Change from Under
สำรวจนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ของสามัญชน
เพื่อการเปลี่ยนแปลงโลกจากเบื้องล่าง

เรื่อง  ภัควดี จิตสกุลชัยเดช
ภาพ : The Necessary Stage

tns02

สิงคโปร์เป็นหนึ่งในชาติอาเซียนที่มีความเจริญก้าวหน้าหลายด้าน แต่ก็ขึ้นชื่อในด้านการปกครองแบบอำนาจนิยม รัฐบาลเข้ามาควบคุมชีวิตของพลเมืองและมีกฎข้อบังคับค่อนข้างเข้มงวด ถึงแม้มีการเลือกตั้ง แต่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นค่อนข้างถูกจำกัด  ในด้านวัฒนธรรมนั้น แม้รัฐบาลพยายามส่งเสริมให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมนานาชาติในภูมิภาคนี้ เช่น การมีโรงละครระดับมาตรฐานสากลและมีการแสดงโด่งดังระดับนานาชาติมาแสดงตลอดทั้งปี แต่ศิลปินและนักเขียนในสิงคโปร์กลับถูกคุกคามจากรัฐหรือต้องเซนเซอร์ตัวเอง

นั่นไม่ได้หมายความว่าสิงคโปร์จะขาดไร้กลุ่มคนที่ยึดมั่นในหลักการเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  ในด้านศิลปะ กลุ่มละครชาวสิงคโปร์ที่ใช้ชื่อว่า The Necessary Stage (TNS) ยืนหยัดทำละครสะท้อนสังคมอย่างตรงไปตรงมานานถึง ๓๐ ปี ผ่านช่วงเวลาที่รัฐบาลสิงคโปร์ไล่จับนักการละครมาสอบปากคำ (บางคนถูกคุมขังโดยไม่มีการขึ้นศาล) จนกระทั่งได้รับรางวัลระดับชาติและมีชื่อเสียงในระดับนานาประเทศ กระนั้นพวกเขาก็ไม่หยุดยั้งที่จะทำละครโดยไม่เอาใจรัฐ

tns01

ละครกะเทาะเกล็ด

กลุ่มละคร The Necessary Stage เป็นบริษัทละครไม่แสวงหากำไรที่มีการทำงานแบบการกุศล ก่อตั้งโดยบุคคลสำคัญสองคน คนหนึ่งคือ แอลวิน ตัน (Alvin Tan) นักอ่านตัวยงตั้งแต่เด็ก เมื่อเขาเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เขาอยากทำละคร แต่ตอนนั้นไม่มีภาควิชาการละคร  พอเรียนปี ๒ มีกิจกรรมแข่งขันละครเวที เขากับเพื่อน ๆ จึงดัดแปลงละครของ วูดดี อัลเลน เรื่องหนึ่งให้เข้ากับบริบทของสิงคโปร์และได้รับรางวัลชนะเลิศ  แอลวินตัดสินใจว่าเส้นทางการละครคือเส้นทางชีวิตของเขาและก่อตั้งกลุ่มละคร TNS ขึ้นในปี ๒๕๓๐

แต่แอลวินรู้สึกว่าการดัดแปลงบทละครต่างประเทศยังไม่สะท้อนรากเหง้าของสังคมสิงคโปร์มากเพียงพอ  บุคคลที่เข้ามาถมช่องว่างในจุดนี้ได้อย่างดีคือ หเรศ ชาร์มา (Haresh Sharma) เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย  หเรศเป็นนักเขียนบทละครประจำกลุ่ม TNS ตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ จนถึงปัจจุบันเขาเขียนบทละครมากกว่า ๑๐๐ เรื่อง และมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ

สมัยก่อตั้งใหม่ ๆ TNS ต้องเผชิญกับการสอดส่องจากรัฐที่กลัวลัทธิสังคมนิยม  แอลวินเคยถูกนำตัวไปสอบปากคำอย่างหนักเกี่ยวกับแนวคิดและเส้นทางการเงิน  ในปี ๒๕๓๗ แอลวินและหเรศถูกสอบปากคำเพียงเพราะเข้าร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการของนักการละครแนวมาร์กซิสต์จากบราซิล “ข้อสรุปของเจ้าหน้าที่คือเราไม่ใช่มาร์กซิสต์ เราเป็นนักอุดมคติต่างหาก” แอลวินกล่าว

ก่อนหน้านั้น ๑ ปี TNS ก็มีปัญหาอีกแบบกับหน่วยงานรัฐ  กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนเงินให้พวกเขาทำละครเกี่ยวกับปัญหาการป่วยทางจิต แต่ผลงานละครเรื่อง Off Centre กลับถูกมองว่าวิจารณ์สังคมและรัฐสิงคโปร์มากไป อีกทั้งไม่ได้รับใช้แนวคิดของรัฐบาลมากพอ กระทรวงจึงขู่จะถอนเงินสนับสนุนแลกกับการแก้ไขบทละคร แต่แอลวินกับหเรศยืนยันในเสรีภาพทางศิลปะ ลงท้ายพวกเขาจัดแสดงละครโดยไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ละครเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างดี  เมื่อผ่านมาถึงปี ๒๕๔๐ บทละครเรื่องนี้กลับได้รับเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้บรรจุอยู่ในหลักสูตรวรรณกรรมท้องถิ่นสำหรับนักเรียนนักศึกษา

นอกจากปัญหาทางการเมืองแล้ว ปัญหาด้านสังคมก็เป็นประเด็นที่ TNS ต้องฝ่าฟัน ในสมัยก่อตั้งแรก ๆ ชาวสิงคโปร์ยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งสะท้อนออกมาในค่านิยมที่ยกย่องสำเนียงแบบชาวอังกฤษและดูถูกภาษาอังกฤษท้องถิ่นที่เรียกว่า “Singlish” แต่ TNS เห็นว่าสังคมสิงคโปร์ที่แท้จริงคือสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ทั้งด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม ภาษา และชนชั้น พวกเขาต้องการทำละครที่สะท้อนความหลากหลายเหล่านี้ จึงเลือกใช้ภาษาที่คนทั่วไปพูดกันจริง ๆ  ในระยะแรกคนดูหัวเราะเยาะและวิพากษ์วิจารณ์ แต่พวกเขาก็ยืนหยัดในสิ่งที่เชื่อ ทุกวันนี้บนเวที ตัวละครของเขาพูดทั้งภาษา Singlish  ฮกเกี้ยน ฯลฯ  นักแสดงคนหนึ่งบอกว่า “สำหรับ TNS การยอมรับภาษาหลากหลายสีสันทุกภาษาบนเวทีทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในละคร”

ถึงแม้สถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก ทั้งแอลวินและหเรศได้รับเหรียญเชิดชูด้านวัฒนธรรมในปี ๒๕๕๗ และ ๒๕๕๘ ซึ่งถือเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดด้านศิลปะภายในประเทศ  TNS ได้รับทุนสนับสนุนจากสภาศิลปะแห่งชาติ ได้เป็นผู้จัดงานเทศกาลละครประจำปี ขยายงานละครสู่เยาวชน ได้ร่วมงานและสร้างสรรค์ละครกับนานาชาติ  ผลงานของหเรศได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษาและเป็นนักเขียนที่ไม่ใช่ชาวอเมริกันคนแรกที่ได้รับรางวัล Goldberg Master Playwright จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กในปี ๒๕๕๔ ได้รับรางวัลซีไรต์ของประเทศสิงคโปร์ในปี ๒๕๕๗  แต่ในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้แอลวินก็ยังยืนยันว่าการเซนเซอร์คืออุปสรรคสำคัญที่สุด เขาชี้ให้เห็นว่าการให้รางวัลของรัฐบาล บางครั้งก็เป็นแค่หน้าฉากที่ทำให้รัฐบาลดูดีเท่านั้น รัฐยังสอดส่องและตรวจสอบการทำงานของศิลปินอยู่ดี

“มันซับซ้อนมาก ถ้าคุณเข้าใจ นั่นแหละสิงคโปร์”