วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


เรื่อง : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง
ภาพโดย ประเวช ตันตราภิรมย์

homeschool02

สารคดีเรื่อง “Home school โลกกว้างกว่าห้องเรียน” ตีพิมพ์ใน สารคดี ตั้งแต่ฉบับ ๓๘๗ เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๐ แต่ยังมีเสียงสะท้อนจากผู้อ่านเข้ามาไม่ขาดสาย เป็นเสียงติงมากกว่าชม ทั้งในแง่ความรอบด้านของประเด็น แหล่งข้อมูล แง่มุม ที่หยิบมานำเสนอทั้งโดยเรื่องและภาพ

จึงนึกอยากนำเบื้องหลังมาผีแผ่ เผื่ออาจเป็นประโยชน์ ในฐานะเครื่องเคียงชิ้นงาน เพื่อความสนุกในการอ่าน หรือเป็นการถอดบทเรียนเพื่อเป็นกรณีศึกษาหนึ่งให้กับนักหัดเขียนสารคดีก็ได้

แนวคิดที่เป็นจุดตั้งต้นของสารคดีเรื่องนี้ อยู่ที่ความต้องการจะเปิดโลกของการศึกษาทางเลือกอีกสายหนึ่ง ซึ่งพ่อแม่จัดให้ลูกเองที่บ้าน ที่เรียกกันว่า home school หรือแปลเป็นไทยว่า บ้านเรียน อย่างครอบคลุมสมบูรณ์แบบ ตั้งแต่ยุคบุกเบิกถึงยุคปัจจุบัน ตั้งแต่บ้านเรียนในเมืองจนถึงใบชนบท ทั้งครอบครัวฐานะดี การศึกษาสูง จนถึงชาวบ้านชาวนาชาวไร่ นอกจากได้รู้จัก มองเห็นภาพ เห็นกรณีตัวอย่าง ยังคาดหวังว่าจะเป็นสารคดีที่รวมองค์ความรู้ว่าด้วยบ้านเรียนอย่างสมบูรณ์ หากพ่อแม่รุ่นใหม่บ้านไหนจะทำบ้านเรียนให้ลูก ก็ให้สามารถใช้ สารคดี ฉบับนี้เป็นคู่มือเบื้องต้นได้

โดยแนวเนื้อหางานเขียนเรื่องนี้จัดอยู่ในประเภทสารคดีชีวิต-ชุมชน ซึ่งจะว่าไปเรื่องที่มีชีวิตและตัวละครอยู่แล้วเช่นนี้ ถือเป็น “ขนม” สำหรับนักเขียนสารคดี ที่ “กินง่าย” เขียนง่าย ทำงานง่ายกว่าเรื่องแห้งๆ ในประเภทวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งของที่ไร้ชีวิต หรือแม้แต่เรื่องแนวธรรมชาติหรือสรรพสัตว์

มีตัวละครและเรื่องราวให้เลือกหยิบส่วนที่เข้มข้นโดดเด่นมาเรียงเล่าในหน้ากระดาษได้ไม่ยาก แก่นเรื่องแบบ “ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย” นั้นพบได้เสมอในชีวิตจริงโดยทั่วไป

แต่เมื่อเริ่มลงพื้นที่ก็พบว่าเราหาสิ่งเหล่านั้นได้ไม่ง่ายเลย ด้วยคนทำโฮมสกูลไม่ใช่เรื่องของการมีความสามารถพิเศษที่แตกต่างอย่างโดดเด่นเป็นพิเศษเสมอไป อีกทั้งการเรียนแบบบ้านเรียนนั้นส่วนใหญ่เป็นการเรียนรู้ร่วมไปในวิถีชีวิตประจำวันกับครอบครัว การเรียน (รู้) ดำเนินไปตามธรรมชาติอย่างธรรมดา ไม่ได้เป็นเรื่องคนเด่นคนดังอย่างนักกีฬา ดารา ชาวนา หรือภูมิปัญญาบ้าน ศิลปิน ลิเก หรือคณะตลก ฯลฯ ที่เพียบด้วยสีสันและแอ๊คชั่น อีกทั้งเครื่องแบบก็ไม่มี-ยิ่งเห็นภาพได้ยากด้วยภาพถ่าย ยิ่งยากกับการที่นักเขียนจะหาจุดโดดเด่นหยิบนำมาเล่าให้สนุกและมีสีสัน

และมองผิวเผินดูเหมือนว่าบ้านเรียนเป็นเรื่องของเด็ก แต่ความจริงคือเด็กปฐมวัยยังไม่รู้หรือเข้าใจอะไรเกี่ยวกับระบบการศึกษา นอกจากเขาอาจสะท้อนออกมาว่าไม่มีความสุขกับการไปโรงเรียน หรือพ่อแม่คิดมาแต่ต้นว่าจะจัดการศึกษาให้ลูกเองที่บ้าน ผู้ปกครองก็จะทำบ้านเรียนให้ลูก การคุ้ยค้นถึงความเป็นบ้านเรียน แนวคิด องค์ความรู้ ต้นแบบ หลักสูตร การบริหารจัดการ จึงต้องมาจากปากคำผู้ใหญ่เป็นหลัก งานสารคดีที่อาจถูกคาดหวังจากผู้อ่านว่าเด็กต้องเป็นตัวละครหลักกลับกลายเป็นส่วนเสริมในเรื่องเล่า

homeschool01

เมื่อไม่มีตัวละคร (หรือแหล่งข้อมูล) ที่ “แข็งแรง” โดดเด่นพอจะเป็นแกนของเรื่อง ผู้เขียนก็ปรับโครงเรื่องใหม่ด้วยการใช้ประเด็นเป็นแกนเรื่อง เล่าเรื่องไปตามลำดับประเด็น โดยหยิบเรื่องของตัวละครในแต่ละบ้านเรียนมาใส่ให้สอดคล้องตามหัวข้อประเด็น ตัวละครหนึ่งอาจปรากฏอยู่หลายที่หลายตอนตามเนื้อหา

และเป็นความตั้งใจตั้งแต่ตอนวางโครงเรื่องที่จะจำกัดขอบเขตเนื้อหาของเรื่องไว้ที่โลกของบ้านเรียน ไม่คลุมไปถึงข้อดีด้อย คำอุธรณ์ เสียงโต้แย้งของการศึกษาแบบอื่น แต่โดยที่โฮมสกูลเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการศึกษาในระบบ มุมมองของเขาส่วนใหญ่ที่มีต่อโรงเรียนจึงเอนเอียงไปทางไม่เห็นดีอยู่โดยนัย

พ่อแม่บ้านเรียนหลายคนพูดทำนองเดียวกันว่า ทุกครอบครัวทำบ้านเรียนได้ อยู่ที่ว่ากล้าไหม เมื่อเริ่มออกมาแล้วจะไปต่อได้

บ้านเรียนทั้งหมดที่ได้พบเจอจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล ไม่มีบ้านไหนอาศัยสูตรสำเร็จหรือแบบเรียนจากบ้านอื่นได้เลย อาจเป็นต้นแบบหรือแรงหนุนในช่วงเริ่มต้น ถึงช่วงหนึ่งก็ต้องมีแผนหลักสูตรของตัวเอง ซึ่งที่หยิบยกมานำเสนอไว้ในเรื่องก็มีตั้งแต่ครอบครัวคนในเมืองและคนบ้านๆ ในหลากหลายอาชีพทั้งข้าราชการ พนักงานบริษัท ศิลปินอิสระ เกษตรกร

แต่ก็อย่างว่า ในบรรดาเด็กวัยเรียนนับสิบล้านคนในประเทศของเรา มีครอบครัวบ้านเรียนที่ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการกับเขตการศึกษาแค่ราว ๕-๖ ร้อยคน กับที่จดทะเบียนผ่านช่องทางอื่น รวมแล้วทั่วประเทศคงไม่เกินหลักพันครอบครัว

บ้านเรียนเป็นคนส่วนน้อยกลุ่มเล็กมากๆ ที่กล้าผละออกจากระบบการศึกษาสายหลักของทางราชการ แน่นอนว่าเขาย่อมต้องมีความพิเศษบางอย่างพอที่จะมั่นใจในตัวเองได้

โดยนัยนี้การจะหาครอบครัวโฮมสกูลที่ธรรมดาก็ต้องยอมรับว่า หาได้ยากอยู่เหมือนกัน

ทั้งหมดทั้งหลายที่เล่าคือที่มาของเนื้อหาที่ปรากฏออกมาแล้วไม่ค่อยเป็นที่ต้องต้องใจของคนอ่าน ด้วยเงื่อน ข้อจำกัด ที่ตั้งต้นมาตั้งแต่การเลือกหัวเรื่อง ซึ่งคิดว่าน่าจะเขียนง่าย แต่แล้วก็อาจกลายเป็นยาขมของคนเขียนไปได้ เมื่อคนอ่านไม่ปลื้ม

โดยทั่วไปไม่ใช่ธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะนำเบื้องหลังมาแจกแจง เพื่อส่งเสริมหรือแก้ตัวให้กับข้อดีด้อยในเนื้องาน แต่นำมาตีแผ่เป็นการแบ่งปันประสบการณ์อีกด้านหนึ่ง ซึ่งหวังประโยชน์ในฐานะตัวอย่างและบทเรียนการเขียนสารคดีอีกแง่มุมหนึ่ง


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา