sujane-robbanแลไปรอบบ้าน  

บันทึกมุมมองสั้นบ้าง (ยาวบ้าง) ของ สุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนสารคดีที่สนใจประเด็นประวัติศาสตร์ ปรากฎการณ์ทางสังคม ไม่ว่าจะการเมือง สิ่งแวดล้อม จนถึงเรื่องราวเล็กๆ ใกล้ตัว


เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์

จาก “โยนบก” สู่ “ล็อกคอ” - “เดจาวู” ที่สามย่าน

“นั่นคือ ‘เทรดิชั่น’ (โยนบก) ของเรา ซึ่งปฏิบัติต่อๆ กันมา เมื่อใครทำผิด
คณะกรรมการลงมติว่าผิด ก็อาจจะจับโยนได้”

ชวลิต สิงห์เจริญ
ปฏิคมสโมสรนิสิตจุฬาฯ ให้สัมภาษณ์กรณี “โยนบก” จิตร
หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย 29 ตุลาคม 2496

yonbok04

ต้นเดือนสิงหาคม 2560

ข่าวกรณี “ล็อกคอ” ที่อาจารย์จุฬาฯ คนหนึ่งทำกับนิสิตหลังพิธีถวายสัตย์ปฎิญาณตนจบ กลายเป็นข่าว “ติดลมบน” ร้อนแรงอยู่หลายสัปดาห์

ให้บังเอิญเมื่อผมต้องค้นข้อมูลเรื่อง “โยนบก” ก็ปรากฎว่า ข้อมูลเรื่องนี้นั้น ออกจะมีลักษณะ “เดจาวู” คือเคยเกิดขึ้นมาแล้วและมันวนกลับมาเกิดขึ้นใหม่อีกครั้งในยุคปัจจุบัน

เพียงแต่สถานการณ์เปลี่ยนจาก “โยนบก” เป็น “ล็อกคอ” ตัวละครผู้ลงมือทำร้ายผู้อื่น เปลี่ยนจาก “นิสิต” เป็น “อาจารย์” ส่วนเหยื่อยังคงเป็น “นิสิตหัวก้าวหน้า” (เช่นเคย)

ในกรณีของปี 2560 กองเชียร์คู่กรณีต่างมองเหตุการณ์นี้แตกต่างกันคนละขั้ว มีเรื่องเล่าหลากหลายสำนวนราวกับภาพยนตร์เรื่อง “ราโชมอน” ของ อาคิระ คุโรซาว่า

โดยสรุปคือ

“มุมน้ำเงิน” มองว่านิสิตที่โดนล็อกคอ กับเพื่อนๆ ที่นำโดยเนติวิทย์ ประธานสภานิสิตจุฬาฯ จงใจก่อกวนงานพิธี ทั้งที่งานยังไม่จบ ทั้งยังมีการสงสัยว่ามีการ “เตี๊ยม” กับนักข่าวในการวางมุมกล้องถ่ายภาพ

“มุมแดง” มองว่า พิธีกรรมนี้ถูกจับตามองมาตั้งแต่ปีก่อนที่เนติวิทย์เสนอทางเลือกถวายความเคารพด้วยการโค้งคำนับ อันเป็นไปตามพระราชโองการรัชกาลที่ ๕ “ยกเลิกการหมอบกราบ” การที่นักข่าวให้ความสนใจจึงไม่แปลกแต่อย่างใด และต่อให้มีการเตรียม แต่การทำร้ายร่างกายก็มิใช่การแก้ปัญหาดังกล่าว

เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการตั้งกรรมการสอบสวนภายในของจุฬาฯ มีการประกาศการตั้งกรรมการสอบสมาชิกสภานิสิตที่เกี่ยวข้องและมีข่าวว่ากำลังจะมีการลงโทษ (กลางเดือนสิงหาคม 2560) ขณะที่อาจารย์ผู้ก่อเหตุนั้นยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการมีบทลงโทษใดๆ

* * * * * *

yonbok03

ปลายปีพุทธศักราช 2496

จิตร ภูมิศักดิ์ นิสิตหัวก้าวหน้าที่ถูกทางการมองว่าเป็นอันตรายกับความมั่นคง ได้รับเลือกจากตัวแทนนิสิต 6 คณะ ให้เป็น “สาราณียกร” มหาวิทยาลัย มีหน้าที่ทำหนังสือ “ปิยมหาราชานุสรณ์” หนังสือที่ระลึกในวันที่ 23 ตุลาคม 2496

จิตรรวบรวมบทความโดยมีการคัดจาก 100 เรื่องให้เหลือเพียง 40 เรื่อง ในนั้นมีงานของจิตร 3 เรื่อง คือ เรื่องแรก “ขวัญเมือง” นิยายสั้นสะท้อนความคิดทางสังคมของจิตรผ่านตัวละครหญิงชื่อเดียวกัน เรื่องที่สอง บทกวีชื่อ “เธอคือหญิงรับจ้างแท้ใช่แม่คน” สะท้อนปัญหาจริยธรรมทางเพศ วิจารณ์ผู้หญิงที่ชิงสุกก่อนห่ามและไม่รับผิดชอบเลี้ยงดูบุตร สุดท้ายคือ ความเรียงชื่อ “ผีตองเหลือง” ที่วิเคราะห์พุทธศาสนาด้วยแนวคิดมาร์กซิสต์

ถ้าเราอ่านบทความเหล่านี้ในปี 2560 หรือถ้าจิตรยังมีชีวิตอยู่แล้วเอาบทความเหล่านี้ลงเฟซบุ๊ก เชื่อว่าวันนี้จะเกิด “ดราม่า” กับบางบทความ และจิตรคงต้องตอบคำถามมากมาย

แต่ ณ ปี 2496 ในยุคของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหารปี 2490

บทความของจิตร ถือว่าแหลมคม และย่อมไม่เข้าตาฝ่ายอนุรักษ์นิยมเป็นอย่างยิ่ง

ผลคือ หนังสือที่จิตรทำ ถูกสภามหาวิทยาลัยสั่งอายัดคาโรงพิมพ์ จิตรโดนตั้งกรรมการสอบสวน ทางตำรวจยังเข้ามาสืบและมองว่าเขาเลื่อมใสระบอบคอมมิวนิสต์

พอถึงวันที่ ๒๓ ตุลา เมื่อไม่มีการแจกหนังสือเหมือนทุกปี นิสิตจำนวนมากก็สงสัย ประกอบกับข่าวลือเรื่องหนังสือโดนเซ็นเซอร์หนาหู หนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ยังรายงานเรื่องนี้อย่างละเอียดในวันที่ ๒๗ ตุลาคม 2496 ไม่นานก็ปรากฎว่ามีนิสิตบางกลุ่มทำใบปลิวคัดค้านการเซ็นเซอร์ติดกระจายไปทั่วมหาวิทยาลัย นิสิตที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ทำใบปลิวมีข้อความ “ต่อต้านคอมมิวนิสต์” เช่นกัน

ในช่วงเดียวกัน จิตรลาออกจากตำแหน่งสาราณียกรเพื่อจบปัญหา ทว่า เรื่องไม่ง่ายสำหรับเขา ด้วยวันต่อมา ม.ร.ว.สลับ เลขาธิการมหาวิทยาลัยเรียกประชุมนิสิต ๓,๐๐๐ คน เพื่อชี้แจงการเซ็นเซอร์ โดยระบุว่าบทความบางเรื่อง “ไม่พึงประสงค์” บางบทความ “ดูหมิ่นพระภิกษุสงฆ์” นอกจากนี้ยังกล่าวถึงปกที่เป็นสีดำ มีวงกลมสีขาว ไม่มีพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕

ตอนนั้น จิตรซึ่งฟังอยู่ด้วยพยายามขอชี้แจง แต่ก็โดนนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ๒ คน คือ สีหเดช บุนนาค และ ศักดิ์ สุทธิพิศาล กดไหล่ไม่ลุกโดยอ้างว่าเดี๋ยวจะให้พูด พอหลังเลขาธิการมหาวิทยาลัยแถลงจบ สีหเดชก็ขึ้นไปและกล่าวว่าจิตรเคยบอกเขาว่าต้องการทำให้หนังสือ “เอียงซ้าย” และ “แดง” แบบจงใจ

พอถึงคราวจิตรได้ชี้แจงบ้าง หนังสือพิมพ์ กิตติศัพท์ รายงานว่า “มีเสียงสอดอย่างหยาบคายอยู่ตลอดเวลา ทั้งมีการยื้อแย่งไมโครโฟน ไม่ยอมให้นายจิตรพูด จึงเกิดการโต้เถียงอย่างรุนแรง”

แต่ พิมพ์ไทย รายงานว่าจิตรนั้นมีโอกาสชี้แจงได้น้ำได้เนื้อพอสมควรว่า “ก่อนหน้านี้หนังสือ ๒๓ ตุลาฯ ไม่มีใครกล้าเล่นสี โดยถือว่าเป็นหนังสือประเภทไว้ทุกข์ จะต้องทำปกเป็นสีดำตลอด และเนื้อหาก็ต้องเป็นการเฉลิมพระเกียรติโดยตลอด” จึงคิด “ปรับปรุง” โดยลงรายละเอียดว่า “เท่าที่แล้วมามักจะลงแต่ตราพระเกี้ยวจนรู้สึกจำเจและชาชิน แต่ปีนี้ผมได้ไปขอถ่ายพระราชลัญจกร ‘สยามินทร์’ ที่กรมศิลปากรมาทำบล็อกเป็นการพิเศษ”

ส่วนเนื้อหานั้น “ขอร้องให้ผู้รู้สรรเสริญเขียนคุณงามความดีที่เป็นของใหม่…มิใช่พูดซ้ำไปซ้ำมาอยู่แต่เรื่องเก่าๆ” เขาสรุปว่านี่คือความหมายของคำว่า “แหวกแนว” และยังชี้ว่าถ้าจะทำหนังสือแบบคอมมิวนิสต์จริง ในแง่การวางแผนจะไป “พูดให้ท่านทราบล่วงหน้าทำไม”

ถึงตอนนี้มีเสียงปรบมือพอใจการชี้แจง นิสิตฝ่ายอนุรักษ์นิยมเริ่มไม่พอใจ จิตรยังชี้แจงกรณีบทความต่างๆ โดยขอให้มหาวิทยาลัยเอาหนังสือที่ถูกอายัดมาแจกให้สาธารณชนอ่านเพื่อพิสูจน์ความจริง

ตอนนั้นเอง ก็มีเสียงดังขึ้น “โยนน้ำเลย”

ทันใดนั้น สีเดชกับศักดิ์ ก็ขึ้นไปเตะจิตรบนเวทีจนจิตรล้มลง

ท่ามกลางความตกตะลึงของนิสิตจำนวนมาก พวกเขาล็อกตัวจิตรไว้ จากนั้น ชวลิต พรหมานพ นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์อีกคนก็ตามขึ้นมารวบขาจิตร

หนึ่งในนั้นตะโกนว่า “อย่าโยนน้ำเลย โยนบกนี่แหละ”

แล้วจิตรก็โดน “โยนบก” ลงจากเวทีกระแทกพื้น – – เขาหมดสติทันที

yonbok01

หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย รายงานว่า ทันใดนั้น “เสียงวี้ดว้ายจากนิสิตหญิงก็ดังขึ้น สลับกับเสียงเฮของนักศึกษาคณะต่างๆ ซึ่งกราดเข้ามาล้อมนายจิตรไว้ (มีทั้งฝ่ายเข้าไปช่วยและฝ่ายก้าวร้าว-ผู้เขียน) ต่างคุมเชิงกันอยู่เช่นนั้นอึดใจหนึ่ง…แต่เดชะบุญไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น นายจิตรซึ่งนอนฟุบไม่ลุกอยู่กับพื้น ถูกเพื่อนร่วมคณะประคองหามส่งโรงพยาบาลเลิดสิน และแจงกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลว่าหกล้ม”

