อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม
เรื่องและภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
สะพานแซนแญปตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบ เขตวัฒนา ระหว่างท่าเรือสุเหร่าบ้านดอนกับท่าเรือวัดใหม่ช่องลม ๔-๕ ปีมานี้ตัวสะพานเกิดชำรุดเสียหาย
หลายเดือนที่ผ่านมา กลุ่มนักปั่นได้จัดกิจกรรมบำรุงรักษาเส้นทางจักรยานสายหนึ่งที่ชำรุดทรุดโทรม เริ่มรู้จักกันในชื่อ สะพานแซนแญป
สะพานแซนเญปเป็นสะพานเล็กๆ ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดัง ตั้งอยู่มุมอับเลียบคลองแสนแสบ ผู้โดยสารเรือด่วนคลองแสนแสบสามารถมองเห็นสะพานนี้ได้ทางฝั่งซ้ายมือ ขณะนั่งเรือจากท่าสุเหร่าบ้านดอนมุ่งหน้าท่าวัดใหม่ช่องลม จากตรงนั้นถ้ามองขึ้นบนฟากฟ้าก็จะเห็นตึกอิตัลไทยตั้งตระหง่านอยู่ฝั่งตรงข้าม
ความจริงแล้วสะพานแซนแญปเป็นสะพานนิรนาม ไม่มีชื่อ ลักษณะเป็นสะพานเหล็กพอคนเดินสวนกัน ยกสูงข้ามท่อระบายน้ำ มีคนใช้งานอยู่ราว ๒๐๐-๓๐๐ คน ทางขึ้นและลงเชื่อมต่อกับทางเลียบคลองแสนแสบ
ปัญหาเกิดขึ้นคือสะพานนี้ผุพัง พื้นสะพานช่วงหนึ่งกลายเป็นหลุมกว้างขนาดพอที่ขาเด็กหรือผู้ใหญ่จะตกลงไปได้ ส่วนอื่นๆ ของสะพานก็เริ่มเป็นสนิมตามอายุขัย
ความเป็นมาของสะพานและเส้นทางจักรยานสายนี้ต้องย้อนไปในปี ๒๕๕๕ เมื่อทาง กทม. มีโครงการขยายทางเดินริมคลองแสนแสบให้กว้างมากขึ้นเพื่อทำทางเดินและทางจักรยานตั้งแต่ช่วงสะพานอโศกถึงซอยทองหล่อ ใช้งบประมาณมากกว่า ๑๐๐ ล้านบาท
แต่งบประมาณมากมายนั้นก็ไม่ได้ครอบคลุมถึงสะพานข้ามท่อระบายน้ำ ถึงแม้ว่าจะมีการทักท้วงจากกลุ่มผู้ใช้จักรยานแล้วก็ตาม ผลคือหลังขยายทางเลียบคลองสำเร็จ สะพานเหล็กก็ยังคงผุพัง นอกจากแคบ ลื่น ชัน พื้นสะพานที่เป็นรูโหว่ยังสร้างปัญหาให้กับผู้ใช้ทาง ทั้งต่อคนเดินและคนปั่นจนเกิดอุบัติเหตุมาแล้ว
ตัวสะพานยกสูงข้ามท่อระบายน้ำของสถานีสูบน้ำพร้อมศรี ๒ ทางขึ้นและลงสะพานเชื่อมต่อกับทางเลียบคลองแสนแสบ
พื้นเหล็กที่ผุจนทะลุเป็นรูโหว่ ขาเด็กหรือผู้ใหญ่อาจตกลงไป ถูกปิดถับด้วยแผ่นไม้ชั่วคราว
ปลายปี ๒๕๕๙ มูลนิธิโลกสีเขียว แจ้งไปยังสำนักการระบายน้ำ กทม. ให้ดำเนินการปรับปรุงสะพาน แต่ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่า ยังไม่มีงบประมาณ
ทั้งๆ ที่ข่าวเด็กหรือคนพลัดตกลงไปในหลุมหรือบ่อที่ไม่มีฝาปิดจนเสียชีวิตมีให้เห็นอยู่เป็นระยะ
ฐานข้อมูลเส้นทางจักรยานในแอปพลิเคชั่นปั่นเมืองได้ช่วยให้ทางมูลนิธิเห็นภาพชัดขึ้นว่าสะพานแซนแญปตั้งอยู่บนเส้นทางจักรยานที่มีศักยภาพ เหมาะที่จะพัฒนาเพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับชุมชน เลี่ยงปัญหาจราจร อีกทั้งสามารถเชื่อมต่อไปยังมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒและวัดภาษี
เมื่อติดต่อไปยังหน่วยงานราชการแล้วไม่ประสบความความสำเร็จ ทางมูลนิธิจึงถามหาโอกาสในการซ่อมสะพานด้วยเงินบริจาคของประชาชน
คำตอบที่ได้รับ คือ ทาง กทม. อนุญาตให้ทำได้ มีเอกสารราชการยืนยันชัดเจน
จึงเกิดการรวมกลุ่มกันของนักปั่น ชาวบ้าน องค์กรภาคประชาสังคม ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเพื่อร่วมกันออกแบบสะพาน ทั้งเรื่องขนาด ความกว้าง ราวจับ ทางลาด ขั้นบันได รั้วกั้นมอเตอร์ไซด์บริเวณทางขึ้นทางลาด ซึ่งจะใช้กุญแจเปิดปิดได้ในบางกรณี ได้รับเสียงสนับสนุนจากทางชุมชนอย่างล้นหลาม
