ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
เคยเห็นไหมครับ ? พระพุทธรูปที่มีพระองค์ (ลำตัว) เดียว แต่ส่วนพระเศียร (หัว) ทำเป็นพระพักตร์ (หน้า) เล็กๆ อยู่โดยรอบจำนวน ๙ หน้า
พระพุทธรูปแบบนี้เรียกกันว่า “พระเศรษฐีนวโกฏิ” หรือบางท่านก็สะกดว่า “เสฏฐีนวโกฏิ” มีตำนานเท้าความอ้างอิงไปถึงเรื่องมหาเศรษฐีทั้งเก้าที่เป็นพุทธอุบาสกอุบาสิกาเมื่อครั้งพุทธกาล ตำนานยังเล่าด้วยว่าคติการสร้างพระพุทธรูปแบบนี้มาจากฝั่งล้านช้าง (ลาว) ตกทอดมายังพระเกจิอาจารย์ทางลพบุรี ก่อนจะย้อนกลับไปนิยมสร้างกันในภาคอีสานอีกครั้ง
ผมเคยทราบเรื่องพระพุทธรูปแบบนี้มาบ้างตั้งแต่เมื่อเกือบ ๒๐ ปีก่อน แต่ไม่ได้สนใจอะไรนัก นึกแต่ว่าเป็นคติใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุค “พุทธพาณิชย์” ซึ่งนิยมบูชาเครื่องรางของขลังที่ให้คุณในทางร่ำรวยมั่งคั่ง
ไม่กี่วันก่อนขึ้นรถแท็กซี่ เห็นโชเฟอร์เขาตั้งพระเศรษฐีนวโกฏิรูปองค์เล็กๆ ไว้บนคอนโซลหน้ารถ เลยชวนคุยว่านั่นพระอะไร ?
เขาอธิบายว่าเป็น “พระ ๙ หน้า” มาจากที่ไหนก็ไม่รู้ แต่มีคนให้มา บอกว่าบูชาแล้วจะ “ก้าวหน้า”
จึงเพิ่งเข้าใจนัยความหมายในมิติของผู้ศรัทธา
การนิยามคำพ้องเสียง ๙ (เก้า) ว่าเท่ากับ “ก้าว” นี้น่าจะเป็นเรื่องใหม่มากๆ อย่างธรรมเนียมการไหว้พระ ๙ วัด ซึ่งริเริ่มโดย “หมอหยอง” (ผู้ล่วงลับไปแล้ว)
หมอหยองไม่ได้แค่ใช้จำนวนวัด ๙ แห่งเท่านั้น แต่ยังคัดสรรวัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยชื่อที่ชาวบ้านเรียกเป็นหลัก แล้วผูกโยงสร้างความหมายใหม่ขึ้นมาว่าเป็นการไปสักการะเพื่อขอพรในด้านต่างๆ ตามชื่อวัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั้น เช่น วัดพระแก้ว (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) ไหว้แล้วจะมีโชคลาภ “แก้ว” แหวนเงินทอง วัดระฆัง ไหว้แล้วจะมีชื่อเสียงโด่งดัง (เหมือนเสียงระฆัง) วัดสุทัศน์ฯ ไหว้แล้วจะมีวิสัย “ทัศน์” กว้างไกล อะไรทำนองนั้น
ความนิยมนี้ยังแผ่ขยายไปตามจังหวัดต่างๆ จนเดี๋ยวนี้แทบทุกเมืองก็มีตำราไหว้พระ ๙ วัดของตัวเอง
เรื่อง ๙ และ “ก้าว” นี้ยังลามไปจนถึงคำอธิบายเรื่องเศียรทศกัณฑ์ที่เป็นหัวโขน ว่าเหตุใดจึงมีเพียง ๙ หน้า
อย่างถ้าเป็นหน้ากากในนาฏศิลป์อินเดีย ทศกัณฐ์จะมีหน้าเรียงแถวกันเป็นพืดครบสิบหน้า แต่หัวโขนทศกัณฐ์กลับใช้อีกวิธีหนึ่ง คือมีหน้าใหญ่ที่เป็นหน้ายักษ์ทางด้านหน้า ๑ หน้ายักษ์เล็กๆ ทางด้านหลังอีก ๓ รวมเป็น ๔ ถัดขึ้นไปเป็นชุดเศียรยักษ์ขนาดเล็กลงหันหน้าสี่ทิศแบบพระพรหมอีก ๔ รวมเป็น ๘ ปิดท้ายด้วยเศียรเทพชั้นบนสุดอีกเศียรหนึ่ง ทั้งหมดรวมกันแล้วจึงนับได้แค่ ๙ หน้า ไม่ครบ ๑๐ ตามจำนวนหน้าของทศกัณฐ์
ครูบาอาจารย์บางท่านจึงอธิบายว่า ให้นับหน้านักแสดงผู้สวมหัวโขนไปด้วยก็จะครบ ๑๐
แต่มาสมัยนี้ก็มีคำอธิบายใหม่ว่าที่เศียรทศกัณฐ์มีแค่เก้าหน้าก็เพื่อผู้แสดงจะได้ “ก้าวหน้า” เช่นกัน
ศรัณย์ ทองปาน
เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี