วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, นิตยา วงษ์สวัสดิ์
ภาพ : ปีเตอร์ เบเรกครี
ปีเตอร์ปั่นจักรยานข้ามทะเลทรายผ่านกลางทวีปออสเตรเลีย
ผู้ชายคนนี้อาศัยอยู่บนเกาะแทสเมเนีย เขาเป็นชาวออสซี่ธรรมดาๆ คนหนึ่ง รายได้ไม่ได้มากมายอะไร เขาเกิดมาเพื่อสะพายเป้เดินทางรอบโลก
ตลอดระยะเวลา ๒๕ ปีที่ผ่านมา เขาเดินทางท่องโลกมาแล้วกว่า ๗๐ ประเทศ ในบรรดาสถานที่เหล่านั้นเขาไม่ชอบท่องเที่ยวตามหัวเมืองใหญ่หรือมหานคร หากมักหลีกหนีความเจริญมุ่งหน้าสู่ธรรมชาติ เดินป่า ปีนเขา เพื่อศึกษาพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์และเรียนรู้วัฒนธรรมชนเผ่าต่างๆ ที่อยู่ห่างไกล
เขาชอบการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ เพราะเชื่อว่าชีวิตคือการเดินทาง และมุ่งมั่นเดินทางไปตามที่ต่างๆ จริง ไม่ใช่เป็นแต่คำพูดให้ตัวเองดูดี
ไม่ว่าจะโดยเครื่องบิน รถยนต์ จักรยาน และเดินเท้า ประมาณได้ว่าเขาเดินทางรอบโลกมานับแสนกิโลเมตรแล้ว ในแต่ละปีเขาวางแผนการใช้ชีวิตด้วยการทำงานเก็บเงินให้มากพอ ใช้เงินอย่างประหยัด และลาหยุดหลายเดือนออกเดินทางไปตามสถานที่ที่เขาใฝ่ฝันโดยมีจักรยานเป็น พาหนะ ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน เทือกเขาหิมาลัย เทือกเขาแอนดีส ล่าสุดเขาเพิ่งขี่จักรยานข้ามทวีปอเมริกาใต้โดยปั่นไปตามเทือกเขาจากเหนือ จรดใต้ ระยะทางนับหมื่นกิโลเมตร
ปีเตอร์ เบเรกครี (Peter Berechree) เป็นเพียงคนธรรมดา ไม่เคยเป็นข่าว ไม่เคยมีใครมาสัมภาษณ์ แต่เมื่อลองได้รู้จักแล้วจะพบว่าเขาเป็นหนึ่งในนักปั่นจักรยานระดับพระกาฬที เดียว
สารคดี มีโอกาสพบเขาระหว่างแวะมาเมืองไทยเพื่อขอวีซ่าไปทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ชั่วคราวในประเทศพม่า หวังว่าเมื่อเก็บเงินได้อีกครั้งหนึ่ง เป้าหมายต่อไปคือปั่นจักรยานในไซบีเรีย
เวลาชั่วโมงเศษๆ ที่ได้พูดคุยกับผู้ชายวัย ๕๑ ปีคนนี้ ทำให้เราเรียนรู้ว่า ชีวิตของคนที่เลือกเดินทางบนอานจักรยานมาตลอด ๑๐ กว่าปี มีบางสิ่งไม่ธรรมดาเลย
ปีเตอร์กับจักรยานคู่ใจระหว่างหยุดพักบริเวณเบสแคมป์ของยอดเขาเอเวอเรสต์ที่ความสูง ๕,๓๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล
คุณประกอบอาชีพอะไรในประเทศออสเตรเลีย
ผมทำงานสองอย่าง งานแรกคือเป็นครูสอนภาษาอังกฤษเด็กนานาชาติในศูนย์ภาษาของมหาวิทยาลัย แทสเมเนีย สอนในระดับการเตรียมตัวสอบเทียบคะแนนภาษาอังกฤษ และการเตรียมตัวเข้าสู่การเรียนเนื้อหาวิชาการในมหาวิทยาลัย ส่วนอีกงานหนึ่งคืองานด้านสิ่งแวดล้อม ผมเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ทำหน้าที่สร้างเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติในแทสเมเนียและบาง พื้นที่ของออสเตรเลีย โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติ อาทิ ก้อนหิน ไม้ ในการสร้างทางเดินศึกษาธรรมชาติ มันเป็นงานที่ต้องทำตามฤดูกาล เพราะฉะนั้นใน ๑ ปีผมทำงานนี้ราว ๓-๖ เดือนเท่านั้น เวลาที่เหลือผมสอนภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัย
คุณสนใจขี่จักรยานมานานเท่าไรแล้ว
จักรยานมีความดึงดูดเฉพาะตัวอยู่แล้ว ผมเองสนใจและผมก็ใช้จักรยานเสมอ จริงๆ แล้วผมชอบเดินป่ามากกว่า ผมออกไปเที่ยวป่าและปีนเขาเสมอตั้งแต่อายุ ๑๘ ปีจนอายุเกือบ ๔๐ ปี กระทั่งครั้งหนึ่งขณะกำลังปีนเขา ผมประสบอุบัติเหตุตกเขา ข้อเท้าหักอย่างรุนแรง เพื่อนผมต้องไต่ ลงเขาไปตามหน่วยกู้ภัยให้ส่งเฮลิคอปเตอร์มารับผมส่งโรงพยาบาล เมื่อข้อเท้าหักผมไม่สามารถเดินหรือแบกอุปกรณ์เดินป่าได้เกือบ ๒ ปี กว่าที่ข้อเท้าจะหายเป็นปรกติ เวลานั้นผมจึงมองหาทางเลือกอื่นที่จะช่วยให้ผมท่องเที่ยวได้ คุณหมอแนะนำให้ผมถีบจักรยาน ผมจึงเริ่มหันมาใช้จักรยานอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๐๑ ทริปแรกของผมคือขี่จักรยานข้ามประเทศออสเตรเลีย ใช้เวลา ๘ สัปดาห์ ระยะทางประมาณ ๓,๐๐๐ กิโลเมตร ข้ามเส้นทาง Uluru (Ayers Rock) จากเมือง Adelaide ไป Alice Springs ผ่านเส้นทางถนนและทะเลทราย ผมเดินทางไปกับเพื่อนคนหนึ่ง เขาเป็นเจ้านายที่อุทยานฯ ซึ่งผมทำงานเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอยู่ด้วย ความจริงผมต้องการไปเที่ยวคนเดียว แต่เจ้านายผมขอมาร่วมด้วย อาทิตย์แรกเราขี่จักรยานผ่านสถานที่ธรรมดาๆ ในตอนเหนือของ Adelaide ซึ่งใครๆ ก็น่าจะทำได้ หลังจากนั้นเราเข้าสู่พื้นที่ที่เริ่มห่างไกลความเจริญมากขึ้น ถนนฝุ่น ทะเลทราย เป็นภูมิประเทศที่คุณจะไม่เห็นในประเทศไทย ความเป็นทะเลทรายกว้างใหญ่ เราไม่สามารถเห็นสิ่งใดมาแบ่งกั้น เวลากางเต็นท์คุณจะเห็นแต่เส้นสุดขอบฟ้า และคุณจะเห็นภาพแบบนี้ได้ก็ต่อเมื่อใช้พาหนะสองล้อเท่านั้น นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมตัดสินใจใช้จักรยานในการเดินทางท่องเที่ยว คือจุดที่จะได้เห็นภาพความกว้างสุดสายตาในทะเลทราย ผมไม่ชอบปั่นจักรยานบนถนนดีๆ ในตัวเมืองหรือชานเมือง ถ้าแบบนั้นผมว่ารถบัสก็ไปได้ และที่สำคัญผมชอบแคมปิงนอนมองท้องฟ้า ดูดาว ผมคิดอีกอย่างว่าการที่ต้องแบกน้ำสำหรับการปั่นจักรยานแค่ ๕ วันมันให้ประสบการณ์ที่ดี ผมว่าคนส่วนมากกลัวการเดินทางไปยังสถานที่ที่ไม่สะดวกสบาย แต่หากลองทำดูคุณจะได้พบกับความงดงามของผู้คน หรือเกิดแรงบันดาลใจจากผู้คนที่พบตลอดเส้นทาง เมื่อเสร็จสิ้นการเดินทางอันยาวไกล ผมกลับถึงบ้าน ผมเริ่มต้นแผนการเดินทางใหม่ ผมไม่เคยเบื่อที่จะเดินทาง จึงได้วางโปรแกรมการปั่นจักรยานท่องเที่ยวในทิเบตขึ้น
เป็นการขี่จักรยานออกนอกประเทศครั้งแรก
ใช่ครับ ราวปี ๒๐๐๓ ผมไปขี่จักรยานกับเพื่อนในประเทศจีน ระยะทางประมาณ ๔,๐๐๐ กิโลเมตร ใช้เวลา ๓ เดือน โดยใช้เส้นทางผ่านทางด้านตะวันตกของทิเบต ตลอดทางเราพบคนทิเบตอัธยาศัยดี เป็นมิตร และซื่อสัตย์ แต่ระหว่างทางจักรยานของเพื่อนผมถูกขโมย มีคืนหนึ่งเราพักค้างคืนชายป่าห่างไกลเมือง ตั้งเต็นท์ข้างลำธารมีเสียงน้ำไหล เราผูกจักรยานไว้กับต้นไม้ข้างเต็นท์ เราเข้านอนแต่หัวค่ำเพราะเหนื่อยจากการเดินทาง ฝนตกปรอยๆ พอตกดึกผมลุกออกไปฉี่ แสงจันทร์ทำให้ผมมองเห็นจักรยานเหลือคันเดียว ผมกลับเข้าไปในเต็นท์ ปลุกเพื่อนว่าจักรยานคุณไปไหน เขาตอบว่าจอดอยู่ข้างๆ ของคุณไง ผมบอกว่าไม่มีแล้ว เขากระโจนออกนอกเต็นท์พบว่ามันหายไปจริงๆ เขาหัวเสียและเสียใจมาก เพราะจักรยานคันนั้นเป็นจักรยานที่พิเศษมาก เขาทำงานในอินโดนีเซียเกือบ ๘ ปี ค่อยๆ สร้างจักรยานด้วยไม้ไผ่เกือบทั้งคันด้วยตัวเอง เราพากันไปหาตำรวจให้ช่วยติดตามแต่ก็ไม่เจอ เขาเสียใจมากถึงกับบินกลับบ้านทันที ผมจึงเดินทางขี่จักรยานต่อไปคนเดียวจนจบทริป ปีต่อมาผมมีทริปปั่นจักรยานจากทิเบต ผ่านประเทศไทยและประเทศพม่า ในปี ๒๐๐๕ ผมขี่จักรยานในทิเบตอีกครั้ง โดยใช้เส้นทางด้านตะวันออกของทิเบต ระยะทางประมาณ ๓,๐๐๐ กิโลเมตรในช่วงฤดูใบไม้ผลิ จากนั้นเดินทางกลับไปสอนที่ออสเตรเลียอีกครั้งเพื่อเตรียมแผนการเดินทาง ครั้งใหญ่ในปี ๒๐๐๖ คือปั่นจักรยานจากเมืองคุนหมิง ประเทศจีน ไปถึงเมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล ข้ามภูเขาระยะทางประมาณ ๔,๐๐๐ กิโลเมตร ใช้เวลาราว ๕ เดือน นั่นเป็นทริปที่ใหญ่มาก
คุณข้ามผ่านชายแดนประเทศจีนเข้าไปทิเบตได้อย่างไร เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
ผมต้องทำผิดกฎหมายโดยการลักลอบเข้าไป มันเป็นหนทางเดียวที่จะทำได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องผ่านแดนบริเวณด่านตรวจที่ตั้งอยู่ตามชายแดนของทิเบต หากคุณมากับรถยนต์และคนขับรถชาวจีนมีใบอนุญาตถูกกฎหมายก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่หากคุณเดินทางอิสระแบบปั่นจักรยานมาเอง คุณต้องทำผิดกฎเพื่อข้ามแดน ผ่านเจ้าหน้าที่ดูแลด่านด้วยการแอบผ่านแดนตอนกลางคืน ผมตื่นตอนตีสาม เก็บสัมภาระพร้อมเดินทางตอนตีสี่ ต้องขี่จักรยานผ่านประตูกั้นเขตแดนก่อนตีห้า คือก่อนที่เจ้าหน้าที่จะตื่นมาตรวจการณ์ ผมทำอย่างนี้ประมาณ ๕ ด่าน ต้องดันจักรยานลอดผ่านประตูและต้องคอยระวังสุนัขตรวจการณ์อีกด้วย ขณะที่ผมผ่านมีเจ้าหน้าที่ ๒ คนนอนหลับในตู้ยาม โดยส่วนมากจะเป็นเช่นนั้นเพราะพวกเขาตรวจการณ์อยู่จนเกือบเที่ยงคืน พอตีสามตีสี่พวกเขาก็หลับ และพวกเขาก็คอยฟังแต่เสียงรถยนต์มากกว่า จึงไม่ทันได้ระวังเสียงของจักรยาน
คุณไม่กลัวถูกเจ้าหน้าที่จีนจับติดคุกหรือ
ไม่ครับ เพราะผมเคยถูกจับตรงชายแดนจีนจากการเดินทางครั้งก่อน ตอนนั้นผมถูกขังอยู่ในโรงแรมและถูกส่งตัวขึ้นรถบัสเที่ยวต่อไปเพื่อกลับเข้า เมือง ผมไม่เคยถูกจับขังในคุกหรือด่านกักกันเลย อาจจะเพราะความเป็นฝรั่งผิวขาวของผมทำให้เจ้าหน้าที่จีนไม่ต้องการมีปัญหา วุ่นวายกับสถานทูตในกรุงปักกิ่ง คงไม่คิดจะจับผมติดคุกเพราะเห็นว่าโทษไม่หนักหนา เลยรีบจัดการส่งผมออกไปให้พ้นๆ มากกว่า เช่นกันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่า ผมถูกจับในพม่า ๒ ครั้งขณะขี่จักรยาน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของรัฐแค่ต้องการให้ผมออกไปให้พ้นจากพื้นที่ที่เขาดูแล ความจริงผมก็กลัวถูกเจ้าหน้าที่จับ แต่ผมกลัวสุนัขมากกว่า เพราะสุนัขสามารถทำร้ายคุณได้ มีนักปั่นจักรยาน ๒ คนถูกสุนัขกัดจนบาดเจ็บ ปัญหาใหญ่เกี่ยวกับสุนัขคือพอตกเย็นเจ้าหน้าที่จีนจะปล่อยสุนัขออกมารักษา ความปลอดภัย ตามชายแดนและตามด่านเส้นทางเข้าเมืองจะมีสุนัขวิ่งโดยรอบทั้งสุนัขตรวจการณ์ และสุนัขของชาวบ้านที่จะคอยไล่กวด
คุณป้องกันตัวจากสุนัขเหล่านี้อย่างไร
เมื่อสุนัขไล่กวดคุณ มีอยู่ ๓ สิ่งที่คุณต้องทำเพื่อป้องกันตัวเอง อย่างแรกคือความเร็ว ปั่นจักรยานให้เร็วที่สุด อันที่ ๒ คือก้อนหิน คุณต้องหาก้อนหินในมือให้มากพอแล้วปาออกไปให้โดนตัวสุนัข แต่วิธีที่ดีที่สุดสำหรับผมคืออันสุดท้าย ใช้ไส้กรอกที่คุณหาซื้อได้ทั่วไปในประเทศจีน ครั้งหนึ่งผมโดนสุนัข ๓ ตัวรุม ตัวแรกกัดล้อจักรยานเพื่อจะให้รถผมหยุด อีก ๒ ตัวมุ่งหน้ามาหาตัวผมเพื่อจะไล่กัด ผมโยนไส้กรอกที่แขวนไว้บนแฮนด์ข้ามไปข้างหลัง สุนัขก็หันไปให้ความสนใจกับไส้กรอก ปล่อยให้ผมผ่านไปได้ ดังนั้นผมจะมีไส้กรอกแขวนไว้ที่แฮนด์รถตลอดในทุกเส้นทางที่อยู่นอกเมือง
ผมอาจโชคดีไม่เคยถูกสุนัขเห่าหรือไล่กวดตรงบริเวณด่านตรวจชายแดน ส่วนใหญ่จะก่อนถึงด่านหรือหลังพ้นด่านตรวจไปแล้ว ผมค่อนข้างจะโชคดี แต่จริงๆ แล้วสุนัขโผล่มาให้เห็นได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะตรงบริเวณชายแดนหรือใจกลางเมือง เราไม่สามารถรู้ได้ว่ามันมาจากตรงไหน ในความมืด เช้าตรู่ตอนตีสี่ ระดับความสูง ๔,๐๐๐ เมตร หนาวจัดติดลบ ๒๐ องศาเซลเซียส คุณสามารถถูกสุนัขไล่กวดได้ นั่นเป็นความกลัวที่สุดของผม ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะตอนที่ถูกจับผมรู้ว่าตำรวจทำแค่กักคุณไว้และหาวิธีส่งคุณออกนอกประเทศ เท่านั้น
จักรยานคู่ชีพบนแผ่นดินพาทาโกเนียประเทศอาร์เจนตินา
ท่ามกลางหิมะและความหนาวยะเยือกขณะปั่นจักรยานในทิเบต
ระหว่างปั่นจักรยานผ่าน Trola Pass ไม่ไกลจากมณฑลเสฉวน ที่ความสูง ๔,๙๘๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล
คุณเดินทางขี่จักรยานในประเทศจีนมาหลายครั้ง คิดว่าการเดินทางครั้งไหนตื่นเต้นที่สุด
ทริปที่ตื่นเต้นที่สุดคือจากคุนหมิงไปกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล เพราะต้องปั่นจักรยานข้ามภูเขาไม่ต่ำกว่า ๒๐ ลูก ข้ามแม่น้ำใหญ่ ๓ สาย ผมต้องผ่านแม่น้ำแยงซี แม่น้ำโขง และแม่น้ำสาละวิน ต้องปั่นจักรยานไปตามยอดเขาที่สูง ๕,๐๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลลงไปที่ระดับ ๒,๐๐๐ เมตร แล้วก็ปั่นจักรยานขึ้นภูเขาอีกรอบ ระยะทางเกือบ ๒๐๐ กิโลเมตร เพื่อที่จะข้ามยอดเขาแต่ละลูก ใช้เวลาเกือบเดือนกว่าจะผ่านข้ามไปได้ แต่โชคดีที่ถนนในจีนค่อนข้างดีมาก ไม่ลาดชันจนกระทั่งปั่นจักรยานขึ้นเขาไม่ได้
คุณเผชิญกับปัญหาการหายใจในระดับความสูงที่แตกต่างกันอย่างไร
หากคุณขี่จักรยานขึ้นมาถึงระดับ ๓,๐๐๐ เมตรแล้ว มันยากมากเรื่องการหายใจ คุณต้องปรับสภาพร่างกาย ต้องพักอยู่กับที่สัก ๒-๓ วันหรือประมาณ ๑ สัปดาห์ แล้วต้องเดินรอบๆ เมืองเพื่อให้ร่างกายปรับตัว ใช่ว่าจะสามารถเริ่มปั่นจักรยานต่อได้ทันที ต้องรอจนกว่าร่างกายจะพร้อมและเริ่มปั่นจักรยานได้ ซึ่งไม่ค่อยมีปัญหามาก แต่ช่วงยากลำบากที่สุดคือเมื่อต้องไต่ระดับที่ ๕,๐๐๐ เมตรขึ้นไปครั้งแรก วันนั้นผมจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ความทรงจำมันเลือนหายไปชั่วระยะหนึ่ง รู้แต่ว่าผมปีนขึ้นไปเพื่อจะถ่ายภาพแต่ไม่รู้ว่าเป็นภาพอะไร เหมือนกับมันลืมทุกอย่างไปเลยในช่วงเวลานั้น แต่หลังจากนั้นเมื่อปรับตัวได้ผมก็ไม่เป็นอะไร ผมไม่เจ็บป่วย ไม่รู้สึกหายใจไม่ออก มันจะยากแค่ตอนแรกที่ถึงจุดเท่านั้น ผมต้องค่อยๆ ปั่นจักรยานเคลื่อนตัวไปข้างหน้า แต่บางครั้งผมไม่สามารถปั่นต่อได้ ต้องค่อยๆ ดันจักรยานไปทีละนิด ผมรู้ว่ามันอันตรายมากอาจทำให้ตายได้ ซึ่งผมก็ประเมินร่างกายตัวเองด้วยว่าสามารถรับได้มากน้อยแค่ไหน เคล็ดลับสำหรับนักปั่นจักรยานทั่วไปคือตั้งเป้าหมายข้างหน้าไม่ต้องไกล อาทิตั้งเป้าไว้ว่าจะไปถึงจุดหมายข้างหน้าในเวลา ๑๕ นาที แล้วก็ค่อยๆ ปั่นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดหมาย พอถึงที่หมายก็มองต่อไปข้างหน้าทีละนิด โอ้ ! จุดหมายข้างหน้าอีก ๑๐ นาที คุณไปต่อเรื่อยๆ ไม่ต้องรีบเร่ง ไปทีละนิด และสิ่งที่ยากที่สุดไม่ว่าจะเป็นนักเดินป่าหรือนักปั่นจักรยานทางไกลคือ เรื่องของร่างกายและจิตใจ เพื่อนบางคนร่างกายอาจดูไม่แข็งแรงมากนัก แต่จิตใจเธอสู้และอดทนทำให้เธอผ่านมันไปได้
ตอนท้ายๆ ของทริปขณะจะข้ามด่านสุดท้ายเข้าสู่เนปาล ผมป่วยจากอาหารเป็นพิษ ร่างกายผมอ่อนแอมาก ความเจ็บป่วยทำให้การจะปั่นจักรยานขึ้นที่สูงยากมากๆ แต่ว่าโชคดีผมพบเพื่อนร่วมทาง สองคนแรกมาจากทิเบต และอีกสองคนเป็นชาวสเปนจากบาร์เซโลนา พวกเขาน่ารักมาก คอยดูแล รอผมเป็นระยะๆ จนกระทั่งถึงจุดหมาย ขณะที่ร่างกายอ่อนแอมากๆ จากความสูงที่ระดับ ๕,๒๕๐ เมตร ผมค่อยๆ ไต่ระดับลงมาที่ความสูง ๖๐๐ เมตร ใช้เวลาเกือบอาทิตย์ นั่นเป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุด เพราะการเดินทางคนเดียวในต่างแดน เมื่อคุณเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยหรือบาดเจ็บคุณจะรู้สึกแย่มากๆ ผมโชคดีที่ได้เจอเพื่อนร่วมทางทำให้ผ่านมาได้
ไม่นานมานี้คุณเพิ่งปั่นจักรยานข้ามทวีปอเมริกาใต้
ผมมีแผนการเดินทางใหญ่สำหรับอเมริกาใต้ เพราะผมเคยไปมา ๒ ครั้ง ตอนปี ๑๙๘๔ และปี ๑๙๙๒ ตอนนั้นผมไปแบบนักท่องเที่ยวสะพายเป้ ไม่ได้ปั่นจักรยาน และผมก็ตั้งใจว่าอยากจะกลับไปเที่ยวแบบปั่นจักรยานอีกสักครั้ง แผนของผมเริ่มต้นปั่นจักรยานจากตอนเหนือสุดของทวีปผ่าลงมาใต้สุด ระยะทาง ๑๐,๐๐๐ กิโลเมตร ความคิดก็คืออยากจะปั่นจักรยานให้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผ่านยอดเขา ฟ้ากว้าง กะว่าจะใช้เวลาประมาณ ๑๐ เดือน ผมเริ่มต้นปั่นจักรยานในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๘ จากชายฝั่งทะเลแคริบเบียนของประเทศโคลอมเบียที่อากาศร้อน ทะเลอุ่น ผ่านตามสันเขาของเทือกเขาแอนดีส ลงไปประเทศเอกวาดอร์ เปรู โบลิเวีย อาร์เจนตินา และมาสิ้นสุดที่ติเอร์-ราเดลฟูเอโก เมืองที่อยู่ใต้สุดของโลกในประเทศชิลี อากาศเย็นยะเยือกและทะเลเป็นน้ำแข็ง โดยมีแผนจะจบทริปกลางเดือนธันวาคมก่อนวันคริสต์มาสปีเดียวกัน
ช่วงแรกของการปั่นจักรยานในโบลิเวีย ผมไม่ค่อยประทับใจเพราะปั่นไปตามทางหลวงที่เต็มไปด้วยรถบรรทุก รถประจำทาง และการจราจรติดขัด ผมพยายามหาเส้นทางลัดไปในป่าดิบและหมู่บ้านเล็กๆ ตามชนบท มันงดงาม สดชื่นและอากาศเย็นสบายมาก ถนนบนภูเขาค่อนข้างชันเหมือนในทิเบต บางทีระยะทางเพียง ๑.๕ กิโลเมตรแต่มีความสูงชันถึง ๑๐๐ เมตร มีอยู่ช่วงหนึ่งผมปั่นจักรยานขึ้นไปสูงถึงระดับ ๗,๐๐๐ เมตร มันยากลำบากมหาศาลทีเดียว จิตใจต้องทรหดสุดยอดจริงๆ และทำให้ผมเข้าใจแล้วว่าทำไมแต่ละปีมีนักปั่นจักรยานจากประเทศโบลิเวียไป สร้างชื่อในการแข่งจักรยานสุดหฤโหดอย่างตูร์เดอฟรองซ์ได้
บางเส้นทางบนสันเขา ผมผ่านไร่อ้อย ไร่กาแฟขนาดใหญ่กินพื้นที่ภูเขาเป็นลูกๆ นี่เป็นสภาพการบุกรุกทำลายป่า บางเส้นทางต้องเผชิญกับอากาศร้อนกว่า ๔๐ องศาเซลเซียสหรือสภาพฝนตกหนักดินถล่ม ต้องขี่ลุยโคลนอย่างหนัก บางครั้งปั่นจักรยานเข้าไปเจอทหารที่ไม่ค่อยเป็นมิตร ผ่านเหมืองทองคำ บางทีระหว่างทางในป่าพบโบราณสถาน รูปปั้นของชนเผ่าอินคาโบราณอายุหลายพันปี บางครั้งไปอาศัยอยู่กับชาวอินเดียนหลายเผ่าตามชนบทห่างไกล ไม่รวมการได้สำรวจต้นไม้ ดอกไม้ นก และสัตว์ป่าหลายร้อยชนิดที่พบเห็นระหว่างทาง
พอเดินทางไปได้ ๓-๔ เดือน ผมประสบอุบัติเหตุเสียก่อน เรื่องของเรื่องก็คือตอนอยู่ในเปรู ผมปั่นจักรยานบนถนนที่สภาพแย่มาก ขณะกำลังปั่นลงจากเขาระดับ ๒,๐๐๐ เมตร จักรยานสะดุดลงไปในหลุมมีหินก้อนใหญ่ ผมล้มลงกับพื้นคลุกฝุ่นบนถนน ไหล่กระแทกหิน ผมได้ยินเสียงกระดูกหัก เลือดไหลเยอะมาก ผมต้องนอนรออยู่เกือบ ๒ ชั่วโมงถึงสามารถขยับตัวได้ ผมลากตัวเองและจักรยานไปนอนใต้ต้นไม้ จนกระทั่งมีรถบัสผ่านมาและนำส่งโรงพยาบาล หมอบอกว่าไหปลาร้าหัก อาการหนักมาก หมอก็พยายามดามส่วนที่หักให้เข้าที่แต่มันผิดวิธี ทำให้ผมต้องใช้เวลารักษานานผิดปรกติ ผมบินกลับบ้านที่ออสเตรเลียเพื่อรักษาอาการเกือบ ๖ เดือน
ปีต่อมาคุณกลับมาปั่นจักรยานอีกครั้ง
ผมตั้งใจทำความฝันของผมให้สำเร็จ พอหายดีผมก็กลับมาเริ่มต้นปั่นจักรยานใหม่ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๙ โดยเริ่มต้นในเปรู เหตุผลที่เลือกไปช่วงเดือนพฤษภาคมเพราะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดสำหรับการ ปั่นจักรยาน ช่วงพฤษภาคม-สิงหาคมอากาศค่อนข้างสบาย เมื่อผมวางแผนเดินทางก็ต้องเลือกช่วงที่เหมาะสมไว้ก่อน เปรูเป็นประเทศที่สร้างความตื่นเต้นและความประหลาดใจให้เรามากที่สุดใน อเมริกาใต้ก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นภูมิศาสตร์ โบราณสถานเก่าแก่ของพวกอินคา ป่าไม้ ความแห้งแล้ง ภูเขา วัฒนธรรมที่น่าสนใจ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมคิดจะหาทางลัดอ้อมไปเมืองข้างหน้าโดยต้องข้ามแม่น้ำสายหนึ่ง ชาวบ้านบอกว่าช่วงนี้เป็นหน้าน้ำหลาก น้ำไหลเชี่ยวลึกและแรงมาก ข้ามไม่ได้หรอก ให้กลับมาอีกทีเดือนสิงหาคมถึงจะข้ามได้ แต่ผมดื้อจะข้ามให้ได้ ชาวบ้านก็ใจดีอุตส่าห์เอาเชือกมาผูกกับต้นไม้เป็นหลัก พอมาถึงแม่น้ำ ผมยังมั่นใจว่าจะลุยน้ำข้ามไปได้ และผมก็เดินลงแม่น้ำ มือข้างหนึ่งแบกจักรยาน อีกข้างดึงเชือกเอาไว้ แต่เดินลุยไปได้สักพัก น้ำไหลแรงมากจนผมแทบยืนไม่ไหว และกลัวจักรยานจะหล่นน้ำ ผมพยายามถึง ๒ ครั้งจึงยอมแพ้ เพราะแน่ใจแล้วว่าหากดื้อลุยน้ำต่อไป ไม่เฉพาะจักรยานที่จะสูญหายไปกับกระแสน้ำ แต่คงรวมถึงชีวิตผมด้วย
ต่อจากนั้นเราเข้าสู่ประเทศโบลิเวีย มันมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง โบลิเวียเป็นประเทศค่อนข้างยากจน ผมชอบชาวโบลีเวียที่ได้พูดคุยด้วย ผมปั่นจักรยานที่ระดับความสูง ๔,๐๐๐ เมตร ตามเส้นทางขึ้นๆ ลงๆ ผ่านภูเขาสูงตลอด ต้องอาศัยประสบการณ์การขี่จักรยานพอสมควร บางครั้งเจอพายุฝุ่นพัดรุนแรงมากจนไม่สามารถมองอะไรได้เกิน ๒ เมตร จากนั้นเราข้ามผ่านทะเลสาบเกลือระยะทาง ๒๐๐-๓๐๐ กิโลเมตร ต้องทาครีมกันแดดและสวมแว่นกันแดดตลอดเวลาเพราะแดดแรงมากจากแสงสะท้อนบนผิว ผลึกเกลือ มิฉะนั้นตาอาจบอดได้ หลังจากนั้นผ่านเข้าสู่อาร์เจนตินา บริเวณทางใต้ของทวีปที่เรียกว่า พาทาโกเนีย เราเผชิญสภาพอากาศแปรปรวนตลอดทาง ลมแรงมาก ความเร็วลมวัดได้ ๑๔๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นแรงลมต้านเพราะเรากำลังมุ่งสู่ตอนใต้ แรงลมผ่านมาทางไหล่ ดังนั้นคุณต้องผลักจักรยานต้านไปข้างหน้า ไม่เช่นนั้นแรงลมอาจทำให้คุณล้มได้ คุณต้องผลักจักรยานแทนการปั่นไปข้างหน้า ตลอดวันเราเดินทางได้เพียง ๒๐ กิโลเมตรโดยที่ทั้งวันจะต้องผลักจักรยานไปข้างหน้าเท่านั้น และไม่สามารถหยุดพักได้เพราะไม่มีจุดให้พัก ไม่มีต้นไม้ให้หลบแรงลม เราต้องเดินทางต่อไป พอข้ามไปตามเส้นทางเทือกเขาแอนดีสของชิลี เราเจอแต่ฝน ฝนมาจากทวีปแอนตาร์กติกา เราพบเห็นพันธุ์ไม้มากมาย บางชนิดเป็นพืชเก่าแก่ตั้งแต่ยุคกอนด์วานา*คล้ายพืชบางชนิดที่พบในแผ่นดิน เก่าแก่ของออสเตรเลีย ผมเดินทางจนถึงปลายสุดของทวีปอเมริกาใต้ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๒๐๐๙ สิ้นสุดการเดินทางระยะทางหมื่นกิโลเมตร
ปีเตอร์ปั่นจักรยานผ่านเทือกเขา Flinders Ranges ทางตอนใต้ของทวีปออสเตรเลีย
ขณะปั่นผ่านอุทยานแห่งชาติ Torres del Paine ทางตอนใต้ของชิลี
เกือบสิ้นสุดระยะทาง ๑๐,๐๐๐ กิโลเมตรของการปั่นจักรยานในทวีปอเมริกาใต้จากเหนือจรดใต้
คุณเคยถูกปล้นจี้ระหว่างทางหรือไม่
มันไม่ได้เกิดขึ้นในการเดินทางครั้งนี้ แต่ครั้งแรกที่ผมเดินทางเมื่อปี ๑๙๘๔ (ยังไม่ได้ปั่นจักรยาน) ผมถูกปล้น ๕ ครั้ง ในเปรู กัวเตมาลา และเอกวาดอร์ บางครั้งผมต่อสู้ชกต่อยกับพวกหัวขโมยจนบาดเจ็บ แต่ครั้งนี้ผมประหลาดใจมากที่ไม่โดนขโมยเลย อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอเมริกาใต้เมื่อเทียบกับทริปก่อนหน้านี้ ช่วงเวลานั้นโดยเฉพาะราวยุค ๘๐ เป็นช่วงที่ไม่ปลอดภัยจริงๆ ครั้งนี้ผมก็กลัวเหมือนกัน แต่ผมระวังตัวมากขึ้น เมื่อคุณปั่นจักรยานคุณต้องระวัง พยายามพักค้างคืนในสถานที่ห่างไกลชุมชน ไม่ค้างในโรงแรม เมื่อหยุดพักก็ต้องซ่อนเต็นท์ให้ดี ในเปรูมีอาชญากรรมมาก ขณะที่ในโคลอมเบียมีข่าวการจี้ปล้นนักท่องเที่ยวกันมาก แต่ผมพบว่ามันเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดในบรรดาประเทศต่างๆ ของอเมริกาใต้ ผู้คนที่ผมพบล้วนมีมนุษยสัมพันธ์ดี ผมคิดว่าคนที่นี่น่ารัก ให้ความเป็นมิตร และยินดีต้อนรับชาวต่างชาติ ผมรักโคลอมเบีย นักปั่นจักรยานและนักท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ผมพบในโคลอมเบียต่างก็พูดในทำนองเดียวกับผม
คุณวางแผนเลือกเส้นทางในการขี่จักรยานอย่างไร
ความคิดของผมคือใช้เส้นทางบริเวณเทือกเขาแอนดีสเป็นหลัก ซึ่งจะพบกับท้องฟ้ากว้าง แผ่นดินกว้างสุดๆ เมืองแต่ละเมืองห่างกันเป็นร้อยๆ กิโลเมตร มองไปเห็นภูเขาไกลๆ สุดตา ผมไม่ค่อยอยากขี่จักรยานตามเส้นทางไฮเวย์นักปั่นจักรยานหลายคนเลือกใช้เส้น ทางนั้น แต่มันค่อนข้างน่าเบื่อสำหรับผม ระหว่างทางไม่มีอะไรน่าสนใจ ผมพยายามเลือกเส้นทางที่ไม่ใช่ถนนหลัก โดยใช้ถนนสายรองหรือถนนตามชนบทให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ระหว่างทางผมไม่ค่อยเจอนักปั่นจักรยาน ในเปรูเจอ ๖ คน ในชิลีและอาร์เจนตินาได้เจอนักปั่นจักรยานจากยุโรปจำนวนมาก อาจเป็นเพราะเข้าสู่ดินแดนที่เรียกว่าพาทาโกเนียทางตอนใต้ของทวีปซึ่งมีชื่อ เสียงและเป็นแหล่งอุดมด้วยความหลากหลายทางธรรมชาติ เราได้พบนักปั่นจากยุโรปที่ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๓ เดือนจากชิลีไปอาร์เจนตินา
โดยปรกติผมจะใช้แผนที่และจีพีเอสในการกำหนดทิศทางและเวลาในการปั่นจักรยาน แต่ละวัน บางครั้งผมจะสอบถามเส้นทางจากคนท้องถิ่นเพื่อความแน่ใจอีกครั้งก่อนออกเดิน ทาง ด้วยคำถามซ้ำๆ ว่า “จากเมืองนี้ไปเมืองข้างหน้าระยะทางกี่กิโลเมตร” “เส้นทางขึ้นเขาข้างหน้าชันเพียงใด” ซึ่งมักได้รับคำตอบมึนงงทุกที ครั้งหนึ่งในเอกวาดอร์ ผมถามชาวบ้านถึงหุบเขาข้างหน้าว่าลึกมากไหม คำตอบที่ได้คือนิดหน่อย ทางขึ้นๆ ลงๆ เล็กน้อย แต่เอาเข้าจริงมันกลายเป็นเส้นทางชันที่สุด ผมใช้เวลา ๒ วันปั่นจักรยานขึ้นเขาเกือบ ๔,๐๐๐ เมตร อีกครั้งหนึ่งผมถามเจ้าของร้านชำในหมู่บ้านแห่งหนึ่งว่าหมู่บ้านข้างหน้าไป ไกลไหม เขาบอกว่าปั่นจักรยานไปอย่างมากไม่เกินชั่วโมง แต่วันนั้นผมใช้เวลาถึง ๖ ชั่วโมงปั่นจักรยานไปตามถนนที่เป็นเลนโคลนระยะทาง ๔๐ กิโลเมตร บางทีป้ายชื่อเมืองที่ปักตามทางก็บอกระยะทางผิดไปนับร้อยกิโลเมตร รวมถึงบรรดาไกด์บุ๊กทั้งหลายก็ไม่เคยลงระยะทางได้ถูกต้องจริงๆ
ตลอดทางคุณต้องบรรทุกอะไรไปพร้อมกับจักรยานบ้าง
แน่นอนว่ามีเต็นท์ เสบียงอาหาร น้ำ ตลอดทางหากมีโอกาสผมอาจจะพักในโรงแรม อย่างเช่นในโคลอมเบียส่วนใหญ่ผมพักในโรงแรม ในเอกวาดอร์พักทั้งในโรงแรมและแคมปิง ในโบลิเวียถ้าทำได้ผมเลือกพักในโรงแรมเพราะราคาแค่ ๓ เหรียญต่อคืน แต่ในเปรู ชิลี และอาร์เจนตินา ส่วนใหญ่ผมนอนในเต็นท์เพราะค่าโรงแรมแพง และทำอาหารกินเอง บางครั้งผมต้องแบกน้ำและเตรียมเสบียงให้เพียงพอสำหรับการปั่นจักรยาน ๕-๖ วันโดยไม่เจอใครเลย บางทีผมซื้อไก่ตัวเป็นๆ เป็นอาหารระหว่างทางด้วย เราขนน้ำประมาณ ๓๐ ลิตร หากรวมเสบียงอาหาร เสื้อผ้า เต็นท์ เตา อุปกรณ์แคมปิง โน้ตบุ๊ก กล้อง หนังสือ รวมน้ำหนักหนักที่สุดประมาณ ๕๐-๖๐ กิโลกรัม ส่วนที่มีน้ำหนักมากที่สุดน่าจะเป็นอุปกรณ์สำรองสำหรับจักรยาน ผมมีล้อยาง ๒ เส้นและยางในสำรองอีก ๒ เส้น มีอุปกรณ์ซ่อมจักรยานจำนวนมาก จึงเป็นส่วนที่หนักมากกว่า
ทำไมคุณต้องแบกน้ำถึง ๓๐ ลิตรในเมื่อมีตัวกรองน้ำพกติดตัว หรือคุณไม่แน่ใจว่าจะพบแหล่งน้ำหรือไม่
ใช่ครับ จากประสบการณ์ในออสเตรเลีย น้ำสำคัญที่สุดกับชีวิต ผมแบกน้ำ ๒๕ ลิตรสำหรับการขี่จักรยาน ๑๐ วัน เพราะในออสเตรเลียเราไม่สามารถพบแหล่งน้ำได้ และแม้ว่าเราจะพบแหล่งน้ำก็ตาม เราใช้ตัวกรองน้ำเพื่อใช้น้ำในการซักล้างหรือทำอาหารเท่านั้น ไม่จำเป็นจริงๆ จะไม่ดื่มน้ำที่ผ่านตัวกรองน้ำเพราะหากเกิดเจ็บป่วยขึ้นมามันอันตรายมาก ดังนั้นน้ำที่แบกไปใช้ดื่มอย่างเดียว ส่วนวิธีการไปห้องน้ำ ส่วนใหญ่ผมก็ขุดหลุม ผมต้องมีจอบเล็กๆ ไว้ขุดหลุม เราระมัดระวังการใช้น้ำ ในอาร์เจนตินากับโบลิเวียการขุดหลุมทำได้สบายมากเพราะสภาพเป็นทราย ไม่ต้องมีอุปกรณ์ใช้มือขุดก็ได้ แต่ยากที่สุดคือตรงทะเลสาบเกลือ เราไม่สามารถขุดหลุมได้ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถปักเสาเต็นท์ลงได้เพราะผลึกของเกลือแข็งมากๆ
การปั่นจักรยานแตกต่างจากการเดินทางโดยรถบัสหรือการเดินเท้าอย่างไร
ผมเคยเป็นนักเดินทาง และการเดินทางโดยรถประจำทางมันจำกัดการเดินทาง จากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งตามเส้นทาง นักเดินทางอาจมองออกไปนอกหน้าต่าง แต่ก็ทำได้เพียงมองผ่านทิวทัศน์ มองผ่านไปยังผู้คน แต่เมื่อคุณปั่นจักรยาน คุณสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรายทาง เห็นวิวทิวทัศน์กระจ่างใส มองได้ไกลไม่มีขอบเขตอะไรขวางกั้น แสงจากธรรมชาติและภูเขาที่มองเห็น แล้วคุณจะหยุดเมื่อไรก็ได้ คุณมีอิสระ ไม่ต้องรอคนขับจอดแวะเข้าเมืองถึงจะลงจากรถได้ เมื่อคุณนั่งเครื่องบิน คุณข้ามผ่านสิ่งต่างๆ มากมาย เมื่อคุณอยู่ในรถบัส คุณมองไม่เห็นรายละเอียดข้างทาง คุณได้แต่มองผ่านกระจกบานเล็ก แต่เมื่อคุณอยู่บนจักรยานคุณจะมองเห็นภาพกว้างมากๆ โดยไม่ต้องผ่านกระจก และสามารถจอดได้ทุกเมื่อที่ต้องการถ่ายภาพ จดบันทึกได้ตลอดทาง ส่วนการเดินเท้า ผมคิดว่ามันอาจจะช้าเกินไป จากโคลอมเบียถึงอาร์เจนตินา คุณอาจจะใช้เวลาเดิน ๓-๔ ปี และที่สำคัญผมชอบการปั่นจักรยาน ปั่นแล้วมีความสุข หรืออาจจะเป็นเพราะร่างกายของผมในวัย ๕๑ ปี ข้อเท้าเคยหัก หลังเคยหัก การปั่นจักรยานจึงน่าจะเหมาะสมกับร่างกายของผมมากกว่า
มีคนถามผมเหมือนกันว่า ทำไมไม่ขับมอเตอร์ไซค์ท่องเที่ยว ผมบอกว่า ประการแรกการขับมอเตอร์ไซค์ต้องใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ทำให้เกิดมลภาวะ ประการต่อมา ผมไม่แน่ใจว่าคุณจะพบอะไรข้างทาง ตอนที่ผมขี่จักรยานตามเส้นทางหนึ่งในชิลีที่มีสภาพแย่มาก ขรุขระ แล้วเราก็ได้ยินเสียงดังกระหึ่มของมอเตอร์ไซค์ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในเส้น ทางนี้ มอเตอร์ไซค์ทั้งกลุ่มขับผ่านไปเสียงดัง ผ่านบ่อหลุม กลุ่มควันฟุ้งตลบ บางคนสวมหมวกกันน็อก แว่นกันแดด ไอพอดเสียบหู ฯลฯ แต่พวกเขาไม่เห็นอะไรเลย ไม่ต่างกับการนั่งอยู่ในรถ หลังจากกลุ่มนั้นผ่านไป เรานั่งพักกินอาหารกลางวันอยู่ข้างลำธารเล็กๆ เราเจอนกหัวขวานขนาดใหญ่ถึง ๕ ตัวซึ่งอาจจะเป็นนกหัวขวานชนิดพันธุ์ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่พวกเขาไม่เห็นอะไรเลย คุณจะไม่ได้ยินเสียงอะไรและไม่เห็นอะไรในขณะขับรถมอเตอร์ไซค์
