sujane-robbanแลไปรอบบ้าน  

บันทึกมุมมองสั้นบ้าง (ยาวบ้าง) ของ สุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนสารคดีที่สนใจประเด็นประวัติศาสตร์ ปรากฎการณ์ทางสังคม ไม่ว่าจะการเมือง สิ่งแวดล้อม จนถึงเรื่องราวเล็กๆ ใกล้ตัว


เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์


seoullo01

“ชวนผู้คนออกไปบนถนนที่ไร้รถยนต์กันเถอะ !”

คำขวัญอันเป็นจุดกำเนิด “สวนสาธารณะลอยฟ้า Seoullo 7017”

กรุงโซล , สาธารณรัฐเกาหลี ค.ศ.1960

หลังสงครามเกาหลีจบลงไม่นาน คนเกาหลีใต้ต่างมุ่งมั่นในการฟื้นฟูประเทศด้วยการนำเข้าความรู้ -เลียนแบบ-สร้างนวัตกรรมที่เป็นของตัวเอง จนเริ่มประสบความสำเร็จ เศรษฐกิจเกาหลีใต้เริ่มเข้าสู่ระยะ “ขาขึ้น” ช่วงต้นทศวรรษ 1960 ท่ามกลางโลกยุคสงครามเย็นและการคุกคามจากญาติทางเหนือ (เกาหลีเหนือ)

กรุงโซล-เมืองหลวงเกาหลีใต้ก็ไม่ต่างกับเมืองหลวงทั่วโลก นอกจากคนจะเพิ่มขึ้น จำนวนรถยนต์ก็เพิ่มขึ้นพร้อมกับเศรษฐกิจที่เติบโต

โอปป้ารุ่นเก่าที่มีชีวิตผ่านทศวรรษ 1960s หลายคนยังจำได้ว่าตอนนั้นเองที่ทางด่วน Seoul Station Overpass ถูกสร้างขึ้นเชื่อมโซลฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออกส่วนที่ตั้งอยู่เหนือแม่น้ำฮานเข้าด้วยกัน เชื่อมย่านตะวันออกของเมืองหลวง (ตลาดนัมแดมุน เมียงดง ย่านเขานามซาน) เข้ากับชุมชน 3 แห่งทางตะวันตกของโซล

ทางด่วนสายนี้เสร็จในปี 1970 กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการเติบโตของโซล

ภาพคุ้นตาโอปป้ารุ่นคุณปู่คือ โครงสร้างเสาคานที่พาดข้ามสถานี Seoul Station (เทียบได้กับหัวลำโพงของไทย หรือสถานีโตเกียวของญี่ปุ่น) ทางด่วนระฟ้าสายนี้จึงอยู่ในความทรงจำของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดที่เดินทางมาโซลด้วยรถไฟ เพราะภาพตอม่อและคานยายเหยียดผ่านกลุ่มตึกคือภาพแรกที่ต้องเห็นเมื่อก้าวออกจากสถานีเก่าแก่แห่งนี้

Seoul Station Overpass รับใช้ชาวกรุงโซลมาจนปลายทศวรรษที่ 1980 ที่เกาหลีใต้กลายเป็นชาติพัฒนาแล้ว โซลกลายเป็นเมืองหลวงรัฐประชาธิปไตยที่มั่นคงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หลังคนเกาหลีรวมพลังโค่นล้มเผด็จการจนมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญและระบบกลไกการเมืองการปกครองทั้งหมดในปี 1987

นับแต่นั้นกระบวนการ “ทำให้เป็นประชาธิปไตย” ก็ถูกปรับใช้กับทั้งระบบการเมืองเกาหลีใต้ การเลือกตั้งเกิดขึ้นทุกระดับไม่ว่าจะการเมืองระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น การผลักดันนโยบายทั้งหมดของแต่ละพื้นที่ นับแต่นั้น เกิดขึ้นจากโครงสร้างที่คนส่วนมากเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งสิ้น

ในกรณี Seoul Station Overpass หลังอายุงานผ่านไป 45 ปี ทางการกรุงโซลก็เริ่มกังวลกับความเสื่อมสภาพของทางด่วนสายเก่าแห่งนี้ จนปี 2006 แม้จะมีความพยายามซ่อมบำรุงตลอดเวลาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 แต่การเสื่อมสภาพก็เข้าถึงจุดอันตรายจนทางการต้องประกาศห้ามยานพาหนะทุกชนิดใช้ทางด่วนสายนี้

