ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ที่ว่ากันว่าพระพุทธรูปองค์นั้นองค์นี้มี “ของโปรด” ที่ต้องถวายแก้บนเป็นโน่นเป็นนี่ เช่น ละครชาตรี ไข่ต้ม ฯลฯ ที่จริงแล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จดับขันธปรินิพพานไปหลายพันปีแล้ว ตามความเชื่อของชาวพุทธเถรวาทหรือหินยานคือท่านดับสูญไปแล้ว ไม่มีอะไรหลงเหลือ นอกจากพระธรรมคำสอน ถ้าอย่างนั้นแล้ว “ใคร” กันล่ะที่มารับของแก้บน ?

บางท่านจึงให้คำอธิบายว่า พระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูปมิได้ชอบหรือไม่ชอบอะไรหรอก แท้ที่จริงแล้ว ของแก้บนเป็นการเซ่นสรวงเทวดาอารักษ์ซึ่งพิทักษ์รักษาพระพุทธรูปองค์นั้นๆ อยู่ต่างหาก

เหมือนกับเรื่องพระแก้วมรกตกับพระบาง ซึ่งทั้งสององค์เคยเป็นพระพุทธรูปสำคัญของอาณาจักรล้านช้าง ต่อมาถูกอัญเชิญลงมาไว้ที่กรุงธนบุรี และเคลื่อนย้ายต่อมาประดิษฐาน ณ กรุงเทพฯ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หากแต่พระเจ้านันทเสน กษัตริย์ล้านช้าง กราบบังคมทูลว่า ผี (หรือเทวดา) ที่รักษาพระแก้วมรกตกับพระบางนั้นไม่ค่อยถูกกัน พระพุทธรูปสององค์นี้ไปประดิษฐานอยู่ด้วยกันในที่แห่งใด ก็มักเกิดเหตุเภทภัยแก่บ้านเมืองนั้น จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบางคืนกลับไป

ไม่ว่าผี (หรือเทวดา) ประจำพระแก้วมรกตกับพระบางจะไม่ชอบขี้หน้ากันจริงๆ หรือเป็นวาทศิลป์อันล้ำลึกของพระเจ้านันทเสนที่จะหาทางอัญเชิญพระพุทธรูป “ขวัญเมือง” กลับคืน ก็น่าสนใจว่าพระพุทธรูปทั้งสององค์ล้วนนับถือกันว่าเป็นศักดิ์สิทธิอย่างยิ่ง ความสำคัญนั้นมีจนถึงขนาดนำเอาพระนามไปใช้เป็นชื่อราชธานี เช่นเมืองที่พระบางประดิษฐานอยู่ จึงเป็น “เมืองหลวงพระบาง” และสถานที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตจึงมีนามกรุงว่า “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ฯ” “รัตนโกสินทร์”หมายถึงแก้วของพระอินทร์ ตามตำนานพระแก้วมรกตที่มีเรื่องเกี่ยวเนื่องกับพระอินทร์ รวมถึงพระอารามที่เป็นที่ประดิษฐานจึงได้รับชื่อว่า “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” คือวัดพระแก้ว (รัตนะ แปลว่าแก้ว)

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

พระแก้วมรกตเป็นที่นับถือของพระบุรพมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์เป็นอย่างยิ่ง ดังในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เรื่อง “ประกาศให้พระสงฆ์บูชาพระแก้วมรกตในเดือน 8 แรม 8 ค่ำ” ตอนหนึ่งที่ว่า

“พระแก้วมรกต วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นของคู่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แล้วเป็นที่นับถือสักการบูชาแก่พระมหากษัตราธิราชเจ้าทุกๆ พระองค์มา อนึ่ง ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังมีพระชนม์อยู่ก็ได้ตรัสประภาษอยู่เนืองๆ ว่า พระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตองค์นี้ ถ้าเป็นพระสงฆ์เหมือนอย่างสามัญทุกวันนี้ ก็คงจะได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชเป็นแท้…”

ชาวพุทธไทยทั่วไปก็เชื่อกันว่าพระแก้วมรกตเป็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในเมืองไทย ว่ากันว่าจะอธิษฐานบนบานที่ไหนก็ได้ เพียงแค่ไปจุดธูปปักกลางแจ้งบอกกล่าวให้ท่านรับรู้เท่านั้นพอ แต่ถ้าได้ตามที่ขอแล้ว จะต้องกลับไปแก้บนที่หน้าพระอุโบสถวัดพระแก้ว ข้างสนามหลวง

ทีนี้ตามประวัติที่คนรับรู้กันทั่วไป คือพระแก้วมรกตท่านเคยประดิษฐานที่เมืองลาวล้านช้างมาก่อน แต่ไหนแต่ไรมา ชาวบ้านจึงนิยมแก้บนพระแก้วฯ ด้วยของ “ลาวๆ” อันได้แก่ข้าวเหนียว น้ำพริกปลาร้า และไข่ต้ม

ภายหลัง ความเชื่อเรื่องนี้คงเลือนๆ กันไป ธรรมเนียมจึงเลื่อนไปเป็นการแก้บนพระแก้วมรกตด้วย “อาหารอีสาน” อันได้แก่ ข้าวเหนียว ไก่ย่าง ส้มตำ ลาบ น้ำตก อย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน

ถ้านึกถึงเรื่องนี้อย่างที่ว่ามาตั้งแต่ต้นอีกที ว่าการบนบานศาลกล่าวต่อพระพุทธรูปนั้น ล้วนเป็นเรื่องของ “ผี” หรือ “เทวดา” ทั้งสิ้น คนที่ไปแก้บนอาจนึกว่าตัวเองเอาภัตตาหารไปถวายพระ ที่ไหนได้ พระพุทธรูปหรือพระพุทธเจ้าไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วยเลย กลายเป็นผีเลขาฯ เทวดา รปภ. ตัดหน้าเอาไปกินเองเสียทุกที ผีเมืองลาวที่ติดตามมากับพระแก้วมรกตก็เลยได้กินข้าวเหนียวกันอิ่มตื้อไป


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี