หัวตะเข้ เขตลาดกระบัง ชุมชนริมน้ำย่านชานกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลเรียนรู้สร้าง “งานชิ้นแรก” ของค่ายสารคดี ครั้งที่ 13 จาก 25 นักเขียน 25 ช่างภาพ จับคู่กันสร้างสรรค์ผลงานคู่ละเรื่อง ต่อจากนี้คือผลงานผ่านคมเลนส์และปลายปากกาของผู้ได้ชื่อว่าเป็นคลื่นลูกใหม่แห่งค่าย “คนบันทึกสังคม”


ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 13
งานภาพสารคดี ดีเด่น
เรื่อง : วัศพล โอภาสวัฒนกุล
ภาพ : พบธรรม ยิ่งไพบูลย์สุข

amuletseller01

ทางเข้าตลาดพระเครื่องใต้สะพานข้ามคลองหัวตะเข้ ซึ่งถึงแม้พื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่เล็กๆและคับแคบ แต่เรื่องน้ำใจไมตรีและความรู้เกี่ยวกับพระเครื่องกลับแฝงตัวอยู่ในนี้มหาศาลนัก

amuletseller02

เหล่าเซียนพระทั้งขาประจำและขาจรกำลังขมักเขม่นบริหารสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ตนรัก

ผมเจอลุงลิ้ม หรือ ถาวร ยิ่งทวีกุล ที่เขตลาดกระบัง ตอนนั้นเขากำลังนั่งขายพระเครื่องอยู่ที่ใต้สะพานแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับคลองหัวตะเข้ ที่นั่นมีพ่อค้าแม่ค้าหลายคนต่างจับจองพื้นที่ตรงนั้นขายพระ บางคนปูเสื่อบางคนตั้งโต๊ะเล็กๆ เป็นระเบียบนับได้เกิน 10 ร้าน และมีร้านรับเลี่ยมกรอบพระที่อยู่ใกล้ๆ กับกลางสะพานอีกหนึ่งร้านด้วย เรียกได้ว่าเป็นแหล่งพระเครื่องพาณิชย์ครบวงจร

เราพูดคุยกันท่ามกลางเสียงดังของรถที่แล่นไปมาบนถนนลาดกระบัง

“ขายมานานเท่าไรแล้ว”

“เพิ่งมาขายตอนป่วย ตอนแรกๆ ขายแค่ 5-6 องค์จนถึงบัดนี้ก็ปีกว่าๆ แล้ว”

ถาวร ยิ่งทวีกุล หรือลุงลิ้ม เป็นคนกรุงเทพฯ มีบ้านหลังแรกในชีวิตอยู่ที่เขตพระนครใกล้ๆ กับวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ตอนอายุ 13 ปีเริ่มสนใจพระเครื่องพอได้ผ่านวัดก็จะแวะไปกราบไหว้พระสงฆ์ ขากลับก็ได้พระเครื่องติดไม้ติดมือมาเสมอ เขาเก็บสะสมพระอยู่เรื่อยๆ จนตอนนี้อายุ 70 แล้ว มีพระเก็บสะสมไว้เยอะ

เขาเล่าถึงชีวิตเมื่อ 20 ปีก่อนตอนที่ยังอาศัยอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีว่า “หลังจากเศรษฐกิจฟองสบู่ ผมล้มละลายเพราะช่วยเพื่อนมากไป หลังจากขายทรัพย์สินทั้งหมดเคลียร์หนี้ธนาคารแล้วเหลือเงินอยู่ 3,000 กว่าบาท”

ต่อมาได้พาครอบครัวย้ายที่อยู่จากนนทบุรีไปอยู่บ้านเช่าในเพชรบูรณ์ก็ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการเซ้งร้านอาหารแห่งหนึ่ง ลุงลิ้มเล่าถึงปัญหาที่พบก่อนที่ร้านจะเปิดว่า “ตอนแรกก็ไม่มีเงินพอที่จะไปขอเซ้งร้าน ผมก็อาศัยพระในคอที่มีอยู่สององค์เอาไปขายได้เงินมา 5,000 บาท ก็เลยได้เซ้งร้านอาหาร ได้ทำอาหารขาย”

amuletseller03

พระเครื่องหลากชนิดถูกวางเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบเพื่อรอให้คนที่เห็นคุณค่ามาจับจองไว้บูชาหรือศึกษาประวัติ

amuletseller04

ลูกค้าในตลาดนี้มีคนหลายชนชั้นและอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่ตำรวจที่ใช้เวลาว่างไปกับการสำรวจความงดงามของสิ่งศักดิ์สิทธิ์

