เรื่อง ฐิตินันท์ ศรีสถิต
>> ตะเกียบเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวจีนและชนชาติเอเชียมาช้านาน หลักฐานเก่าแก่ที่สุดคือตะเกียบอายุกว่า ๓,๒๐๐ ปีซึ่งถูกขุดค้นพบที่สุสานในประเทศจีน ทั้งยังมีหลักฐานบันทึกไว้ว่า จักรพรรดิองค์สุดท้ายในสมัยราชวงศ์ซางใช้ตะเกียบที่ทำจากงาช้างตั้งแต่เมื่อ ประมาณ ๑,๑๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าน่าจะมีการใช้งานตะเกียบไม้และตะเกียบไม้ไผ่ก่อน หน้านั้นอีกราวๆ ๑,๐๐๐ ปี
>> ตะเกียบที่ใช้งานกันในปัจจุบันมีหลายลักษณะ ตะเกียบยาวสำหรับการประกอบอาหาร ตะเกียบสั้นเหมาะมือใช้เพื่อการรับประทานโดยเฉพาะ ตะเกียบจีนส่วนใหญ่เป็นแท่งตรงใช้คีบอาหารทั่วๆ ไป ขณะที่ตะเกียบญี่ปุ่นมักมีปลายเรียวเล็กซึ่งออกแบบมาให้คีบอาหารชิ้นเล็กๆ หรือคีบก้างออกจากเนื้อปลาได้โดยสะดวก
>> เมื่อประมาณ ๓ ปีที่แล้วปรากฏข้อมูลว่า ประเทศจีนผลิตตะเกียบไม้ปีละ ๔๕ ล้านคู่ เทียบเท่ากับต้นไม้ที่เป็นวัตถุดิบต้นทางจำนวน ๒๕ ล้านต้น โดยมากกว่าครึ่งของทั้งหมดถูกส่งออกไปขายในประเทศญี่ปุ่น จนถึงปัจจุบันจีนก็ยังครองแชมป์ผู้ผลิตตะเกียบรายใหญ่ที่สุดของโลกด้วยสถิติ ๖๓,๐๐๐ ล้านคู่ต่อปี
>> อัตราการบริโภคตะเกียบใช้แล้วทิ้งที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อายุการใช้งานของตะเกียบแต่ละคู่สั้นลง เหลือเพียงช่วงเวลาสำหรับ ๑ อิ่มเท่านั้น กลายเป็นความไม่คุ้มค่าของทรัพยากรและพลังงานที่ใช้ไปในทุกขั้นตอนก่อนมันจะ เดินทางถึงมือและปากของผู้บริโภค
>> กระแสต่อต้านการใช้ตะเกียบไม้ครั้งเดียวทิ้งเกิดขึ้นในช่วงที่จีนกำลังจะ ปฏิบัติภารกิจเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกปี ๒๐๐๘ และจีนก็รับมือด้วยการขึ้นภาษีตะเกียบไม้อีก ๕ เปอร์เซ็นต์ ทว่ามันก็ยังเป็นที่ต้องการของร้านอาหารจำนวนมาก เพราะทั้งสะดวกใช้ ไม่ต้องล้าง แถมพ่วงภาพลักษณ์ที่ดูสะอาดปลอดภัยกว่าตะเกียบใช้ซ้ำ ซึ่งอาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป
>> ไม่ปรากฏยอดรวมของตะเกียบใช้แล้วทิ้งจากกิจกรรมการกินของคนไทย แต่ก็น่าจะมากโขและเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวันเมื่อกราฟความนิยมพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้จากการสุ่มสอบถามร้านสุกี้ ร้านบะหมี่ และร้านปิ้งย่าง ประมาณ ๑๐ แห่ง ทั้งหมดโยนตะเกียบอนามัยทิ้งหลังลูกค้าเสร็จสิ้นการใช้งาน
ลด แลก แจก แถม
|
- ตีพิมพ์ใน : นิตยสาร สารคดี ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๓๐๗ กันยายน ๒๕๕๓