ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
หลายคนคงเคยเห็นตามหิ้ง “กุมารทอง” ของร้านค้าต่างๆ ที่ต้องจัดหา “ของเล่น” ประเภทรถยนต์ เครื่องบิน หรือชุดเด็ก ตั้งไว้เป็นของบูชา หรืออย่างศาล “ท่านพ่อสิทธิชัย” ที่วัดใหญ่ชัยมงคล พระนครศรีอยุธยา ซึ่งว่ากันว่าเป็นที่สถิตของดวงวิญญาณโอรสในพระครรภ์ของ “พระนางเรือล่ม” ก็มีคนเอาตุ๊กตาสารพัดมาถวายจนล้นหลาม
ไม่ใช่เฉพาะ “ผีเด็ก” เท่านั้นที่ชอบของเล่น แม้แต่ “ผี” และ “พระ” หลายตนหลายองค์ก็ยังต้องแก้บนด้วยของเล่นเหมือนกัน โดยเฉพาะ “ว่าว”
แน่นอนว่าบ้างก็มีประวัติเกี่ยวพันกับ “ว่าว” อยู่ เช่นในตำนานกล่าวว่าพระร่วงกษัตริย์สุโขทัย โปรดปรานการ “เล่น” เป็นพิเศษ หนังสือ “พงศาวดารเหนือ” เล่าว่า “แลพระยาร่วงขณะนั้นคะนองนัก มักเล่นเบี้ยแลเล่นว่าว ไม่ถือตัวว่าเปนท้าวเปนพระยา เสด็จไปไหนก็ไปคนหนึ่งคนเดียว”
ครั้งหนึ่ง พระร่วงวิ่งตามว่าวที่ขาดหลุดลอยไปจนถึงเมืองตองอู แล้วไปลักลอบได้เสียกับพระธิดากษัตริย์ตองอู เมื่อมีเรื่องเล่ามาดังนั้น ของแก้บนในศาลพระร่วงที่เมืองเก่าสุโขทัยจึงย่อมต้องเป็นว่าว กระทั่ง “หลวงพ่อพระร่วง” พระพุทธรูปสุโขทัยที่อัญเชิญมาเป็นพระประธานในวิหารวัดมหรรณพาราม กรุงเทพฯ เมื่อมีพระนามอย่างเดียวกันก็ย่อมหนีไม่พ้นที่จะได้ของถวายเป็นว่าว แถมด้วยลูกตะกร้อที่ก็คงเข้าข่ายเป็น “ของเล่น” ด้วย
นอกจากนั้นแล้ว พระพุทธรูปอีกหลายองค์ก็มีตำราให้แก้บนด้วยว่าว เช่นหลวงพ่อยิ้มที่วัดมหาบุศย์ (วัดแม่นาคพระโขนง) หรืออย่างหลวงพ่อโต วัดสะพาน ริมคลองบางน้อย เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ชาวบ้านในละแวกนั้นเล่าว่าสมัยก่อนโน้นมีคนเคยเห็นท่านวิ่งเล่นว่าวอยู่กลางทุ่ง (!) จึงนิยมเอาว่าวมาถวายกัน
ว่าวยังเป็นของโปรดของ “เจ้าพ่อ” ประจำสถาบันการศึกษา อย่างเจ้าพ่อขุนทุ่ง (หรือเจ้าพ่อจันทุ่ง) ด้วย ปากคำของคนทรงว่า ท่านเป็น “เจ้าที่เจ้าทาง” แต่เดิมของย่านนั้น จึงมีการตั้งศาลขึ้นด้านข้างวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม โดยเว็บไซต์ทางการของมหาวิทยาลัยให้ข้อมูลศาลแห่งนี้ไว้ในหมวด “สิ่งที่ชาวมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ให้ความเคารพบูชา” ว่า
“เชื่อกันว่าเจ้าพ่อขุนทุ่งเป็นชายร่างใหญ่ หวีผมแสกกลาง ท่าทางนักเลง นุ่งโสร่งตาหมากรุก ใส่เสื้อคอกลมไว้หนวด ชอบสีม่วง ควรบูชาด้วยควายธนู ว่าว หมากพลู บุหรี่ และเหล้าขาว”
เมื่อเจ้าพ่อมี “ท่าทางนักเลง” ก็ต้องจัดหาของถวายที่คู่ควร แน่นอนว่าว่าวไม่ใช่ของหายากอะไรอยู่แล้ว ดังที่เห็นมีราวแขวนว่าวเรียงเป็นตับ แต่ “ควายธนู” นั้น นักศึกษามหิดลก็คงไม่รู้จะไปหามาจากที่ไหนได้ เลยมีการขยับความ เลื่อนไปเป็นการเอา “ควาย” เฉยๆ มาถวายแทน รอบศาลเจ้าพ่อขุนทุ่งจึงเต็มไปด้วยบริวารควายตุ๊กตาทุกขนาดนับร้อยนับพัน มีตั้งแต่ตัวเกือบเท่าควายจริง ไปจนถึงตัวเล็กตัวน้อย
แถมด้วย “ไก่” จำนวนพอๆ กัน เพื่อเสริมบุคลิกชายชาตรีของเจ้าพ่อให้ครันครบ
ศรัณย์ ทองปาน
เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี