อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


tepa01

ปลาสดๆ จากป่าชายเลนและคลองตูหยง ขุมทรัพย์น้ำกร่อยแห่งทะเลเทพา (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

tepa02

ชายหาดปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จะกลายเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน ๒,๒๐๐ เมกกะวัตต์ ? (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ปลายเดือนที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งไม่ค่อยเป็นข่าวนัก รายละเอียดคือชาวบ้านปากบางที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการตั้งโรงไฟฟ้า เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มานั่งอยู่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แสดงออกว่าพวกตนไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

สาเหตุที่ชาวบ้านทั้ง ๔ คนเดินทางมาในครั้งนี้ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๐ คณะกรรมการผู้ชำนาญการได้อนุมัติผ่านรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรืออีเอไอเอ และมีโอกาสที่รายงานนี้จะถูกส่งต่อให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาต่อภายในเวลาอันสั้น

แม้ก่อนหน้านี้กลุ่มชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้าจะพยายามชี้ให้สังคมเห็นว่า ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง ๓ ครั้ง ไม่ว่า ค.1 ค.2 และ ค.3 ไม่ชอบธรรม ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยกองกำลังทหาร ตำรวจ พลเรือน มีการใช้รถหุ้มเกราะ ขึงรั้วลวดหนาม ซื้อเสียง แจกข้าวสาร ไปจนถึงออกเอกสารห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลก่อความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่

แต่ทางผู้ผลักดันโครงการคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็ยืนยันว่าตนเองทำตามข้อกำหนดของกฎหมายทุกประการ ทุกคนสามารถเข้าร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็น ลงชื่อแสดงความคิดเห็นได้อย่างเป็นอิสระ และไม่เคยใช้กำลังเข้าข่มขู่หรือการให้เงินเพื่อจูงใจให้เห็นด้วยกับโครงการแต่อย่างใด

วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๐ ชาวบ้านทั้ง ๔ คน ได้ยื่นหนังสือขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาระงับและตรวจสอบรายงานอีเอชไอเอ โดยมีรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ออกมารับจดหมาย เนื้อความตอนหนึ่งระบุว่า “จุดที่ตั้งโรงไฟฟ้ามีชุมชนและประชาชนอยู่อาศัย ไม่ใช่ที่รกร้างว่างเปล่าอย่างที่กล่าวอ้าง เพราะในเนื้อที่ ๓,๐๐๐ กว่าไร่ อันเป็นที่ตั้งโครงการมีบ้านเรือนจำนวนมากถึง ๒๕๐ หลังคาเรือน มีศาสนสถานคือวัด ๑ แห่ง มัสยิด ๓ แห่ง และมีโรงเรียนปอเนอะ (สอนศาสนาเอกชน) ๑ แห่ง กุโบร์ (สุสาน) ๒ แห่ง ซึ่งถือเป็นชุมชนที่มีวิถีวัฒนธรรมอย่างสงบมายาวนาน”

ขณะที่ทางการไฟฟ้าฯ เคยชี้แจงว่าการย้ายชุมชนออกจากพื้นที่จะดำเนินการเฉพาะกรณีจำเป็น มีการพิจารณาค่าชดเชยที่เป็นธรรม โรงเรียนปอเนาะหากมีความจำเป็นต้องย้ายต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาและคณะกรรมการอิสลามในพื้นที่ มัสยิดและกุโบร์จะยังคงอยู่ที่เดิม

tepa03

สื่อท้องถิ่นรายงานเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา  เนื้อหาบอกว่าเป็นการเนรมิตแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  ภาพด้านบนเป็นตัวอย่างจากอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

tepa04

เอกสารราชการในช่วงที่มีเวทีรับฟังความคิดเห็น ค.๓ ห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลก่อความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ เนื้อความตอนหนึ่งระบุว่า “จากการประมวลข้อมูลข่าวสาร  สามารถสรุปสถานการณ์  อาจมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นต่างในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา อันอาจส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน” (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ช่วงเวลาเดียวกันนั้นที่อำเภอเทพา กลุ่มชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้า แต่ไม่ได้ร่วมเดินทางมากรุงเทพฯ ได้รวมกลุ่มอ่านแถลงการณ์ ปกป้องเทพา จากถ่านหิน ความตอนหนึ่งว่า “กระบวนการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นการดำเนินการทำไปเพียงเพื่อให้ครบตามกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้สนใจมิติผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตชุมชนอย่างแท้จริง มีการใช้เวลาในการศึกษาเพียง ๙ เดือน สำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ”

ก่อนหน้านี้ราวเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ โครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังการผลิต ๘๐๐ เมกกะวัตต์ ดำเนินการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาประมาณ ๕-๖ ปี ได้ถูกคัดค้านจนต้องยกเลิกทั้งส่วนรายงานอีเอชไอเอโรงไฟฟ้าถ่านหิน และอีไอเอท่าเทียบเรือ ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อทบทวนถึงความจำเป็นในการก่อสร้าง

ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีขนาด ๒,๒๐๐ เมกกะวัตต์ หรือใหญ่กว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เกือบ ๓ เท่า ทว่าโครงการนี้กลับใช้เวลาศึกษาผลกระทบเพียง ๙ เดือนเท่านั้น

เมื่อมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการรีบเร่งที่จะสร้าง รวมทั้งกำหนดขนาดที่ใหญ่โตถึง ๒,๒๐๐ เมกกะวัตต์ เป็นผลมาจากโครงการโรงฟ้าถ่านหินถูกต่อต้านมาจากจังหวัดต่างๆ ไม่ว่าประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช กระบี่ ทางผู้ผลักดันได้ยืนยันว่านี่เป็นโครงการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคง

ดิเรก เหมนคร  ผู้นำเครือข่ายปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ Permatamas ๑ ในชาวบ้าน ๔ คนที่เดินทางมานั่งปักหลักอยู่ที่กรุงเทพฯ ตั้งคำถามกับรองปลัดที่ออกมารับหนังสือขอระงับอีเอชไอเอ ต่อหน้าสาธารณชนจำนวนหนึ่งว่า

“ทำไมกระบี่ตั้งคณะกรรมการ ๓ ฝ่ายทบทวนร่วมกันอีกครั้งได้ ทว่าเทพากลับไม่ กระบี่ทำอีเอชไอเอถึง ๕-๖ ปี แต่เทพาเร่งภายใน ๙ เดือน เมืองเทพาอาจไม่ได้ดัง ไม่ได้รวยเหมือนเมืองกระบี่ แต่คุณค่าของชีวิตคนมันเท่ากัน”

เมื่อ ๑ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีขนาดใกล้เคียงกับ ๓ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โครงการนี้อาจเป็นตัวชี้วัดว่าเส้นทางถ่านหินเมืองไทยจะเดินไปทางไหน

หมายเหตุ : เก็บตกจากลงพื้นที่ ๑) ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา สิงหาคม ๒๕๕๘ ๒) Green news เสียงเทพา…บ้านเราจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ? นิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๓๖๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