ระหว่างทางมีคนถามไหมว่าทำไมมาปั่นจักรยานคนเดียว
หลายคนถามผมว่าทำไมใช้จักรยาน คนจนเท่านั้นที่ใช้จักรยาน ที่แย่ที่สุดตอนผมปั่นในทิเบตคนเดียว ผมมักเจอคำถามจากคนท้องถิ่นประมาณว่า ทำไมคุณปั่นจักรยาน ทำไมคุณมาเที่ยวคนเดียว เพื่อนคุณไปไหน นั่นเป็นเรื่องใหญ่สำหรับพวกเขา แม้กระทั่งคนทิเบตที่รับเอาพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมผมปั่นจักรยานมาคนเดียว ผมคิดว่าผมมีความสุขในการปั่นจักรยานจากจุดเอไปจุดบี เมื่อปั่นจักรยานทั้งวันในทุกๆ วัน มันเป็นความรู้สึกสุดยอดที่เหลือเชื่อ ความรู้สึกที่ต้องปั่นผ่านสถานที่แห่งหนึ่งไปสู่อีกแห่งหนึ่งผมไม่รู้จะ อธิบายยังไง มันไม่เหมือนเวลาที่คุณเดินป่า คุณได้พักตลอดเส้นทางหรือได้พูดคุยกับเพื่อนร่วมทาง แต่หากคุณปั่นจักรยาน คุณไม่สามารถพูดคุยกับใคร ผมใช้ความเร็วในการปั่นจักรยานต่างกันกับเพื่อนร่วมทาง ปรกติเราปั่นจักรยานห่างกันประมาณ ๑ กิโลเมตร ณ จุดนั้นผมอยู่ในโลกของผมเพียงลำพัง ผมมีเวลาให้คิดถึงในหลายๆ สิ่งที่ผ่านมา บางครั้งผมคิดอะไรได้ ผมจอดแล้วจดบันทึกลงสมุดแล้วปั่นต่อไป มันเป็นความสุขสงบที่ไม่สามารถบอกใครได้ แม้จะเป็นการเดินทางที่ช้าแต่ผมเชื่อว่าการใช้ชีวิตช้าๆ เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตคนทุกวันนี้ เพื่อนๆ ของผมในวัยใกล้เคียงมีตำแหน่งใหญ่ลาออกจากงาน เลิกอาชีพ และเริ่มต้นปั่นจักรยาน โดยเฉพาะรอบๆ ออสเตรเลียมีคนเริ่มใช้ชีวิตอย่างง่ายๆ และใช้ชีวิตสีเขียวอย่างเต็มที่
อยากบอกอะไรกับคนไทยเกี่ยวกับการขี่จักรยาน
ผมอยากจะบอกให้คนกรุงเทพฯ หันมาใช้จักรยาน คุณจะมีอิสรภาพมากกว่าการโดยสารรถเมล์ คุณไม่ต้องเสียเวลารอรถเมล์นานเพื่อจะได้เดินทาง คุณมีพาหนะเดินทางด้วยตัวเอง คุณมีความหวังที่จะทำให้มลพิษลดลง แน่นอนคุณมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน แต่อย่างไรก็ตามผมพบว่ามันยากมากในกรุงเทพฯ ในสภาพการจราจรแบบนี้ สำหรับคนไทยผมพบว่าคนไทยปั่นจักรยานเหมือนกีฬาอย่างหนึ่ง พวกเขาใช้อุปกรณ์ตกแต่งค่อนข้างมาก ผมไม่เคยใส่ชุดสำหรับนักปั่นจักรยาน ผมเพียงแค่ใช้จักรยานอย่างมีความสุข สนุกกับการปั่น ในออสเตรเลียมีการรณรงค์ว่าทุกๆ คนสามารถปั่นจักรยานได้ ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ประกอบจำนวนมาก มันคือทางเลือกในการเดินทาง ปั่นไปทำงาน ปั่นไปโรงเรียน หรือปั่นไปเที่ยว ซึ่งเป็นแนวทางที่คนไทยหรือไม่เฉพาะคนไทย คนทั่วโลกควรหันมาใช้จักรยานโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์มากมาย คนที่มุ่งมั่นจะทำมักจะทำได้ในสิ่งที่ต้องการ
อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุขในการปั่นจักรยาน
เมื่อผมปั่นจักรยาน สิ่งที่ผมได้อย่างเต็มเปี่ยมก็คือ ผมมีอิสรภาพ มีเสรีภาพ มองโลกอย่างมีความหวังในการใช้ชีวิต มีความสุขสุดยอดขณะอยู่บนอานจักรยาน และสามารถไปถึงสถานที่ที่อยากไปได้ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของโลก เท่านี้ก็เพียงพอแล้วครับสำหรับการใช้ชีวิตอยู่บนอานจักรยาน
หมายเหตุ :
สนใจอ่านเรื่องราวของนักปั่นจักรยานผู้นี้เพิ่มเติมได้ที่
http://andesbybike.blogspot.com/
เชิงอรรถ
*เมื่อประมาณ ๒๐๐ ล้านปีก่อน แผ่นเปลือกโลกแบ่งออกเป็น ๒ ทวีป คือทางตอนเหนือเรียกว่าทวีปลอเรเซีย (Laurasia) ซึ่งกลายมาเป็นทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย และทางตอนใต้เรียกว่าทวีปกอนด์วานา (Gondwana) ซึ่งกลายมาเป็นทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา ออสเตรเลีย อินเดีย แอนตาร์กติกา