ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


tunjai01

ในทศวรรษที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาตินับล้านจากพม่า กัมพูชา และลาว ได้กลายมาเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างสำคัญ เขาและเธอข้ามพรมแดนมาพร้อมกับความหวัง บางคนอาจประสบความสำเร็จ ทว่าย่อมมีมากกว่ามากที่ผิดหวัง และอีกไม่น้อยถึงกับต้องเอาชีวิตมาทิ้งไว้ต่างบ้านต่างเมือง

ในทางกลับกันก็มีคนไทยอีกมากที่ออกเดินทางข้ามประเทศไปยังพม่าหรือเมียนมา จุดหมายปลายทางคือวัดแห่งหนึ่งในนครย่างกุ้ง พร้อมกับความต้องการ คำอธิษฐาน และความหวังเช่นเดียวกัน

วัดโบตะตาวง์ตั้งอยู่ทางใต้ของเมืองย่างกุ้ง ที่นี่มีพระเจดีย์อันมีตำนานว่าเป็นที่ประดิษฐานพระเกศธาตุ (เส้นผม) ของพระพุทธองค์ แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้วัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักอย่างดีในหมู่คนไทยกลับเป็นศาลของ “นัต” ซึ่งไกด์และนักท่องเที่ยวไทยขนานนามให้ว่า “เทพทันใจ”

ตามคติความเชื่อของพม่า มีผี/ดวงวิญญาณ/เทพ จำนวน 37 องค์ ที่ถือเป็นสำรับของ “ผีแห่งชาติ” เรียกรวมๆ กันในภาษาพม่าว่า “นัต” นัตเหล่านี้บ้างเป็นเทพเจ้าฮินดู บางองค์เป็นพระบุรพกษัตริย์ยุคดึกดำบรรพ์ และบางตนคือวิญญาณผีตายโหงที่ดุร้าย

ศาลของผีนัตเหล่านี้มีอยู่ทั่วไป เช่นที่ประตูเมืองพุกามก็มีศาลผีนัตสองตนพี่น้องอยู่สองข้าง ว่ากันว่าเฮี้ยนจัดจนรถที่แล่นผ่านต้องบีบแตรแสดงคารวะเสมอ หรือตามวัดสำคัญๆ หลายแห่งก็สร้างเป็นศาลผีนัตตั้งเรียงแถวกันอยู่ร่วมในเขตพุทธาวาส เช่นเดียวกับที่วัดโบตะตาวง์ก็มีศาลผีนัตสร้างเรียงกันไว้ในสระน้ำ แต่ที่คณะทัวร์ไทยไปย่างกุ้งต้องไม่พลาดสักการะคือ “เทพทันใจ”

ในศาลนั้นมีรูปปูนปั้นระบายสี ทำเป็นผู้ชายมีอายุในท่ายืน ใส่ชฎา สวมเสื้อครุย มือขวายกขึ้นชี้นิ้วไปข้างหน้า มือซ้ายถือไม้เท้า “ตำรา” ว่าให้เอาแบงก์สองใบม้วนใส่มือรูปปั้น ตั้งจิตอธิษฐานขอได้เพียงเรื่องเดียวครั้งเดียว จากนั้นเอาหน้าผากไปสัมผัสกับนิ้วชี้ของรูปปั้น แล้วชักธนบัตรในมือท่านคืนมาใบหนึ่ง เก็บไว้เป็นของมงคล เป็นอันเสร็จพิธี

tunjai02

tunjai03 tunjai04

ว่ากันว่าเทพทันใจจะประสิทธิ์ประสาทเรื่องที่ไปขอหรือสิ่งที่หวังได้อย่างรวดเร็ว “ทันใจ” คนไทยจึงศรัทธากันมาก ศาลที่ประดิษฐานรูปปั้นนี้เองก็บูรณะใหม่หมดโดยมีสปอนเซอร์เป็นเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนยี่ห้อดังของไทย และหลังจากทัวร์ไทยฮิตไปสักการะกันหนักเข้า ต่อมาไม่นานมีการสร้างรูป “เทพทันใจ” ขึ้นมาตั้งให้คนกราบไหว้ตามวัดต่างๆ ในเมืองไทยบ้าง มีไปจนถึงพระสงฆ์หรือเจ้าพิธีที่สร้างรูปลอยตัวเล็กๆ หรือปั๊มเหรียญให้ “เช่า” ไปห้อยคอกันได้แบบพระเครื่อง

ที่สำคัญก็คือมีเฉพาะคนไทยเท่านั้นที่ไปทำพิธีอย่างที่ว่า หรือไปคิดเห็นว่าท่านเป็น “เทพทันใจ” ที่จะให้อะไรๆ ได้ เพราะในความคิดของคนพม่า “โบโบจี” (ประมาณ “พ่อปู่” หรือ “พ่อแก่”-เคยได้ยินคนพม่าใช้คำนี้เรียกผีนัตผู้ชายตนอื่นๆ ด้วย) ในศาลนี้คือเจ้าที่ หรือ “เสื้อวัด” -ดวงวิญญาณที่คอยรักษาพระบรมธาตุตามตำนานพระเจดีย์ชเวดากองต่างหาก และที่ท่านชี้มือไปข้างหน้าก็คือชี้ไปยังสถานที่ที่พระพุทธเจ้าในอดีตเคยเสด็จมา วัดในพม่าจึงนิยมสร้างรูปท่านให้ชี้ไปทางองค์พระธาตุ เหมือนกับจะยืนยันว่านี่แหละคือพระธาตุอันแท้จริง สาธุชนพึงไปกราบไหว้กันเถิด-ไม่ได้จะเอานิ้วมาจิ้มมาเจิมหน้าผาก หรือรอให้ใครมาเซ่นไหว้แต่ประการใด

ส่วนชื่อ “ทันใจ” ที่คนไทยเรียกกันคงฉวยมาจากพระนามพระพุทธรูป “พระเจ้าทันใจ” อย่างที่นิยมกันทางภาคเหนือ ด้วยเหตุว่าเป็นพระที่สร้างสำเร็จได้ในเวลาอันสั้น แต่คำคำนี้คนสมัยปัจจุบันรับรู้แต่ความหมายว่ารวดเร็ว คนจึงนิยมไปกราบไหว้โดยหวังผลบุญเฉียบพลันทันใจระดับ “ขอเดี๋ยวนี้ ได้เดี๋ยวนี้” แล้วพลอยถูกนำมาสวมเป็นชื่อผีนัตในพม่าองค์นี้ไปด้วย

สรุปคือ “เทพทันใจ” เป็นเทพข้ามชาติจากพม่า ที่ไม่มีในเมืองพม่านั่นเอง


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี