เรื่อง : ศิริกรณ์ โสภา นักศึกษาฝึกงานนิตยสาร สารคดี
ภาพ : อาจารย์ปิง วิชัยดิษฐ์
เอกลักษณ์ของเพิงพักมันนิคือการคลุมหลังคาด้วยใบหวายหรือใบกล้วยวัสดุจากธรรมชาติซ้อนทับหลายชั้น เพื่อกันแดดและฝน มีเสาไม้เป็นตัวค้ำยัน ภายในมีแคร่ไม้ไผ่สำหรับใช้นั่งและนอน
ชายหนุ่มร่างสูงใหญ่ชาวมันนิตั้งสมาธิจดจ่อกับเป้าหมายเบื้องหน้า จากนั้นค่อยๆ ยกลำไม้ไผ่ขนาดยาวเล็งยังเป้าหมาย และใช้พลังจากลมหายใจเป่าลูกดอกไปยังเป้าหมายอย่างแม่นยำ
ยุคสมัยที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่เพียงหยิบยื่นความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมโลกเท่านั้น เพราะแม้แต่กลุ่มชาติพันธุ์ “มันนิ” เอง ก็ดูเหมือนว่าจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตบางอย่างให้เท่าทันสังคมสมัยใหม่ที่บีบรัดเข้ามาทุกชั่วขณะ นั่นเพื่อเป้าหมายเดียว…“ความอยู่รอด”
มันนิ คำนี้ไม่ได้อยู่ในความรับรู้ของผู้คนมากนัก จากฐานข้อมูลศูนย์ชาติพันธุ์ในประเทศไทย ระบุว่ามันนิจัดอยู่ในกลุ่มซาไก ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยกันเป็นกลุ่มเล็กๆ หรือกระจัดกระจายอยู่ตามป่าเขาทางภาคใต้ บ้างก็เรียกเงาะป่า ซาไก เซมัง คะนัง ในมาเลเซียเรียกต่างไปอีกว่า โอรัง อัสลี ส่วนในพื้นที่แถบจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เคยเรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้ว่า ซาแก อันหมายถึงพวกคนเถื่อน ปัจจุบันเลิกใช้คำนี้กันแล้ว ว่ากันว่าชาวไทยพุทธพูดเพี้ยนไปเรียกว่า ซาไก แทน อย่างไรก็ตามพวกเขาเรียกตัวเองว่า มันนิ ซึ่งมีความหมายว่า มนุษย์
ชาวมันนิส่วนใหญ่อาศัยอยู่ท่ามกลางผืนป่ากว้างของเทือกเขาบรรทัดซึ่งทอดตัวเป็นแนวยาวบนพื้นที่หลายแสนไร่ในจังหวัดตรัง สตูล พัทลุง สงขลา พื้นที่ตอนล่างของเทือกเขามีอาณาเขตติดกับเทือกเขาสันกาลาคีรี จากสภาพภูมิประเทศภูเขาสลับซับซ้อน ปกคลุมด้วยป่าดิบชื้นทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ เอื้อให้ชาวมันนิตั้งหลักแหล่งและดำรงเผ่าพันธุ์ได้
ชายชาวมันนิกำลังตระเตรียมแสดงวิธีการเป่าลูกดอก เป้าหมายข้างหน้าคือลูกโป่งที่ผูกติดกัน ๓-๔ ลูก
ชาวมันนิแต่งกายด้วยเสื้อยืด กางเกงขาสั้น ที่ไม่ได้แตกต่างจากคนเมือง เพิงใหม่ยกพื้นสูงเหนือพื้นดินมีแผ่นสังกะสีปิด ข้างหน้าตั้งภาชนะสำหรับปรุงอาหารและบรรจุน้ำ เหล่านี้คือวิถีชีวิตของชาวมันนิที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย
สาวชาวมันนิผู้พูดน้อยและเขินอาย เธอสวมใส่ผ้าถุงและเสื้อยืดธรรมดาเช่นเดียวกับชาวบ้านทั่วไป แทบทุกเพิงจะก่อกองไฟให้เหลือไว้เพียงควันคลุ้ง พวกเขาจะนั่งอยู่ไม่ห่างจากกองไฟ เพื่อป้องกันตนเองจากยุงและแมลงจำนวนมาก
โดยปกติแล้วชาวมันนินิยมตั้งหลักแหล่งในป่าลึก ห่างไกลผู้คน แต่สำหรับชาวมันนิกลุ่มหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านควนไม้ดำ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง มีสมาชิก ๘ คน มีผู้เฒ่าเระเป็นหัวหน้ากลุ่ม ปัจจุบันได้ตั้งที่พักอาศัยอยู่ใกล้ถนนมากขึ้น แหล่งน้ำ ต้นไม้ขนาดใหญ่ ยังคงเป็นหมุดหมายสำคัญในการตั้งถิ่นฐาน เพราะนั่นหมายถึงแหล่งอุปโภคบริโภค แต่ต้นไม้ต้องไม่ใหญ่จนเกินไปเพราะอาจล้มลงมาทับเพิงพักได้
เพิงหรือที่พักของชาวมันนิสร้างขึ้นอย่างง่ายๆ หลังคาคล้ายเพิงหมาแงน มุงด้วยใบไม้ขนาดใหญ่ เช่น ใบหวายหรือใบกล้วย ภายในเพิงมีแคร่ทำจากไม้ไผ่เป็นที่นอนหรือนั่ง บางเพิงใช้แผ่นสังกะสีปิดเพิ่มความมิดชิดและแข็งแรง ข้างหน้าเพิงตั้งหม้อ กระทะ ชาวมันนิยังเลือกทำอาหารง่ายๆ ด้วยการเผาหรือย่างไฟ มากกว่าประกอบอาหารด้วยขั้นตอนและอุปกรณ์มากมาย
ภาพหนึ่งที่อาจจะเป็นภาพแสดงวัฒนธรรมของชาวมันนิไปแล้ว นั่นคือการก่อกองไฟให้เหลือไว้เพียงควันคลุ้งตลอดเวลา ชาวมันนิบอกว่า “เอาไว้ไล่ยุง แถวนี้ยุงเยอะ”
อาหารส่วนใหญ่เป็นพวกแป้งที่ได้จากหัวเผือกหัวมัน รวมทั้งสัตว์ที่ชาวมันนินิยมล่าด้วยการเป่าลูกดอกอาบยาพิษ ได้แก่ พวกลิง ค่าง นก ชะนี หมูดิน หรือตัวเงินตัวทอง วัฒนธรรมการล่าแบบดั้งเดิมคืออาวุธสำคัญที่นำมาซึ่งมื้ออาหารอันโอชา
เมื่อถามถึงการเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่จังหวัดตรัง นางย๊ะภรรยาของผู้เฒ่าเระ เล่าให้ฟังเพียงว่า “เรานั่งรถบัสจากสตูลมาถึงนี่ นี่ก็ ๒ ปีแล้ว”
ชาวมันนิย้ายหลักแหล่งเมื่ออาหารไม่พอหรือคนในกลุ่มตาย “ถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งในกลุ่มตาย เราก็จะทิ้งศพไว้ที่นี่ เราก็ย้ายถิ่นฐานไปที่อื่น ศพจะถูกสัตว์ป่าลากเอาไปกินจนหมด อีก ๓-๔ ปี เราก็จะกลับมาที่เดิม หรือไม่กลับมาแล้ว แต่ทุกวันนี้เราไม่ทำอย่างนั้นแล้ว” ผู้เฒ่าเระ ผู้นำกลุ่มชาวมันนิเล่าให้ฟังด้วยสีหน้าและท่าทีจริงใจ
นางย๊ะ ภรรยาผู้นำกลุ่ม เล่าว่า “เราแต่งงานกันตามปกติ ถ้าชอบพอใครก็จะไปสู่ขอ พอแต่งงานแล้วฝ่ายหญิงจะย้ายไปอยู่ที่บ้านของฝ่ายชาย”
ปัจจุบันนี้ศพของชาวมันนิที่เสียชีวิตได้รับการจัดการอย่างเรียบร้อย รวมถึงเป็นพิธีกรรมมากขึ้นด้วย
เสียงลูกดอกแล่นออกจากลำไม้ไผ่ยาวพุ่งกระทบวัตถุเบื้องหน้า ดังปึ้ง ! ปึ้ง ! ชายหนุ่มชาวมันนิร่างสูงใหญ่สาธิตวิธีการใช้ลูกดอกล่าสัตว์อย่างช่ำชอง แต่สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงก็ทำให้ชาวมันนิเริ่มปรับตัวและมีปฏิสัมพันธ์กับคนภายนอก หลายคนออกมารับจ้างกรีดยางเพื่อแลกกับเงินซื้อข้าวสาร สวมเสื้อผ้า ใช้วัตถุดิบปรุงอาหารหลากหลายขึ้น
“เราเคยเข้าไปนอนในคุกมาแล้ว”
เพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนต่างด้าว เป็นคนผิดกฎหมายเพราะไม่มีบัตรประชาชน พวกเขาจึงเพิ่มความระมัดระวังเวลาจะเดินทางไปไหน หรือแม้ชาวมันนิจะได้รับสิทธิการเป็นพลเมืองตามกฎหมายอย่างถูกต้อง แต่เขาก็อาจต้องเผชิญกับกฎหมายที่สั่งห้ามประชาชนบุกรุกพื้นที่ป่าหรือห้ามล่าสัตว์ ขัดกับวิถีชีวิตที่ยังต้องสัมพันธ์กับป่า คำถามที่ตามมาคือ ชาวมันนิจะดำรงชีวิตต่อไปอย่างไรเมื่อวิถีที่สืบทอดมาไม่สอดคล้องกับกระบวนการทางกฎหมาย สังคมจะเปิดรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมนี้ได้หรือไม่ และควรจะหาทางออกต่อเรื่องนี้อย่างไร
เช้าวันพรุ่งนี้ สองมือที่หยาบกร้านจะยังถืออุปกรณ์คู่กาย ไม่ว่าจะมีดกรีดยาง หรือลูกดอกอาบยาพิษ ขณะที่ทุกคนยังดำเนินชีวิตต่อไปราวกับวันนี้มิได้เกิดอะไรขึ้น
มันนิ เรื่องราวของคนกับป่า ผู้ที่มีปากมีเสียง ทว่า “เสียง” ของพวกเขาอาจเงียบเกินไปสำหรับทุกคน