สัมภาษณ์ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ถ่ายภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

jaran03

“คนทำหนังสือในประเทศนี้โชคร้ายครับ เราไม่เคยมีรัฐบาลที่ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหารเห็นความสำคัญของการอ่าน ทุกรัฐบาลไม่เคยตั้งงบประมาณรายจ่ายเป็นงบหนังสือ รัฐบาลตั้งหน้าตั้งตาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมของประเทศ แต่ไม่เคยเหลียวแลโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาคือการอ่านเลย”

หลังรับตำแหน่งนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยติดต่อกันสองสมัยเป็นเวลา ๔ ปี จรัญ หอมเทียนทอง กำลังจะลงจากเก้าอี้ในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๐

นายกฯ จรัญคลุกคลีอยู่กับวงการหนังสือมามากกว่า ๔๐ ปี เขาคือผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์แสงดาว สำนักพิมพ์ขนาดกลางค่อนมาทางเล็ก ตีพิมพ์หนังสือพ็อกเกตบุ๊กหลายหมวดหมู่ ทั้งวรรณกรรม หนังสือเด็ก คำคมและสุภาษิตจีน ไปจนถึงตำราเศรษฐกิจและโหราศาสตร์

ในฐานะนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ให้สมาชิกอันประกอบด้วย “ผู้จัดพิมพ์” หรือสำนักพิมพ์ต่าง ๆ กว่า ๔๐๐ สำนักพิมพ์ รวมถึง “ผู้จำหน่ายหนังสือ” หรือสายส่ง และเอเจนต์ ทำให้เขามองเห็นภาพกว้างของวงการหนังสือบ้านเรา

ก่อนที่เขาจะก้าวลงจากตำแหน่ง ลองฟังความคิดความเห็นของ จรัญ หอมเทียนทอง เกี่ยวกับความเป็นไปและลมหายใจในวงการหนังสือเมืองไทย

มีความเห็นอย่างไรกับที่หลายคนบอกว่าสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย
คำพูดนี้มีมาตั้งแต่สมัยอีบุ๊กเข้ามาใหม่ ๆ แต่วันนี้หนังสือกระดาษก็ยังไม่หายไปไหน งานหนังสือที่เมืองไทย แฟรงก์เฟิร์ต ไทเป งานมหกรรมหนังสือเด็กระดับโลกที่โบโลญญา อิตาลี ก็ยังได้รับความนิยมอยู่ ผมคิดว่าคำพูดนี้ไม่เป็นความจริง หนังสือกระดาษไม่ตายไปจากโลกนี้หรอกครับ

ถึงอย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ๑-๒ ปีที่ผ่านมา นิตยสารรวมทั้งหนังสือพิมพ์หลายฉบับปิดตัว
ถ้าพูดถึงนิตยสารก็มีแนวโน้มเป็นอย่างนั้น แต่ขอให้จับตาดูกันต่อไป รายไหนปรับตัวได้ก็อยู่ต่อ นิตยสารที่มีคุณภาพ มีกลุ่มลูกค้าชัดเจนเขายังอยู่ได้ เช่น National Geographic คู่สร้างคู่สม เขามีกลุ่มแฟนของเขา นิตยสาร Playboy ในต่างประเทศเคยล้มลงครั้งหนึ่งเพราะภาพโป๊หาดูได้ฟรีในอินเทอร์เน็ต แต่ทีมงานก็ปรับหนังสือให้มีเนื้อหาสาระมากขึ้น ถึงเวลานี้นิตยสาร Playboy ยังอยู่ได้ นิตยสารบางเล่มอย่าง Madame Figaro ปิดตัวไป แต่ก็แปลงสภาพเป็น Inflight Magazine บนสายการบินแอร์เอเชีย นิตยสาร ELLE เขาเอาหัวไปทำ ELLE Fashion week เพราะรู้ว่าหัวหนังสือเขามีมูลค่า

การปิดตัวของนิตยสารบ่งบอกว่าคนอ่านหนังสือน้อยลงหรือเปล่า
ผมไม่คิดว่าการปิดตัวของนิตยสารคือการที่คนไม่อ่านหนังสือ ทุกวันนี้คนอ่านมากขึ้น หนังสือเป็นแค่เครื่องมือ ผมคุยกับคนทำพลอยแกมเพชร เขาบอกว่าถึงมีสมาชิกเยอะก็ไม่มีผลถ้าโฆษณาน้อยเพราะต้นทุนของนิตยสารแพงกว่าราคาปกมาก นิตยสารอยู่ได้ด้วยค่าโฆษณา เมื่อไม่มีค่าโฆษณานิตยสารก็อยู่ไม่ได้

นอกจากนิตยสารปิดตัว เร็ว ๆ นี้ยังมีข่าวว่าสายส่งรายใหญ่ของจังหวัดตราดเลิกกิจการ
เมื่อนิตยสารเลิกไปมันก็มีผลกระทบกับสายส่งที่เน้นหนังสือพิมพ์กับนิตยสาร รายได้ของเขาลดลง แล้วอย่าลืมว่าการเป็นเอเย่นต์ในต่างจังหวัดมันเหนื่อยมาก ตี ๒ ตี ๓ ต้องตื่นมาจัดหนังสือ ตี ๔ รอหนังสือพิมพ์มาส่ง คัดแยกให้แต่ละร้าน ทายาทรุ่นต่อไปเขาก็ไม่อยากทำแล้ว

พฤติกรรมการอ่านและซื้อหนังสือของคนไทยสมัยคุณเป็นเด็กกับทุกวันนี้แตกต่างกันไหม
เปลี่ยนไปมาก สมัยเด็ก ๆ ผมเติบโตในยุคเผด็จการทหาร จะอ่านหนังสือต้องเอาหนังสือไปถ่ายเอกสาร หรือไปเช่าอ่าน แต่ปัจจุบันหนังสือมีมาก คือจำนวนก๊อบปี้ของแต่ละเล่มอาจไม่มาก แต่จำนวนปกมาก รูปเล่มก็สวยงาม ระบบการพิมพ์การผลิตถูกกว่าสมัยผมเป็นเด็กเพราะมีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย

คนที่บอกว่าหนังสือราคาแพงคือคนที่ไม่อ่านหนังสือ ถ้าเป็นคนอ่านหนังสือ ถึงหนังสือแพงแต่มีคุณค่าเขาก็ซื้อ ถ้าหนังสือถูกแล้วไม่มีคุณค่า คนก็ไม่ซื้อเหมือนกัน ราคาไม่ใช่ปัจจัยที่คนจะซื้อหรือไม่ซื้อ เป็นความพึงพอใจมากกว่า

สายส่งรายใหญ่ของประเทศนี้คือใคร
ซีเอ็ดยูเคชั่น อมรินทร์ฯ เคล็ดไทย และมีรายเล็กรายน้อยเช่นสายส่งของจุฬาฯ สายส่งพ็อกเกตบุ๊กหรือหนังสือเล่มจะมีอยู่ไม่มาก พวกนี้เป็นสมาชิกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ส่วนสายส่งอย่างกานดา เพ็ญบุญ ไม่ได้เป็นสมาชิก เพราะเขาเน้นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ขณะที่ซีเอ็ดยูเคชั่น อมรินทร์ฯ ไม่ได้เป็นสายส่งนิตยสารทั่วไป แต่ส่งนิตยสารที่ทำเฉพาะของเขาเอง เช่นอมรินทร์ฯ ส่งแพรว National Geographic ธุรกิจหลักของเขายังเป็นสำนักพิมพ์มากกว่า

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวว่าซีเอ็ดฯ เรียกเก็บค่าขนส่งหนังสือ ๑.๔ เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าอย่างไร
ค่า DC (distribution center) หรือค่าขนส่งหนังสือ เป็นค่ากระจายหนังสือไปยังร้านหนังสือต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีค่า GP (gross profit) หรือค่าส่วนแบ่งกำไรการค้า หรือเรียกว่าค่าฝากวางขายที่ทางคู่ค้าต้องจ่ายให้ทางร้านหนังสือหลังจากขายหนังสือได้

ที่ผ่านมาทางซีเอ็ดฯ ไม่เรียกเก็บค่าขนส่ง แต่เก็บค่าฝากวางขายมากกว่าทุกรายคือ ๓๕-๔๐ เปอร์เซ็นต์ ขณะที่หนังสือของซีเอ็ดฯ เอง ถ้าเอาไปฝากขายร้านหนังสืออื่น ๆ เสียไม่เกิน ๒๕-๒๖ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สาเหตุที่ไม่เท่ากันซีเอ็ดฯ ให้เหตุผลว่าเขามีร้านหนังสือมากที่สุด ค่าใช้จ่ายสูงเพราะอยู่ในห้าง จนเมื่อเร็ว ๆ นี้ซีเอ็ดฯ จะขอเรียกเก็บค่าขนส่งหนังสือ ๑.๔ เปอร์เซ็นต์ คิดจากราคาหน้าปกหนังสือทุกเล่มไม่ว่าจะขายได้หรือไม่ได้ การเรียกเก็บค่าขนส่ง ๑.๔ เปอร์เซ็นต์ทำให้คนทำหนังสืออึดอัดใจเพราะเป็นหนี้ก่อนที่หนังสือจะขาย หนี้ค่าจัดส่ง เราเองในฐานะสมาคมฯ ก็พยายามเจรจากับเขา กรณีนี้ต้องบอกว่าประเทศเรา…พูดอย่างไม่สุภาพคือเป็นประเทศที่วงการหนังสืออัปลักษณ์ ตรงที่ร้านหนังสือ สำนักพิมพ์ สายส่งเป็นคนเดียวกัน พอเป็นคนเดียวกันเขาก็มีอิทธิพลกำหนดบทบาทของตลาดได้

ทำความเข้าใจกับซีเอ็ดฯ ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมฯอย่างไร
เขาบอกว่าให้ทุกคนเห็นใจเขา ถ้าไม่ได้ ๑.๔ เปอร์เซ็นต์เขาอาจต้องเลิกกิจการ แต่ผมคิดว่าโครงสร้างนี้มันแปลก คนเล็ก ๆ ต้องมาเห็นใจคนตัวใหญ่ สิ่งที่ทางซีเอ็ดฯ ขอมาเราเคยถามว่าเขาให้ความมั่นใจกับคนทำหนังสือได้ไหมว่าจะเพิ่มยอดขายได้ เขาก็ไม่ได้ให้ความมั่นใจ คุณไม่พัฒนาการขายของคุณก่อนแล้วมาขอเก็บค่าขนส่งหนังสือ คนตัวเล็กต้องพลีกายให้กิจการคนตัวใหญ่อยู่ได้เหรอ สังคมไม่น่าจะเป็นแบบนี้

วันนี้สังคมเข้าใจว่าธุรกิจนี้ทุกคนขาดทุน เพียงแต่ว่ามากหรือน้อย คนตัวใหญ่เจ็บตัวมาก คนตัวเล็กเจ็บตัวน้อย ฉะนั้นเป็นหน้าที่คนตัวเล็กต้องสละเลือดให้คนตัวใหญ่หรือเปล่า เป็นคำถามที่เราต้องคุยกัน

ในส่วนของสำนักพิมพ์แสงดาวปฏิเสธที่จะวางขายหนังสือในร้านซีเอ็ดฯ แล้ว
คนทำหนังสือต้องกล้าทำอะไรสักอย่าง ร้านหนังสืออยู่ไม่ได้เหมือนกันถ้าไม่มีหนังสือ ผมเองคงไม่ไปก้าวล่วงการตัดสินใจของเขา ขณะเดียวกันสมาคมฯ ก็ไม่มีสิทธิ์ไปบังคับให้เขาไม่เรียกเก็บ เพราะเขาเป็นรายใหญ่ของประเทศ เป็นหมายเลข ๑ ที่มีร้านหนังสือมากที่สุด แต่สำหรับสำนักพิมพ์แสงดาวผมไม่ส่งหนังสือให้เขาแล้ว ตราบใดที่สมาชิกของสมาคมฯ ยังต้องจ่ายให้เขา ๑.๔ เปอร์เซ็นต์ เพราะผมเห็นว่าการจ่าย ๑.๔ เปอร์เซ็นต์ยังไม่ใช่ที่สิ้นสุด เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาใหม่ ต่อไปร้านหนังสืออาจจะอยากขอเก็บค่าฝากวางขายเพิ่ม ขอเก็บค่าจัดหน้าร้าน ค่าจัดมุมหนังสือ ขอไปเรื่อย ๆ ไม่จบสิ้น ทั้งที่ความจริงคุณต้องหาทางจัดการแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น

