putscienceพุธ-ไซแอนซ์

ติดปีกความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทุกวันพุธ เพราะเทพเจ้าประจำดาวพุธคือ Mercury บุรุษเทพแห่งการสื่อสารที่ไปได้เร็วเท่าความคิด


ทำไม “กลิ่นทุเรียน” หอม (หรือเหม็น) ??

นักวิทยาศาสตร์ของศูนย์มะเร็งแห่งชาติสิงคโปร์ และโรงเรียนการแพทย์ Duke-NUS ร่วมกันทำวิจัยถึงสามปี เพื่อทำแผนที่จีโนม (แผนที่ยีนทั้งหมดของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ) ของทุเรียนพันธุ์มูซังคิงส์ของมาเลเซีย จนสำเร็จ

พวกเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ชอบกินทุเรียน และเริ่มทำแผนที่จีโนมของทุเรียนเพียงเพราะอยากหาคำตอบเกี่ยวกับกลิ่นหอมรัญจวนของทุเรียน

ผลการวิจัยที่เพิ่งประกาศพบว่า ยีนตัวการกำกับนั้นมีชื่อว่า MGLs (Methionine Gamma Lyases) ซึ่งทำให้เกิดการผลิตสารประกอบของกำมะถันที่ระเหยได้

ทุเรียนมียีนตัวนี้มากเป็นสองเท่าของฝ้าย และสี่เท่าของโกโก้

จากการวิจัยนี้ทำให้พบว่า ทุเรียนเป็นญาติกับฝ้าย

และที่ไม่อยากจะเชื่อเลย คือบรรพบุรุษของทุเรียนก็คือ โกโก้ (โอย กลิ่นมันคนละเรื่องกันเลยนะนี่ แต่ผมชอบกินทั้งสองอย่างเลยขอรับ)

ทุเรียนยังมียีนทั้งหมดถึง 46,000 ยีน มากกว่ายีนของมนุษย์ถึงสองเท่า

นักวิจัยบอกว่านอกจากเรื่องกลิ่นทุเรียนแล้ว แผนที่จีโนมของทุเรียนจะช่วยบอกเกี่ยวกับยีนที่ต้านโรค ยีนที่ทนความแห้งแล้ง และอื่นๆ

แต่ที่เอาไปต่อยอดได้อีกมาก คือเทคนิคการทำแผนที่จีโนมที่นักวิจัยพัฒนาขึ้นใหม่นี้ จะประยุกต์ใช้ทำแผนที่จีโนมของพืชหรือสมุนไพรอื่นๆ ที่มีคุณค่าทางยาได้ และยังช่วยให้การปรับปรุงทุเรียนพันธุ์มูซังคิงส์เร็วขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า ร่นเวลาจาก 20-30 ปีตามวิธีการเดิม เหลือเพียง 5 ปี

เรื่องนี้บอกว่า ความอยากรู้จริงจังกับอะไรที่เหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว ไม่สลักสำคัญ กลายเป็นเรื่องที่อาจส่งผลให้เกิดมูลค่ามหาศาลต่อไปได้อีก

ในแง่รสชาติ มูซังคิงส์เป็นคู่แข่งกับหมอนทองเราเลยทีเดียว

แต่ในแง่การสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เรายังต้องตามหลังเขาไปอีกแค่ไหน

ทำไม “กลิ่นทุเรียน” หอม (หรือเหม็น) ??

อ้างอิง