More Media
เก็บตกสาระ แนะนำสื่อภาพยนตร์ และสื่อแขนงอื่นๆ จากที่เห็นและเป็นไป ในและนอกกระแส
ยัติภังค์
ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีหนังไทยน่าสนใจแต่ไม่ประสบความสำเร็จทางรายได้เรื่องหนึ่ง แม้จะได้รับคำชมไปไม่น้อย… เรามักได้ยินเสียงบ่นอยู่บ่อยๆ เสมอว่าวงการหนังไทยวนเวียนอยู่แค่หนังไม่กี่ประเภทเช่น หนังผี หนังตลก หนังวัยรุ่น ปี ๒๕๖๐ ยังเป็นปีที่ตลาดหนังไทยรายได้ตกต่ำอย่างน่าใจหาย ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีเพียง “ฉลาดแกมโกง” เพียงเรื่องเดียวที่ทำรายได้เกิน ๑๐๐ ล้านบาท แต่ก็ราวกับมีแบรนด์หนังไทยที่คนดูเชื่อถือไม่มากนัก เมื่อมีหนังไทยรสชาติใหม่ๆ เข้าฉาย หลายเรื่องก็เลยถูกหลงลืมไปอย่างน่าเสียดาย
ปัจจุบันด้วยวัยและวันเวลาที่ไม่ว่างทำให้แทบไม่มีเวลาแวะเวียนไปยังโรงหนังแล้ว (ฮา) คงไม่อาจไปพูดเรียกร้องให้คนมาช่วยดูหนังไทย เพราะแน่นอนว่าในยุคที่ค่าตั๋วหนังแพงระยับ และโลกออนไลน์กำลังกลายเป็นสื่อที่คืบคลานทุกหย่อมหญ้าทั้งสื่อโซเชียลมีเดีย บริการดูหนังแบบสตรีมมิ่ง ไปจนการดูแบบละเมิดลิขสิทธิ์ เสียงเชียร์ไม่กี่เสียงย่อมไม่มีทางเชียร์ให้หนังมีรายได้มากขึ้น
เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าในอนาคตหนังที่มีลักษณะทางเลือก อาจต้องหาทางด้านการตลาด ระยะเวลาการฉาย การหารายได้ ไปจนวิธีฉายที่ต่างจากรูปแบบเดิมๆ ไม่ใ่เพียงพื้นที่โรงภาพยนตร์แต่ถ่ายเดียว (เขียนเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่แน่นอนว่ามันมาพร้อมความเหนื่อยยาก และไม่มีอะไรรับประกันเช่นกันว่าจะส่งผลดีขึ้นหรือไม่)
หนังเรื่องที่ว่าคือ #BKKY ซึ่งย่อมาจาก Bangkok Youth ผลงานของ นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับที่มีชื่อจากงานหนังสารคดีอย่าง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง(๒๕๕๖) ที่เล่าความขัดแย้งระหว่างเขตชายแดนไทย-กัมพูชา และ สายน้ำติดเชื้อ(๒๕๕๗) กับโศกนาฏกรรมของชาวบ้านใกล้เหมืองคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งงานของเขามีจุดเด่นในการผสานเทคนิคเรื่องเล่าของหนังคนแสดงเข้าไปหลอมรวมกับงานสารคดี
ในอีกด้านหนึ่งเขาก็ได้ร่วมเป็นทีมเขียนบทให้กับซีรี่ส์วัยรุ่นทางโทรทัศน์เรื่องดังระดับปรากฎการณ์อย่าง Hormones หากในผลงานหนังคนแสดงเรื่องแรก นนทวัฒน์ก็เลือกจะคงเอกลักษณ์ที่ตนถนัดจัดเจนในงานหนังสารคดีเอาไว้
ใน #BKKY เขายังเล่นกับเทคนิคดังกล่าวเช่นกัน หนังวัยรุ่นเรื่องนี้จึงผสมผสานระหว่างสารคดีในรูปแบบ Talking Head (สารคดีที่เน้นการถ่ายการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ผ่านหน้ากล้อง) และเรื่องแต่งที่ดัดแปลงจากการสัมภาษณ์เหล่านั้นมาตัดสลับกัน
ฉากที่น่าสนใจมากคือวิธีการดังที่กล่าวมาของหนังที่ฟังดูเข้าใจยากสำหรับคนทั่วไปนั้น ถูกทำให้เข้าใจได้ทันทีด้วยฉากเปิดเรื่องที่เป็นฉากขอโจโจ้(พลอยยุคล โรจนกตัญญู) เด็กสาวมัธยมปลายเป็นแฟนของคิว สาวทอมบอยรุ่นราวคราวเดียวกัน ก่อนจะจบด้วยการให้รู้ว่านี่เป็นฉากที่ตัดออกและไม่ได้ถูกนำมาใช้ หรือบอกให้ทราบทันทีว่าเรื่องราวทั้งหมดที่กำลังจะดูเป็นเรื่องแต่ง
พอฉากลำดับถัดมาหนังก็พาเราไปพบกับเด็กวัยรุ่นอายุระหว่าง ๑๗-๑๙ ปีมากหน้าหลายตาที่มาให้สัมภาษณ์หน้ากล้อง มุมมองต่างๆ เกี่ยวกับชีวิตจากพวกเขาเหล่านั้นได้สอดแทรกไปกับฉากที่เป็นเรื่องแต่งซึ่งตัดสลับเข้ามาอย่างแนบเนียน
ส่วนของบทสัมภาษณ์ที่ตัดสลับเข้ามานั้น มีหลายความเห็นที่น่าสนใจมาก แสดงให้เห็นถึงความจัดเจนในคัดเลือกความเห็นเหล่านั้นมาผสานกับเรื่องแต่ง ซึ่งก็น่าเสียดายที่มันชิงความเด่นของเรื่องแต่งของโจโจ้ไปพอสมควรทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นรสนิยมของวัยรุ่นตอนนี้ การเลือกเรียนต่อ อาชีพที่อยากเป็น มุมมองความรัก การมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งส่วนที่เด่นที่สุดคงไม่พ้นความสัมพันธ์ระหว่างคนที่เป็นแฟน กับความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว
อย่างไรก็ตามเรื่องแต่งดังกล่าวที่เป็นการดัดแปลงมาจากชีวิตของตัวโจโจ้เองบางส่วน ก็ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวง่ายๆ ธรรมดาตามที่เราเห็นเพียงฉากหน้า ด้วยสารที่แทรกไว้ระหว่างเรื่องราว สัมผัสได้ชัดเจนว่านี่ไม่ใช่เพียงเรื่องเกี่ยวกับเด็กสาววัยรุ่นเพียงคนเดียว แต่อาจหมายตีความให้กว้างมากขึ้นไปอีกไม่ว่าจะเป็นการสะท้อนภาพวัยรุ่นยุคมินเลนเนียล ที่มีความเลื่อนไหลทางเพศ การศึกษา ทางเลือกในชีวิต เพราะในมุมมองสัมภาษณ์ที่หลากหลายนั้น เราเห็นหลายคนเริ่มมองเห็นทางเลือกที่ต่างไปจากค่านิยมปกติ
หรือกล่าวให้กว้างยิ่งกว่านั้น #BKKY กำลังพูดถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสิ่งเด็กวัยรุ่นไทยกำลังเผชิญในสังคมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ไม่ใช่แค่เด็กวัยรุ่นในกรุงเทพฯ ตามชื่อหนัง (แต่หากอนุมานว่าเด็กในกรุงเทพก็เป็นสังคมขนาดใหญ่ที่เป็นภาพแทนของวัยรุ่นไทยก็ได้เช่นกัน)
โดยเฉพาะความเห็นจากการสัมภาษณ์จาก เจฟ(ณฐกร เกียรติ์มนตรี) และ แจสเปอร์(เจตน์ เกสะวัฒนะ) สองหนุ่มลูกครึ่งที่เข้ามาในชีวิตโจโจ้ ซึ่งเมื่อหนังเดินเรื่องถึงจุดนี้ ภาพของหนังก็ค่อยๆ เลื่อนถ่ายกลายเป็นมุมสูง แสดงให้เห็นพื้นที่กว้างใหญ่ของกรุงเทพ ก่อนที่สองหนุ่มจะแสดงความเห็นที่วิจารณ์การศึกษา และแนวคิดแบบประนีประนอมของเมืองไทย ได้เรียบง่ายแต่ตรงประเด็นอย่างยิ่ง
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของโจโจ้กับเจฟ ที่สร้างความขัดแย้งให้กับผู้เป็นพ่อที่มีท่าทีเชิงอนุรักษ์มากกว่าความสัมพันธ์แบบหญิงกับหญิงของเธอกับคิว ซึ่งพ่อไม่เคยเอะใจว่าสัมพันธ์ที่ไปไกลกว่าเพื่อนของทั้งคู่ (ตรงกันข้ามกับความเห็นของวัยรุ่นคนหนึ่งที่แทรกเข้ามาว่าเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะกับชายหรือหญิง มันก็ถือเป็นความรับผิดชอบไม่ได้ต่างกัน)
เหตุการณ์ในเรื่องยังชี้ชัดเฉพาะยิ่งว่าเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน กับรายละเอียดที่สอดแทรกเข้ามา เช่น บทสนทนาว่าด้วยการยกเลิกคอนเสิร์ต เทย์เลอร์ สวิฟต์ (ด้วยเหตุผลจากปากเด็กคนหนึ่งว่ากลัวม๊อบ) หรือการกำหนดให้ทางบ้านโจ้ พ่อทำงานขายชุดข้าราชการทหาร และความสัมพันธ์ของเธอที่ไปไกลมากกว่าเป็นหนังรักวัยรุ่น หากท่าทีของมันก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นปัญหาใหญ่โต ต่างจากหนังวัยรุ่นไทยอีกหลายเรื่อง
#BKKY เลือกจบแบบห้วนๆ ด้วยการให้ความสัมพันธ์ของโจโจ้ค้างคา อยู่ระหว่างการตัดสินใจ โดยมีเจตนาให้จบเพียงเท่านี้ ไม่ได้ตามติดชีวิตของเด็กสาวต่อไปยาวไกลเหมือนแบบในหนังเรื่อง Boyhood(ค.ศ.๒๐๑๔) ของ ริชาร์ด ลิงค์เลเทอร์ การตามติดชีวิตเด็กคนหนึ่งร่วม ๑๒ ปี เพราะยึดเอาช่วงเวลาสำคัญของเด็กรุ่นนี้ ในช่วงวัยนี้ไว้เพียงเสี้ยวหนึ่ง
เช่นเดียวกับหัวเลี้ยวหัวต่อของเด็กเจเนอเรชั่นนี้ที่ต้องเลือกเองว่าในสภาวะของทางแยกดังกล่าวจะเดินไปทางใด (อยู่ในโอวาทแบบอนุรักษ์ หรืออิสระแต่ไร้ความแน่นอนแบบหัวก้าวหน้า ?) เพราะไม่ว่าจะทางใด
ก็เจ็บปวดทั้งสิ้น