ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง

ก่อนเขื่อนแม่วงก์ คือเขื่อนน้ำโจน - บทความพิเศษ รำลึก ๒๗ ปี การจากไปของ สืบ นาคะเสถียร

กิจกรรมจุดเทียนรำลึก สืบ นาคะเสถียร ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี จัดขึ้นทุกปีคืนวันที่ ๓๑ สิงหาคม (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

“มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการสมมุติตัวเองและสมมุติทุกสิ่งทุกอย่างในโลก แม้แต่ชีวิตของมนุษย์บางคนบางเผ่า นับประสาอะไรกับสัตว์ป่านี้เล่า ที่ถูกตัดสินโดยไม่มีคำสั่งจากศาลสถิตยุติธรรมให้ถูกจองจำในกรงเลี้ยง ถูกทรมาน ถูกฆ่าด้วยวิธีพิสดาร เพื่อคนที่ฆ่ามันจะได้เอาหน้าอันบูดเบี้ยวเนื่องจากการฉีกสารฟอร์มาลินเข้าไป ขายให้คนบางคนที่มีเงินและใช้เงินซื้อแม้กระทั่งชีวิตของสัตว์ป่าที่มิได้เบียดเบียนตนเลยแม้แต่น้อย”

สืบ นาคะเสถียร
งานสัมมนาสิ่งแวดล้อม ปี ๒๕๓๓ (ตรงกับปีที่ สืบ เสียชีวิต)

 

maewong-sueb02

เวทีหยุดเขื่อนน้ำโจน ณ ศาลหลักเมือง จังหวัดกาญจนบุรี จากซ้ายไปขวา ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย ประวิทย์ เจนวีระนนท์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาจังหวัดกาญจนบุรี และ สืบ นาคะเสถียร ขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

หลังจากรับตำแหน่งหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปีถัดมาคือปี ๒๕๓๐ สืบ นาคะเสถียร ได้เข้าร่วมขบวนการต่อต้านการสร้างเขื่อนน้ำโจนอย่างเต็มตัว ตามโครงการนี้จะมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำแควใหญ่หรือแม่น้ำแม่กลองตอนบนที่จะส่งผลให้มีน้ำท่วมป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ ไร่

แม้เป็นข้าราชการตัวเล็กๆ แต่ สืบ ก็กล้าหาญพอที่จะเป็นผู้นำการคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ แม้ว่าผู้บังคับบัญชาโดยตรงของเขาเองยังออกมาสนับสนุนการสร้างเขื่อน

หลังมีโอกาสเดินป่าทุ่งใหญ่ ได้นั่งเครื่องบินสำรวจทางอากาศ สืบพบกระทิงฝูงกระทิงมากถึง ๕๐ ตัว เป็นฝูงใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบในประเทศไทย บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ สืบไม่ต้องการให้ความสูญเสียที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับป่าและสัตว์ป่าในเขตเขื่อนเชียวหลานเกิดขึ้นซ้ำรอยอีก จึงร่วมกับเพื่อนๆ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวบรวมข้อมูลทางวิชาการ จัดแสดงนิทรรศการและอภิปรายให้ความรู้แก่ผู้คนถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำโจน

ช่วงนั้นสืบต้องขับรถเทียวไปเทียวกลับจังหวัดกาญจนบุรีหลายรอบ กลับถึงที่พักก็นั่งทำรายงานต่อจนดึกดื่นเพื่อให้เสร็จทันก่อนการประชุมพิจารณาสร้างเขื่อนน้ำโจน

 

maewong-sueb03

กรอบรูปแสดงภาพสัตว์ป่านานาชนิดภายในบ้านพักของหัวหน้าสืบ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

งานรณรงค์ต้านเขื่อนน้ำโจนมีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายอาชีพ บางคนไม่เคยรู้จัก สืบ นาคะเสถียร มาก่อน ก็มีเขาเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์

บุญส่ง จันทร์ส่องรัศมี แกนนำกลุ่มอนุรักษ์เมืองกาญจน์ เคยให้สัมภาษณ์นิตยสารสารคดี ฉบับ ๑๘๖ สกู๊ป รำลึก ๑๐ ปีการจากไปของสืบ นาคะเสถียร ว่าสืบเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้พ่อค้าอย่างเขากลายมาเป็นนักอนุรักษ์

“คืนหนึ่งในงานนิทรรศการ คุณสืบ ฉายสไลด์เกี่ยวกับการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน แกเป็นคนบรรยายทำให้เรารู้สึกว่าสัตว์ป่าในภาพมีชีวิต มันร้องขอชีวิต มันครวญคราง เจ็บปวดรวดร้าว มันออกมาพร้อมกับน้ำเสียงของคุณสืบ จากเหตุการณ์นั้น ทำให้มองเห็นวิญญาณการต่อสู้และปกป้องสัตว์ป่าจากคำพูดของคุณสืบที่เราไม่เคยพบจากใครมาก่อน”

ผลของการรณรงค์ทำให้คนไทยรู้จักได้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรมากขึ้น โดยเฉพาะคนเมืองกาญจน์ประทับใจคำพูดของสืบมาก เหตุการณ์ต้านเขื่อนน้ำโจนน่าจะเป็นช่วงแรกๆ ที่สืบมักใช้คำพูดตอนเริ่มต้นอภิปรายว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า”

 

maewong-sueb04

ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

ในที่สุดรัฐบาลก็ตัดสินใจระงับโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจน อันทำให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรยังคงความอุดมสมบูรณ์มาจนทุกวันนี้

หลังเหตุการณ์นั้นกลุ่มผู้รณรงค์ต่างก็แยกย้ายกันไป ขณะที่สืบยังคงออกรณรงค์เคลื่อนไหวต่อต้านการทำลายป่าทุกรูปแบบ ที่สำคัญคือเขื่อนแก่งกรุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขื่อนเหวนรกกลางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ปลายปี ๒๕๓๒ สืบรับตำแห่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ท่ามกลางปัญหาลักลอบล่าสัตว์ ตัดไม้ ก่อนนี้ยังมีข่าวรัฐบาลอนุมัติให้บริษัทไม้อัดได้สัมปทานเข้ามาทำไม้ในป่าห้วยขาแข้ง สืบพบว่าปัญหาในป่าห้วยขาแข้งซับซ้อนเกินกว่าที่คาดคิด ลำพังการลักลอบของชาวบ้านอาจไม่หนักหนา แต่เบื้องหลังการทำลายป่ามักมีผู้มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อสืบพยายามเข้าหาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผลักดันแนวคิดในการรักษาป่า เช่น ป่ากันชน ป่าชุมชน ก็พบว่าความพยายามแทบตายไม่เป็นผล ไม่มีใครในกรมป่าไม้เหลียวแล

๑ กันยายน ๒๕๓๓ สืบตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองด้วยการยิงตัวตายในบ้านพัก

ก่อนตายเขาสะสางงาน และเขียนพินัยกรรมสั้นๆ ความว่า “ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น” ลงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๓

maewong-sueb05

ภาพ : กลุ่มช่างภาพอิสระสายลม

๒๗ ปีหลังอัตวินิบาตกรรม เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวร และป่าอนุรักษ์อื่นๆ ของประเทศไทยได้รับการพิทักษ์รักษา การสร้างเขื่อนในเขตป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ถูกต่อต้านอย่างหนักจากสาธารณชน

ไม่เว้นแม่แต่โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เมื่อราวสี่ปีก่อน

เหตุผลหลักในการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ซึ่งเป็นองคาพยพหนึ่งของป่าตะวันตก ยังเป็นความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า พันธุ์พืชและสัตว์นานาจะต้องสูญเสียแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย รวมทั้งต้องเสียชีวิตเมื่อเขื่อนเริ่มกักเก็บน้ำ อีกเหตุหนึ่งในการต่อต้านคือข้อบกพร่องของรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ อีเอชไอเอ

ถึงวันนี้โครงการเขื่อนแม่วงก์จะยังไม่ถูกยกเลิกอย่างเด็ดขาด กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังคงหาทางผลักดันการสร้างเขื่อนแห่งนี้ต่อผู้นำรัฐบาลทุกสมัย ล่าสุดมีข่าวว่าวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๐ หรือวันนี้ อีเอชไอเอโครงการเขื่อนแม่วงก์จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) อีกครั้ง

ทว่าแบบอย่างของความมุ่งมั่น ตั้งใจ อาศัยข้อมูลวิชาการเป็นหลักในการแสดงความเห็นคัดค้าน ลักษณะเดียวกับที่ สืบ นาคะเสถียร เคยกระทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง ยังคงได้รับการสืบสานมาจนปัจจุบัน

ความตายของข้าราชการตัวเล็กๆ ในราวป่าวันนั้น จึงเป็นความตายที่จุดไฟอนุรักษ์ขึ้นในหัวใจคนในวันนี้