวน สอนศิษย์ ให้การอบรมการภาวนาแก่ศาสนิกชนทุกเชื้อชาติศาสนาทั่วโลก  ด้วยวิธีการที่หลากหลายในวิถีชีวิตประจำทั้งการสวดมนต์ นั่งสมาธิ การเดินแห่งสติ การฟังเสียงระฆัง การรับประทานอาหารร่วมกัน การล้างจาน ดื่มชา สนทนาธรรม และการฟังธรรม โดยมีหัวใจอยู่ที่การฝึกเจริญสติให้อยู่กับลมหายใจในปัจจุบันขณะ

หลวงปู่นัท ฮันห์ นับเป็นปรมาจารย์ด้านศาสนธรรมที่เป็นที่รู้จักและได้รับความเคารพนับถือมากที่สุดท่านหนึ่งของโลก  ปัจจุบันท่านอายุ ๙๑ ปี พำนักอยู่ที่หมู่บ้านพลัมประเทศไทย เพื่อรักษาตัวและฟื้นฟูสุขภาพ


387special2

จากป่าสู่เมือง “ธุรกิจ-ชีวิต” แบบเศรษฐกิจพอเพียง

ปีนี้ถือเป็นวาระครบ ๒๐ ปีของการเกิด “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ที่มีจุดเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคมของปี ๒๕๔๐  ในปีนั้นธุรกิจจำนวนมากเกิดหนี้สินล้นพ้นตัวจนต้องถูกยึดมาขายทอดตลาด  บางคนตัดสินใจจบชีวิตตนเอง ขณะที่คนจำนวนมากตกงาน

ปลายปี ๒๕๔๐ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” จึงได้รับความสนใจจากสังคมไทย แม้พระองค์จะมีพระราชดำริเรื่องนี้มาก่อนหน้านั้นนานกว่า ๒๐ ปีแล้ว

แต่ถึงวันนี้แม้รัฐจะพยายามผลักดันและประชาสัมพันธ์คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” แต่เมื่อถามคนทั่วไปว่าเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร หลายคนกลับมีภาพจำว่าคือชาวนาปลูกข้าว ทำสวน ขุดบ่อเลี้ยงปลา หรือคือคนรุ่นใหม่ทิ้งชีวิตในเมืองเพื่อไปทำเกษตรแบบ “พอเพียง”

ในวาระ ๒๐ ปีวิกฤตต้มยำกุ้งและเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๙  สารคดี หยิบยกเรื่องราวหลากหลายของการค้นพบสมดุลระหว่างการทำ “ธุรกิจ” ที่สร้างกำไร และ “ชีวิต” ที่สร้างความสุข จากพื้นที่บ้านป่าถึงโรงงานอุตสาหกรรมในเมือง

อย่างน้อยก็เป็นตัวอย่างว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่ต้องจำกัดอยู่แค่คนทำนาปลูกข้าว