ต่อมาจิตรกล่าวถึงเรื่องนี้ว่าที่ไม่บอกแพทย์เพราะ “ไม่ต้องการให้ใครทราบเรื่องราวอันเป็นมลทินกับมหาวิทยาลัย และเรื่องนี้ข้าฯ ก็ไม่ได้แจ้งความที่สถานีตำรวจ เพื่อให้ดำเนินคดี…”

เหตุการณ์ปัญญาชนทำร้ายกันเองดังราวไฟลามทุ่ง ไม่นาน นักหนังสือพิมพ์ต่างไปที่จุฬาฯ เพื่อขอสัมภาษณ์อธิการบดี ในมหาวิทยาลัยบรรยากาศก็ตึงเครียด เนื่องจากนิสิตคณะอื่นๆ พากันบอยคอตไม่ทำกิจกรรมร่วมกับนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่พวกเขามองว่าป่าเถื่อนและจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กัน

นิสิตอันธพาลจำนวนหนึ่งก็ยังคงออกอาละวาด กลุ่มหนึ่งคุกคามนักข่าว ข่มขู่จะยึดฟิล์มอย่างไม่กลัวเกรงซึ่งเป็นการคุกคามการทำงานสื่อมวลชน ยังมีรายงานว่านิสิตคณะวิศวเปิดประชุมภายในเพื่อหาข้อแก้ตัวให้พรรคพวก มีเสียงบูมแบบคนป่าออกมาเป็นระยะๆ จากตัวตึก

อีกเหตุการณ์คือนักข่าวขับรถเข้าเทียบรถพระเวชยันต์รังสฤษดิ์ที่มาจอดหน้าตึกวิศวะ พระเวชยันตร์รังสฤษดิ์เพื่อขอสัมภาษณ์ แล้วก็ถูกกลุ่มนิสิตวิศวะกลุ่มใหญ่กรูล้อม ตะโกนห้ามถ่ายบอกว่าเป็นสถานที่ราชการ ไม่ใช่ที่สาธารณะ ช่างภาพ นสพ. สารเสรี ถูกนิสิตวิศวะ “ล็อกคอ” พยายามชิงกล้อง เกิดความชุลมุนขึ้นต่อหน้าต่อตา โดยที่อธิการบดีไม่ได้คิดจะห้ามปรามแต่อย่างใด

ต่อมา สโมสรนิสิตตัดสินลงโทษนิสิตวิศวะผู้ก่อเหตุให้ “โยนน้ำ” แต่พอคนเหล่านี้ยอมรับผิด ก็ลดโทษเหลือ “เดินลุยน้ำ” โทษนี้ลงกับคนเพียง 2 คน คือนายสีหเดชและนายศักดิ์ ส่วนนายชวลิตไม่โดนอะไร ขณะที่จิตรโดนตำรวจสอบ ต้องไปรายงานตัวกับสันติบาลเป็นระยะ ถูกพักการเรียน ๑ ปี ต้องพักรักษาอาการบาดเจ็บ นอกจากนี้ยังถูกดับอนาคตทางการศึกษา

มองย้อนกลับไป ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ เหตุการณ์นี้ทำให้ จิตร ภูมิศักดิ์ บุคลากรที่หาได้ยากในแวดวงทางปัญญาของไทยต้องออกจากระบบการศึกษา ต่อมา เขาตัดสินใจวางปากกาไปร่วมงานกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) จับปืนต่อสู้กับระบบสังคมที่จิตรมองว่าไม่มีทางที่จะต่อรองเจรจาได้อีกต่อไป

จิตรเสียชีวิตในชายป่า “เลือดแดงทาดินอีสาน” ที่จังหวัดสกลนคร ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2509
กลายเป็นเรื่องเล่าขานถึงยุคปัจจุบัน

* * * * *

พุทธศักราช 2560

หลังเหตุการณ์ “โยนบก” กว่า 6 ทศวรรษ เหตุกา

รณ์ “ล็อกคอ” เกิดขึ้นอีกครั้งในสถานที่เดิม

คำถามที่ว่า เราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไปเพื่ออะไร เราควรมีท่าทีอย่างไรกับเรื่องนี้

วิญญูชนทุกท่าน ย่อมพินิจพิจารณาได้เอง