เป็นเวลานานถึง 8 ปีหลังจากนั้นที่ทางการกรุงโซลพยายามเลือกระหว่างการ “ทุบทิ้ง” หรือ “ปรับปรุง” ทางด่วนสายเก่าแก่

seoullo02 seoullo03 seoullo04

คืนทางด่วนให้คนกรุง

ค.ศ. 2014

หลังการถกเถียงอันยาวนาน กรุงโซลเลือก “คืนทางด่วนให้ประชาชน” โดยมีโจทย์ที่ต้องแก้คือ การจัดการโครงสร้างที่เก่าแก่ให้ปลอดภัยและกำหนดรูปแบบการใช้งานใหม่

มีการประชาพิจารณ์กับชุมชนจำนวนมากที่อยู่โดยรอบทางด่วนมากกว่า 100 ครั้ง โดยความกังวลส่วนมากก็คือ ปริมาณรถยนต์ที่เคยใช้เส้นทางนี้อย่างน้อย 46,000 คันต่อวัน จะไปคับคั่งอยู่ในเส้นทางโดยรอบเมื่อทางด่วนนี้หมดสภาพของถนนไปจริงๆ

เมื่อได้ข้อสรุปจึงมีการประกาศดำเนินโครงการ Seoullo 7017 ในปี 2015 จากนั้นส่วนงานของการก่อสร้างก็เริ่มต้นขึ้นไม่ว่าจะเป็นการเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างเดิม ปรับระบบการสัญจรรถยนต์โดยรอบใน 23 สี่แยกปรับภูมิทัศน์ 27 พื้นที่ ทำทางเลี่ยง ระบายคนไปยังระบบขนส่งชนิดอื่นที่มีครอบคลุมทั้งเมืองหลวง และซักซ้อมความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ส่วนข้อเสนอที่แปรเปลี่ยนทางด่วนแห่งนี้ให้กลายเป็น “สวนสาธารณะ” นั้นผ่านการประกวด Seoul Metropolitan Government’s 2015 international design competition โดยมีนักออกแบบนานาชาติเข้ามายื่นแบบแข่งขันกันจำนวนมาก ผู้ได้รับชัยชนะคือ วิทนี่ มาส (Winy Maas) นักออกแบบชาวดัตช์กับโครงการที่ชื่อว่า ‘The Seoul Arboretum’

วิทนี่บรรยายโครงการของเขาว่า โซลโล 7017 นั้น ต้องเป็นพื้นที่สำหรับคนหลากหลายกลุ่ม เชื่อมโยงชุมชนต่างๆ ในกรุงโซลเข้าด้วยกัน “ผมไม่ต้องการให้โซลโล 7017 เป็นแค่อนุสาวรีย์” และต้องการให้ที่นี่เป็น “ทั้งพื้นที่สาธารณะและสวนสาธารณะในเวลาเดียวกัน” ด้วยการวางแผนปลูกพืชท้องถิ่นของโซลหลากหลายชนิดลงไปในลักษณะของสวนพฤกษศาสตร์ในลักษณะของ “สวนลอยฟ้า” (sky-garden)

ดังนั้น “ทางด่วนยุค 70” จะเกิดใหม่เป็น “สวนลอยฟ้า” ในศตวรรษที่ 21 โดยข้อเสนอนี้ได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากนายกเทศมนตรีกรุงโซลขณะนั้นคือ ลีมยองบัค (ต่อมาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้)

seoullo05 seoullo06

“ชีวิตใหม่” ของ “ทางด่วนเก่า”

ชื่อ Seoullo 7017 นั้น มีความหมายว่า สวนแห่งนี้เคยเป็นทางด่วนในปี 1970 และกลายเป็นสวนสาธารณะของทุกคนในโซลในปี 2017 เมื่อมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ

ก่อนการปรับปรุงจนสมบูรณ์ในปี 2017 ทางการยังเปิดให้ชุมชน “ลองของ” เช่น ปี 2014 มีกิจกรรมให้ชาวเมืองทดลองเดินไปบนทางด่วนสายนี้ภายใต้โครงการ “เดินบนถนนสายดอกไม้” (Seoul Station Overpass, the first encounter: Walk the flower road)

มันคือครั้งแรกที่ชาวกรุงโซลจะได้ “เดินเท้า” บนทางด่วนที่รถยนต์ยึดมาตลอด 40 กว่าปี เป็นเวลาทั้งหมด 4 ชั่วโมงพร้อมกับกิจกรรมหลากหลายบนทางด่วน

กิจกรรมนี้ ทำให้คนจำนวนมากเกิดความรู้สึกใหม่ๆ กับทางด่วนที่ได้คืนมาในฐานะ “ระเบียงสีเขียว” ของเมืองที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยกิจกรรมนี้เกิดขึ้นอีก 2 ครั้งในปี 2015 ก่อนจะปิดปรับปรุงทางด่วนให้เป็นสวนลอยฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ

ปี 2017 เมื่อผมได้มีโอกาสไปเยือน Seoullo 2017 ก็พบว่าสวนแห่งนี้ทันสมัยและตอบรับความต้องการของชาวกรุงโซลได้ดี บนสวนลอยฟ้ามีอาคารเล็กๆ เป็นศูนย์ข้อมูล 2 แห่ง อาคารแสดงศิลปะ 2 แห่ง มี 10 จุดเป็นที่เพาะพันธุ์พืชท้องถิ่น พื้นที่สำหรับต้นไม้ 686 จุด และมีพื้นที่แสงสี 3 แห่ง

ที่พิเศษคือ มีกิมมิคพิเศษ เช่น อ่างน้ำเย็นแช่เท้าสำหรับคนขี้เมื่อย จุดปล่อยไอน้ำ ร้านขายกาแฟ ฯลฯ อีกประมาณ 20 แห่งที่เป็นสีสันและลานพักผ่อนของสวนแห่งนี้ ในยามที่เดินชมเมืองและเมื่อยล้า

เดินไปก็พลางคิดว่า เหลือเชื่อว่าเรากำลังเดินอยู่ในมหานครใหญ่ติดอันดับโลกด้วยมุมมองเดียวกับคนขับขี่รถยนต์ในพื้นที่ที่มีมูลค่านับพันล้านวอน

อย่างไรก็ตามก็ใช่ว่าจะมีแต่คนมองโครงการนี้ในแง่บวก คนคัดค้านก็มีจำนวนหนึ่งที่มองว่าโครงการนี้ทำให้ราคาค่าเช่าที่อยู่อาศัยย่านนี้เพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ร้านเล็กๆ เริ่มอยู่ลำบาก หลายคนบ่นว่าการขนส่งสินค้าที่เดิมใช้เส้นทางลอยฟ้าข้ามไปอีกฝั่งของเมืองในเวลาไม่นาน ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นหลายเท่า แถมรถยนต์ก็ยังไปคับคั่งในทางยกระดับที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก นอกจากนี้แบบยังถูกวิจารณ์ว่ามันออกจะเป็น “ธรรมชาติประดิษฐ์” ที่ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล

แต่ชาวกรุงโซลจำนวนมากก็มองว่านี่คือ “พื้นที่สีเขียวของเมืองหลวง” ที่ได้มาเป็นแลนด์มาร์กของเมืองแทนที่จะปล่อยให้ทางด่วนเก่าโดนทุบไปอย่างไร้ประโยชน์

หันกลับมามอง “เมืองเทวดา” อย่างกรุงเทพฯ ผมก็ได้แต่ทดท้อใจ เราไม่เคยมีวิสัยทัศน์และการถกเถียงที่เกิดโภคผลเช่นนี้ ระบบการเมืองแบบทหาร, ผู้ว่าฯ ลากตั้งด้วยมาตรา 44 ไม่เอื้อใดๆ กับความคิดริเริ่มลักษณะนี้

ไม่ต้องพูดถึงโครงการหอชมเมืองที่ได้มาด้วย “วิธีพิเศษ” ที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

เรื่องแบบนี้เป็นได้แค่ฝันเท่านั้นสำหรับชาวกรุงเทพฯ ในรัฐเผด็จการอำนาจนิยม