อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


bangkokrules01

ยายมา (นามสมมุติ) ไม่รู้ว่าหลานของตัวเองค้ายา จนวันหนึ่งตำรวจเข้ามาตรวจค้นในบ้าน หลานชายกระโดดหนีทางหน้าต่าง ยายถูกจับติดคุกและยอมรับผิดแทนหลาน เพราะความรักจึงไม่อยากซัดทอด

นายเอ (นามสมมุติ) ขับรถไปส่งยา ขากลับแวะรับแฟนไปกินข้าว เธออาจรู้หรือไม่รู้ว่าคนรักค้ายา และไม่รู้ว่ามียาอยู่ในรถ เมื่อคนรักถูกจับเธอก็พลอยติดร่างแห

ข้างต้นเป็นตัวอย่างจากหลายร้อยหลายพันเหตุการณ์จาก “บ้าน” สู่ “เรือนจำ” ในสังคมไทย

ผู้หญิงหลายคนถูกควบคุมตัวด้วยความผิดของคนรัก ไม่น้อยมีประวัติถูกข่มเหง กระทำทารุณ ขณะที่เรือนจำในประเทศไทยถูกออกแบบเพื่อรองรับผู้ต้องขังชาย
ปัญหาดังกล่าวมาเป็นที่มาของ ข้อกำหนดกรุงเทพ ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ คำนึงถึงเพศสภาพที่แตกต่างจากผู้ชายตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ปูทางก่อนส่งเธอคืนกลับบ้าน

bangkokrules02

การเต้นโยคะ “เกาชิกิ” เน้นการเคลื่อนไหวที่เป็นจังหวะของแขน ขา และกลางลำตัว ขณะเคลื่อนไหวเป็นช่วงเวลาที่กายกับใจประสานกัน  ช่วยปรับสภาวะอารมณ์ ความรู้สึก เยียวยาอาการทางจิตใจ ความท้อแท้ หมดหวัง ซึมเศร้า หดหู่ ขาดพลังใจ

bangkokrules03

ผู้ต้องขังมีปัญหาชาตามปลายมือปลายเท้า  ทางเรือนจำใช้ธรรมชาติในการบำบัด  ด้วยการให้เดินเหยียบบนกะลามะพร้าว  ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต  ลดการใช้ยาจากสถานพยาบาลในเรือนจำ

ประเทศที่มีผู้ต้องขังหญิงมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก

แม้กลุ่มผู้ต้องขังหญิงจะเป็นเพียงอัตราส่วนเล็กๆ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด แต่ในรอบสิบปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ต้องขังหญิงทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าผู้ต้องขังชาย

ในประเทศไทย ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ระบุว่าเมื่อปี ๒๕๕๑ มีผู้ต้องขังหญิง ๒๖,๓๒๑ คน ปี ๒๕๖๐ เพิ่มเป็น ๓๘,๖๗๘ คน หากจัดอันดับไทยจะมีผู้ต้องขังหญิงสูงเป็นอันดับ ๔ ของโลกรองจากสหรัฐ จีน รัสเซีย แต่ถ้าเทียบสัดส่วนประชากรไทยจะมีอัตราส่วนผู้ต้องขังหญิงมากเป็นอันดับ ๑ ของโลก

เมื่อผู้ต้องขังหญิงเพิ่มจำนวน สิ่งที่ตามมาคือปัญหาจากเรือนจำไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อคุมขังผู้หญิง ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ค.ศ.๑๙๕๕ เป็นข้อกำหนดที่นานาประเทศใช้กันมาเป็นเวลานานกว่า ๕๐ ปี

นัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice หรือ TIJ) กล่าวถึงความสำคัญของการสร้างมาตรฐานที่ดีสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงว่า

“ผู้หญิงมีความแตกต่างจากผู้ชาย ทั้งเรื่องสุขอนามัย การตั้งครรภ์ การมีเด็กติดมารดา การปฏิบัติต่อผู้หญิงจึงควรมีความแตกต่าง แต่จากการที่ผู้ต้องขังหญิงเป็นประชากรกลุ่มน้อยในกระบวนการยุติธรรม ทำให้เรือนจำไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อผู้ต้องขังหญิง การปฏิบัติของเจ้าหน้าก็มักจะไม่ได้คำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศสภาพ จึงมีโอกาสที่พวกเธอจะได้รับความกระทบกระเทือนทั้งร่างกายและจิตใจ อาจตกเป็นเหยื่อซ้ำสองเมื่ออยู่ในเรือนจำ พ้นจากเรือนจำก็มีความเสี่ยงที่จะกลับไปกระทำความผิดซ้ำ”

bangkokrules04

มุมหนึ่งของเรือนนอนภายในเรือนจำ

bangkokrules05

นั่งสมาธิ ดูแลสุขภาพจิต เยียวยาสภาพร่างกายและจิตใจ

ข้อกำหนดกรุงเทพ จากข้อกำหนดขั้นต่ำ สู่การปฏิบัติจริง

ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-Custodial Measures for Women Offenders) เกิดขึ้นภายหลังจากที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๖๕ ลงมติเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ ให้เนื้อหาตามข้อกำหนดเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และให้ประเทศต่างๆ ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ ในลักษณะ “Soft Laws” ในที่นี้หมายถึงการรับกฎหมายเป็นไปตามความสมัครใจของประเทศต่างๆ และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นกฏหมายระหว่างประเทศ

การตั้งชื่อย่อว่า “ข้อกำหนดกรุงเทพ” (Bangkok Rules) เนื่องมาจากองค์การสหประชาชาติต้องการให้เกียรติประเทศไทย ในฐานะผู้ริเริ่มผลักดันจนข้อกำหนดกรุงเทพมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

ถ้าย้อนไปในอดีตมากกว่า ๑๕ ปี ความพยายามของประเทศไทยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิงเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงมีความสนพระทัยในประเด็นผู้หญิงและเด็กในกระบวนการยุติธรรม ทรงริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขัง ปี ๒๕๔๙ ทรงมีพระดำริให้จัดตั้งโครงการกำลังใจ ต่อมากระทรวงยุติธรรมได้จัดตั้งโครงการจัดทำข้อเสนอในนามประเทศไทยเพื่อผลักดันให้เป็นข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ (Enhancing Lives of Female Inmate) ซึ่งกลายเป็น ข้อกำหนดกรุงเทพ ในท้ายที่สุด

เนื้อหาของข้อกำหนดแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน ได้แก่ ข้อกำหนดทั่วไป ว่าด้วยการบริหารจัดการเรือนจำ

ข้อกำหนดสำหรับผู้ต้องขังลักษณะพิเศษ เช่น ผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ ผู้ต้องขังที่เป็นชนพื้นเมือง ชนเผ่า ชนกลุ่มน้อย

มาตรการที่มิใช่การคุมขัง ว่าด้วยมาตรการต่อผู้ที่กระทำความผิดไม่รุนแรง มีปัจจัยทางกายภาพไม่เหมาะกับการถูกคุมขัง เช่น เยาวชนหญิง ในส่วนนี้สามารถใช้บังคับได้ตั้งแต่ชั้นการสอบสวนจนหลังมีคำพิพากษา

การวิจัย การวางแผน การประเมินผล และการสร้างความตระหนักแก่สาธารณชน ว่าด้วยการวิเคราะห์วิจัยถึงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำความผิด นอกจากนี้ยังต้องการให้มีกิจกรรมเพื่อลดการกระทำความผิดซ้ำอันเป็นส่วนหนึ่งของการส่งคนดีคืนสู่สังคม

อดุลย์ ชูสุวรรณ์ ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๑ ใน ๖ เรือนจำที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเรือนจำต้นแบบ จากการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปปรับใช้ในทางปฏิบัติให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า

“แม้ผู้ต้องขังหญิงจะมีความแตกต่างทั้งเรื่องเพศสภาพ กายภาพ จากผู้ต้องขังชาย ควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ แต่คำว่าพิเศษไม่ได้หมายความว่าเราปฏิบัติเป็นพิเศษแตกต่างจากผู้ต้องขังชาย ทุกอย่างเป็นไปตามกฎระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ข้อกำหนดกรุงเทพเข้ามาเสริมในสิ่งที่ขาด คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ว่าสิ่งที่ผู้ต้องขังหญิงพึงควรได้รับเป็นอย่างไร”

bangkokrules06

ผู้ต้องขังหญิงร่วมร้องเพลงประสานเสียง เสียงเพลงและดนตรีมีพลังบำบัดความวิตกกังวล 

bangkokrules07

Happy Center หรือ ห้องเปลี่ยนชีวิตที่บ่มเพาะแรงบันดาลใจ ปรกติแล้วในเรือนจำส่วนใหญ่จะมีแต่สถานพยาบาลทางกายเป็นหลัก  Happy Center ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้มีการทำงานทางจิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ ควบคู่ไปกับสถานพยาบาลทางกาย

เปลี่ยนคุกเป็นบ้านเปลี่ยนชีวิต

ใต้แผ่นป้าย “แดนหญิง” คือแผ่นป้าย “บ้านเปลี่ยนชีวิต” ภายในเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หลังกำแพงสูงสีขาวและประตูบานสีเหลืองเป็นพื้นที่ราว ๔ ไร่ ๑ งาน ซึ่งถูกใช้เป็นพื้นที่ควบคุมผู้ต้องขังหญิง

จากข้อมูลวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๐ ระบุว่าเรือนจำแห่งนี้มีจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด ๓,๖๔๗ คน แบ่งเป็นชาย ๓,๐๘๔ คน หญิง ๕๖๓ คน อยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์ ๔๗ คน และใช้เป็นสถานที่กักขัง ๑๘ คน

ผ่านพ้นไปจากนี้ไม่กี่วัน จำนวนของผู้ต้องขังก็อาจเปลี่ยนแปลง การ “จำหน่าย” “รับใหม่” “ออกศาล” เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ในภาพรวมน่าจะประเมินได้ว่าผู้ต้องขังหญิงถือเป็นส่วนน้อยในเรือนจำ

อภิรดี จันทร รองผู้บังคับแดนหญิง เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงผู้ต้องขังในแดนหญิงว่า “ส่วนใหญ่มาจากคดียาเสพย์ติด และเป็นคดีเล็กน้อยไม่ใช่รายใหญ่ มีกรณีที่ผู้หญิงเป็นทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ เช่น เคยถูกสามีทำร้าย วันดีคืนดีก็ทำร้ายสามีกลับ กลายเป็นความผิด”

อภิรดี ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าผู้ต้องขังหญิงมักเป็นคนที่มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ

“หลายคนต้องรับผิดชอบในการดูแลลูก บางคนเป็น single mom ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว แล้วส่วนใหญ่จะขาดการศึกษา ขาดความรู้เรื่องอาชีพ ฉะนั้นจะเห็นว่าเมื่อเข้ามาอยู่ที่นี่เราเน้นฝึกอาชีพ ผู้ที่เข้ามาในเรือนจำต้นแบบต้องผ่านการฝึกอาชีพอย่างน้อย ๓ อาชีพด้วยกัน ทุกคนต้องมีเป้าหมายว่าออกไปแล้วจะทำอะไร ไม่ใช่เข้ามาแล้วอยู่เฉยๆ นั่งๆ นอนๆ”
ป้ายประชาสัมพันธ์หลังประตูบานใหญ่ในแดนหญิงบอกว่า ผู้ต้องขังหญิงเมื่อเข้าสู่กระบวนการ เป้าหมายในชีวิตของพวกเธออยากออกไปทำการเกษตร ๒๓ คน ขายอาหาร ๑๑๗ คน ขายเบเกอรี ๑๖ คน เป็นพนักงานบริษัท ๑๒๗ คน เป็นหมอนวด ๑๐ คน เปิดร้านเสริมสวย ๙ คน เป็นต้น

ดร.ณัฐนรินทร์ เนียมประดิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนธุรกิจ ซึ่งได้รับเชิญมาเป็นวิทยากรอบรมหัวข้อ SME เปลี่ยนชีวิต ในแดนหญิงเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเล่าว่า “คนที่จะมาอบรมกับผมต้องผ่านการอบรมวิชาชีพมาแล้ว ๓ อย่าง เช่น แก้ทรงเสื้อผ้า ทำก๋วยเตี๋ยว ทำเบเกอรี่ และมีแผนที่จะออกไปเปิดกิจการหลังพ้นโทษ ผมจัดอบรม ๓ วัน วันแรกพยายามให้เขาเปลี่ยนวิธีคิด ลองออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้า วันที่สองเริ่มสอนวางแผนธุรกิจ ลองคิดว่าลูกค้าคิดยังไง ควรทำยังไงถึงจะตอบสนอง วันที่สามเป็น Business Model Advance หรือ BMV ให้จับกลุ่มกันคิดว่ารูปแบบธุรกิจจะออกมาหน้าตาเป็นยังไง เขาจะค่อยๆ เข้าใจว่าธุรกิจมันประกอบด้วยอะไรบ้าง”