คุณเอาหน้าร้านไปขายอย่างอื่นที่ไม่ใช่หนังสือแล้วคุณจะขายหนังสือได้เหรอ ทำไมร้านเอเซียบุ๊คส คิโนะคูนิยะ หรือศูนย์หนังสือจุฬาฯ ถึงขายหนังสือ ร้านขายยาต้องขายยา จะขายข้าวได้อย่างไร ฉะนั้นถ้าขายหนังสือไม่ได้คุณก็ต้องแก้ปัญหาเรื่องการจัดการภายในร้าน ผมคิดว่าปัญหาการอ่านหนังสือตอนนี้ไม่ใช่คนไม่อ่านหนังสือ ปัญหาเกิดจากร้านหนังสือไม่ทำหน้าที่ของร้านหนังสือ

jaran02

สิ่งที่เป็นคู่แข่งของคนทำหนังสือคือทีวี ทีวีแย่งเวลาไปหมด  ในต่างประเทศเขาไม่ทำสงครามให้คนที่ไม่อ่านหันมาอ่าน แต่เขาทำสงครามเพื่อแย่งคนดูทีวีมาอ่านหนังสือ

 

สิ่งที่คุณเรียกว่าความอัปลักษณ์ในวงการหนังสือมีอะไรอื่นอีกบ้าง
แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็ใหญ่มากนะ เมืองนอกเขาแปลกใจว่าเพราะอะไร คนไทเปถามผมทำไมร้านหนังสือยักษ์ใหญ่ของบ้านเราสวมหมวกตั้งสามใบ ในต่างประเทศแต่ละสำนักพิมพ์เขาจะมีโชว์รูมของตัวเอง เป็นร้านหนังสือนั่นแหละ เช่น มติชนมีร้านลายแทง สารคดีมีโชว์รูมที่ร้านริมขอบฟ้า สำนักพิมพ์ของเราไม่มี แต่บ้านเราทรงเป็นแบบนี้ เริ่มต้นกันมาแล้ว สำหรับประเทศนี้ก็คงจะเป็นอย่างนี้แหละ

ความขัดแย้งระหว่างสำนักพิมพ์กับร้านหนังสือจะยิ่งทำให้วงการหนังสืออ่อนแอลง
ไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่เป็นความเห็นต่างของคนทำหนังสือ ต่างคนต่างคิด เป็นการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด คนทำหนังสือก็ต้องรักหนังสือเหมือนกันอยู่แล้ว แต่การที่คนหนึ่งจะเอาตัวรอดแล้วให้อีกคนจมน้ำคงไม่ใช่

การเปิด Think Space ของ B2S บ่งบอกว่าธุรกิจหนังสือยังอยู่ได้ ร้านหนังสือขนาดใหญ่สามชั้น ๓,๐๐๐ ตารางเมตรอยู่ที่ห้างเซ็นทรัลเฟสติวัลอีสต์วิลล์ ถ้าอยู่ไม่ได้เขาจะกล้าเปิดเหรอ การดำรงอยู่ของศูนย์หนังสือจุฬาฯ ที่อาคารสยามกิตติ์ ทำไมเขาอยู่ได้ การเปิด Open House ที่เซ็นทรัลเอ็มบาสซีก็เหมือนกัน บอกเราว่าร้านหนังสือยังอยู่ได้ แต่คุณจะตอบโจทย์แก้ปัญหาอย่างไรเท่านั้น

การขายหนังสือออนไลน์เป็นทางออกที่ดีสำหรับสำนักพิมพ์หรือไม่
เราทำหนังสือและบังเอิญว่าตลาดหนังสือมีช่องทางมากขึ้น การขายออนไลน์ก็ช่วยประหยัดงบของเราได้ ทุกวันนี้มีคนกลุ่มหนึ่งริเริ่มทำหนังสือขายเฉพาะออนไลน์ ตลาดออนไลน์ช่วยให้คนทำหนังสือมีช่องทางไป ทุกสำนักพิมพ์ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่จะเห็นว่ายอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้น เพราะคนหันมาซื้อทางออนไลน์

การมีตลาดออนไลน์ทำให้คนทำหนังสือจำนวนหนึ่งรู้สึกว่ายังทำได้ เขาพิมพ์ไม่เยอะแค่ ๗๐๐ หรือ ๘๐๐ เล่มแล้วขายออนไลน์ โอกาสปล่อยหนังสือของเขาคืองานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

ระบบออนไลน์ทำให้ขายหนังสือได้มากขึ้นก็จริง คำถามคือมันเป็นระบบที่กินหางตัวเองหรือเปล่า สุดท้ายร้านหนังสือก็อยู่ไม่ได้ สายส่งก็อยู่ไม่ได้ เมื่อสำนักพิมพ์หันมาทำออนไลน์ขายตรงด้วยตัวเอง
ระบบออนไลน์หรือขายตรงนี่สำนักพิมพ์ไม่ได้คิดอยากจะทำ แต่เขาถูกบังคับให้ทำ ถ้าร้านหนังสือทำหน้าที่ของร้านหนังสือ ใครจะอยากทำ ทุกคนอยากเอาเวลาไปคิดทำหนังสือมากกว่าจะมานั่งขายเอง แต่ว่าสถานการณ์มันบีบบังคับ

ผมถึงบอกว่าร้านหนังสือต้องทำหน้าที่ร้านหนังสือ แต่ร้านหนังสือไม่ทำหน้าที่ บางที่เอา non book มาขายแล้วบอกว่าธุรกิจกำลังจะตาย คนอ่านหนังสือหลายคนบอกว่าร้านหนังสือไม่ตอบโจทย์เพราะไม่มีที่พอสำหรับวางหนังสือ ร้านใหญ่ที่ผมพูดถึง สำนักพิมพ์ไหนจ่ายเงินให้ก็วางหนังสือของสำนักพิมพ์นั้น สำนักพิมพ์ไหนไม่ให้ก็ไม่วาง แล้วหนังสือเขาจะไปอยู่ที่ไหนในเมื่อคุณวางเฉพาะเจ้าที่คุณได้เปอร์เซ็นต์สูง

เรามีงานหนังสือที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ปีละสองครั้ง คนมางานเราเป็นหลักล้าน เกือบ ๒ ล้านคน ทำไมคนมางานที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์มากเพราะมีหนังสือที่เขาไม่เคยเห็น คุณอาจเจอหนังสือของสำนักพิมพ์ญี่ปุ่นคะโดะกะวะ ซึ่งตามร้านหนังสือทั่วไปไม่มี มีเฉพาะร้านออนไลน์ Readery, Candide หรือร้านหนังสืออิสระที่ไม่มีสาขา

อย่างไรก็ตามการขายหนังสือออนไลน์ส่วนใหญ่คนซื้อยังเป็นคนต่างจังหวัด ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯ ยังหาซื้อได้ที่ร้านหนังสือ สำนักพิมพ์ที่ทำออนไลน์ก็รู้จักทำโปรโมชัน อาจซื้อหนึ่งเล่มแถมหนึ่งเล่ม เขาเอาเปอร์เซ็นต์ที่ร้านหนังสือเรียกเก็บไปลดให้ลูกค้าโดยตรงดีกว่า

อยากให้การวางหนังสือของร้านหนังสือในอุดมคติเป็นอย่างไร
เขาควรจะรับทุกเล่ม หรือไม่รับก็ไม่รับ เขามีสิทธิ์คัดว่าเล่มไหนดีหรือไม่ดี ผมเห็นด้วยกับการคัดหนังสือนะ แต่ไม่ใช่คนไหนยอมจ่ายเงินตามเงื่อนไขคุณก็วาง คนไหนไม่ยอมก็ไม่วาง

ทุกวันนี้ร้านคิโนะคูนิยะก็คัดหนังสือ เพราะเขาถือว่าค่าเช่าร้านในห้างสยามพารากอนแพง เขาต้องสร้างรายได้ จะเอาหนังสือไปซี้ซั้ววางไม่ได้ ต้องคัดหนังสือสวย ๆ ดูแล้วน่าสนใจ หนังสือหนึ่งปกอาจวางสามสี่จุด แล้วไม่ได้เอาสันปกเสียบ เพราะเขารู้จักดิสเพลย์ร้าน อย่างร้าน B2S ก็มีดิสเพลย์ชั้นหนังสือของคนอ่านรุ่นใหม่

คนซื้อหนังสือบ้านเราน้อยคนที่จะมีหนังสือในดวงใจแล้วเดินไปซื้อ เขาจะไปร้านหนังสือแล้วดูว่าเล่มไหนน่าสนใจ ร้านหนังสือก็ต้องดูว่าลูกค้าเข้าร้านเป็นกลุ่มไหน ลูกค้าเข้าห้างเซ็นทรัลกับโลตัสมีพฤติกรรมต่างกันอย่างไร ไม่ใช่ว่าร้านหนังสือมีอะไรเขาก็ซื้อ หนังสือไม่เหมือนเพลงที่เปิดฟังทุกวันแล้วอยากได้ หนังสือต้องไปหาดู

กลับมาที่คำถามว่าถ้าสำนักพิมพ์ทำออนไลน์ขายเอง ก็เท่ากับทำลายสายส่งหนังสือ
ถ้าทำได้ดีแล้วฆ่าสายส่งก็กลับมาหาคำตอบเดิมว่าเพราะสายส่งส่งหนังสือให้น้อยลงหรือเปล่า การที่เขาส่งหนังสือน้อยลงเพราะเขามีหนังสือน้อยลง เขาก็ไม่อยากส่งเพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทั้งหมดทั้งสิ้นถ้าสำนักพิมพ์ทำส่งเองก็ต้องตอบว่าแล้วทำไมสายส่งไม่รับทำเองล่ะ

ผมยกตัวอย่างกรณีสำนักพิมพ์ของสารคดี ร้านใหญ่ ๆ chain store สารคดีส่งเองอยู่แล้ว แต่ตามแผงไม่ได้ส่ง ซึ่งแผงเขามักขายหนังสือพิมพ์กับนิตยสาร โดยรับมาจากสายส่งหรือเอเย่นต์ แผงหนังสือเหล่านี้บางแผงปิดหายไปเลยก็มี บางร้านในชนบทอยู่ ๆ คิดจะไปก็ไป เพราะฉะนั้นถ้าคิดว่าคนต้นทางทำร้ายคุณ ก็ต้องถามว่าปลายน้ำทำเขาก่อนหรือเปล่า ที่สำนักพิมพ์ต้องตั้งส่วนออนไลน์ขึ้นมาส่งหนังสือเองก็เพราะสถานการณ์มันบังคับให้ต้องทำ

โมเดลนี้เราสามารถยอมรับมันได้จริงหรือ
สำหรับผม มันเป็นการแก้ปัญหาที่คนทำหนังสือเจ็บปวด ทำไมเขาต้องมาทำเอง ทั้งที่เรามีกลไกอยู่แล้ว แต่เผอิญกลไกไม่ทำงาน หนังสือพิมพ์รายวันเยอะแยะไปที่วันนี้เขาส่งเองเหมือนกัน เพราะเอเย่นต์บอกว่ายอดน้อยลง

ผมถึงบอกตั้งแต่แรกว่าเอเย่นต์ในต่างจังหวัดเขาเหนื่อยนะ ตี ๓ ตี ๔ ต้องมานั่งแพ็กหนังสือ ตี ๔ ตี ๕ รอเอเย่นต์มารับเอาไป แล้วรุ่นลูกเขาจะมาทำไหมล่ะ มันเป็นธุรกิจพ่อเขา รุ่นลูกใครจะตื่นมาทำ ตี ๓ ตี ๔ มีคนเอาหนังสือมากอง ๆ ทิ้งไว้แล้วก็ต้องมาคัดให้สายส่งมอเตอร์ไซค์วิ่งไปส่ง คนนี้ไปทางคนนั้นไปทาง เดี๋ยวนี้เด็กมอเตอร์ไซค์บางคนไม่ได้โตมาจากโรงพิมพ์ เขาก็ไม่ทำแล้ว

แม้กระทั่งในกรุงเทพฯ สายส่งประตูน้ำ เอเย่นต์ประตูน้ำ หรือเอเย่นต์บางรักก็อาจลดน้อยลงแล้วก็ได้ แล้วเอเย่นต์เขาก็อยู่ได้ด้วยหนังสือพิมพ์รายวัน สารคดีหรือนิตยสารบางเล่มอาจไม่ได้เป็นหนังสือขายดีแบบคู่สร้างคู่สม เขาอาจจะดูแลน้อยลงก็ได้

ผมยกตัวอย่างสายส่งหนังสือที่จังหวัดตราด ผมรู้จักเขามาตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ เขาอยู่มาหลายสิบปี สาเหตุที่เลิกเขาก็บอกว่ารุ่นลูกไม่ทำ แผงหนังสือก็น้อยลง ทุกวันนี้แผงหนังสือตามอำเภอหรือหมู่บ้านเขาก็ไม่อยากขาย บางร้านปิดร้านหนีไปเลยก็มี วันดีคืนดีปิดร้านหนี แผงหนังสือไม่มีใครเฝ้า พอร้านน้อยลงก็ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย ประกอบกับรุ่นลูกไม่ทำ เหตุผลอย่างที่บอกคือมันเป็นอาชีพที่เหนื่อย คุณต้องตื่นมาคัดหนังสือ สมมุติส่งไทยรัฐไปหมู่บ้านนี้สามฉบับ เดลินิวส์สามฉบับ สารคดีหนึ่งเล่ม ไปส่งแต่เช้า คนขับรถก็ไม่มี แล้วเดี๋ยวนี้หนังสือพิมพ์ก็มีให้อ่านข่าวออนไลน์ ข่าวกีฬาจะรอคนมาอ่านตอนเช้าไม่ทันแล้ว เขาเช็กผลบอลไปตั้งแต่เมื่อคืน พอถึงตอนเช้าคนที่อยู่บ้านเขาก็ดูทีวีกันหมด

คุณคิดว่าสื่อที่จะแย่งชิงคนอ่านไปคือทีวี ไม่ใช่สื่อออนไลน์
สิ่งที่เป็นคู่แข่งของคนทำหนังสือคือทีวี ทีวีแย่งเวลาไปหมด ในต่างประเทศเขาไม่ทำสงครามให้คนที่ไม่อ่านหันมาอ่าน แต่เขาทำสงครามเพื่อแย่งคนดูทีวีมาอ่านหนังสือ ทุกเช้าบ้านเราคนตื่นมาเปิดรายการเล่าข่าว ฟังคนอ่านข่าว คนก็ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ทีวีทุกช่องมีบันเทิงหมดแล้วเขาจะหาหนังสือมาอ่านทำไม เพราะฉะนั้นศัตรูที่แย่งคนอ่านไปไม่ใช่สื่อออนไลน์ แต่เป็นสื่อทีวี

คนอ่านสื่อออนไลน์เราไม่เสียใจ เพราะเขายังอ่าน แล้ววันหนึ่งคนอ่านจะเลือกเองว่าจะอ่านออนไลน์ต่อหรือมาอ่านหนังสือ เราจะสังเกตได้ว่าคนอ่านหนังสือทุกคนอ่านออนไลน์ แต่คนอ่านออนไลน์ทุกคนอาจไม่ได้อ่านหนังสือ ผมคิดว่าในอนาคตคนอ่านออนไลน์จะอ่านหนังสือ เพราะวันนี้คนอ่านหนังสือก็มาจากออนไลน์แล้วส่วนหนึ่ง จะออนไลน์หรือหนังสือก็เป็นแค่เครื่องมือในการอ่าน

แต่สำหรับคนติดทีวี เปิดทีวีแช่ทิ้งไว้ ดูหนังดูละคร ดูหน้ากากทุเรียน ทีวีโดยเฉพาะทีวีดิจิทัลที่มีหลายช่องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสื่อสิ่งพิมพ์ด้วยการดึงคนไปอยู่หน้าจอการดู แทนที่จะอยู่บนหน้าจอการอ่าน ดึงพฤติกรรมคนจากอ่านไปดู เราต้องการให้กลับมาอ่าน

เราไม่กลัวนะว่าคุณจะอ่านเฟซบุ๊กหรืออ่านไลน์ เพราะดีกว่านั่งดูทีวี

การดูแย่กว่าการอ่านอย่างไร
การอ่านสร้างจินตนาการ สร้างสมาธิ การอ่านทำให้คุณคิด แต่การดูผ่านมาก็ผ่านไป คุณไม่ได้ประทับใจอะไรเลย คุณอาจชอบอ่านหนังสือออนไลน์ แต่อ่านหนังสือเล่มคุณจะประทับใจมากขึ้นอีก เพราะแต่ละเล่มมีรูปแบบ มีตัวหนังสือ มีอาร์ตเวิร์กของตัวเอง การอ่านจึงสร้างความประทับใจได้มากกว่าการดู และช่วยสร้างสมาธิได้

สังเกตเลยถ้าเราอ่านเฟซบุ๊กหรือไลน์ เราไม่ต้องใช้สมาธิมาก แต่ทันทีที่คุณเปิดหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง คุณเริ่มมองหาที่นั่งสบาย ๆ เก้าอี้สบาย ๆ ที่จะนั่งอ่าน

การอ่านหนังสือโดยเฉพาะเด็กยังสำคัญที่สุด เพราะเด็กต้องพัฒนานิ้วมือ ต้องใช้นิ้วเปิดหนังสือ นี่คือเรื่องสำคัญ พ่อแม่บางคนให้ลูกนั่งดูทีวีแล้วดีใจว่าลูกไม่เกเร ไปซักผ้าหรือทำงานบ้าน แต่นั่นคือคุณกำลังสร้างปีศาจตนใหม่ไว้ในบ้าน

jaran01

ผู้นำประเทศเราให้ความสำคัญกับหนังสือน้อยมาก เขามองเรื่องการผลิต เรื่องตัวสินค้า มองทุกอย่างเป็นกลไกตลาด แต่ไม่เคยมองหนังสือว่าเป็นสินค้าที่สร้างความเจริญให้ประเทศชาติ

 

ตลาดหนังสือพ็อกเกตบุ๊กบ้านเราเวลานี้เป็นอย่างไร
หนังสือพ็อกเกตบุ๊กบ้านเราไม่ได้แพง มีหนังสือดี ๆ เยอะ ขณะเดียวกันคนที่มางานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ หรืองานมหกรรมหนังสือฯ ส่วนหนึ่งก็มาหาซื้อหนังสือเก่า เก่าในที่นี้ไม่ได้หมายถึงหนังสือโบราณ เป็นหนังสือที่ค้างในตลาด สำนักพิมพ์เอามาขาย ๒๐ บาทบ้าง ๓๐ บาท ๕๐ บาทบ้าง คนอ่านเขามาหาหนังสืออย่างนั้น

