วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


write-proposition01

เรียนกับช่างภาพบรรดาลใจ พี่เคี้ยง-วสันต์ วณิชชากร ช่างภาพเอพี

เข้าสู่ช่วงปลายของค่ายสารคดี ครั้งที่ ๑๓ แล้ว

นักเขียนฝึกหัดผ่านงานเขียนทั้งแบบที่ครูพาทำแบบ “จับมือเขียน” หรือหากเปรียบกับการฝึกร้องเพลงก็อาจให้คำจำกัดความได้ว่าเป็นการ “ร้องตามครู”

แบบจำลองการทำสารคดีอย่างมืออาชีพ

แบบที่ครูปล่อยให้ไปทำงานเองอย่างอิสระ ทั้งการเลือกประเด็นและการลงพื้นที่แบบลุยเองทำเอง

งานชิ้นท้ายค่ายเป็นการทำงานแบบมีโจทย์

ภายใต้คอนเซ็ปต์ change & share

นักเขียนคนไหนจะตีความ ลงลึก หรือเลือกประเด็นอย่างไรก็ได้ ขอแต่ให้อยู่ในขอบเขตของการ “เปลี่ยนแปลงและแบ่งปัน”

write-proposition02

เรียนรู้จากงานเพื่อน

ถึงขั้นนี้แล้ว นักเขียนแต่ละคนก็เขียนกันมาแบบคนที่ “รู้ทันสารคดี” แล้ว คือเข้าใจหลักเกณฑ์ ความหมาย วิธีการ ครบองค์ประกอบพื้นฐานตามโครงสร้างงานสารคดี

  • ชื่อเรื่อง
  • เปิดเรื่อง
  • ตัวเรื่อง
  • ปิดเรื่อง

ไม่มีที่ให้ครูติได้ว่าตกหล่นส่วนใด

ย่อหน้า วรรคตอน เรื่องพื้นฐานที่สุดแต่ยังทำไม่เป็นในช่วงเริ่มต้น (แม้ว่าส่วนใหญ่จะอยู่มหาวิทยาลัยกันแล้ว) ตอนนี้ทุกคนจัดย่อหน้าแบบงานวรรณกรรมกันเป็นแล้ว

ในขั้นนี้เรื่องสำคัญอย่างหนึ่งอยู่ที่…

  • การเลือกประเด็น ดังที่กล่าวกันว่า ประเด็นดีมีชัยไปครึ่ง
  • เก็บข้อมูลให้ลึกและหลากหลาย จนรู้สึกเต็มอิ่ม เพื่อจะกลั่นกรองเอาแต่แก่นที่ต้องการ ออกมาเขียน
  • แล้วก็เขียนมันออกมาอย่างมีลีลาวรรณศิลป์

write-proposition03

แล้วครูก็ได้เห็นจุดเด่นในงานเขียนของนักเขียนหัดใหม่ในค่ายสารคดี ๑๓ ที่เป็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่

งานของพวกเขาสะท้อนไอเดีย บุคลิก โลกทัศน์ของคนรุ่นเขา

ประเด็นที่เลือกกันมาส่วนใหญ่อยู่ในข่าย “มีชัยไปครึ่ง”

ไม่เชื่อลองไล่สายตาดูว่าอยากอ่านเรื่องเหล่านี้ไหม

  • หมาติดล้อ คลินิกสร้างอะไหล่ให้สัตว์พิการ
  • ประมงพื้นบ้าน อาหารอินทรีย์จากทะเลสู่ผู้บริโภค
  • คลินิกหมออาสาที่ชายแดนไทย-พม่า
  • ตะเกียงกลางไพร ความสืบเนื่องของการอนุรักษ์ป่าหลังสิ้นสืบ นาคะเสถียร
  • งานอาสาในพื้นที่สีแดงจังหวัดชายแดนใต้
  • For Oldy Project เพื่อสูงวัยสบายดี
  • Trawell ท่องเที่ยวเพื่อชุมชน
  • Thisable.me พิการทำได้
  • ครูอาสาอีกหลากหลาย หลังเขาบนดงดอย ในชุมชนเมือง ในโรงพยาบาล
    ฯลฯ

ที่เหลือคือเก็บข้อมูลให้รอบด้าน
แล้วเขียนออกมาให้ดีที่สุด
และที่แน่ๆ นักเขียนส่วนใหญ่ไม่ได้เขียนดีตั้งแต่ชิ้นแรกๆ
สิ่งสำคัญยิ่งคือการฝึกฝน พัฒนา ทำซ้ำๆ อย่างทุ่มเท ให้ถึงขนาดที่ว่า “บ้ากับมัน”

นั่นแหละตำแหน่ง “นักเขียนผู้มีฝีมือ” จะอยู่ไม่ไกล


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา