สัมภาษณ์ : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ถ่ายภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ประเด็นที่มาเป็นหัวข้อบทสัมภาษณ์ใหญ่ฉบับนี้อาจซับซ้อนมาก ๆ รวมทั้งยังเกี่ยวข้องกับศัพท์เทคนิคมากมาย ซึ่งอาจต้องการคำอธิบายขยายความกันอีกเป็นตั้ง ๆ
แต่เรื่องนี้ไม่สนใจไม่ได้เพราะทวีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะถ้าสังเกตข่าวการโปรโมตเลข ๔.๐ ตามหลังคำใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย ๔.๐ เศรษฐกิจ ๔.๐ อุตสาหกรรม ๔.๐ เกษตร ๔.๐ ซึ่งแนวคิด ๔.๐ นี้ล้วนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัลแทบทั้งสิ้น
เราอาจให้นิยามเศรษฐกิจดิจิทัลว่า คือยุคที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาขับเคลื่อนกิจกรรมในสังคม โดยเฉพาะการสื่อสาร ส่งผ่าน แลกเปลี่ยนข้อมูลกันในไซเบอร์สเปซ (cyberspace) ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ด้วยอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ทุกคนแทบจะมีติดตัวตลอดเวลา คือโทรศัพท์มือถือ รวมถึงอุปกรณ์ไฮเทคที่กำลังเกิดขึ้นที่เรียกว่าสมาร์ตดีไวซ์ (smart device) ขณะที่ในโลกกายภาพที่จับต้องสัมผัสได้ เรามีเหรียญเงินและธนบัตรให้นับ ในโลกดิจิทัล เงินคือตัวเลขอิเล็กทรอนิกส์ที่ไร้ตัวตน แต่มีมูลค่าเก็บในเครือข่ายคอมพิวเตอร์
เมื่อทุกอย่างอพยพเข้าไปอยู่ในโลกดิจิทัลที่ทุกคนเชื่อมโยงเข้าถึงกันโดยตรง และอย่างกว้างขวาง มันก็กำลังเปลี่ยนแปลงอาชีพ การตลาดและธุรกิจที่เคยทำกันมาหลายสิบปีอย่างน่าตกใจ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่บรรดาธุรกิจเก่าในระบบเดิมต้องสั่นคลอนถึงขั้นล้มหายตายจาก โดยคนรุ่นใหม่ที่คิดค้นผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมใหม่มาตอบโจทย์ผู้คนแทนที่สินค้าและบริการเดิม ๆ
คนกลุ่มเล็ก ๆ ที่พยายามจุดติดนวัตกรรมเรียกกันว่า สตาร์ตอัป (startup) และการเปลี่ยนแปลงอันสั่นสะเทือนนี้ก็มีศัพท์เรียกว่าการดิสรัปต์ (disrupt)
สารคดี นัดสัมภาษณ์ ธีรนันท์ ศรีหงส์ อดีตนายธนาคารใหญ่ ผู้เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในวัย ๕๐ ต้น ๆ และยังเป็นผู้ขับเคลื่อนคนสำคัญของบริษัทกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด หรือ KBTG ซึ่งเป็นองค์กรที่ธนาคารกสิกรไทยตั้งใจปั้นให้เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันในการสร้างสตาร์ตอัปมาตอบโจทย์การแข่งขันของธนาคารในยุคดิจิทัลที่เรียกกันว่า FinTech (financial technology)
เมื่อปีก่อนเขาเคยเสนอให้รัฐจัดตั้ง national data pool ซึ่งเขาเชื่อว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะ “ข้อมูล” (data) และ “ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล” (data analytics) คืออาวุธที่ชี้เป็นชี้ตายให้แก่นวัตกรรมดิจิทัล
ปัจจุบันธีรนันท์ลาออกจากองค์กรใหญ่ เพื่อให้เวลากับการศึกษาและหาช่องทางขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ตอัปที่มีศักยภาพ ซึ่งเขาคิดว่ายังมีโอกาสรอประเทศไทยอยู่มหาศาล แต่อุปสรรคนั้นก็กว้างขวางไม่แพ้กัน
เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาส่งผลกระทบกับธุรกิจธนาคารได้อย่างไร
มาจากโทรศัพท์มือถือที่ทำให้ทุกคนเจอกันได้อย่างง่ายดาย ทุกธุรกิจที่เป็นตัวกลางจะพบปัญหานี้หมด เพราะเทคโนโลยีทำให้คนมาเจอกันโดยไม่ต้องมีตัวกลาง อยากเรียกแท็กซี่ไม่ต้องโทร.หาบริษัทแท็กซี่ ไม่ต้องมีบริษัท เพราะเราสามารถเรียกไปที่คนขับแท็กซี่ได้เลย
ธนาคารคือตัวกลางระหว่างคนอยากเอาเงินไปทำอะไรกับคนที่มีเงินเหลือ เป็นตัวกลางระหว่างคนต้องการจ่ายเงินกับคนต้องการรับเงิน เป็นตัวกลางระหว่างคนที่ต้องการรับความเสี่ยงกับคนที่อยากเอาความเสี่ยงออกจากตัวเอง
คำถามของธนาคารคือ ถ้าต่อไปคนที่มีความต้องการสองฝั่งนี้มาเจอกันเองบนไซเบอร์สเปซ แล้วธนาคารอยู่ตรงไหน พอคิดแค่นี้ก็หนาวเลย เพราะธุรกิจทั้งหมด เงินฝาก เงินกู้ เพย์เมนต์ บริหารความเสี่ยง โดนหมด ถ้าคนอยากทำธุรกิจ อยากได้เงินลงทุน กับคนที่มีเงินแต่ไม่มีแรงทำ ตกลงแนวคิดธุรกิจกันได้ในไซเบอร์สเปซ แล้วธนาคารจะทำอะไร อย่างเก่งอาจให้ความเห็นว่าราคาควรจะอยู่ที่แค่ไหน ทั้งที่เมื่อก่อนไม่ใช่ ธนาคารเป็นคนบอกว่าใครมีเงิน ใครขาดเงิน ใครต้องการหาแหล่งทุน ใครที่พร้อมจะเสี่ยงลงทุน ความจริงในสหรัฐอเมริกา ฟินเทคบูมมาตั้งแต่ประมาณ ค.ศ. ๒๐๐๘-๒๐๐๙ แล้วพอสัก ค.ศ. ๒๐๑๐-๒๐๑๑ ก็เริ่มมีฟินเทคที่ประสบความสำเร็จแล้ว
ทำไมถึงมาบูมตอน ค.ศ. ๒๐๐๘
ส่วนตัวคิดว่าเป็นการประจวบเหมาะของสามสิ่ง ประการแรก เกิดวิกฤตเศรษฐกิจสถาบันการเงินในโลกตะวันตก ธนาคารขาดทุนต้องเอาเงินรัฐบาลมาสนับสนุน ต้องไล่คนออก ลดขนาดลงครึ่งหนึ่ง ก็มีพนักงานธนาคารตกงานเยอะ ซึ่งบางคนเก่ง เก่งแล้วก็แค้นธนาคารด้วยที่ทำให้ตกงาน พวกนี้เห็นปัญหาของสถาบันการเงินมานาน ก็ย้ายจากฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ไปอยู่ฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ เพื่อจะมาเจอกับพวกนักเทคโนโลยีทั้งหลายที่เขียนโปรแกรมเก่ง ๆ แล้วเกิดรวมทีมกันบอกว่า เราจะทำสิ่งที่ทำได้ดีกว่าธนาคาร โดยใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ แล้วเกิดกลุ่มคนแบบนี้เยอะเลย เพราะมีคนภาคการเงินจากธนาคารเข้ามา
ประการที่ ๒ ช่วง ค.ศ. ๒๐๐๘ เป็นปีแรกที่แอปเปิลออกไอโฟนสามจี และเป็นครั้งแรกที่สามารถส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงมาก ทำให้เกิดแอปพลิเคชันในไอโฟนจำนวนมากซึ่งสามารถทำงานที่ซับซ้อนแล้วใช้ส่งข้อมูลระหว่างกันทางโทรศัพท์ และประการที่ ๓ คือมันเป็นปีเดียวกับที่ cloud computing กำลังเริ่มใช้งานได้จริง ไอโฟนสามจีทำให้มีแอปฯ และเกิดประสบการณ์ใหม่ของคนที่ใช้แอปฯ ส่วน cloud computing เป็นบริการที่ทำให้ใครก็ตามสามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ได้โดยจ่ายเดือนละแค่ไม่กี่ร้อยเหรียญ จากเดิมที่ต้องซื้อโปรแกรม ซื้อเซิร์ฟเวอร์ขนาดมโหฬาร ซื้อบริการหลาย ๆ อย่าง รวมถึงเรื่องการรักษาความปลอดภัย ก็สามารถไปใช้บริการใน cloud ได้เลย ทำให้ช่วยลดต้นทุนการสร้างแอปฯ ฟินเทคเลยเกิดขึ้นในช่วงนั้น แล้วเข้ามาเงียบ ๆ แบบธนาคารไม่รู้ตัว มารู้ตัวประมาณ ค.ศ. ๒๐๑๑-๒๐๑๒ หลังจากเริ่มมีฟินเทคบางอย่างประสบความสำเร็จ โดยใช้เวลาก่อร่างอยู่ ๒-๓ ปี ธนาคารตอนนั้นก็ตกใจเหมือนแท็กซี่เราตอนนี้ที่กำลังจะโดน Uber มาดิสรัปต์
ยกตัวอย่างความหมายของฟินเทคหน่อย
จริง ๆ ความหมายค่อนข้างกว้าง ขอยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมของในต่างประเทศที่ไปเจอบริษัทหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว กลุ่มคนทำเป็นเด็กจบจากสแตนฟอร์ด มองเห็นว่าค่าเล่าเรียนในอเมริกาแพง เด็กส่วนใหญ่ต้องกู้เงิน เพราะพ่อแม่มักส่งถึงแค่ไฮสกูล เด็กก็ต้องกู้เงินเพื่อการศึกษาจาก student loan ซึ่งทุกมหาวิทยาลัยมีให้บริการโดยอาจมีดอกเบี้ย ๖-๗ เปอร์เซ็นต์ เป็นอย่างนี้มาร้อย ๆ ปีแล้ว แต่เขาเชื่อว่าพวกที่จบมหาวิทยาลัยดี ๆ มีความเสี่ยงต่ำ พอเก็บข้อมูลก็พบว่าต่ำจริง ๆ เพราะพวกนี้จบแล้วจะมีงานดี ๆ รออยู่ เงินเดือนสูง ๆ หรือถึงออกจากงานก็หางานใหม่ง่าย และคนพวกนี้มีสถานะทางสังคมอยู่ในกลุ่มชนชั้นสูง แม้ว่าตัวเองจะยังไม่มีเงินแต่ไม่ยอมเสียหน้า ยังไงก็ต้องหาเงินมาจ่ายคืน student loan ให้ได้ คือไม่ยอมเป็นหนี้เสีย เขาก็เลยไปหานักลงทุนบอกว่าจะทำแอปพลิเคชันให้นักเรียนที่มีความเสี่ยงต่ำสามารถกู้เงินในราคาดอกเบี้ยที่ต่ำลง แล้วทำแอปฯ ให้กระจายได้เร็ว โฆษณาตู้ม ๆ
นักเรียนพวกนี้ก็เทเข้ามาเลย จากเดิมจ่าย ๖ เปอร์เซ็นต์เหลือ ๔-๕ เปอร์เซ็นต์ รีไฟแนนซ์ทีเดียวภาระอาจหายไปครึ่งในแต่ละเดือน ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ
แต่เขาไม่หยุดอยู่แค่นั้น เขาถามว่า segment นี้จริง ๆ คืออะไร ซึ่งเขาพบว่าเป็น segment soon to be rich คือกลุ่มที่เชื่อว่ากำลังจะรวย ก็เริ่มคิดว่าคนกลุ่มนี้ต้องการอะไร ถ้าทำงานไปสักพัก ๗-๘ ปีก็จะเริ่มแต่งงาน ต้องการเงินกู้บ้าน ต้องมีบัตรเครดิตแบบอีลิตคลาส ต้องออกกำลังกายตามฟิตเนส เขาก็ขยายบริการต่อไปให้กับคนกลุ่มนี้ ตอนผมไปเจอเขามีมูลค่าประมาณ ๑.๗ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ ๕ หมื่นล้านบาท อะเมซิงจริง ๆ
ถามว่าทำไมธนาคารหาลูกค้ากลุ่มนี้ไม่เจอ ถ้าไปนั่งไล่ผลิตภัณฑ์ของธนาคาร เรื่องเงินกู้เพื่อการศึกษานี่อยู่ระดับล่าง ๆ เลย คนบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ของธนาคารด้านนี้ก็เป็นคนแถวซี ไม่ใช่คนกลุ่มเอ ขอนู่นนี่นั่นก็ไม่เคยได้ พอคนทำสตาร์ตอัปมาเจอปั๊บก็ดูภาพทั้งหมดเป็นพอร์ตขนาดใหญ่พอ กระโดดเข้ามาตูมเดียวกลายเป็น “ยูนิคอร์น”
อะไรคือยูนิคอร์น
ยูนิคอร์นเป็นศัพท์เรียกสตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จ ถ้าเอาราคาหุ้นคูณด้วยจำนวนหุ้นแล้วมีมูลค่าเกิน ๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ ๓.๕ หมื่นล้านบาท จะถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เรียกว่ายูนิคอร์น อย่างอูเบอร์ซัดเข้าไปไม่รู้กี่พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กระทั่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มี Grab Taxi ตามราคาที่ซื้อขายล่าสุดตอนนี้มูลค่าบริษัท ๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่ากับแสนล้านบาท เรียกว่าเกินการเป็นยูนิคอร์นไปแล้ว
แสดงว่าฟินเทคจะเข้ามาทำธุรกิจบางอย่างแทนธนาคาร
ที่ยกมาเป็นตัวอย่างของฟินเทคแบบตรง ๆ แต่แบบเฉียง ๆ ก็มีแล้วดิสรัปต์พอสมควรด้วย ยกตัวอย่างบริษัทที่แปลกมาก ผมไปเจอตอนงานสัมมนางานหนึ่ง หน้าบูทเขาบอกว่าเป็น The New Era of AI (artificial intelligence ปัญญาประดิษฐ์) เป็น The New Way of Story Telling หรือ Machine Story of Telling อ่านแล้วก็ยังไม่เข้าใจ ถามเขาว่ายูทำอะไร เขาบอกว่าเอาข้อมูลที่อยู่ในสเปรดชีต (spreadsheet เช่นโปรแกรม Excel) มาเขียนแบบบรรยายเล่าเรื่อง ยกตัวอย่างเช่นรายงานสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเครื่องจับความชื้นจะบันทึกเป็นตัวเลขลงในสเปรดชีต ก็เอามาอ่านค่าแล้วเขียนพยากรณ์บรรยายว่าวันนี้ฝนจะตกหรือไม่ตก อากาศเป็นอย่างไร ลมเป็นอย่างไร โดยใช้ตรรกะของการพยากรณ์อากาศ
พอถามว่าแล้วสายการเงินทำอะไรได้บ้าง เขาก็เอารายงานข้อมูลหุ้นของบริษัทหนึ่ง ซึ่งมีตัวเลขรายได้ ค่าใช้จ่าย งบดุล เทียบกับคู่แข่ง ซึ่งเป็นตารางที่ซับซ้อนมาก ใส่เข้าไปในโปรแกรม พอทำเสร็จกดพรินต์มาให้ดู มันคือรายงานวิเคราะห์หุ้นหนาประมาณ ๑๐ หน้า เริ่มเขียนตั้งแต่ว่าบริษัทนี้ทำธุรกิจอะไร ซึ่งมันไปเสิร์ชข้อมูลมาจากกูเกิลแล้วรวบรวมข้อมูลไว้ แล้วไตรมาสนี้ผลประกอบการดีไม่ดีอย่างไร
ประเด็นคือเราอ่านแล้วเหมือนภาษาคนเขียน เราขอให้เขาลองเอาไฟล์เดิมเข้าไปทำอีกที พรินต์ออกมาใหม่ เชื่อไหมสองรายงานนี้เนื้อหาหลักเหมือนกัน แต่สำนวนต่างกัน เขาบอกถ้าเหมือนกันก็รู้สิว่าเครื่องเขียน เขามีรูปแบบสำนวนภาษาอยู่ประมาณ ๑๕ รูปแบบให้เครื่องสุ่มเลือก เบื้องหลังคือพอโปรแกรมออกรายงานมาก็จะให้นักวิเคราะห์หุ้นเป็นคนอ่านแล้วเอดิต สิ่งที่นักวิเคราะห์หุ้นลบคำตรงไหนออกแล้วเขียนคำอะไรทับ เครื่องจะเรียนรู้สไตล์ของนักวิเคราะห์คนนี้ ซึ่งพอทำซ้ำบ่อย ๆ ๒-๓ เดือนเครื่องจะเขียนออกมาสไตล์คล้าย ๆ กับที่คนนี้ต้องการ
นอกจากนั้นเขายังมีเครื่องมือที่ให้นักวิเคราะห์หุ้นลองเขียนบางอย่างที่แตกต่างจากเดิม แล้วระบบจะเก็บฟีดแบ็กของคนอ่านกลับมาให้ คนเขียนจะรู้เลยว่าการเขียนรายงานสไตล์แบบ A กับ B คนกลุ่มไหนชอบแบบไหน มันวิเคราะห์ออกมาให้เรียบร้อย อันนี้ก็เรียกว่าฟินเทค
เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้คนเขียนดีขึ้น
เป็นการวิเคราะห์รูปแบบการใช้ภาษาแล้วให้เครื่องสร้างภาษาที่คนใช้ออกมา แล้วช่วยให้คนเรียนรู้ด้วย เป็นเทคนิคซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการที่โฆษณาหนีจากสิ่งพิมพ์ไปอยู่ออนไลน์หมด คือ นิวยอร์กไทมส์ วอชิงตันโพสต์ เอามาใช้แล้วเป็น survival ของเกมนี้ จนทุกวันนี้ก็ยังมีธุรกิจที่ดี เผลอ ๆ ดีกว่าสมัยเป็นสิ่งพิมพ์อย่างเดียว เพราะเขากระโดดเข้ามาแล้วมองว่านี่แหละคือทางใหม่ จะต้องไม่อยู่ในสื่อแบบเดิมอีกต่อไป ช่วงแรกตอนที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปออนไลน์ เขาตั้งใจเลยว่าจะต้องมีข่าวที่ดีกว่าในกระดาษ เขาส่งเสริมให้ผู้สื่อข่าวเขียนหลาย ๆ รูปแบบ โดยมีระบบที่ให้ผู้สื่อข่าวเขียนแล้วโพสต์ออนไลน์ ทดสอบดูว่าใครคลิกอ่านแบบไหนและเรตติงเป็นอย่างไร ระบบจะวิเคราะห์ออกมาว่าผู้อ่านของคุณเป็นคนกลุ่มไหน อายุประมาณเท่าไร ใครชอบสไตล์เขียนแบบ A ใครชอบแบบ B คือเอาเทคโนโลยี data analytics มาสอนผู้สื่อข่าวเก่ง ๆ เปลี่ยนความคิดว่าอย่าเชื่อมั่นแต่แนวทางที่เคยเขียน เพราะจริง ๆ แนวนี้บางคนไม่ชอบอ่าน แล้วในตลาดที่ชอบมี demographic อย่างไร มันวิเคราะห์ให้หมด คนเขียนก็เลยได้เรียนรู้และเขียนเก่งขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นรายงานของนิวยอร์กไทมส์ จึงเป็นรายงานที่คนอยากอ่าน พอคนอยากอ่านมาก ๆ โฆษณาทางออนไลน์ก็วิ่งตามมาเอง
แสดงว่าฟินเทคอาจไม่ใช่แค่โปรแกรมธรรมดา แต่ฉลาด วิเคราะห์ข้อมูลด้วย
ใช่ แล้วนี่คือ the new game ในอนาคตเลย คือความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล และด้วยเทคโนโลยี artificial intelligence ทำให้เครื่องช่วยวิเคราะห์ข้อมูลให้เราเพิ่มเติมได้ด้วย เพราะฉะนั้นในอนาคตงานที่เป็นการคำนวณพื้นฐาน โดยเฉพาะวิศวกรทั่วไป ยกเว้นคนเขียนโปรแกรม อาจโดนหมด เพราะอะไรที่ใช้ตรรกะ ใช้สูตรคณิตศาสตร์ ยังไงคอมพิวเตอร์ก็คิดแทนได้ นักวิเคราะห์หุ้น หรือแม้แต่นักกฎหมาย ซึ่งอ่านหนังสือเยอะมากรวบรวมอยู่ในสมอง อ่านคดีต่าง ๆ ผู้พิพากษาส่วนใหญ่ที่นั่งไล่ดูว่าเคยมีฎีกาเขียนไว้อย่างไร อ้อ เหตุผลเป็นแบบนี้ พวกนี้ต่อไปคอมพิวเตอร์จับคู่ให้ได้หมด
หมอ หัวสมองเก่งมาก หาข้อมูลการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ เรียนมา ๑๐ กว่าปี จับคู่อาการคนป่วยกับที่อยู่ในตำรา ถามว่าคอมพิวเตอร์ทำได้ไหม ทำได้ แต่อาจทำได้ไม่ทั้งหมด ตอนนี้เครื่อง IBM Watson นำมาใช้ทางการแพทย์แล้ว เป็น artificial intelligence ที่เก่งมาก ของ IBM ทำวิจัยมากว่า ๑๐ ปี ตั้งชื่อตามผู้ก่อตั้งของ IBM คือ Thomas J. Watson เขาใส่ข้อมูลการวินิจฉัยโรคเข้าไป ตำราหมอเข้าไป แล้วให้เครื่องเรียนรู้ความสัมพันธ์แต่ละเรื่อง เบื้องต้นช่วยคัดกรองโรคที่ไม่ใช่ออก มีคำอธิบายให้หมด แต่อาจยังบอกไม่ได้ว่าเป็นโรคอะไร หมอก็ลองเริ่มรักษา ให้ยา แล้วใส่ข้อมูลเข้าไปให้เครื่องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็คือปูมที่หมอเขียนจนกระทั่งตอนนี้เริ่มนำมาใช้จริงเป็นผู้ช่วยหมอแล้ว
กลับไปสมัยตั้ง KBTG มาทำฟินเทคเพื่อช่วยธนาคารกสิกรไทยอย่างไร
KBTG มีอยู่สองส่วน ส่วนหนึ่งทำงานระบบไอทีทั่วไป อีกส่วนทำนวัตกรรมหรืออินโนเวชัน โดยแนวคิดคือเป็นระบบเปิด open innovation คือไม่ต้องสร้างเอง หาคนมาสร้างให้ แต่ธนาคารก็ต้องมีความสามารถในการสร้างด้วย เริ่มตั้งแต่ขั้นแรกที่การหาแนวความคิด มีการศึกษาปัญหาของลูกค้า หาปัญหาใหญ่ ๆ ที่ควรแก้ไข แล้วมีแนวทางแก้อย่างไร จัดตั้งทีมแล้วลองทำดู ซึ่งทีมส่วนใหญ่เป็นการรวมผู้เชี่ยวชาญข้ามสาขา ทั้งด้านธุรกิจ ไอที ดีไซเนอร์ การตลาด เข้ามารวมกันก็ค่อย ๆ ปั้น solution แล้วทดลองตลาด
ที่ใช้แนวทางนี้เพราะ หนึ่ง คนทำสตาร์ตอัปเมืองไทยไม่เคยทำธุรกิจ ส่วนใหญ่เป็นคนเก่งเทคโนโลยี เก่งดีไซน์ เพราะฉะนั้นเขาจะไม่สามารถอ่านโจทย์ปัญหาธุรกิจ คนเห็นปัญหาที่แท้จริงคือตัวองค์กรใหญ่เอง ก็เลยเป็นสถานที่ที่เอาคนสองกลุ่มมาเจอกัน เราเป็นคนเริ่มตั้งโจทย์ ให้เขาเป็นคนหา solution แล้วทำงานร่วมกัน
ตอนนี้ถือว่าเป็นจุดสตาร์ตเครื่อง แต่จะสำเร็จหรือเปล่ายังไม่รู้ เหมือนการวิ่งมาราธอน เพิ่งวิ่งไปแค่ ๑ กิโลเมตร
ตามข่าวเห็นว่าออฟฟิศของ KBTG ตั้งใจออกแบบเพื่อเอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมด้วย เป็นอย่างไร
แนวคิดคือเรื่องนวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้เมื่อคนมีปฏิสัมพันธ์กัน ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะว่ามีใครสักคนสมองใสแล้วคิดทุกอย่างได้ บรรยากาศอย่าง Co-Working Space ที่เรานั่งสัมภาษณ์กันอยู่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง เพราะเป็นที่ที่อาจมีคนมานั่งเขียนโปรแกรม เพื่อนอีกบริษัทเดินผ่าน มายืนกินกาแฟมีโอกาสคุยกันว่าใครทำอะไร คุยกันไปมาบอกมาทำด้วยกันไหม มาเจอกันได้นะ หรือได้เจอคำถามที่ไม่เคยคิดมาก่อน ก็เอาไปคิดต่อ
ที่ KBTG เราออกแบบเป็นที่เปิดโล่งให้คนมาเจอกัน มีโถงทางเดินที่คนเดินผ่านแล้วหยุดพักคุยกันได้ มีเก้าอี้นั่งสบาย ๆ ให้ใช้บันไดขึ้นลง นอกจากประหยัดพลังงานแล้วยังเพราะคนขึ้นลงบันไดจะคุยกัน แต่คนลงลิฟต์ไม่คุยกัน เป็นการสร้างบรรยากาศให้เกิดบทสนทนาระหว่างทีมที่อยู่คนละด้าน ได้เจอกัน แลกเปลี่ยนกันว่าใครทำอะไร จะช่วยให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ
คนทำสตาร์ตอัปต้องเป็นคนที่พร้อมจะแชร์
ใช่ คนกลุ่มนี้ถ้าใครเป็นพวกไม่แชร์ สักพักจะเดี้ยง เพราะ หนึ่ง เพื่อนไม่เอา ไม่คุยด้วย แล้วตัวเองจะติดกับไอเดียของตัวเอง จะสร้างสิ่งที่พัฒนาต่อไม่ได้
Co-Working Space ถือเป็นนวัตกรรมหรือสตาร์ตอัปแบบหนึ่งไหม
สตาร์ตอัปจริง ๆ ไม่ต้องเป็นดิจิทัล แต่ถ้าเอาเทคโนโลยีมาช่วยจะเร่งการเติบโตโดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้น มันทำให้เกิดผลกำไรเยอะขึ้น แต่สำหรับ Co-Working Space คนที่เป็นเจ้าของอาศัยการที่สตาร์ตอัปเข้ามาอยู่แล้วเจ้าของก็ได้นั่งคุย ได้เจอตลอดเวลา ก็จะรู้ว่าใครเจ๋ง มีโอกาสเอาเงินมาลงทุนก่อนคนอื่น เพราะว่าเป็นคนคุ้นเคย ถ้าแบบนี้จะมีผลตอบแทนคืนกลับมาหลายเท่า แต่ถ้าทำพื้นที่ให้เช่าเฉย ๆ ไม่ได้ประโยชน์ ตัวอย่างในอเมริกามี WeWork ซึ่งในที่สุดได้เงินจากองค์กรใหญ่ คือเขาทำสถานที่ Co-Working Space จนมีสตาร์ตอัปคุณภาพดี ๆ มาอยู่เยอะ ในที่สุดก็แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งขายองค์กรให้เอาทีมนวัตกรรมมานั่ง องค์กรยอมจ่ายเงินเพื่อจะมาอยู่ใกล้ ๆ กับสตาร์ตอัปที่ตัวเองจะเข้าถึง
ปัจจัยอะไรที่จะทำให้กลายเป็นยูนิคอร์น
มันต้องแก้ปัญหาที่แท้จริงให้กับมนุษย์ ต้องสร้างมูลค่าที่แท้จริง ไม่ใช่สร้างสิ่งที่เราอยากสร้าง ต้องสร้างสิ่งที่คนอยากได้ แล้วอย่าลืมว่าคนอาจไม่มีความสามารถจะบอกด้วยซ้ำว่าตัวเองอยากได้อะไร ไม่มีใครบอกว่าฉันอยากได้โทรศัพท์มือถือหน้าตาแบบนี้ ขอให้มีปุ่มเดียวได้ไหม แต่ก็มีคนบ้าคนหนึ่งบอกลูกน้องทั้งบริษัทให้สร้างโทรศัพท์ที่มีปุ่มเดียวออกมา
ศัพท์สตาร์ตอัปก็เลยมีคำหนึ่งว่า A/B experiment คือคนทำไม่รู้เหมือนกันว่าตลาดต้องการอะไร ก็สร้างสองแบบสามแบบออกมา แล้วดูสิว่าตลาดต้องการแบบไหน แล้วเรียนรู้จากมัน
อีกคำคือ fail fast learn fast คือฉันยอมจะทำอะไรบางอย่างแล้วเห็นว่ามันเฟล แต่ฉันต้องเรียนรู้ให้ได้ว่าทำไมเฟล เพราะนั่นคือข้อมูลที่สำคัญในการเรียนรู้แล้วเอาไปสร้างสิ่งใหม่ เจ้าของอูเบอร์ทำบริษัทเจ๊งมาไม่รู้กี่สิบบริษัท กว่าจะได้อูเบอร์มา ค่อย ๆ สะสมความรู้จากการเฟลไปเรื่อย ๆ
ความลับอย่างหนึ่งของสตาร์ตอัป คือในแต่ละครั้งที่เฟล เงินลงทุนยังต้องเหลือเพื่อใช้ในการลองทำใหม่ พอลองทำใหม่ คิดได้ โดยที่ยังไม่ผลาญเงินหมดก็ไปขอเงินจากนักลงทุนใหม่มา เฟลแต่ละครั้งต้องไม่เสียหายจนเกินไป
เพราะฉะนั้นก็เลยอยู่ที่ว่าเป็นแมวเก้าชีวิตหรือเปล่า เจฟฟ์ เบซอส เจ้าของอะเมซอน บริษัทขาดทุนจนเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง ถามว่าประสบความสำเร็จหรือเปล่า ไม่รู้ แต่เป็น e-commerce ที่มีมูลค่าสูงมาก แล้วทำได้ดีมาก ๆ สิ่งสำคัญที่คนอื่นตามอะเมซอนไม่ทันคือเขารู้พฤติกรรมผู้บริโภคทั้งหมด เก็บข้อมูลไว้วิเคราะห์เก่งมาก แนะนำสินค้ามาที่เราแต่ละครั้งตรงกับความสนใจเพราะมันจำได้หมดว่าคุณเคยดูอะไร คลิกอะไร เพื่อนของคุณเคยซื้ออะไร และจะซื้ออะไรต่อเพิ่ม
ทำไมองค์กรใหญ่ ๆ ถึงคิดอย่างสตาร์ตอัปไม่ได้
คือธุรกิจทั่วไปมักคิดถึงแต่เรื่องตัวเอง เวลาทำแผนธุรกิจ องค์กรใหญ่ ๆ จะพูดถึงแต่การแก้ปัญหาของตัวเองทั้งนั้น คิดจะออกผลิตภัณฑ์เพราะฉันต้องการหารายได้เพิ่ม นั่ง ๆ ดูแล้วบอกว่าลองทำอันนี้ดูละกัน โดยคิดไม่มากเท่าไรในมุมของการเอาความต้องการจากภายนอกเข้ามา เพราะแต่ละวันเขายุ่งกับการประชุมหรือการเมืองภายในองค์กร
แต่สตาร์ตอัปไม่มีเรื่องภายใน จะมองหาปัญหาก่อน หาช่องทางทำธุรกิจ ซึ่งต้องเริ่มจากการระบุปัญหาที่น่าแก้ไข เช่นในสิงคโปร์มีสตาร์ตอัปที่อยากให้นักเรียนมีคุณภาพทางการศึกษาโดยไม่ต้องใช้เงินเยอะ เขาสร้างโรงเรียนเป็นหลักสูตรนานาชาติโดยตัดพวกห้องเรียนหรู ๆ สนามบาสฯ สระว่ายน้ำ อะไรที่ฟุ่มเฟือยตัดออกทั้งหมด ที่สำคัญเอาเทคโนโลยีมาแทนคนทำงานในฝ่ายอำนวยการของโรงเรียน ซึ่งเป็นรายจ่ายประจำที่ใหญ่ที่สุด งานทั้งหลายอยู่ในคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องมีพนักงานการเงิน ไม่ต้องมีคนรับลงทะเบียน ทุกอย่างลดต้นทุนไปได้ครึ่งหนึ่ง จึงเก็บค่าเรียนแต่ละหลักสูตรแค่ครึ่งเดียวของโรงเรียนอินเตอร์ฯ เพราะมีกลุ่มลูกค้าซึ่งเขาไม่ต้องการของพวกนั้น ถ้าอยากว่ายน้ำก็ไปเป็นสมาชิกคลับที่อื่น เผลอ ๆ ครูว่ายน้ำที่นั่นเก่งกว่าครูว่ายน้ำในโรงเรียนด้วยซ้ำ มาอยู่ที่นี่คือเรียน ห้องเรียนไม่หรูแต่ครูดี มีเทคโนโลยีพร้อมที่จะให้เรียน
แต่ข่าวว่าสตาร์ตอัปส่วนใหญ่เจ๊ง
สตาร์ตอัปล้มง่ายมาก แต่จะทำยังไงให้เขาล้มแล้วยังมีแรงลุกต่อ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการสูญเสียของทักษะและความรู้ของการล้ม นี่คือมูลค่าของความล้มเหลว ต้องสนับสนุนให้คนลองทำ ไม่ต้องกลัวล้ม ไม่ต้องกลัวว่า ๑๐๐ ไอเดียแล้วจะรอดแค่หนึ่ง เพราะถ้าสำเร็จจะได้คืนกลับมา ๑,๐๐๐ เท่าของสิ่งที่ลงไป หรืออย่างน้อยก็ ๒๐๐ เท่า ซึ่งถือว่าคุ้ม ให้เจ๊งไป ๑๐๐ ก็คุ้ม ถ้าหาหนึ่งอันนั้นเจอ มันเป็นโลกของผู้ประกอบการ (entrepreneur) ต้องเหนื่อย ต้องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ว่าคืออะไร แล้วทางออกคืออะไร
คือด้วยเทคโนโลยีที่เปิดให้คนได้ลอง แล้วสามารถได้รับฟีดแบ็กอย่างรวดเร็ว เมื่อก่อนกว่าจะสร้างธุรกิจหนึ่ง กว่าจะรู้ว่าตลาดรับหรือไม่รับ เผลอ ๆ ใช้เวลาเป็นปี ๆ เดี๋ยวนี้เขียนโปรแกรมมา ๓ อาทิตย์ก็รู้แล้ว ปล่อยแอปฯ ออกไป ไม่มีใครโหลดเลย หรือมีเอนเกจเมนต์มากน้อยแค่ไหนก็รู้แล้ว ถ้าเป็นคนที่เอาใจใส่ อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมเฟล ถามคนนั้นคนนี้ สัมภาษณ์หาข้อมูลมาว่า อ๋อ มันเฟลเพราะอย่างนี้ ยอมรับโว้ย เอาใหม่ ถอยกลับมาตั้งสติ เอาความรู้มาคิดต่อ
และต้องเป็นเทคโนโลยีที่ลอกเลียนไม่ได้ มีความรู้เฉพาะขององค์กรที่พัฒนาไปเรื่อย ๆ อย่างสตาร์ตอัปรู้จักพฤติกรรมของคนในเซกเมนต์หนึ่งดีมาก ๆ หรือก็รู้ดีมาก ๆ ว่าอะไรคือรูปแบบที่เวิร์กสำหรับคนกลุ่มไหน ถ้านักเขียนออก เขาก็ไม่มีเครื่องมือที่ช่วยให้ทำงานได้แบบนั้น แล้วได้รับฟีดแบ็กตลอดเวลา เทคโนโลยีแบบนี้เป็นตัวอย่างของการมีของจริง ซึ่งจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน ขณะที่สตาร์ตอัปในเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นนักเทคโนโลยีที่ชอบฝัน แล้วลองทำดู แต่ก็มีบางรายที่ประสบความสำเร็จ
โมเดลของสตาร์ตอัปที่น่าจะประสบความสำเร็จในเมืองไทย
ในเมืองไทยหรือในเอเชียส่วนใหญ่จะมีธุรกิจใหญ่ ๆ ที่มีอำนาจเหนือ และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เมืองไทยนับดูก็คงมีสัก ๑๐ ชื่อ มูลค่าซัดเข้าไป ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีแล้ว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ก็คล้าย ๆ กัน คนทำงานทั้งหลายก็จะไปอยู่ในธุรกิจพวกนี้ทั้งหมด ไม่มีบรรยากาศที่จะทำให้เขาออกมาทำสตาร์ตอัป เพราะออกมาก็มักตาย ไม่ประสบความสำเร็จ
โมเดลที่จะประสบความสำเร็จจริง ๆ เลยเป็นโมเดลของสตาร์ตอัปที่ทำงานให้องค์กรใหญ่ เพราะถ้าทำผลิตภัณฑ์ออกมาเรื่อย ๆ แล้วลูกค้าเริ่มยอมรับ มีคนสนใจ ก็จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด คือต้องมีความสามารถในการสเกลอัป (scaleup) ต้องอาศัยคนอีกกลุ่มหนึ่งมาดูแลเรื่องประสิทธิภาพ มาดูแลระบบและการสื่อสาร คือเป็นพวกฝ่ายปฏิบัติการ ต้องมีโครงสร้างการจัดการ แบ่งงาน กระจายความรับผิดชอบ เหมือนการทำงานขององค์กรใหญ่ ซึ่งคนก่อตั้งที่ทำสตาร์ตอัปไม่คุ้นเคยกับการกระจายงานเพราะเคยแต่ทำเอง
อย่าง Facebook ช่วงแรกมีสมาชิกหลายร้อยล้านคนแล้ว ยังมีปัญหาว่าทุกเดือนเผาเงินของนักลงทุนไปตลอดเวลาเพราะไม่มีรายได้ ไม่รู้จะทำยังไง ทีมงานก็ใหญ่ขึ้นทุกที มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็บอกตายละ ไม่รู้จะทำไง เดินไปในชั้นทำงานมีคนเป็นร้อย ไม่รู้จักแล้วว่าใครเป็นใคร ในที่สุดก็ต้องเอามืออาชีพที่เคยบริหารองค์กรใหญ่ ๆ เข้ามาดูแล เข้ามาหาวิธีขายโฆษณารูปแบบใหม่ คือการบริหารคนกลุ่มที่ทำงานปฏิบัติการวันต่อวัน กับการบริหารคนกลุ่มที่ทำนวัตกรรมเป็นคนละเรื่องกัน
ต้องเกิดรูปแบบความร่วมมือระหว่างสตาร์ตอัปกับองค์กรใหญ่
ใช่ เหมือนเป็นการร่วมทุนกัน แต่ความอิสระมีอยู่แค่ไหน กลไกนี้คืออะไร เพราะต้องยอมรับว่าเวลาเกิดปัญหาอะไร องค์กรใหญ่รับหมด องค์กรเล็กไม่ต้องรับ ถ้าใช้ผลิตภัณฑ์แล้วเกิดระเบิด คนตายในรถไปห้าคน ใครจ่าย องค์กรใหญ่จ่าย หรืออยู่ ๆ เกิดยกทีมออก องค์กรใหญ่จะทำยังไง ลูกค้า ๕ ล้านรายของฉันขึ้นอยู่กับความชอบแอปฯ ตัวนี้ ซื้อหุ้นมาแต่ไม่มีคนทำ หรือทีมใหม่ไม่มีสปิริตแบบเดิม เพราะฉะนั้นมันซับซ้อนมาก เลยเป็นเรื่องยาก
เข้าใจว่าสตาร์ตอัปก็คือคนที่คิดอะไรขึ้นมาได้แล้วก็ขายต่อให้นักลงทุนใหญ่ ๆ อยู่แล้วไม่ใช่หรือ
หลายคนเป็นอย่างนั้น แต่จริง ๆ ไม่ใช่ สตาร์ตอัปที่เห็นเงินเป็นหลัก พวกนี้ไม่ค่อยอยากยุ่งด้วย เพราะพูดถึง exit บ่อยมาก เข้าใจคำนี้ไหม exit คือการที่คุณสร้างบริษัทถึงจุดหนึ่งแล้วมีคนมาซื้อไป คุณก็ได้เงินก้อนใหญ่ไป แต่ถ้าเราดูพวกที่วิ่งถึงยูนิคอร์นส่วนใหญ่ คนก่อตั้งยังอยู่ ถ้าคนก่อตั้งไม่อยู่ มูลค่าบริษัทหายทันที เพราะสิ่งที่นักลงทุนต้องการคือทีมผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการสร้างสปิริตในองค์กร ถ้าคนสร้างอูเบอร์ลาออก รับรองหุ้นร่วงลงครึ่งหนึ่ง
คือองค์กรใหญ่มาลงทุนเพราะอยากได้ตัวคนสร้างสตาร์ตอัป แต่เขาจ้างไม่ได้ เพราะสตาร์ตอัปบอกฉันไม่อยากเป็นลูกจ้างเธอ ฉันขอถือหุ้น ถ้าฉันทำแล้วสำเร็จยังได้มูลค่าจากหุ้น องค์กรใหญ่อยากซื้อเพราะเขาไม่สามารถสร้างนวัตกรรมนี้ขึ้นได้ เพราะคนในองค์กรอาจไม่ใช่คนประเภทนี้ หรือไม่มีเวลา เขาก็อยากได้ทีมนี้แหละมาช่วยคิดบ้า ๆ บอ ๆ ไม่กลัวตาย ไม่กลัวผิด แต่ถ้า exit ในมุมของเงิน คือลดสัดส่วนการถือหุ้นออกมาแบ่งขายถือเป็นเงินสดบ้าง แบบนี้ไม่เป็นไร
จริงไหมที่คนไม่กี่คนซึ่งควบคุมเทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นคนมั่งคั่งมาก ๆ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูง
อันนี้เป็นปัญหามาก ถ้าไปดูใน world economic forum ปีนี้จะพูดเรื่องการเติบโตอย่างเท่าเทียมกันและครอบคลุมทั่วถึง เพราะไป ๆ มา ๆ คนที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีกินรวบหมด แจ็ก หม่า บิลล์ เกตส์ ครอบครัวแอปเปิล เจ้าของ Google ทรัพย์สินมีเท่าไร ใช้ไปอีก ๑๐ รุ่นก็ยังไม่หมด ขณะที่มีคนจำนวนมากใต้ฐานพีระมิดไม่ได้อะไรจากตรงนี้เลย แล้วไม่มีความสามารถใด ๆ ในเศรษฐกิจนี้ทั้งสิ้น
ยิ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ก็ยิ่งมีคนรวย รวย รวย เจ้าของยูนิคอร์นอย่าง Grab เป็นทีมเด็กฮาร์วาร์ดห้าหกคนเรียนรุ่นเดียวกันอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หารกันแสนล้าน คนหนึ่งมีหมื่นหกพันล้าน ขณะที่เดินจากบ้านไป ๒๐๐ เมตรมีคนอดตายตรงนี้แปลว่าอะไร ความมั่งคั่งพวกนี้จริง ๆ ควรถอยกลับลงบ้างหรือเปล่า
แล้วยังมีประเด็นน่าคิด อย่างเจ้าของอูเบอร์ได้เงินจากการทำงานของคนขับรถ แล้วจะขับอูเบอร์คุณต้องมีรถของตัวเอง แต่ถ้าคนขับป่วย หรือขับรถชน อูเบอร์ต้องรับผิดชอบไหม เพราะไม่ใช่ลูกจ้าง มันเกิดคำถามถึงความรับผิดชอบ คุณมีเครือข่ายเป็นหมื่น ๆ ล้านบาท คนพวกนี้เข้าโรงพยาบาลใช้เงินแสนบาท อูเบอร์ควรเอาเงินแสนบาทมาจ่ายให้ไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดเหตุขณะเขากำลังขับรถให้คุณอยู่
เพราะเขาก็ไม่ได้เป็นพนักงานของอูเบอร์
ใช่ มันเป็นแพลตฟอร์มที่ให้แต่ละคนเอาทรัพยากรหรือทรัพย์สินของตัวเองที่มีอยู่มาทำอะไรบางอย่าง เจ้าของทรัพยากรก็ได้ แต่ที่ได้เยอะกว่าเป็นคนสร้างแพลตฟอร์ม นี่เป็นปัญหาเชิงสังคม ซึ่งผมตอบไม่ได้แล้ว แต่เชื่อว่าในที่สุดจะมีความวุ่นวายของความเหลื่อมล้ำ และความเหลื่อมล้ำจะฆ่ามนุษยชาติได้ถ้าหากไม่หาทางจัดการให้ทันการณ์
หรืออุตสาหกรรม ๔.๐ สำหรับคนเดินถนนแปลว่าอะไร จริง ๆ ผลประโยชน์ที่ได้มาควรแบ่งให้ใครบ้าง ถ้าหากความมั่งคั่งกระจุกตัวจากการผูกขาดรูปแบบใหม่ คือผูกขาดเทคโนโลยี สมมุติถ้าคุณมีความสามารถผลิตโทรศัพท์ขายราคาชิ้นละ ๕๐๐ บาทยังกำไร แล้วมันกระจายตัวมาก ๆ จริง ๆ ขาย ๓๐๐ ก็ยังได้ แปลว่าคนที่เป็นเจ้าของโทรศัพท์จะได้มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วอะไรคือกฎเกณฑ์ที่จะควบคุมไม่ให้เขาตั้งราคา ๕๐๐ ขณะที่เขาผูกขาดตัวเทคโนโลยี
ปัจจุบันอาลีบาบาผูกขาด e-commerce ในเมืองจีน และเผลอ ๆ กำลังจะผูกขาดกิจการธนาคารเพื่อรายย่อยที่มีมูลค่าที่สูงสุดในโลก ด้วยมูลค่าขนาดนั้น อยากได้เงินเมื่อไรใครก็พร้อมจะให้เขากู้ราคาถูก ๆ ไปปล่อย วัฏจักรความรวยก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้าย แจ็ก หม่า จะเอาเงินไปทำอะไร แล้วในที่สุดจะทำอย่างไรให้โลกมีสมดุลมากขึ้น
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก บอก ๙๙ เปอร์เซ็นต์ในหุ้นของฉัน เอาไปลงเพื่อการกุศล บิลล์ เกตส์ ก็ทำแบบเดียวกัน นั่นเป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจากความเต็มใจของตัวเอง
แปลว่าโลกต้องการวิธีการจัดสรรทรัพยากรแบบใหม่หรือเปล่า และเป็นรูปแบบที่ยังจูงใจให้คนสร้างสิ่งใหม่ ๆ ขณะเดียวกันคนส่วนใหญ่ต้องไม่อดตาย
สตาร์ตอัปเกี่ยวกับกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ปลอดภัยแค่ไหน
ตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นขององค์กรใหญ่ ๆ ตราบใดที่คุณมีหลักฐานว่าอยู่ดี ๆ เงินหาย เขาก็รับผิดชอบให้หมด เรื่องนี้อยู่ในการควบคุมของแบงก์ชาติ ถ้าคุณจะดำเนินการเรื่องกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ก็ต้องไปขอใบอนุญาต ปัญหาคือการใช้มาตรฐานใกล้เคียงกันระหว่างคนที่ดูแลเงินอยู่แล้วเป็นหมื่นล้าน กับคนที่แค่อยากจะเริ่มทำ ทั้งที่ระดับความเสี่ยงต่างกัน ทำให้ใครจะทำสตาร์ตอัปเรื่องนี้มีต้นทุนสูงมาก จริง ๆ ขนาดเล็ก ๆ ควรใช้ระบบประกันภัย ถ้าเงินคุณหายเมื่อไร ประกันจ่ายให้ หรือรัฐบาลวางเป็นเงินประกันไว้ ถ้าคุณเริ่มใหญ่โตเมื่อไรต้องเอาเงินใส่เข้าไปในวงประกันด้วย เหมือนที่ธนาคารมีกองทุนประกันกรณีธนาคารเจ๊ง ต้องใช้แนวคิดพวกนี้เข้ามาช่วยเพื่อให้สตาร์ตอัปเกิดขึ้น
คือพอชีวิตคนอยู่ในเทคโนโลยีมากขึ้น ทรัพย์สินที่อยู่ในนี้ก็มีคนพร้อมจะโจมตีได้ตลอดเวลา ซึ่งเมืองไทยยังขาดระบบรักษาความปลอดภัยส่วนกลาง เปรียบเทียบระบบปัจจุบันเราเหมือนประเทศโคลอมเบียเมื่อสัก ๒๐ ปีก่อนที่ทุกบ้านต้องมีกองทัพของตัวเอง สร้างรั้วบ้านสูง ๆ ซึ่งถ้าดึงทรัพยากรมาใช้ร่วมกันก็จะทำให้มีกองกำลังที่เข้มแข็งป้องกันการคุกคามจากภายนอกเหมือนทหารที่ปกป้องชายแดน และมีตำรวจดูแลความปลอดภัยข้างใน โดยแต่ละบ้านไม่ต้องมี รปภ. ของตัวเอง
เรื่องความปลอดภัยในไซเบอร์ควรจะต้องมีหน่วยงานระดับชาติ ซึ่งเมืองไทยยังไม่มี ความรับผิดชอบอยู่ที่ใครก็ไม่แน่ชัด ทำให้เป็นโครงสร้างส่วนกลางที่ทุกคนใช้ได้เพราะเทคโนโลยีพวกนี้คล้าย ๆ กัน แต่ละองค์กรไม่ต้องลงทุนเอง พวกสตาร์ตอัปก็มาเช่าใช้ได้ ทำให้ไม่ต้องลงทุนกับเรื่องระบบความปลอดภัย
บล็อกเชน (blockchain) บิตคอยน์ (bitcoin) คืออะไร จะมาแทนเงินที่ใช้กันในโลกจริงหรือเปล่า
เทคโนโลยีตอนนี้มีศัพท์ประหลาด ๆ เต็มไปหมด คำว่าบิตคอยน์กับบล็อกเชนก็ค่อนข้างเข้าใจกันสับสน
ในโลกปัจจุบันเมื่อมีการทำรายการระหว่างองค์กร โดยทั่วไปความเชื่อมั่นจะเกิดขึ้นเมื่อมีตัวกลางที่น่าเชื่อถือเป็นผู้ยืนยัน เพราะแต่ละคนสามารถอ้างได้ว่ารายการนั้นคืออะไร เช่น ธนาคาร A จ่ายเงินให้ธนาคาร B ๕๐๐ ล้านบาท ธนาคาร B อาจบอกว่าได้เงินมาแค่ ๔๐๐ ล้านบาท จึงต้องมีแบงก์ชาติยืนยัน เพราะทุกคนแก้ไขข้อมูลในคอมพิวเตอร์ของตัวเองได้
คราวนี้ในโลกใหม่ ถ้าเรามีสี่องค์กร เมื่อเกิดรายการข้อตกลงกันที่ทุกคนอนุมัติแล้วรายการจะถูกบันทึกโดยอัตโนมัติไปที่คอมพิวเตอร์ของทุกองค์กร และแก้ไขไม่ได้ พอแก้ไม่ได้จะเกิดความน่าเชื่อถือทันที บล็อกเชนก็คือเทคโนโลยีที่ทำให้บันทึกรายการแล้วแก้ไม่ได้ ถ้าจะแก้ต้องใช้คีย์สองตัว หนึ่งคือคีย์ที่แต่ละคนถือ อีกคีย์คือคีย์สาธารณะเป็นการเข้ารหัสที่ต่อเนื่องกัน ถ้าเกิดรายการนั้นผิด สี่คนต้องมาตกลงกันใหม่ แล้วสร้างรายการขึ้นมาบอกว่ารายการก่อนผิด ต้องแก้เป็นแบบนี้ ดังนั้นรายการต่าง ๆ จะถูกเก็บประวัติให้ตามรอยได้ตลอด รายการในฐานข้อมูลของเราก็จะอยู่ในคอมพิวเตอร์ของคนอื่นด้วย ทำให้บล็อกเชนไม่จำเป็นต้องมีคนกลางมายืนยันและไม่ต้องทำแบ็กอัป เพราะเหมือนมีแบ็กอัปอยู่ในเครื่องของแต่ละคน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายตรง ๆ เลย
แต่กลไกที่ต้องสร้างข้อตกลงร่วมกันครบสี่คนว่านี่เป็นความจริง ถึงจะบันทึก ทำให้บล็อกเชนทำงานช้า เพราะสี่คนไม่ได้ว่างมานั่งหน้าจอพร้อมกัน
ถ้าใช้งานได้จริง ใครจะถูกดิสรัปต์
บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา คนยังไม่แน่ใจว่าควรเอาไปใช้แบบไหน ที่รู้แล้วคือเป็นเทคโนโลยีที่เทอะทะ รับมือกับปริมาณมาก ๆ ไม่ได้ เพราะต้องรอทุกคนตกลงจนปวดหัว ถ้าบันทึกรายการในองค์กรถูกต้องเสมอและทำแบบอัตโนมัติ นักบัญชี ผู้ตรวจสอบบัญชีก็อาจหมดความจำเป็นเพราะการตรวจสอบจะน้อยลงไปมาก แต่ที่มีคนว่าตลาดหลักทรัพย์ไม่ต้องมีแล้วคงจะไม่เหมาะ เพราะมันยังช้าเหมือนรถแทรกเตอร์ ถ้าจะใช้กับตลาดหลักทรัพย์ต้องเป็นรถลัมบอร์กีนี
มองในแง่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เพราะมีความน่าเชื่อถือของข้อมูล ไม่ต้องทำ double check หรือ cross check อีก แต่เราต้องเชื่อคนเขียนโปรแกรมด้วยว่าไม่ได้สอดไส้อะไรไว้ในโปรแกรม เพราะโปรแกรมคือคนบันทึก
ประโยชน์อีกเรื่องหนึ่งคือความปลอดภัยของข้อมูลในโลกไซเบอร์ สมมุติถ้าโรงพยาบาลถูกแฮ็ก แล้วแก้ไขข้อมูลตัวเดียวคือกลุ่มเลือด ถึงวันที่คุณต้องใช้เลือด คุณตายเลยนะ แต่ถ้าใช้บล็อกเชนจะไม่มีใครแก้ได้นอกจากสี่คน เช่น ตัวคุณเอง หมอ แล้วมีคนกลางอีกสองคน อาจเป็นนักเทคนิคการแพทย์ หรือญาติ ถ้าสี่คนว่ากลุ่มเลือดถูกต้องจริงก็จะบันทึกไว้ แก้ไม่ได้
ตอนนี้มีคนใช้บล็อกเชนกับการบันทึกที่มาของเพชรตั้งแต่ต้นทางว่าเพชรเม็ดนี้ขุดมาจากเหมืองไหน ผ่านกระบวนการขั้นตอนอะไรบ้าง ข้อมูลเหล่านี้แก้ไม่ได้ แล้วถ้ามีเทคโนโลยียืนยันว่าข้อมูลในคอมพิวเตอร์กับเพชรตัวจริงเป็นของชิ้นเดียวกัน เราก็เชื่อได้ทันทีว่ากำลังซื้อเพชรจริง มีคนทำแล้วและกลายเป็นยูนิคอร์นด้วย
บล็อกเชนจึงมีศักยภาพไม่ใช่เฉพาะธุรกรรมการเงิน ยังใช้ยืนยันความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกับการเงินได้ด้วยทำให้เป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง แต่สุดท้ายอาจใช้งานไม่ได้เพราะเทอะทะเกินไป และถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ก็เป็นไปได้
แล้วบิตคอยน์เกี่ยวกับบล็อกเชนอย่างไร
บิตคอยน์เป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันของบล็อกเชน เพราะพยายามทำตัวเป็นสกุลเงินหนึ่งจึงต้องสร้างความน่าเชื่อถือ แต่ผมไม่ค่อยเชื่ออนาคตของมันเท่าไร คือสกุลเงินบาทได้รับการรับรองโดยความสามารถทางเศรษฐกิจ ที่ดิน และทรัพย์สินของประเทศไทยที่อยู่ตรงนี้ แต่บิตคอยน์ไม่มีอะไรรับรอง วันนี้มูลค่า ๒ พันดอลลาร์สหรัฐ พรุ่งนี้มีมูลค่า ๓ พันดอลลาร์สหรัฐ ถามว่าอะไรที่รับประกัน แล้วใครบอกได้ว่านี่เป็นราคาที่แท้จริง
อีกเรื่องหนึ่งคือการกำกับดูแลความสามารถในการนำไปแลกเปลี่ยนกับสินค้า ซึ่งเงินบาทเป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติ ถ้ามนุษย์คนหนึ่งสร้างบิตคอยน์ขึ้นในโลกเสมือนแล้วทุกคนเอาไปใช้ซื้อของ ถามว่าใครจะควบคุมไม่ให้เกิดการปั๊มเงินเพิ่ม
ในฐานะนายธนาคาร มองเรื่องพร้อมเพย์ (PromptPay)อย่างไร
ยอมรับว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพร้อมเพย์ขึ้นมา แต่ตอนนั้นมองไม่เห็นปัญหา มาเห็นเมื่อมองย้อนกลับไป คิดว่าความผิดพลาดจริง ๆ ที่สำคัญอาจอยู่ที่การใช้หมายเลขบัตรประชาชนซึ่งเป็นรหัสประจำตัวของคนไปผูกกับหมายเลขบัญชีธนาคาร ทำให้คนกังวลมากที่สุดและไม่ยอมใช้ ทั้ง ๆ ที่ความจริงไม่มีความเสี่ยงที่ควรตกใจเลยเพราะมันใช้รับเงิน ไม่ใช่จ่ายเงิน คนอื่นจะใช้ข้อมูลตรงนี้เพื่อสั่งจ่ายเงินจากบัญชีคุณไม่ได้ ประเด็นที่น่าสนใจกว่าคือโครงการนี้สร้างการมีส่วนร่วมหรือสื่อสารกับผู้ใช้ที่แท้จริงตั้งแต่แรกน้อยไปหน่อย พอเกิดความเข้าใจที่ผิดแล้วเลยแก้ยาก พร้อมเพย์ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ น่าจะใช้นักจิตวิทยาหรือนักมานุษยวิทยามาร่วมในโครงการ คนทำมีแต่นักเศรษฐศาสตร์ วิศวกร นายธนาคาร นักบัญชี ขาดคนที่เข้าใจในมนุษย์มาร่วมด้วย เรื่องนี้เกี่ยวกับอารมณ์ของคน ทำให้การยอมรับต่ำกว่าที่ควร ไม่ใช่แค่เรื่องเหตุผล
ความจริงธนาคารคือคนที่ได้รับผลกระทบทางลบที่รุนแรงกว่าด้วยซ้ำเพราะรายได้และกำไรของธนาคารจะหายไปหลายพันล้านบาทถ้าทุกคนใช้พร้อมเพย์ เพราะรายได้จากค่าธรรมเนียมในการโอนเงินข้ามธนาคารจะเหลือเกือบศูนย์ แต่ถามว่าดีกับธุรกิจไหม ดี ดีกับเศรษฐกิจของประเทศไหม น่าจะดี เพราะการใช้เงินสดจะน้อยลง ใช้โอนทางอิเล็กทรอนิกส์แทน ภาระที่เกี่ยวข้องกับเงินสดจะหายไป
พร้อมเพย์ทำให้ฟินเทคด้านเพย์เมนต์ไม่มีโอกาสเกิด เพราะค่าธรรมเนียมบริการผ่านพร้อมเพย์ซึ่งเป็นโครงสร้างระดับประเทศที่มีธนาคารทุกแห่งอยู่ด้วยมันถูกมาก คนใช้พร้อมเพย์ไม่จำเป็นต้องไปใช้ฟินเทคอื่นเพื่อโอนเงินระหว่างกันอีก
ธนาคารส่วนใหญ่สองจิตสองใจ แต่มองในเชิงบวกคือถ้าคุณไม่พัฒนาอะไร สักวันก็ต้องมีฟินเทคเข้ามาทำเพราะมีส่วนต่างที่ทุกคนมองเห็นว่ามโหฬาร ในที่สุดธนาคารก็ยอมทำเพราะอย่างน้อยฉันเสียรายได้ แต่ข้อมูลลูกค้ายังอยู่กับฉัน แต่ถ้าเผลอ ๆ ฟินเทคเข้ามาตอนธนาคารไม่รู้ตัว ธนาคารจะเสียทั้งรายได้และข้อมูล
ในระยะยาว ธนาคารต้องมองว่าจะหารายได้เพิ่มจากตรงไหน รายได้ที่เกิดจากการทำ data analytics วิเคราะห์ข้อมูลของคนใช้หรือเปล่า เช่นวิเคราะห์ข้อมูลการใช้จ่ายของคนที่มีรายได้ระดับต่าง ๆ ข้อมูลพวกนี้มีประโยชน์มากในแง่การค้าและการวางนโยบาย แม้แต่นโยบายของรัฐ แต่ต้องระวังเรื่องการรุกล้ำความเป็นส่วนตัว ไม่เอาข้อมูลไปใช้ในทางที่น่ากังวล
คุณเคยเสนอให้มีการจัดตั้ง national data pool มันคืออะไร
จริง ๆ เป็นการแก้ปัญหาส่วนหนึ่งของความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลของเมืองไทย เพราะนักวิเคราะห์ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการหาข้อมูลว่าอยู่ตรงไหน เพราะข้อมูลกระจัดกระจาย และไม่มีคุณภาพ แทนที่จะใช้เวลาวิเคราะห์ข้อมูล national data pool จะมาแก้ปัญหานี้ ทำให้ข้อมูลพร้อมถูกดึงไปใช้ง่าย ๆ และเชื่อถือได้ เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์ที่มีความหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพดีเพียงพอให้คนสนใจเอาข้อมูลไปใช้ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดนวัตกรรมในการใช้ข้อมูลมากขึ้น
ปัญหาสำคัญคือเจ้าของข้อมูลมักหวงข้อมูล ซึ่งถ้าเผยแพร่จะเป็นประโยชน์มากกว่าโดยเฉพาะหน่วยงานราชการ ใครอยากได้อะไรต้องไปขอ เปลี่ยนแนวคิดได้หรือเปล่าว่าข้อมูลราชการควรจะเปิด ยกเว้นเฉพาะสิ่งที่ควรจะปิด ไม่ใช่ปิดไว้ก่อน
หลักการคือควรจะเปิดข้อมูลที่ไม่ได้รุกล้ำความเป็นส่วนตัว หรือข้อมูลลับของประเทศ เช่น อำเภอสระแก้วมีคนอยู่เท่าไร มีบ้านอยู่ตรงไหน แต่ไม่ต้องบอกถึงกับว่านาย ก อยู่บ้านไหน เพราะนี่ละเมิดส่วนตัวแล้ว หรือถ้าดูในกูเกิลแมป ตีตารางสี่เหลี่ยม แล้วบอกขึ้นมาได้เลยว่าตรงนั้นมีประชากรอยู่กี่คน มีการเคลื่อนย้ายประชากรอย่างไร ถนนนี้มีรถวิ่งเฉลี่ยประมาณเท่าไร คอนโดมิเนียมนี้มีคนอยู่เท่าไร ข้อมูลพวกนี้จะปิดทำไม
สิงคโปร์มี open government data policy มานานแล้ว สหรัฐอเมริกา ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ก็ให้ความสำคัญเรื่องความโปร่งใส เขาเปิดข้อมูลเยอะ ทำให้มีคนสร้างสิ่งใหม่ ๆ จากข้อมูลได้เยอะ หรืออาลีบาบาน่ากลัว เขามีอิทธิพลและก้าวไปไกลกว่าคนอื่นเพราะมีฐานข้อมูลที่สะสมเอาไปใช้ได้
เรื่อง national data pool เป็นจิ๊กซอว์เล็ก ๆ ชิ้นเดียว เรากำลังบอกว่า data analytics เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ประเทศไทยต้องมีความสามารถในเรื่องนี้ แต่ทุกวันนี้เราเสียเวลาไปกับการหาข้อมูล ถ้าการหาข้อมูลสะดวกและมีคุณภาพ มันจะเกิดสตาร์ตอัปใหม่ ๆ แล้วในที่สุดประเทศไทยจะเกิดความเข้มแข็งจากข้อมูลของคนไทยที่เอาไปใช้สร้างธุรกิจสร้างบริการให้คนไทยเอง
รัฐบาลบอกว่าจะเป็นประเทศไทย ๔.๐ คิดว่าต้องทำอะไรบ้าง
IMD World Competitiveness Center เพิ่งจัดอันดับว่าประเทศไทยอยู่อันดับ ๔๒ จาก ๖๓ ประเทศในเรื่องความพร้อมที่จะเข้าสู่โลกดิจิทัล ทั้งที่มีคนพยายามทำมากมาย แต่ไม่ไปไหนเท่าไร
ความจริงแค่ให้บริการพื้นฐานประชาชนโดยใช้เทคโนโลยีให้ดีกว่านี้ ทุกวันนี้ถ้าเราทำงานรับเงิน เขาจ่ายเงินมาพร้อมใบกำกับภาษี ข้อมูลนี้ส่งไปที่ใคร ก็ส่งไปสรรพากร แล้วทำไมทุกปีเราต้องเอากระดาษมานั่งจดนั่งกรอก ข้อมูลก็อยู่ที่สรรพากรแล้ว สรรพากรรู้หมดว่าเรารับเงินจากใครที่มีใบกำกับภาษีบ้าง
สิงคโปร์บอกข้อมูลนี้อยู่ที่ราชการแล้ว ปลายปีพิมพ์ออกมาให้ประชาชนเลย ได้รับเงินจากใคร จ่ายเท่านี้ หักภาษีเท่านี้ ถามคำถามเดียวว่ารายการครบไหม ถ้าไม่ครบแจ้งนะ ถ้าเจอทีหลังจะโดนปรับ ภาระของประชาชนหายไป ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ทันที นี่ไม่เกี่ยวกับการทำวิเคราะห์ข้อมูลใด ๆ แค่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับบริการพื้นฐาน
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เราเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังจะเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการเติบโตสูงสุดของโลก ประเทศข้าง ๆ เรากำลังจะเติบโตเหมือนประเทศไทยสมัยเมื่อ ๒๐ ปีก่อนที่เราก้าวหน้าขึ้นจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เกิดคนที่มีรายได้ปานกลางเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ตลาดอยู่ตรงนี้เอง ข้ามฝั่งแม่สอดไปก็มีลูกค้าแล้ว ทำไมไม่ไปหาความรู้กับตลาดนั้น เขายังต่อแถวคิวยาวใช้เงินสดเป็นตั้ง ๆ นี่เป็นโอกาสทั้งนั้น ทำไมไม่ช่วยให้เขาทำธุรกรรมต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ แล้วการลงทุนทำ data analytics เกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกค้าในประเทศเหล่านี้ ผลตอบแทนจะกลับคืนมามหาศาล ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่คิดขึ้นก็ทดสอบตลาดได้ไม่ยาก เพราะที่เชียงใหม่ วิถีชีวิตของคนมีโปรไฟล์คล้ายกับที่ลาว พม่า เป็นชาวไร่ชาวสวน นับถือศาสนาพุทธ สังคมหมู่บ้าน ถ้าได้รับความสนใจในเชียงใหม่ ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในประเทศข้าง ๆ แต่อย่าลืมว่าความน่าดึงดูดของภูมิภาคนี้ไม่ใช่เฉพาะคนไทยที่มองเห็น คนอื่นก็มองเห็น และเขาก็พยายามทำอะไรอยู่เหมือนกัน
นอกจาก data analytics ยังมีอะไรที่น่าจะให้ความสนใจ
อีกอันคือ sharing economy คือการเอาทรัพย์สินที่เดิมใช้ประโยชน์น้อยอยู่ มาทำให้มีมูลค่าเพิ่ม โดยเป็นการให้ใช้แบบชั่วคราว ยกตัวอย่าง Airbnb เป็นที่พักให้ใช้ชั่วคราว คือมีคนต้องการที่พักจะไปอยู่ ๕ วัน ฉันมีห้องว่าง ไม่มีคนใช้ก็เอามาแชร์
แพลตฟอร์มพวกนี้สร้างไม่ยาก คือเปิดให้เจ้าของทรัพย์สินสามารถเข้ามาลงทะเบียน คนที่ต้องการก็เข้ามาลงทะเบียน โปรแกรมแค่ช่วยจับคู่ให้เกิดการทำสัญญาระหว่างกันที่มีประสิทธิ-ภาพ และควบคุมคุณภาพโดยให้เรตติงซึ่งกันและกัน เทคโนโลยีมันง่ายมาก ถ้ามีแบบนี้ก็จะทำให้ทรัพย์สินของประเทศไทยถูกนำมาใช้มากขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น แต่อาจส่งผลกระทบกับบางธุรกิจ
อาจมีปัญหาคล้าย ๆ กับ Uber หรือ Grab Taxi หรือเปล่า ซึ่งในที่สุดรัฐก็เข้ามาควบคุม
ระหว่างที่ควบคุม คุณต้องมีแผนรองรับที่จะทำให้คนของเราตามทันเทคโนโลยี ไม่ใช่คุมอย่างเดียว ต้องบอกว่าอีกกี่ปีจะเปิด เช่นอีก ๓ ปีเปิด อย่างน้อยทุกคนก็รู้ว่า ๓ ปี แล้วต้องทำอะไร บริษัทแท็กซี่ก็ทำโปรแกรมเลียนแบบซิทำง่ายมาก หรือรัฐจะซื้อโปรแกรมที่มีคนทำแล้วมาเปิดให้ใช้เลย ต่อไปแท็กซี่ธรรมดาก็เรียกผ่านแอปฯ ได้หมด กำกับดูแลได้ ให้เรตติงได้ แต่ถ้านั่งคุมไว้เฉย ๆ ถึงวันหนึ่งคนก็เลี่ยงไปใช้อยู่ดีเพราะมีประสิทธิภาพมากกว่า มันมีมูลค่าที่แท้จริง
ยกตัวอย่างประเทศจีน เขากันกูเกิล เฟซบุ๊ก ไม่ให้เกิดในประเทศ แล้วทำ WeChat, Baidu เป็นแพลตฟอร์มของตัวเองให้คนจีนใช้ พอถึงวันนี้กูเกิลก็สู้ไม่ได้แล้ว เราอาจต้องเดินตามอย่างจีน ถ้าด้านหนึ่งปิด อีกด้านก็ต้องใส่เงินเพื่อให้เกิดทางเลือก เพื่อให้มั่นใจว่านวัตกรรมใหม่ที่มาดิสรัปต์ของเดิมยังอยู่ในมือคนไทย และเรายังเก็บภาษีได้ ถ้าไม่ทำ ถึงวันหนึ่งเราจะต้านไม่ไหว และคนไทยก็ไม่พร้อมเพราะไม่ได้สร้างเทคโนโลยีที่เหมาะสมรองรับไว้ ตอนนี้ทุกคนอยู่ในเขตปลอดภัยที่ผู้กำกับดูแลปิดทางเข้าไว้ แต่ในที่สุดเราอาจตาย
เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ เช่นภาคเกษตรกรรม
ฟินเทคน่าจะช่วยลดความไม่มีประสิทธิภาพในภาคเกษตรกรรมได้หลายเรื่อง แม้แต่ด้านวัสดุศาสตร์ ถามว่าใช้อะไร ใช้คอมพิวเตอร์ ทุกคนออกแบบทดลองวัสดุใหม่ ๆ ในคอมพิวเตอร์ ทำพรีเทสต์ในนั้น พอมั่นใจแล้วค่อยไปทำวัสดุจริง ๆ หรือเรื่องความสามารถในการวางแผนการผลิตให้ถูกต้องกับฤดูกาล เห็นข้อมูลราคาพืชผลการเกษตร เห็นการคาดการณ์ราคาพืชผล รวมทั้งความสามารถซื้อขายล่วงหน้า ถ้าเขาสามารถควบคุมต้นทุน กำไร ยิ่งต่อไปในอนาคตถ้ามีความแม่นยำสูงขึ้น การมีแอปฯ แบบนี้อาจดีกว่าการมีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้เขาจ่ายเงินสะดวก นี่ก็กลับมาเรื่องของ data analytics อีก
รัฐควรสนับสนุนหรือมีนโยบายเกี่ยวกับสตาร์ตอัปอย่างไร
ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายสนับสนุนให้เกิดสตาร์ตอัปแบบเป็นเรื่องเป็นราว จะให้แหล่งทุนอย่างเดียว แต่ไม่สร้าง ecosystem ขณะที่สิงคโปร์ รัฐบาลทำการบ้าน ฉันเชื่อว่าฉันไม่รู้เรื่องเทคโนโลยี ก็เอาคนรู้เรื่องมาวางโร้ดแมป วิเคราะห์แล้วมี ๑๐ เรื่องที่ควรทำ ประเทศได้ประโยชน์ จะเกิดผลกระทบเป็นบวกในทางเศรษฐกิจ รัฐบาลก็วางโจทย์ใครจะทำเรื่องไหนใน ๑๐ เรื่อง ฉันให้เงินทุน ทำแบบนี้จะไม่เกิดสตาร์ตอัปที่คิดทำอะไรไม่รู้ เสร็จแล้วเฟล ถึงวันหนึ่งจะมีคนถามว่าสูญเสียไปเปล่า ๆ
ดิจิทัลเป็นปัจจัยเบื้องหลังของการดิสรัปต์ในเทคโนโลยีต่าง ๆ เกือบทั้งหมด ซึ่งมันเลี่ยงไม่ได้แล้ว มันเกิดขึ้นแล้ว อยู่ที่จะดิสรัปต์ตัวเอง หรือรอคนอื่นมาดิสรัปต์
ประเด็นคือถ้าประเทศไทยต้องการก้าวไป ก็ปฏิเสธมันไม่ได้ ต้องกระโดดไปรับมัน เหมือนอย่าง นิวยอร์กไทมส์ กระโดดไป กลายเป็นหนังสือพิมพ์หัวเดียวที่ยังอยู่อย่างประสบความสำเร็จ และไม่ตาย อย่างน้อยในเร็ววันนี้ เพราะตัดสินใจแต่แรกว่า ออนไลน์แชนเนลของฉันต้องเหนือกว่าสิ่งพิมพ์ เพราะนั่นคือทิศทางที่โลกไป และในที่สุดจะแพ้ชนะกันที่ข้อมูลความรู้เป็นสิ่งที่ไล่ตามกันไม่ได้ เหมือนคนไทยสร้างจรวดวันนี้ไม่ได้ เพราะเขาทำการทดลองกันมาแล้วไม่รู้กี่ร้อยรอบ ถ้าเราจะทำก็ต้องผ่านกระบวนการเดียวกัน การเรียนรู้เกี่ยวกับข้อมูลและพฤติกรรมมนุษย์ก็เหมือนกัน
องค์กรที่ตามไม่ทัน คนที่ตามไม่ทัน ประเทศที่ตามไม่ทัน เพราะไม่ได้สร้างฐานการเรียนรู้เรื่องพวกนี้ จะมีคนอื่นมาทำหน้าที่นี้ให้แทน ซึ่งในระยะยาวจะเกิดผลกระทบตามมา เมืองไทยมีปัญหาเยอะมากเพราะไม่ได้สร้างนักวิเคราะห์ข้อมูลเก่ง ๆ นิสัยคนไทยไม่ชอบใช้ข้อมูล เราชอบใช้ความรู้สึกมากกว่าข้อมูล แล้วก็ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้
คุณออกจากธนาคารมา คิดว่าจะสามารถทำอะไรได้มากขึ้น
คิดว่าประสบการณ์ส่วนตัวที่อยู่กับองค์กรใหญ่มาตลอดเวลา น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสตาร์ตอัป ผมมาจากฟิน (ภาคการเงิน) ฟินเทคในบ้านเราส่วนใหญ่ถูกขับเคลื่อนจากฝั่งเทคฯ คือน้อง ๆ ที่เก่งด้านเทคโนโลยี ไม่ค่อยมีฟิน เราเชื่อว่าฟินเทคที่จะมีโอกาสประสบความสำเร็จต้องขับเคลื่อนมาจากฟิน ไม่ใช่เทคฯ เราน่าจะเป็นฟินในระดับที่ค่อนข้างอาวุโสคนแรก ๆ ที่พร้อมจะเข้ามามีส่วนร่วม เรารู้ว่าปัญหาของตลาดคืออะไร แล้วการบริหารจัดการ การสเกลอัปธุรกิจต้องทำอย่างไร ถ้าสำเร็จอาจจะเป็นโมเดลให้หลายคนลองทำดูบ้าง
อีกด้านหนึ่งก็อยากเอาประสบการณ์ตัวเองที่หลากหลายในการบริหารงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมและการบริหารการเปลี่ยนแปลงองค์กร มาช่วยแนะนำองค์กรใหญ่ ๆ ที่ต้องการผัน (transform) องค์กรเข้าสู่โลกใหม่โดยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาธุรกิจเดิมและสร้างธุรกิจใหม่ ให้สามารถตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้ได้ทันท่วงที ซึ่งน่าจะทำให้ธุรกิจไทยและประเทศมีความสามารถตอบสนองต่อเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโลก และยังคงแข่งขันได้อย่างมั่นคงในระยะยาว