คนอ่านหนังสือทุกวันนี้อายุน้อยลง เมื่ออายุน้อยลงตลาดหนังสือวัยรุ่นก็มากขึ้น ข้อดีของหนังสือคือเมื่อคนหนึ่งอ่านหนังสือ เขาจะอ่านตลอดไป หนังสือไม่เหมือนสินค้าอุปโภคบริโภค วันนี้คุณชอบกินกาแฟยี่ห้อหนึ่ง วันหนึ่งคุณอาจเลิกกินก็ได้ แต่หนังสือถ้าคุณติดนิสัยรักการอ่านแล้วคุณจะอ่านไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะแก่เฒ่า เพราะการอ่านหนังสือเป็นวัฒนธรรม ถึงแม้สายตามองไม่เห็นแล้วก็เอาแว่นขยายมาอ่าน แล้วก็จะถ่ายทอดพฤติกรรมการอ่านให้แก่ลูก เพราะคนอ่านหนังสือรู้ว่ามันสร้างอะไรให้เขาเยอะมาก

มั่นใจว่าคนอ่านหนังสือบ้านเราเยอะขึ้น
ยืนยันว่าเยอะขึ้น แต่ปัญหาของบ้านเราคือประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ คนในชนบทยังขาดหนังสือ โอกาสเข้าถึงหนังสือเขาน้อย คนในชนบทจะเข้าถึงหนังสือได้คือห้องสมุด แต่ห้องสมุดไม่มีหนังสือให้เขาอ่าน ทำไมรัฐบาลไม่เคยตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นงบซื้อหนังสือ รัฐบาลเองชอบรอรับบริจาคหนังสือ ผมเรียกร้องว่าประเทศเราต้องหยุดขอรับบริจาคหนังสือ แต่ให้ซื้อหนังสือเพื่อการบริจาค การขอรับบริจาคหนังสือไม่ใช่ไม่ดี ดี แต่หนังสือที่ได้มาเป็นหนังสือที่ไม่ดี ไม่มีใครเอาหนังสือดี ๆ ไปบริจาค แล้วห้องสมุดจะมีชีวิตได้อย่างไร คนคัดหนังสือบริจาคเป็นใคร ถ้าไม่คัดให้ดีก็ไปสร้างความขัดแย้งในท้องถิ่น เช่นบริจาคหนังสือเกี่ยวกับหมาให้คนภาคใต้

คนทำห้องสมุดทุกคนเวลาพูดว่าจะสร้างห้องสมุด พูดกันเป็นเรื่องเป็นราว เอาบุญคุณว่าให้ความรู้ แต่หนังสือที่เป็นหัวใจของห้องสมุดทำไมไม่ซื้อ มีเงินติดเครื่องปรับอากาศ ซื้อเฟอร์นิเจอร์ แล้วทำไมไม่ซื้อหนังสือ แม้กระทั่งห้องสมุดของกรุงเทพฯ ก็เหมือนกัน งบลงทุนสร้างห้องสมุดเป็นพันล้าน แต่เงินซื้อหนังสือแค่ ๕ ล้านบาท แล้วจะได้อะไร

มีห้องสมุดมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ผมไม่เอ่ยชื่อ อยู่แถว ๆ คลองตัน รู้สึกผู้บริหารจะเป็นอดีตรองปลัด กทม. ห้องสมุดสวยมาก บรรณารักษ์บอกว่าหนังสือขอรับบริจาคมา คือคนมองหนังสือเป็นสินค้าบริจาค ทำไมไม่ขอรับบริจาคเก้าอี้หรือโต๊ะ หนังสือกลายเป็นสินค้าเดียวที่อาภัพมาก คือเมื่อเวลาคนคิดถึงก็ขอรับบริจาค ไม่เข้าใจว่ามันเริ่มต้นจากไหน จะสังเกตได้เลยไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ เวลาเด็กไปค่ายพัฒนาชนบท สร้างห้องสมุด จะขอรับบริจาคหนังสือ แต่เวลานั่งรถบัสไม่เคยขอรับบริจาคน้ำมันจากบริษัทน้ำมันบ้าง

ห้องสมุดในชนบทสำคัญที่สุด ถ้าชนบทไม่มีห้องสมุดแล้วคนเข้าถึงหนังสือยาก เด็กในชนบทเขาอยากมีหนังสืออ่าน เชื่อไหมถ้าคุณเอาหนังสือไปให้เด็กในไซต์งานก่อสร้างที่กำลังเล่นทรายอยู่ เด็กเลิกเล่นทรายมาเอาหนังสือ เขาไม่มีไง ถ้าไม่มีห้องสมุดสัญจรตามไซต์ก่อสร้าง เด็กเหล่านี้ก็ไม่มีโอกาส

สมัยเด็ก ๆ วัดเป็นที่ที่ผมสามารถหาหนังสืออ่านได้ ปัจจุบันวัดเป็นที่จอดรถ ผมไปโรงเรียนเคยอ่านหนังสือท้าวศรีสุดาจันทร์ เป็นหนังสือเรตอาร์ ผมชอบมาก อ่านยังไม่ทันจบกริ่งเข้าห้องเรียนดัง ผมก็เอาหนังสือไปซ่อน พรุ่งนี้มาอ่านต่อ ผมอ่านหนังสือจากห้องสมุดสมัยเรียน แต่ปัจจุบันไม่มี ห้องสมุดของเราเป็นที่ที่มีคนใช้น้อยมาก

เมื่อ ๔ ปีก่อนตอนคุณรับตำแหน่งนายกฯ ใหม่ ๆ ก็เคยให้สัมภาษณ์ลักษณะเดียวกันนี้ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยหรือ
ทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนี้ กศน. ขอรับบริจาคหนังสือ คุกเป็นสถานที่ที่คุณควรจะซื้อหนังสือดี ๆ เข้าไปให้นักโทษอ่าน ก็ขอรับบริจาคหนังสือ

ที่บราซิลมีโครงการอ่านสู่อิสรภาพ ให้นักโทษอ่านหนังสือแล้วตอบคำถาม ตอบถูกลดโทษให้ ๑๕ วัน เพราะเขาถือว่าถ้านักโทษอ่านหนังสือแล้วจะทำผิดน้อยลง ส่วนบ้านเรายังขอรับบริจาคหนังสือ คุกควรหาหนังสือให้นักโทษอ่านเพื่อความจรรโลงใจจะได้ไม่ทำผิดกฎหมายอีก

ผู้นำประเทศเราให้ความสำคัญกับหนังสือน้อยมาก เขามองเรื่องการผลิต เรื่องตัวสินค้า มองทุกอย่างเป็นกลไกตลาด แต่ไม่เคยมองหนังสือว่าเป็นสินค้าที่สร้างความเจริญให้ประเทศชาติ ไม่เคยมองว่าความรู้ของคนในชาติเป็นอย่างไร พอพูดถึงความรู้ ก็บอกให้ไปดูการศึกษาในโรงเรียน ไม่ใช่ ความรู้ไม่ใช่แค่การศึกษาในโรงเรียน ทุกวันนี้หนังสือคู่มือประกอบการเรียนขายดีมาก คู่มือสอบเข้า ม. ๖ ม. ๓ นี่คือความล้มเหลวของระบบการศึกษา พอพูดเรื่องการศึกษาก็บอกว่ามีงบประมาณให้ซื้อหนังสือเรียน ไม่ใช่ การเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนคือการอ่านหนังสือ วันนี้ถามว่าแม้แต่หนังสือได้รางวัลของกระทรวงศึกษาธิการเอง หนังสือดีเด่นของประเทศ ในห้องสมุดมีไหม แล้วคนจะอ่านอะไร

คนในชนบทถ้าห้องสมุดไม่มีหนังสือเขาก็ไม่ได้อ่าน ทุกวันนี้ห้องสมุดต่างจังหวัดบางแห่งกลายเป็นที่เก็บของ ไม่มีคนดูแล ห้องสมุดของรัฐ ๕ โมงเย็นเริ่มปิดบันไดเลื่อน แล้วการประเมินคุณภาพบรรณารักษ์วัดจากหนังสือห้ามหาย ขณะที่ต่างประเทศเขาวัดจากการหมุนเวียนหนังสือ เมื่อหนังสือห้ามหาย หนังสือแพง ๆ ก็ไม่ให้ยืมอ่าน กลัวหาย กลัวต้องรับผิดชอบ

ในห้องสมุดกลางเมืองไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ มีนิยายไทย ผมเคยถามว่าทำไม เขาบอกเอาไว้สำหรับนักเรียนไทยอ่าน ในเมืองหนังสือของเกาหลี เป็นศูนย์กลางสำนักพิมพ์ มีห้องสมุด มีหนังสือการ์ตูนเกาหลี แต่เป็นภาษาไทย ผมถามว่าทำไม เขาบอกเขาไม่ได้ขายนะ แต่ให้แรงงานไทยในเกาหลีอ่าน ภาษาไทย แต่เป็นเรื่องของเกาหลี ห้องสมุดที่เมลเบิร์นมีหนังสือภาษาเวียดนาม จีน ไทย แต่บ้านเราไม่ให้ความสำคัญ

ผมเคยเสนอกรุงเทพฯ ว่าหนึ่ง building หนึ่ง library คือหนึ่งอาคารสูงควรมีห้องสมุด เราพยายามพูดว่าที่สิงคโปร์ตึกสูงมีห้องสมุด เวลาเราสร้างตึกขึ้นมาในกรุงเทพฯ ที่มีความสูงหกชั้น กรุงเทพฯ กำหนดว่าต้องมีส้วมกี่ห้อง ในเมื่อคุณกำหนดให้สร้าง “ห้องขี้” ได้แล้วทำไมคุณไม่กำหนดให้เขาสร้าง “ห้องคิด” ว่าในตึกนี้ควรมีห้องสมุดหนึ่งห้อง

คุณเคยพูดถึงหนังหรือละครที่พระเอกนางเอกพบกันในร้านหนังสือ ถึงตอนนี้ละครไทยมีฉากแบบนั้นบ้างหรือยัง
ละครไทยไม่มี แต่เกาหลีมีทุกเรื่อง แม้แต่หนังเกาหลีย้อนยุค บทเลิฟซีนยังเอากันในห้องสมุด ของเราชอบไปเจอกันตามร้านกาแฟ ร้านอาหาร

คุณรับตำแหน่งนายกสมาคมฯ ติดต่อกันสองสมัย ๔ ปี คิดว่าได้ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
อันดับแรกที่พอใจมากที่สุดคือได้ให้โอกาสสำนักพิมพ์ขนาดเล็กมีโอกาส มีพื้นที่ในการขายงานมากขึ้น สอง เราได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติให้มีสาระมากขึ้น เช่น มีนิทรรศการ เชิญตัวแทนจากต่างประเทศมาร่วม สาม ได้เปลี่ยนแปลงเวทีเสวนาให้มีลักษณะอบอุ่นขึ้น บรรยากาศงานเปลี่ยนไปหมด แม้แต่โปสเตอร์งานก็เปลี่ยนจากสมัยก่อน เพราะเรามีระบบการคิดงานมากขึ้น ซึ่งก็มีคุณปราบดา หยุ่น เป็นคนช่วยคิด

เราไม่ได้มองว่างานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติมีมาหลายปี คนติดแล้วยังไงก็มา เราต้องจัดงานให้ดึงดูดคน ดึงนักอ่านหน้าใหม่ ก็นักอ่านเก่ามีอยู่แล้วไง แต่ทำอย่างไรให้นักอ่านใหม่เข้ามา สิ่งหนึ่งที่เด็ก ๆ ชอบคือบรรยากาศการอ่าน

สุดท้ายคือเราได้เปลี่ยนแปลงความคิดในการบริจาคหนังสือ ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนแปลงได้ไม่หมด ก็มีบางส่วนที่เข้าใจ รู้ว่าควรทำอย่างไร ซึ่งเรายังต้องผลักดันต่อ

บางคนวิจารณ์ว่าการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติทำให้ร้านหนังสือขายหนังสือไม่ได้ อีกทั้งยังทำให้นักอ่านไม่ซื้อหนังสือตามร้าน มารอซื้อหนังสือลดราคาในงาน
ข้อแรกที่บอกว่าร้านหนังสือขายไม่ได้นั้น ผมยืนยันว่าไม่เกี่ยว จริง ๆ แล้วร้านหนังสือไม่ได้ขายเองมากกว่า อย่างที่ผมบอกตอนต้นว่า ร้านหนังสือเลือกขายแต่หนังสือที่ตัวเองได้เปอร์เซ็นต์เป็นที่พอใจ ถ้าคุณทำหน้าที่ของตัวเองอย่างถูกต้อง ใครเขาจะมาซื้อในงาน ไปร้านคุณดีกว่า

ข้อ ๒ บอกว่าทำให้คนมารอซื้อหนังสือลดราคา ก็เพราะข้อแรกคุณไม่ทำหน้าที่ไง คนก็มารอซื้อในงานนี้ แล้วคนที่บ่นอยู่นี่ก็เป็นร้านหนังสือใหญ่ ๆ แต่หลายรายก็ไม่เคยบ่น ตรงกันข้ามช่วยแปะโปสเตอร์งานให้เราด้วย เพราะนี่คือ event กระตุ้นวงการอ่าน คนที่มาในงานจะมาซื้อหนังสือเก่า หนังสือที่เพิ่งออกแล้วบ้าง หนังสือลดราคา ผมคิดว่าพฤติกรรมคนซื้อหนังสือ ใครซื้อในงานก็มาซื้อ คนเข้าร้านหนังสือก็ยังเข้าร้าน คนชอบซื้อออนไลน์ก็ซื้อออนไลน์ไม่เกี่ยวกัน การที่คนต้องการมาซื้อหนังสือแบบเรียนเพราะในงานมีหนังสือครบเหมือนร้านหนังสือขนาดยักษ์ มีทุกอย่างให้เขาดู เขามาเจอเจ้าของสำนักพิมพ์ มาเจอนักเขียน อยากเจอคุณชูวิทย์ ผมถามว่าร้านหนังสือให้คุณชูวิทย์มายืนแจกลายเซ็นได้ไหม คุณก็ไม่ทำให้ พูดง่าย ๆ ว่างานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเป็นที่ปล่อยของของคนทำหนังสือ เราไปจัดต่างจังหวัดเราก็ให้ร้านต่างจังหวัดมาขายด้วย ร้านหนังสือที่คุณว่าได้รับผลกระทบ เขาก็มาขายในงานอยู่แล้ว

ยังมีเรื่องอะไรอีกที่อยากผลักดันให้เกิดขึ้นในวงการหนังสือ
สิ่งที่ยังทำไม่สำเร็จคือผมไม่สามารถผลักดันให้ภาครัฐบรรจุงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นงบการอ่าน ถ้าวันดีคืนร้ายเรามีการเลือกตั้ง หวังว่ารัฐบาลใหม่หรือผู้ลงสมัครจะบรรจุการอ่านเป็นนโยบายหาเสียงของเขา ระบุไปเลยว่าถ้าเป็นผู้นำประเทศแล้วจะกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการอ่านอย่างไร ทุกรัฐบาลละเลยสิ่งเหล่านี้มาก ไม่เคยเห็นการอ่านเป็นสิ่งสำคัญ แม้แต่กระทรวงวัฒนธรรมก็ไม่พูดเรื่องการอ่าน

ที่ผ่านมาเรามียุทธศาสตร์การอ่านซึ่งรัฐบาลวางแผนไว้ ๒๐ ปี ต้องรอดูว่าแผนช่วงแรก ๕ ปี ๒๕๖๐-๒๕๖๔ จะได้ผลแค่ไหน อยากให้สังคมไทยให้ความสำคัญเรื่องการอ่านเปลี่ยนจาก event, campaign ไปเป็น content บ้าง ที่ผ่านมาเราพูดแต่เรื่องการบริจาคหนังสือ การทำกิจกรรมกับหนังสือ แต่เราไม่ได้พูดเรื่องการอ่านอย่างจริงจัง

สำหรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ รวมทั้งมหกรรมหนังสือระดับชาติ มีอะไรอยากปรับมากกว่านี้
งานคงจะดีกว่านี้ถ้าได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลบ้าง งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติตอนต้นปีเป็นงานที่ภาครัฐคือกระทรวงศึกษาธิการมีส่วนร่วมจัด ส่วนงานมหกรรมหนังสือระดับชาติตอนปลายปีสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ทำกันเอง ประเทศเราโชคร้ายตรงที่มีนักธุรกิจใหญ่เยอะ แต่นักธุรกิจใหญ่ประเทศเราไม่คิดแบบ Samsung ที่ช่วยชาติเรื่องการศึกษา

นักธุรกิจบ้านเราพูด แต่ไม่เคยทำ คุณจะไม่เคยเห็นนักธุรกิจใหญ่บ้านเรามาเป็นสปอนเซอร์งานหนังสือ เราเคยขอสปอนเซอร์ เขาก็ไม่ให้

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งนี้มีสปอนเซอร์บ้างไหม
ที่เป็นเงินมีเฉพาะเอสซีจี แพคเกจจิ้ง, ไปรษณีย์ไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกนั้นเป็นสปอนเซอร์แบบครั้งคราว เช่น AIS และ B2S ผมต้องการสปอนเซอร์อย่างธนาคาร หรือบริษัทเหล้า ทุกคนที่พูดเรื่องการอ่าน เราจะจัดงานได้ดีกว่าเดิม ค่าเช่าบูทอาจลดลงกว่านี้ โดยเฉพาะการจัดงานในต่างจังหวัด สิ่งที่ต้องการมากคือสปอนเซอร์เพราะค่าใช้จ่ายสูง เราเคยได้สปอนเซอร์จากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ทำได้ปีเดียว เขาว่าเคยให้งบไปแล้ว นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่ได้กำหนดรายจ่ายประจำปีเป็นงบการอ่าน ถ้ากำหนดก็สามารถจัดงานได้ทุกปี ถ้าเราได้สปอนเซอร์เป็นธนาคาร ปีหนึ่งให้เรา ๕ ล้านก็สามารถสัญจรไปได้ทั่วประเทศ เราเคยขอแล้ว บริษัทเหล้าก็เคยขอ แต่เขายินดีจะสนับสนุนฟุตบอลมากกว่า ลองคิดดูว่าสมาคมกีฬาทุกสมาคมได้รับเงินจากการกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายฯ สมาคมนักเขียนฯ สมาคมนักแปลฯ สมาคมภาษาและหนังสือฯ ไม่เคยได้ ทำไมโครงสร้างเราถึงเป็นแบบนี้