เขาขายอาหารเลี้ยงครอบครัวที่เพชรบูรณ์อยู่หลายปีจนลูกๆ ทั้งสองคนเรียนจบมหาวิทยาลัยและต่างย้ายเข้าไปทำงานในเมืองตอนนั้นตัวเขายังอยู่ที่เพชรบูรณ์ ลุงลิ้มเล่าถึงสาเหตุที่ต้องย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ ในภายหลังว่า “พอลูกผมมาทำงานในกรุงเทพฯ อาทิตย์หนึ่งเขาก็จะกลับไปเยี่ยมผมครั้งหนึ่ง ผมก็สงสารไปกลับไปกลับใช้เวลาตั้งหลายชั่วโมงกว่าจะถึงเพชรบูรณ์ อย่างน้อยก็ 5-6 ชั่วโมงถ้านั่งรถทัวร์ สุดท้ายลูกก็เลยตัดปัญหาเซ้งบ้านอยู่แถวสามย่าน แล้วก็ให้ผมขายทรัพย์สินที่ผมมีอยู่ที่เพชรบูรณ์ทั้งหมดแล้วก็มาอยู่สามย่าน”

ลุงลิ้มเล่าถึงชีวิตตอนอยู่สามย่านว่า “ประกอบอาชีพค้าขายอาหาร ขายได้ประมาณสัก 2 ปีก็เก็บหอมรอมริบนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็ได้จากฝั่งญาติด้วยก็มีปัญญามาซื้อบ้าน” บ้านที่ลุงลิ้มพูดถึงคือบ้านในเขตประเวศซึ่งเป็นที่อยู่ของเขามาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อ 2 ปีก่อนโรคร้ายได้เล่นงานเขาในวันหนึ่ง ชายชราเล่าถึงเหตุการณ์ที่น่าสลดใจในวันนั้น “เราอยู่บ้านดูโทรทัศน์แล้วเราวูบลงไป โชคดีที่เรานั่ง ถ้ายืนแล้วล้มไปอาจจะแย่”

โรคเส้นเลือดในสมองตีบอาจทำให้กายของเขาเป็นอัมพฤกษ์ แต่ไม่อาจทำให้เขารู้สึกท้อถอย ชายชราพูดถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้ตัดสินใจสู้ชีวิตในตอนนั้นว่า “เห็นตัวอย่างดีๆ ที่องค์ฟ้าหญิงท่านป่วยท่านก็ยังอุตส่าห์สละพระวรกายออกมาช่วยประชาชน เราก็เห็นตัวอย่างจากท่าน เราก็เลยพยายามสู้ ลุกขึ้นมาออกกำลังเหมือนท่าน จนเดี๋ยวนี้ผมสามารถเดินเหินไปไหนมาไหนได้ ก็เริ่มจะกลับมาเป็นปรกติแล้ว เหลืออีกประมาณไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ก็จะหายเป็นปรกติ”

เมื่อถามถึงการออกกำลังกายที่ทำเป็นประจำ ลุงลิ้มก็เผยเคล็ดลับการออกกำลังกายในแต่ละวันว่า “ตั้งแต่ตี 5 ผมตื่นมาออกกำลังแล้วก็ขี่จักรยานจนถึง 8 โมงเช้า ตอนนี้สุขภาพดี ความดันเบาหวานไม่มี ดีหมดทุกอย่าง หัวใจก็ดี แต่ก่อนเป็นโรคหัวใจโต ตอนนี้ก็หายแล้ว”

ลุงลิ้มเล่าว่าที่บ้านไม่มีใครสนใจพระเครื่องของเขาเลยจึงต้องเอาพระมาขาย “ถ้าอีกหน่อยผมตายไปลูกเมียไม่รู้คุณค่าของพระ เอาไปขายในราคาถูกๆ มันก็เสียดายของคนไม่รู้จักของไม่รู้จักคุณค่าของพระ เอามาขายกองรวมๆ กัน ร้อยสองร้อยสามร้อยสี่ร้อยหนึ่งพัน ทั้งๆ ที่พระเรามีราคาเป็นแสน”

เมื่อถามว่าทำไมถึงเลือกที่นี่ เขาตอบว่า “แถวสี่แยกประเวศแถวนั้นมีอิสลามเยอะ ผมขายพระไม่ได้ก็เลยต้องมาขายแถวนี้ แถวนี้เป็นแหล่ง”

amuletseller05

 ชายคนนี้กำลังทำงานอดิเรกภายในเครื่องแบบของงานประจำ

amuletseller06

ชายคนนี้กำลังอยู่ในโลกส่วนตัว คนที่มาที่นี่คงจะเป็นคนที่รักในพระเครื่องจริงๆ

amuletseller07

เซียนพระบางคนก็อาศัยแสงแดดที่ลอดผ่านทางช่องระหว่างสะพานในการส่องชมความงามของพระเครื่อง

amuletseller08

เนื่องจากเป็นพื้นที่ใต้สะพาน ปัญหาที่เหล่าเซียนพระทุกคนต้องเจอก็คือรถน้ำของกทม. โดยรถจะผ่านมารดน้ำต้นไม้ทุกวันจึงต้องคอยหลบน้ำอยู่เป็นกิจวัตร และดูเหมือนทุกคนจะเคยชินเสียแล้วเพราะทุกครั้งที่น้ำเทลงมาก็ไม่เคยมีเสียงบ่นให้ได้ยิน แต่กลับกลายเป็นความเงียบเพราะชินชาหรือเกิดเสียงหัวเราะเพราะเข้าใจ แต่ไม่ว่าจะเป็นเสียงของความเงียบหรือเสียงของความสุขที่เข้ามากระทบโสตประสาทของข้าพเจ้า เสียงเหล่านี้ล้วนแสดงถึงการยอมรับกับจุดบอดในพื้นที่นี้ อาจเป็นเพราะความรักความผูกพันกับพื้นที่จึงทำให้คนเราไม่ยอมย้ายออกไปไหนแม้จะต้องพบกับความลำบาก

จากคำบอกเล่าของคนแถวนั้น ตลาดพระเครื่องใต้สะพานแห่งนี้เพิ่งเกิดขึ้นราวๆ 2 ปีก่อน มีร้านที่มาบุกเบิกเป็นเจ้าแรกคือร้านรับเลี่ยมกรอบพระ หลังจากมีการบอกเล่าต่อๆ กันไปพื้นที่ตรงนั้นก็เริ่มมีคนรู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ จนเวลาผ่านไปจากพื้นที่ใต้สะพานโล่งๆ ก็กลายเป็นแหล่งซื้อขายพระเครื่องที่ใหญ่

เมื่อถามเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ลุงลิ้มเผยว่าการขายพระทำให้มีเวลามาออกกำลังกาย “ผมออกมาทำมาหากิน แต่ลูกเมียก็ไม่ค่อยชอบให้เราออกมา อยากให้เราอยู่สบายๆ แต่การอยู่สบายบางครั้งมันก็ไม่ดี เราไม่ได้ออกกำลังกาย คือที่เราเป็นโรคเพราะอยู่สบายเกินไป”

เขาอธิบายอีกว่าการเล่นพระมีส่วนช่วยให้ห่างไกลอัลไซเมอร์อย่างไร “สมองเราจะคิดอยู่ตลอดเวลาเราจะจำได้ว่าพระองค์นี้เป็นพระวัดไหน สร้างปีไหน ของแท้หรือของเก๊เราจะรู้หมด”
พ่อค้าพระสูงวัยได้สรุปเกี่ยวกับลักษณะของคนขายพระเครื่องที่ดีว่า “เราจะต้องไม่มุสา ไม่ขายของเก๊เป็นของแท้ และต้องเป็นคนที่มีศีลห้าครบถ้วน เป็นคนปฏิบัติดีไม่กินเหล้าไม่เล่นการพนันไม่เที่ยวกลางคืน เป็นคนปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ”

ก่อนจะลากลับผมถามลุงลิ้มถึงเรื่องที่ค้างคาใจตั้งแต่ตอนแรกที่มาถึงที่นี่

“คิดยังไงกับคำว่าเอาของสูงมาอยู่ในที่ต่ำ”

ชายชราตอบด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นและเปี่ยมด้วยความศรัทธาว่า

“มันอยู่ที่เรา ถ้าเราจิตใจสูงเราก็อยู่สูงทุกอย่าง พระผมจะใส่กระเป๋า จะไม่ใส่กระเป๋ากางเกง อย่างน้อยก็กระเป๋าเสื้อ คือเรานับถือท่านเราก็ปฏิบัติดีแค่นั้นเอง”

ถ้าไม่ได้พบลุงลิ้มผมคงมองไม่เห็นแง่มุมอื่นๆของอาชีพขายพระ…ที่เป็นมากกว่างานที่หากินกับพระเครื่อง


เกี่ยวกับคู่นักเขียน-ช่างภาพ ค่ายสารคดีครั้งที่ 13

วัศพล โอภาสวัฒนกุล
นักอ่านนักเขียนมือสมัครเล่น ผู้ชื่นชอบการเดินมาบุุญครอง หอศิลปะ และ ร้านหนังสือ สนใจการเขียนอย่างจริงจังตอนเรียนอยู่ปีหนึ่งเพราะตอนนั้นได้อ่านหนังสือหลายเล่มแล้วรู้สึกประทับใจ ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆเพราะทำให้โลกทัศน์ของตัวเองกว้างขึ้น

amuletseller-photoพบธรรม ยิ่งไพบูลย์สุข (ช่างภาพ)