อย่างไรก็ตาม งบประมาณในการปรับปรุงสะพานแซนแญป ซึ่งภาษาพื้นถิ่นแปลว่า “เงียบสงบ” และเป็นที่มาของชื่อคลองแสนแสบ ก็สูงถึงประมาณ ๔๕๐,๐๐๐ บาท
ทางเครือข่ายจึงจัดกิจกรรมระดมทุนหลายครั้ง เช่น จำหน่ายเสื้อ จัดกิจกรรม “ปั่นได้ ซ่อมได้” ภาคเฉพาะกิจ กิจกรรมหลังนี้วันเดียวได้เงินบริจาคถึง ๙,๐๐๐ บาท
สภาพสะพานในปัจจุบัน ทรุดโทรม ผุพัง โครงสร้างผุกร่อนเป็นสนิม
จากบริเวณที่ตั้งสะพานแซนแญป มองเห็นตึกอิตัลไทยตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม
ป้ายรณรงค์หารายได้ซ่อมแซมสะพานแซนแญป ด้วยความร่วมมือจากเพจเฟซบุค WE LOVE FAT BIKE, ปั่นมุด ฯลฯ ติดอยู่ริมคลองแสนแสบ หน้ามัสยิดดารุ้ลมุห์ซีนีน หรือ สุเหร่าบ้านดอน
ต้นเดือนสิงหาคม ๒๕๖๐ เพจเฟซบุค ปั่นเมือง – Punmuang Cyclelized City รายงานยอดระดมทุนว่าอยู่ที่ ๙๐,๒๘๘.๐๑ บาท เทียบกับเป้าหมายคือสี่แสนกว่าบาทแล้วยังห่างไกล แต่กลุ่มคนที่ผลักดันเรื่องนี้ก็ยังพยายามต่อไป ทั้งๆ ที่ส่วนลึกภายในใจรู้ดีว่าการซ่อมแซมสาธารณูปโภคพื้นฐานน่าจะเป็นหน้าที่ของภาคราชการ ประชาชนทุกคนเสียภาษีเป็นงบประมาณพัฒนาประเทศไปแล้ว
หันมองอีกโครงการหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ห่างกันเลย จากพื้นที่ริมคลองแสนแสบมุ่งตะวันตกไปยังจุดเริ่มต้นคลองที่ท่าสะพานผ่านฟ้า ที่เชื่อมคลองรอบกรุงไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณนั้นที่เป็นพื้นที่นำร่องของโครงการทางเดินและทางจักรยานเลียบน้ำโครงการหนึ่ง
วัตถุประสงค์ของ โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ “โครงการเจ้าพระยา” เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ทุกคนสามารถเข้าถึง มีสิทธิใช้ประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ยังระบุไว้ชัดเจนว่า “เพื่อพัฒนาพื้นที่สาธารณะทางเดิน-ปั่น เชื่อมต่อระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งสาธารณะ”
นับตั้งแต่เริ่มมีการประชาสัมพันธ์โครงการนี้ ภาพทางเดินและทางปั่นจักรยานริมแม่น้ำจึงเป็นภาพที่ถูกวาดขึ้นอย่างชัดเจนตลอดมา
ตามแผนแม่บท โครงการเจ้าพระยาทั้งหมดมีระยะทางยาว ๕๗ กิโลเมตร เฉพาะพื้นที่นำร่องตั้งแต่สะพานพระราม ๗ มาถึงสะพานพระปิ่นเกล้า ระยะทางยาว ๑๔ กิโลเมตร เฉพาะส่วนนำร่องนี้คาดว่าใช้งบประมาณถึง ๑๔,๐๐๐ ล้านบาท
ถึงจะมีเสียงค้านจากผู้กังวลเรื่องผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม แต่รัฐบาล คสช. ก็กำลังหาทางเดินหน้าอย่างแข็งขัน
เทียบวัตถุประสงค์ของ ๒ โครงการ คือ ซ่อมสะพานแซนแญป กับ สร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา นั้นแทบไม่ได้ต่างกัน เป้าหนึ่งคือสร้างทางจักรยาน เพิ่มพื้นที่ริมน้ำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและมีสิทธิใช้ประโยชน์
อะไรทำให้คุณค่าและความสำคัญของทั้งสองโครงการในสายตารัฐแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว
- เก็บตกจากลงพื้นที่ สะพานแซนแญป ริมคลองแสนแสบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๐
- ร่วมบริจาคปรับปรุงสะพานแซนแญปได้ที่ บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาถนนรัชดาภิเษก ๒ บัญชีเลขที่ ๐๗๕-๒-๑๔๒-๔๘๓ ชื่อบัญชี กองทุนมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม หรือติดต่อ ศิระ ลิปิพัฒนวิทย์ โทร.๐๒-๖๖๒-๗๕๖๖, ๐๘๓-๗๐๗-๒๐๓๗