เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
สภาพน้ำท่วมสูงมิดศีรษะ บริเวณถนนเพชรเกษม
ช่วงหน้าหอประชุมเทศบาลนครหาดใหญ่
จ.สงขลา บ่ายวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
หลังพายุดีเปรสชันเคลื่อนขึ้นฝั่งที่ จ.สงขลา
ส่งผลให้ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งจังหวัด
กระแสน้ำจากพื้นที่รอบนอกไหลเข้าท่วม อ.หาดใหญ่ ซึ่งมีสภาพเป็นแอ่งกระทะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน
ในเขตเทศบาลเกินร้อยละ ๘๐ ของพื้นที่ (ภาพ : วันชัน พุทธทอง)
กระแสน้ำเชี่ยวกรากพัดพาเศษขยะ โคลนตม
ไม่เว้นกระทั่งรถยนต์ไหลไปตามกระแสน้ำ (ภาพ : วันชัย พุทธทอง)
๑
“กระแสน้ำไหลเชี่ยวกรากอย่างกับมีน้ำตกจากสิบภูเขามารวมกัน”
ไพรัช ทองเจือ เจ้าของร้านหนังสือนายอินทร์สาขาหาดใหญ่ตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ กล่าวถึงเหตุการณ์น้ำท่วมอำเภอหาดใหญ่เมื่อคืนวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
“ความจริงที่หาดใหญ่มีฝนตกหนักติดต่อกันตั้งแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคมแล้ว เพิ่งจะมาซาลงบ้างเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ก่อนจะตกหนักอย่างกับฟ้ารั่วอีกครั้งก่อนพลบค่ำของวันที่ ๑ พฤศจิกายน ด้วยอิทธิพลของลมพายุดีเปรสชันเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก แม้ก่อนหน้านี้ ๓-๔ วันจะมีฝนตกติดต่อกัน แต่เทศบาลนครหาดใหญ่ก็จัดการระบายน้ำออกไปได้ จนทำให้ชาวหาดใหญ่หลายรายมั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วมเมือง…
“…แต่เราเพิ่งรู้ว่าเราคาดการณ์ผิดไป เมื่อถึงวันที่เห็นน้ำมหาศาลไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนของเราแล้ว”
วันแรกของเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ หลังจากไพรัชกับภรรยาเริ่มวิตกว่าน้ำอาจท่วมหาดใหญ่ ทั้งสองก็แยกย้ายกันขับรถยนต์ ๒ คันไปจอดที่ห้างโรบินสันและธนาคารกรุงเทพ ส่วนรถประจำสำนักงานให้พนักงานขับไปจอดที่ช่องเขาขาด ใกล้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ตลอดวันที่ ๑ พฤศจิกายน พื้นที่ ๘๕๒ ตารางกิโลเมตรของ อ.หาดใหญ่มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ราวห้าโมงเย็น เทศบาลนครหาดใหญ่ออกแถลงการณ์รายงานสถานการณ์ในพื้นที่ มีเนื้อความประกาศยกระดับการเตือนภัยเป็น “ธงแดง” หมายถึงสภาวะเตรียมการอพยพ อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ขอให้ประชาชนขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง พร้อมทั้งรายงานสถานการณ์ในขณะนั้นว่ายังคงมีกลุ่มฝนเสริมเข้ามาในพื้นที่ อย่างต่อเนื่อง
หากแต่การแจ้งเตือนของทางราชการก็ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง ชาวหาดใหญ่หลายคนเพิ่งรู้ว่ามีประกาศชักธงแดงเมื่อตอนค่ำ ขณะที่บางคนระบุว่าเห็นมีการชักธงแดงตั้งแต่บ่ายแต่ไม่นานก็ถูกชักลง
๑๙.๐๐ น. อิทธิพลของพายุดีเปรสชันยังทำให้ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องทั่ว อ. หาดใหญ่เจ้าของร้านนายอินทร์และภรรยาตัดสินใจถามหาอาสาสมัครที่จะอยู่เฝ้า ร้านในคืนนี้ เมื่อพบว่ามีผู้เสนอตัว ๙ คน ทั้งหมดจึงช่วยกันตระเตรียมเสบียงกรัง หุงข้าวเต็มหม้อทุกใบในสำนักงาน ก่อนที่ไพรัชจะขับรถตระเวนสำรวจรอบเมืองโดยไม่มีโอกาสรู้ว่าตนเองจะไม่อาจ เดินทางกลับร้านได้เป็นเวลา ๒ วัน เป็นชะตากรรมตรงกันข้ามกับอาสาสมัครทั้ง ๙ ชีวิตที่ถูกขังอยู่ภายในร้านด้วยระดับน้ำสูงมิดศีรษะ
ไพรัชเล่าว่า “ผมตั้งใจจะขับรถตระเวนดูรอบ ๆ เมือง เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้เตรียมรับมือทัน แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้ผมไม่สามารถ หันหลังกลับได้อีก”
ราวสี่ทุ่ม เจ้าของร้านนายอินทร์โทรศัพท์ไปบอกอาสาสมัครทั้ง ๙ ชีวิตให้เริ่มขนย้ายหนังสือขึ้นชั้น ๒ ก่อนกำชับให้เร่งขนย้ายอย่างสุดกำลังในอีกชั่วโมงถัดมา เขาอธิบายว่าสาเหตุที่ไม่จัดแจงเก็บหนังสือขึ้นที่สูงเสียแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากในรอบหลายปีที่ผ่านมาชาวหาดใหญ่ได้รับคำเตือนให้ระวังน้ำท่วม แต่ อ. หาดใหญ่ก็รอดพ้นมาได้ทุกที “พนักงานของเราเคยเก็บแล้วจัด-จัดแล้วเก็บหนังสืออยู่หลายครั้งแต่ไม่เคย เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมจริง คิดไม่ถึงว่าวิกฤตการณ์ที่ทำให้หาดใหญ่จมอยู่ใต้บาดาลจะเกิดขึ้นจริงในปี นี้”
ภาพเหตุการณ์กลางดึกคืนวันที่ ๑ พฤศจิกายนที่ถูกบันทึกไว้โดยกล้องวงจรปิดหน้าร้าน อธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี กล้องจับภาพฟุตบาทหน้าร้านและลานจอดรถ เวลา ๒๒.๐๖ น. หน้าจอแสดงภาพฝนตกหนัก ๒๒.๑๑ น. น้ำเริ่มเอ่อทะลักขึ้นจากท่อระบายน้ำ ๒๓.๔๐ น. น้ำเพิ่มสูงจนปริ่มฟุตบาท ๒๓.๕๘ น. น้ำท่วมมิดฟุตบาทอย่างรวดเร็ว ยังผลให้ลานจอดรถมีสภาพไม่ต่างจากบึง
ย่างเข้าวันใหม่ราวครึ่งชั่วโมง กระแสน้ำที่ไหลบ่ามาจากทางสถานีรถไฟสมทบกับน้ำที่เอ่อล้นขึ้นมาจากท่อระบาย น้ำไหลทะลักเข้าสู่ร้านหนังสือนายอินทร์ ความแรงของน้ำดันผนังกระจกหน้าร้านกระเด็นออกทั้งแผ่น ขณะที่ประตูเหล็กบุบบี้เข้าไปเป็นรูปตัว U ไม่นานหลังจากนั้นก็ปรากฏภาพเศษขยะจำนวนมหาศาลไหลตามน้ำผ่านไปอย่างรวดเร็ว
“ผมอยากให้คุณดูความแรงของน้ำ มันไม่ต่างจากคลองหรือแม่น้ำที่กระแสน้ำไหลเชี่ยวเลย” เจ้าของร้านนายอินทร์กล่าว
๐๐.๓๗ น. ภาพบนจอก็ดับมืดลง ตรงกับเวลาที่ทางการประกาศตัดไฟ หาดใหญ่กลายเป็นเมืองใต้แสงเทียน
รุ่งเช้าวันที่ ๒ พฤศจิกายน น้ำท่วม อ. หาดใหญ่เกินร้อยละ ๘๐ ของพื้นที่ ระดับน้ำบางจุดท่วมสูงมิดหลังคารถยนต์ บางจุดสูงถึงชั้น ๒ ของอาคาร ขณะที่ถนนสายเศรษฐกิจสำคัญอย่างถนนนิพันธ์อุทิศสาย ๑-๓ ถนนเสน่หานุสรณ์ ตลอดจนย่านการค้าอย่างตลาดกิมหยง ตลาดสันติสุข ระดับน้ำสูงเฉลี่ย ๒-๓ เมตร
สภาพภูมิประเทศของ อ. หาดใหญ่เป็นที่ราบลุ่มมีภูเขาโอบล้อม เป็นเมืองแอ่งกระทะซึ่งพื้นที่ด้านหนึ่งทางเหนือถูกบิดให้งุ้มลงเป็นช่อง ระบายน้ำไปออกทะเลสาบสงขลา หาดใหญ่เป็นเมืองน้ำผ่าน เป็นพื้นที่รองรับน้ำจากพื้นที่รอบนอกเพื่อไหลออกสู่ทะเล แม้แต่ฝนที่ตกบนเทือกเขาสันกาลาคีรีพรมแดนไทย-มาเลเซียก็ยังต้องไหลผ่านคลอง อู่ตะเภาซึ่งมีความยาวราว ๙๐ กิโลเมตรจากอำเภอสะเดามายังหาดใหญ่
บุญจง จรัสดำรงนิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันวิกฤตน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วม อ. หาดใหญ่ครั้งนี้ว่ามาจากอิทธิพลของลมพายุดีเปรสชันจากอ่าวไทยเข้าสู่เขต เมือง ส่งผลให้มีปริมาณฝนตกอย่างต่อเนื่องมากกว่าวันละ ๓๐๐ มิลลิเมตร ขณะที่คลองอู่ตะเภาซึ่งมีสถานะเป็นคลองระบายน้ำปรกติสามารถรองรับปริมาณน้ำ ได้ ๙๐๐ ลบ.ม. ต่อวินาที แต่วันที่ ๑ พฤศจิกายนมีน้ำระบายลงคลองมากถึง ๑,๖๐๐ ลบ.ม. ต่อวินาที
น้ำท่วมครั้งนี้ยังมีสาเหตุจากการตัดถนนเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ทางทิศตะวันออก เฉียงเหนือ คือถนนลพบุรีราเมศวร์ ถนนสายสนามบิน-ควนลัง รวมทั้งเส้นทางรถไฟ ตัดผ่านพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นป่าพรุผืนใหญ่คอยรองรับน้ำ ทำให้ถนนมีสภาพไม่ต่างจาก “ผนัง” กั้นน้ำไม่ให้ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาอย่างสะดวก
ตลอดวันที่ ๒ พฤศจิกายน แม้ไม่มีฝนตกแต่ระดับน้ำใน “เมืองหลวงภาคใต้ตอนล่าง” ยังทรงตัว ตามสถานพยาบาลอย่างโรงพยาบาลหาดใหญ่ได้มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยขึ้นสู่ชั้น บน รวมถึงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนักไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ทางเฮลิคอปเตอร์
ระบบไฟฟ้า น้ำประปา การสื่อสารถูกตัดขาด เมืองทั้งเมืองอยู่ในภาวะโดดเดี่ยวถูกตัดขาดจากโลกภายนอก
ขณะกำลังแจกจ่ายสิ่งของช่วยผู้ประสบภัย อาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ทหารพบศพชายนิรนามลอยตามน้ำมาบริเวณสี่แยกสะพานดำ
เจ็ตสกีที่หน่วยงานเอกชนใช้บรรทุกสิ่งของมาช่วยเหลือผู้ประสบภัยประสบปัญหา ในการลงปฏิบัติการในพื้นที่ เนื่องจากในน้ำมีเศษขยะจำนวนมากรวมทั้งเศษผ้าที่สร้างความเสียหายให้เครื่อง ยนต์
อย่างไรก็ตาม ราว ๒ คืนกับอีก ๑ วัน สถานการณ์อุทกภัยในเขตตัวเมืองชั้นในของอำเภอหาดใหญ่ก็คลี่คลาย ปิยพร แซ่อึ้ง บ้านอยู่สุดสาย ๓ (ถนนนิพัทธ์ภักดี) เชื่อมต่อกับถนนนิพันธ์-อุทิศ ๓ อันเป็นถนนสายเศรษฐกิจสำคัญของหาดใหญ่ เล่าว่า หลังจากวันที่ ๒ พฤศจิกายน ระดับน้ำสูง ๑.๖-๑.๗ เมตร รุ่งเช้าวันถัดมาเวลาหกโมง ระดับน้ำลดลงอยู่ระดับหัวเข่า เจ็ดโมงเช้าน้ำลดเหลือครึ่งแข้ง สิบเอ็ดโมงน้ำลดเหลือตาตุ่ม และเที่ยงวันน้ำก็แห้ง
เย็นวันที่ ๓ พฤศจิกายน น้ำมหาศาลแห้งเหือดสิ้น คงเหลือทิ้งไว้เพียงเศษซากปรักหักพังของสิ่งปลูกสร้างที่ไม่อาจต้านทานความ เชี่ยวกรากของกระแสน้ำได้ รั้วบ้านหลายหลังเอียงระเนนลงเป็นแถบ ถนนทุกสายมองเห็นร่องรอยความเสียหาย สองฝั่งเต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล กองขยะ โคลนตม เศษไม้ ฯลฯ ไม่เว้นแม้กระทั่งรถยนต์และจักรยานยนต์ที่ถูกน้ำพัดพามากองระเกะระกะไม่มี ชิ้นดี
ขณะที่ผู้คนเริ่มลงมือทำความสะอาดบ้านเรือน ฉีดน้ำล้างโคลนเลน คัดแยกสิ่งของเสียหายที่ยังพอใช้งานได้มาชำระล้างซ่อมแซม รื้อถอนเศษซากหักพังและขยะไปทิ้ง