จาก คอลัมน์ จอมYouth
เรื่อง รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพ กรดล แย้มสัตย์ธรรม

“โลกในปัจจุบันทำให้คนตาบอดกับคนทั่วไปใช้พื้นที่ร่วมกันมากขึ้น
เราอาจเป็นเพื่อนกันบนโลกออนไลน์ เจอกันในมหาวิทยาลัย หรือในกิจกรรมวิ่งในสวนสาธารณะ
การที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับเขา จะทำให้เราเห็นว่าเขาก็เหมือนเรา แค่เขามองไม่เห็นก็เท่านั้นเอง”

The guidelight ให้เพื่อนนำทาง

หลังจบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ ๑ ปี จูน-เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ ริเริ่มโครงการ the guidelight ร่วมกับ ป่าน-ธัญชนก จิระภากรณ์ โดยมีเป้าหมายคือการสนับสนุนให้นักศึกษาผู้พิการทางสายตาเรียนจบมหาวิทยาลัย โดยเลือกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบ

เธออธิบายว่า “ตอนเราเข้ามหาวิทยาลัยยังต้องปรับตัวเยอะเลย ถ้าพูดถึงเด็กตาบอด เขาต้องปรับตัวมหาศาล เหมือนเป็นอีกขั้นหนึ่ง ต้องคิดว่าจะอยู่ในมหาวิทยาลัยอย่างไรให้ลงตัว จะเรียนอย่างไรให้ตามเพื่อนทัน”

หลังจากลองผิดลองถูกมาร่วม ๒ ปี จูนบอกว่าในปีนี้ the guidelight จะปรับรูปแบบใหม่ ตอบสนองความต้องการให้ตรงจุดมากขึ้น และที่สำคัญเธอยังตั้งเป้าหมายจะขยายไปยังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และมองไปถึงการเปลี่ยน the guidelight ให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม

ทำน้อยให้ได้มาก ผ่านโลกออนไลน์

“เรามีเพื่อนตาบอดตั้งแต่สมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัย เราก็ต้องช่วยอ่านหนังสือให้เพื่อนฟัง แต่หนูอ่านน้อย คืออ่านไปเพราะไม่อยากให้ใครมาว่าว่าไม่ยอมช่วยเหลือเพื่อนพิการ เพราะขนาดตัวเราเองยังไม่อ่านหนังสือเลย” จูนเล่าพลางหัวเราะเสียงใส

เธอเสริมว่ามุมมองต่อเพื่อนผู้พิการเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อการช่วยอ่านหนังสือทำให้เพื่อนสอบผ่าน โดยเฉพาะเมื่อเธออ่านหนังสือให้เพื่อนรุ่นพี่ นิว-นุวัตร ตาตุ จนนิวสามารถเรียนต่อปริญญาโทด้านกฎหมายในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ตามที่ตั้งใจ

“ตอนที่เพื่อนสอบติดเราดีใจมาก แต่ก็คิดว่าถ้าไม่มีเราอ่านให้เขาจะทำยังไง ไม่ใช่ผู้พิการทุกคนที่เข้ามหาวิทยาลัยแล้วจะมีเพื่อนอ่านให้ เราก็มองว่าน่าจะมีระบบสนับสนุนที่เป็นมาตรฐาน

“ตอนเริ่มทำ the guidelight เรายึดตาม
หลักธุรกิจ startup เลยคือ do fast, fail fast อย่างเช่นตอนทำเว็บไซต์ครั้งแรก เราลงทุนไป ๒.๕ หมื่นบาท เพื่อทดลองว่าจะมีนักศึกษาตาบอดมาใช้ไหม จะมีอาสาสมัครมาพิมพ์สื่อให้ไหม พอเริ่มมีคนใช้ก็ต้องพัฒนาต่อ คือทำไปแก้ไป” จูนอธิบายถึงข้อจำกัดในการทำงานของเธอว่าทรัพยากรค่อนข้างน้อย จึงตั้งเป้าหมายให้ทำน้อยได้มาก ผ่านพื้นที่บนโลกออนไลน์

ปีแรกของโครงการ the guidelight เน้นหนักไปที่การหาอาสาสมัครมาทำสื่อการเรียน โดยพิมพ์หนังสือ บทสรุป หรือชีต ตามที่นักศึกษาตาบอดต้องการ แล้วอัปโหลดสู่เว็บไซต์เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถดาวน์โหลดและใช้โปรแกรม “ตาทิพย์” ในการอ่านออกเสียงเพื่อเป็นการทบทวนบทเรียน

หลังจากผ่านปีแรก สิ่งที่จูนพบคือสื่อการเรียนไม่ได้ตอบโจทย์

“ตอนแรกเราคิดว่ามีสื่อครบก็จบ เด็กจะเรียนได้ดีขึ้นแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ เราพบว่าแรงบันดาลใจในการเรียนเป็นเรื่องสำคัญ ต้องตอบให้ได้ว่าจบไปแล้วจะทำงานอะไร เราต้องยอมรับความจริงว่าตัวเลือกของนักศึกษาตาบอดไม่ได้เยอะ แต่ถ้าเขาเรียนไปได้แล้วปลายทางมีงานรอเขาอยู่ เขาก็พร้อมจะไป” จูนเล่า เธอจึงหาทางออกโดยจับมือกับบริษัทเอกชนเพื่อสร้างโอกาสให้นักศึกษาตาบอดสามารถทำงานระหว่างเรียนได้ พร้อมกับรับอาสาสมัครช่วยติวในทักษะที่นักศึกษาตาบอดต้องการ หรือจำเป็นต่อการหางานในอนาคต

ระบบใหม่ของ the guidelight สร้างผลลัพธ์ที่ทำให้จูนยิ้มแก้มปริ คือนักศึกษาผู้พิการที่ได้รับการติวจากอาสาสมัครได้คะแนนสอบภาษาอังกฤษ IELTS สูงขึ้นมาก จนได้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกา และมีนักศึกษาตาบอดอีกคนที่ได้ไปฝึกงานในสำนักงานกฎหมาย ซึ่งจูนบอกว่าเด็กตาบอดส่วนใหญ่คิดว่าไกลเกินเอื้อม

ทัศนคติที่ต้องปรับ

ปัญหาในการพัฒนา the guidelight ให้ตอบโจทย์ความต้องการทั้งผู้พิการและอาสาสมัคร คือความท้าทายที่จูนต้องเจอเป็นประจำ แต่อีกอุปสรรคที่เธอต้องเผชิญคือทัศนคติต่อผู้พิการ

“ครั้งหนึ่งจูนเคยทะเลาะกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลนักศึกษาตาบอด เขาบอกจูนว่า ความต้องการของคนพิการมีไม่สิ้นสุดหรอก เขาก็ขอไปเรื่อย ๆ นั่นแหละ เรารู้สึกเลยนะว่าเป็นมุมมองที่ดูถูกคนพิการมาก ก็ในเมื่อเขายังไม่ได้รับสิ่งที่เขาต้องการ ยังเข้าถึงสื่อการเรียนได้ไม่เท่าคนอื่น ๆ การที่เขาเรียกร้องมันผิดตรงไหน”

นอกจากทัศนคติของคนที่ทำงานกับผู้พิการแล้ว ทัศนคติของสังคมทั่วไปก็ยังเป็นโจทย์ใหญ่ไม่แพ้กัน

เมื่อจูนเข้าไปพูดคุยกับฝ่ายทรัพยากร-บุคคลเพื่อติดต่อขอส่งนักศึกษาตาบอดไปฝึกงาน เธอก็ต้องพบกับความเข้าใจผิดหลายอย่าง เช่นคำถามที่ว่า ผู้พิการทางสายตาสามารถขึ้นบันไดได้หรือไม่ หรือสำนักงานต้องทำห้องน้ำใหม่หรือเปล่า

“จูนก็อธิบายให้เขาฟังว่า ถ้าเขารับคนตาบอด บริษัทไม่ต้องเปลี่ยนอะไรเลย สิ่งเดียวที่ต้องลงทุนคือซอฟต์แวร์อ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ราคาหลักพัน ทุกวันนี้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือคนตาบอดเยอะมาก ถ้าเป็นงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เขาทำได้หมด เล่นเฟซบุ๊กเร็วมาก” จูนพูดพลางหัวเราะ

“ตลอดชีวิตเราจะได้รับสื่อเสมอว่าคนพิการต่ำกว่าเรา กลายเป็นว่าการช่วยเหลือคนพิการเป็นเรื่องที่ได้บุญ แต่สำหรับจูน หนูมองว่าเขาเท่าหนู เก่งกว่าหนูในบางเรื่องด้วยซ้ำ กิจกรรมของ the guidelight ไม่ใช่เรื่องของบุญคุณ เขามีสิทธิ์ที่จะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ ในเมื่อสิ่งที่เราทำมันห่วยจริง เขาบอกว่ามันห่วยก็ถูกแล้ว ในมุมมองจูน เขาคือลูกค้า ไม่ใช่คนที่เราไปช่วยเหลือ”

วิถีจอมYouth

“เราอยากเป็นบริการสนับสนุนที่ช่วยให้ผู้พิการเรียนจบ โดยลูกค้าอาจเป็นภาครัฐที่ทำงานสนับสนุนคนพิการ หรืออาจจะเป็นบริษัทเอกชนที่ต้องการเปลี่ยนไปมองผลลัพธ์ว่าการลงทุนของเขาทำให้ผู้พิการเรียนจบ ไม่ใช่แค่ให้ทุนการศึกษา” จูนเล่าให้ฟังถึงหนทางการหารายได้ในอนาคต ส่วนปัจจุบันเธอเองต้องหาเลี้ยงชีพด้วยงานพาร์ตไทม์ หลังลาออกจากงานประจำเมื่อ ๒ ปีก่อน

“ถ้าหนูไม่ลาออกตอนที่ทำงานครบปี ต่อไปหนูก็คงไม่กล้าแล้ว เพราะวันหนึ่งถ้าหนูได้เงินเดือน ๔ หมื่นบาท หนูคงไม่ลาออกหรอก เพราะเงินมันเยอะก็เริ่มเสียดาย แต่ก็มีวันที่หนูท้อจะเลิกทำ the guidelight แล้วไปสมัครงานใหม่ พี่บี๋ (ปรารถนา จริยวิลาศกุล) บอกว่าถ้าจูนทำ the guidelight จูนจะสร้างประวัติศาสตร์ให้ตัวเอง แล้ววันหนึ่งพ่อแม่จูนจะภูมิใจมาก

“ถ้ามองย้อนกลับไปก็เป็นตามที่พี่บี๋พูดจริง ๆ ตอนนี้ป๊ากับแม่ภูมิใจมากที่จูนทำ the guidelight แล้วเขาก็ไม่อายใครที่จะเล่าให้คนอื่นฟังถึงสิ่งที่จูนทำ จูนเลยไม่เคยรู้สึกว่าเราให้อะไรกับน้องตาบอด จูนรู้สึกว่าเราวิน-วิน ทั้งคู่ เรามาถูกทางแล้ว”