อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม
ผังแสดงโครงการลงทุนของไทยในต่างประเทศ ๑๒ โครงการที่น่าจับตามอง จากคณะทำงานติดตามการลงทุนข้ามพรมแดนของไทย (ภาพ : The Mekong Butterfly)
ตัวอย่างเส้นทางการจดทะเบียนตั้งบริษัทเพื่อลงทุนทำธุรกิจในประเทศต่างๆ (ภาพ : The Mekong Butterfly)
เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๐ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนและฐานทรัพยากร และ คณะทำงานติดตามการลงทุนข้ามพรมแดนของไทย ได้จัดให้มีการประชุม “ติดตามผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากการลงทุนข้ามพรมแดนของไทย อันเนื่องมาจากข้อเสนอแนะทางนโยบายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ
ชื่อหัวข้อการประชุมอาจจะยาวไปสักหน่อย โดยสรุปแล้วหมายถึงการประชุมเพื่อติดตามการลงทุนทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนไทยในต่างประเทศนั่นเอง
แผนภูมิแท่งแสดงการลงทุนของไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๔๘-๒๕๕๙ ไทยลงทุนในสิงคโปร์สูงที่สุด (ภาพ : The Mekong Butterfly)
การลงทุนในต่างประเทศ หรือ การลงทุนข้ามพรมแดน เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ ๑๙๘๐ หรือประมาณ พ.ศ.๒๕๒๘ เป็นต้นมา กลุ่มบริษัทแรกๆ ที่ไปลงทุนในต่างแดน เช่น ธนาคารกรุงเทพ, สหยูเนียน, S&P, ปูนซิเมนต์ไทย, เจริญโภคภัณฑ์ และมีการขยายตัวตามนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ของนายกฯ ชาติชาย ชุณหวัณ
ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๔๘-๒๕๕๙ มีรายงานว่าการลงทุนสะสมของไทยในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง ๒,๕๖๒,๗๗๕.๙๕ ล้านบาท (หรือประมาณ ๒.๕ ล้านล้านบาท) เรียงจากการลงทุนมากไปน้อย คือ ประเทศในกลุ่มอาเซียน, ฮ่องกง, เกาะเคย์แมน, มอริเชียส, สหรัฐอเมริกา, เกาะบริติช เวอร์จิน เฉพาะกลุ่มอาเซียนมีการลงทุนในสิงคโปร์มากที่สุด รองลงมา คือ เมียนมาร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ลาว ตามลำดับ
มนตรี จันทวงศ์ หนึ่งในคณะทำงานติดตามการลงทุนข้ามพรมแดนของไทย ให้เหตุผลที่ภาคเอกชนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ อ้างอิงตามงานวิจัยของฝ่ายวิจัยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าเหตุผลหลักมีอยู่ ๔ ประการ คือ ๑) เพื่อแสวงหาตลาดใหม่ ๒) เพื่อแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบ และแรงงานราคาถูก ๓) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งเทคโนโลยี และ ๔) เพื่อกระจายความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่าการลงทุนในต่างประเทศบางโครงการได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม หลายกรณีเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน เชื่อมโยงไปถึงการเยียวยาที่ไม่เป็นธรรม
มนตรี จันทวงศ์ กล่าวในที่ประชุมว่า มีหลายกรณีที่ชุมชนในพม่า กัมพูชา ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ แล้วร้องเรียนมายังหน่วยงานของประเทศไทยให้ร่วมตรวจสอบ โดยเฉพาะการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เช่น โครงการปลูกอ้อยและจัดตั้งโรงงานน้ำตาล จังหวัดโอดอร์เมียนเจย โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
ผลจากการตรวจสอบโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ได้ส่งผลให้รัฐบาลไทยยอมรับอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกว่า ได้เกิดสถานการณ์ปัญหาจากการลงทุน โดยมีมติคณะรัฐตรีวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ และ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ต่อกรณีท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย กับกรณีโครงการปลูกอ้อยและจัดตั้งโรงงานน้ำตาล จังหวัดโอดอเมียนเจย ตามลำดับ ระบุให้มีการจัดตั้งกลไกกำกับดูแลการลงทุนในต่างประเทศของผู้ลงทุนสัญชาติไทย
หากการลงทุนดำเนินไปโดยขาดหลักไม่มีธรรมาภิบาล ผลของการลงทุนนั้นอาจคุกคามวิถีวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติ (ภาพ : The Mekong Butterfly)
ชาวบ้านในเขตพะลึน ริมฝั่งทะเลอันดามัน รวมกลุ่มกันแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเย (ภาพ : The Mekong Butterfly)
หลายคนอาจนึกไม่ออกว่าการลงทุนของไทยในประเทศเพื่อนบ้านก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไร ยกตัวอย่างโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจี ตั้งอยู่บนแม่น้ำสาละวิน รัฐกระเหรี่ยง ตามการศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยระบุว่าจะทำให้เกิดน้ำท่วม ๖ หมู่บ้าน ขณะเดียวกันพื้นที่แถบนี้ยังมีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่ากับกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยู การสร้างเขื่อนอาจทำให้เกิดการหลบหนีการกวาดล้างเข้ามาในประเทศไทย และเราจะต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้อพยพ
หรืออย่างกรณีโครงการสัมปทานที่ดินเพื่อปลูกอ้อยและทำน้ำตาล จังหวัดโอดอร์เมียนเจย ประเทศกัมพูชา โครงการนี้ทำให้เกิดการบังคับไล่รื้อและเผาทำลายบ้านเรือนในพื้นที่สัมปทาน มีการจับกุมและคุมขังผู้คัดค้าน
การลงทุนของไทยในต่างประเทศมีอยู่มากมายหลายโครงการ แต่ที่ถูกจับตาจากคณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนและฐานทรัพยากร รวมทั้ง คณะทำงานติดตามการลงทุนข้ามพรมแดนของไทย ว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมทั้งละเมิดสิทธิมนุษยชนมี ๑๒ โครงการ
แบ่งเป็นในพม่า ๖ โครงการ คือ เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจี รัฐกะเหรี่ยง, ท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย, โรงไฟฟ้าถ่านหินเย รัฐมอญ, เหมืองแร่ดีบุกเฮงดา เมืองมยิตตา, เหมืองถ่านหินบานชอง เมืองทวาย, โรงงานปูนซิเมนต์และโรงไฟฟ้าถ่านหินเมาะลัมใย รัฐมอญ
ในลาว ๓ โครงการ คือ เขื่อนไซยะบุรี แขวงไซยะบุรี, โรงไฟฟ้าถ่านหินสงหาลิกไนต์, เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบ่ง
ในกัมพูชา ๒ โครงการ คือ สัมปทานที่ดินเพื่อปลูกอ้อยและทำโรงงานน้ำตาล จังหวัดเกาะกง, สัมปทานที่ดินเพื่อปลูกอ้อยและทำโรงงานน้ำตาล จังหวัดโอดอร์เมียนเจย
และในเวียดนาม ๑ โครงการ คือ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนกวางจิ
ทั้ง ๑๒ โครงการนี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม การละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้ว่าจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่
ท้ายการประชุม ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้แสดงความเห็นที่น่าสนใจว่า “ในฐานะหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับภาคเอกชน คิดว่าบริษัทที่ออกไปลงทุนต่างประเทศมีความเสี่ยงอยู่แล้ว ฉะนั้นเขาก็พยายามหลีกเลี่ยง ลดความเสี่ยงเหล่านี้ เราคงต้องมองในความเป็นกลางด้วยความเห็นใจทั้งสองฝ่าย สิ่งหนึ่งที่อยากให้คำนึงถึงคือความตั้งใจจริง ที่ไม่มีใครต้องการสร้างปัญหา”
ทั้ง ๑๒ โครงการกำลังถูกจับตา ว่าจะมีทิศทางดำเนินการอย่างไร
เก็บตกจากลงพื้นที่ การประชุม “ติดตามผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากการลงทุนข้ามพรมแดนของไทยอันเกี่ยวเนื่องจากข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” โดย คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร จันทร์ที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๐ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
อีกภาคหนึ่งของ “เจ้าชายหัวตะเข้” นักเขียนสารคดีที่เรียนจบมาด้านวิทยาศาสตร์ สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และกีฬาเป็นพิเศษ