นอกจากการฝึกอาชีพ ภายในเรือนจำต้นแบบแห่งนี้ยังมีการดูแลด้านสุขภาพ มีการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก เจาะเลือดตรวจหาเชื้อ HIV ตรวจมะเร็งปากมดลูก ตรวจสุขภาพฟัน ฯลฯ กับอีกหัวข้อสำคัญ คือ แนวทางปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งผู้ต้องขังหญิงที่มีบุตรติด

รัศมี สุวรรณหงส์ ผู้อำนวยการกอง กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงหลังนำข้อกำหนดกรุงเทพมาปรับใช้ในการดูแลนักโทษหญิงว่า

“เดิมมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติจะมีข้อกำหนดอยู่แล้วว่าเรือนจำทั่วโลกต้องทำอะไร แต่พอเปลี่ยนมาเป็น Bangkok Rules เขาจะเพิ่มรายละเอียดให้มีความสมบูรณ์ อย่างการดูแลแม่และเด็ก จากเดิมเราให้เด็กได้มีที่อยู่ตาม พรบ.คุ้มครองเด็ก จัดสวัสดิการให้ผู้ต้องขังตามมีตามเกิด แต่เราไม่ได้พัฒนาความรู้ให้ผู้ต้องขังว่าเขาควรจะเลี้ยงดูลูกอย่างไร”

รัศมี เล่าเสริมว่า “เดิมเขาอยู่ในสลัม ก็เหมือนกับชาวบ้านทั่วไป บางคนอาจจะสูบบุหรี่หรือติดยา พอท้องก็ไม่สน อยากกินอะไรก็กิน แต่พอมาเป็น Bangkok Rules เราเพิ่มเติมว่าเด็กต้องมีพัฒนาการ เสริมว่าระหว่างท้องต้องไม่กินหวาน ไม่กินเค็ม ไม่สูบบุหรี่ ให้เขาเรียนรู้วิธีออกกำลังกายที่จะช่วยทำให้คลอดง่าย”

ตามข้อกำหนดกรุงเทพ ผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์จะได้รับการตรวจครรภ์และฝากครรภ์ตามระยะเวลาที่กำหนด กรณีที่มีเด็กติดผู้ต้องขัง เด็กจะได้รับการตรวจสุขภาพโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยและให้การรักษาตามความจำเป็นทางการแพทย์ ข้อกำหนดกรุงเทพเข้ามาเสริมว่าเด็กต้องมีพัฒนาการตามลำดับขั้น

“เราต้องประเมินพัฒนาการให้เหมาะสมต่อวัย ฉีดวัคซีนตามกำหนดเวลา จัดหาข้าวของเครื่องใช้ พัฒนาความรู้ว่าแม่จะเลี้ยงลูกยังไง การเรียนการสอนเราจัดให้มีนักจิตวิทยา ผู้ต้องขังบางคนที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี ท้องไม่มีพ่อ บางคนเสพยาจนเมาแล้วท้อง ต้องติดคุก ก็จะได้เรียนรู้ทัศนคติความใส่ใจแก่ลูกมากขึ้น”

bangkokrules08

ทำผม สระ ซอย หนึ่งในอาชีพอิสระที่ผู้ต้องขังได้เรียนรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพ

ดูแลทั้งชีวิตเจ้าหน้าที่และนักโทษ

เสียงร้องเพลง “เรารักแม่” รวมศิลปินค่ายอาร์เอส ดังสลับกับเพลง “imagine” ของวง The Beatles และอีกหลายต่อหลายเพลงตามมา เป็นบทเพลงที่ไม่ได้มาจากการเปิดเทป หรือจากนักร้องอาชีพคนไหน แต่เป็นสียงประสานร้องพร้อมกันของผู้ต้องขังหญิงกลุ่มหนึ่งจากใต้ถุนอาคารหลังหนึ่งในเรือนจำ

การร้องเพลงและเล่นดนตรีเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมอบรมตามข้อกำหนดกรุงเทพ ด้วยความตระหนักว่าเสียงเพลงและดนตรีมีพลังบำบัดความวิตกกังวล เยียวยาสภาพร่างกายและจิตใจใครที่จำต้องก้าวเข้าสู่โลกแห่งพันธนาการ

เสียงเพลงนี้ดังไกลไปทั่วทั้งแดนหญิง ได้ยินถ้วนทั่วเสมอกันทั้งคนที่กำลังอบรมทำอาหาร เข้าหลักสูตรนั่งสมาธิ อบรมนวดเท้า เลี้ยงลูกอยู่ในศูนย์เด็กเล็ก ฯลฯ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่เรือนจำที่กำลังปฏิบัติภารกิจดูแลผู้ต้องขัง

รัศมี สุวรรณหงส์ ผู้อำนวยการกองสังคมสงเคราะห์ กรมราชทัณฑ์ ให้ข้อมูลว่าข้อกำหนดกรุงเทพก็มีความสำคัญกับเจ้าหน้าที่เรือนจำ “การควบคุมผู้ต้องขังตามปรกติก็มีลักษณะเป็นงานประจำ คือการนั่งเฝ้า ดูว่าใครทำผิดก็เข้าไปตักเตือน เป็นความจำเจ น่าเบื่อ ไม่ได้มีการพัฒนาทักษะ แต่ถ้าหากเจ้าหน้าที่ได้มีกิจกรรม มีส่วนร่วมในการฝึกวิชาชีพกับผู้ต้องขัง ไม่ว่านวดหรือทำผม ตัวเจ้าหน้าที่เองก็ได้รับความรู้ ได้พัฒนาทัศนคติ พัฒนาศักยภาพ”

เจ้าหน้าที่เรือนจำคนหนึ่งที่ผ่านประสบการณ์ทำงานมาหลายปีให้ความเห็นว่า “โดยปรกติการทำงานของเราในช่วงที่ไม่มีข้อกำหนดกรุงเทพเข้ามา ภารกิจหลักคือควบคุมผู้ต้องขังให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ แต่เมื่อมีข้อกำหนดเข้ามาเราจะมีข้อปฏิบัติกับผู้ต้องขังมากขึ้น คือเราต้องเป็นผู้สอน ผู้ให้ความรู้ ยกตัวอย่างหลังจากวิทยากรที่เราเชิญมาจากข้างนอกกลับไป เราจะช่วยกันตั้งกองงานเสริมสวย มีสมาชิกหลักเป็นกลุ่มผู้ต้องขัง ใครได้รับการปล่อยตัวเราก็จะรับคนใหม่เข้ามาแทนที่ คนอยู่เก่าต้องสามารถสอนเพื่อนใหม่ได้ ฉะนั้นเจ้าหน้าที่เองก็ต้องคอยเป็นผู้ให้ความรู้ ส่วนตัวเราคิดว่าดีนะ ดีกว่าควบคุมผู้ต้องขังไปแต่ละวัน ข้อกำหนดกรุงเทพทำให้เรามีงานต้องทำร่วมกับผู้ต้องขัง ได้ใกล้ชิด ได้รับฟัง ได้สัมผัสว่าเขามีความหวังหลังได้รับวิชาความรู้”

อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดอาจมีผู้ตั้งคำถามว่าข้อกำหนดกรุงเทพจะเปลี่ยนแปลงให้คุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังดีเกินไปหรือไม่

นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย อธิบายว่าการนำข้อกำหนดกรุงเทพมาปรับใช้ต้องอาศัยปัจจัย ๓ อย่างด้วยกัน คือ People ware หมายถึง คน Hardware หมายถึง อุปกรณ์ สิ่งก่อสร้าง และ Software หมายถึง โปรแกรมต่างๆ ที่นำมาใช้ฝึกอบรม

“สิ่งที่ยากที่สุดคือ People ware การปรับทัศนคติของคนของเจ้าหน้าที่เรือนจำ เพราะเขามีความเคยชินกับการปฏิบัติแบบเดิมมานาน ไม่ค่อยได้เน้นเรื่องการเคารพสิทธิ์ของผู้ต้องขัง การปรับเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ครั้งแรกที่เรานำข้อกำหนดกรุงเทพเข้ามา เขาบอกเลย “นี่คุณจะเอาผู้ต้องขังมาเป็นนายเราหรือไง” เราต้องชี้แจงว่าไม่ใช่ เราทำให้เขาได้รับการปฏิบัติดี มีมนุษยธรรม แต่ก็ไม่ได้ยกเขาเลิศเลอ เขายังต้องถูกกำจัดสิทธิ ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบของคนหมู่มาก ซึ่งตั้งแต่เรานำข้อกำหนดกรุงเทพเข้ามา เวลาผ่านไปเจ้าหน้าที่จะเห็นว่า ข้อกำหนดกรุงเทพไม่ได้เป็นประโยชน์สำหรับผู้ต้องขังอย่างเดียว มันเป็นประโยชน์สำหรับเจ้าหน้าที่เพราะเจ้าหน้าที่ได้รับการฝึกฝน ได้รับการอบรม รวมทั้งดูแลในเรื่องสวัสดิการต่างๆ ข้อกำหนดกรุงเทพกล่าวถึงการพัฒนาทักษะเฉพาะด้านของเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังให้ได้รับการดูแลทั้งสองฝ่าย”

รัศมี สุวรรณหงส์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ทุกวันนี้สังคมอาจตั้งคำถามว่าคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังดีเกินไปหรือเปล่า มันเป็นเหรียญสองด้าน คนภายนอกอาจคิดว่าเมื่อเขากระทำความผิด ก็สมควรได้รับโทษ ต้องลงทัณฑ์ให้สาสมกับความผิดที่ก่อ แต่มันเกิดประโยชน์อะไรแค่ไหนกับการที่จะลงโทษเขา เพราะเมื่อครบกำหนดแล้วเขาก็ต้องออกมาอยู่กับสังคม การสร้างความโกรธแค้นชิงชัง สร้างความรู้สึกกดดันให้เขารู้สึกต่ำต้อยลงไปอีก เมื่อออกจากเรือนจำก็อาจจะไปทำผิดซ้ำ อาจจะยิ่งรุนแรงมากกว่าเดิม ฉะนั้นการหาทางแก้ไขพฤติกรรมน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า”

แนวทางที่ใช้ตามข้อกำหนดกรุงเทพเป็นไปหลักการที่ได้รับการประเมินแล้วว่าเหมาะสำหรับการแก้ไขพฤติกรรมมนุษย์

“ถ้าเราแก้ไขคนด้วยการลงโทษอย่างสาสม เขาคงจะไม่มีกะจิตกะใจแก้ไขตัวเอง ในทางตรงข้ามถ้าเราให้ความหวัง คอยบอกว่าถ้าเขาทำตัวดี ตั้งใจพัฒนาตัวเอง ก็จะได้รับความรู้ติดออกไป จุดมุ่งหมายของเรือนจำไม่ใช่การทำให้เขาได้รับการปฏิบัติที่ดี หรือมีการกินอยู่ที่ดีอะไรหรอก ไม่ใช่ จุดมุ่งหมายคือการทำให้เขาเปลี่ยนทัศนคติเปลี่ยนเพื่อกลับออกไปอยู่กับสังคมข้างนอก ไม่ทำความผิดซ้ำ นี่คือเป้าหมายที่สำคัญของเรา”

เสียงเพลง “เรารักแม่” ยังคงดังสลับกับเพลง “imagine” และอีกหลายต่อหลายเพลงตามมา วันนี้แนวคิดเรือนจำต้นแบบเพื่อนำข้อกำหนดกรุงเทพมาปรับใช้กำลังได้รับการสืบสาน ด้วยความร่วมมือระหว่างกรมราชทัณฑ์กับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็น ๑ ใน ๖ เรือนจำต้นแบบร่วมกับเรือนจำจังหวัดอุทัยธานี ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง ทัณฑสถานหญิงชลบุรี และเรือนจำกลางสมุทรสงคราม และมีแนวโน้มว่าเรือนจำอื่นๆ ทั่วทุกภูมิภาคจะเข้าร่วมโครงการในอนาคต ต่อไปอาจจะมีโครงการเรือนจำต้นแบบเชิงลึกให้เจ้าหน้าที่ได้ติดตามคุณภาพชีวิตหลังได้รับการปล่อยตัว

หลังรับโทษ พวกเธอควรได้รับโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่

เก็บตกจากลงพื้นที่ : สื่อมวลชนสัญจร “เรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) จากข้อกำหนดสหประชาชาติ สู่การปฏิบัติในประเทศไทย” โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๐ ณ เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา


tei

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

อีกภาคหนึ่งของ “เจ้าชายหัวตะเข้” นักเขียนสารคดีที่เรียนจบมาด้านวิทยาศาสตร์ สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และกีฬาเป็นพิเศษ