เรื่อง : ฐิตินันท์  ศรีสถิต

>โลกได้ชื่อว่าเป็นดาวเคราะห์สีน้ำเงินตามรูปพรรณสัณฐานที่มองเห็นจากห้วงอวกาศไกลๆ  โทนสีดังกล่าวถูกกำหนดโดยน้ำเค็มในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ซึ่งมีพื้นที่รวม ๓๖๑ ล้านตารางกิโลเมตร หรือ ร้อยละ ๗๐.๘ ของพื้นผิวโลก

>น้ำเค็มมีปริมาตรรวมประมาณ ๑,๓๗๐ ล้านคิวบิกกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ ๙๗ ของน้ำบนโลก

>แม้จะเชื่อมถึงกันทั้งหมด แต่เพื่อความสะดวกในการเรียกขานระบุตำแหน่ง นักภูมิศาสตร์จึงแบ่งน่านน้ำเค็มออกเป็นมหาสมุทร ๕ แห่ง เรียงตามลำดับความใหญ่โตได้ดังนี้

  • มหาสมุทรแปซิฟิก มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยพื้นที่ ๑๕๕.๖ ล้านตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าแผ่นทวีปทั้งหมดรวมกัน คิดเป็น ร้อยละ ๓๐.๕ ของพื้นผิวโลก หรือประมาณ ๑๕ เท่าของพื้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งยังเป็นที่ตั้งของร่องลึกมาเรียนาที่ลึกที่สุดในโลก คือลึก ๑๐,๙๑๑ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
  • มหาสมุทรแอตแลนติก พื้นที่ ๗๖.๘ ล้านตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ ๒๐.๘ ของพื้นผิวโลก และได้รับการเติมน้ำจืดจากแม่น้ำในปริมาณมากที่สุด  แม่น้ำสายใหญ่ๆ ที่ไหลลงมหาสมุทรแอตแลนติก ได้แก่ แม่น้ำแอมะซอน แม่น้ำมิสซิสซิปปี แม่น้ำเซนต์
    ลอว์เรนซ์ แม่น้ำคองโก
  • มหาสมุทรอินเดีย พื้นที่ ๖๘.๖ ล้านตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ ๑๔.๔ ของพื้นผิวโลก เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตร อุณหภูมิเฉลี่ยบริเวณผิวน้ำทะเลจึงสูงกว่ามหาสมุทรอื่นๆ
  • ตามมาด้วยน้องใหม่ล่าสุด มหาสมุทรใต ที่ล้อมรอบทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งองค์การอุทกศาสตร์สากลเพิ่งให้นิยามและกำหนดขอบเขตความเป็นมหาสมุทรเมื่อปี ๒๐๐๐ ด้วยพื้นที่ ๒๐.๓ ล้านตารางกิโลเมตรคิดเป็นร้อยละ ๔ ของพื้นผิวโลก
  • และสุดท้าย…มหาสมุทรอาร์กติกแถบขั้วโลกเหนือมีพื้นที่ ๑๔.๑ ล้านตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ ๒.๘ ของพื้นผิวโลก และเป็นมหาสมุทรที่มีความลึกเฉลี่ยน้อยที่สุดเพียง ๑,๐๕๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

>มหาสมุทรเป็นบ้านหลังใหญ่ของสิ่งมีชีวิตหลากหลายที่ไม่มีใครรู้แน่ว่ากี่ชนิดพันธุ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลชั้นนำของโลกจึงก่อตั้งองค์กรสำรวจชีวิตทางทะเลขึ้นในปี ๒๐๐๐  หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ ๒,๗๐๐ คนจากกว่า ๘๐ ประเทศร่วมมือกันสำรวจประชากรสิ่งมีชีวิตทั่วมหาสมุทรอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา ๑๐ ปีเต็ม ในที่สุดก็ตีพิมพ์และเผยแพร่รายงานฉบับแรกเมื่อต้นเดือนตุลาคม ๒๐๑๐ โดยระบุว่า…

  • มนุษย์รู้จักสิ่งมีชีวิตในทะเลประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ ชนิดพันธุ์ และน่าจะมีอีกราวๆ ๗๕๐,๐๐๐ ชนิดพันธุ์ที่ยังไม่ถูกค้นพบ
  • การสำรวจตลอดทศวรรษที่ผ่านมาทำให้พบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่มากกว่า ๖,๐๐๐ ชนิดพันธุ์ ในจำนวนนั้นมีเพียง ๑,๒๐๐ ชนิดพันธุ์ที่ผ่านการจำแนกเสร็จสมบูรณ์ตามหลักอนุกรมวิธาน

>…นี้คือความมหาศาลของมหาสมุทรเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น

ที่มา :
http://www.physicalgeography.net/fundamentals/8o.html
http://origin.coml.org/pressreleases/census2010/PDF/English–Census%20Summary.pdf