วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


continue

เด็กค่ายสารคดีเป็นนักเรียนทุน

ในความหมายว่าทีมงานวิ่งหาทุนมาเป็นค่าใช้จ่ายให้พวกได้เรียนฟรี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ตลอดโครงการ

ชาวค่ายสารคดีรู้ความจริงนี้ เพราะครูบอกตั้งแต่วันสัมภาษณ์ว่า ขอให้ผู้ผ่านคัดเลือกมั่นใจว่าจะอยู่ร่วมโครงการได้ตลอดทั้ง ๔ เดือน แล้วจึงยืนยันสิทธิ์

หาไม่แล้วหากเข้ามา แล้วต้องออกไปแค่ครึ่งๆ กลางๆ ก็จะเป็นการใช้โอกาสที่ได้รับไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และจะเป็นการปิดกั้นโอกาสคนอื่นที่มีความพร้อมด้วย

ครั้งล่าสุดที่เพิ่งจบไปเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๐ เป็นรุ่นที่ ๑๓ สมาชิกค่ายทำได้ดี รับเข้ามา ๕๐ คน อยู่ร่วมโครงการจนจบครบทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

เรียนจบ ส่งงานครบ ได้รับประกาศนียบัตรพร้อมหน้ากันทั้งรุ่น

นี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในค่ายสารคดีทุกครั้งที่ผ่านมา

ส่วนที่นักเรียนไม่รู้คือคำถามหลังจากจบค่ายไปแล้ว ซึ่งแหล่งทุนมักติดตามถามไถ่ต่อทีมงานว่า เด็กค่ายสารคดีจบแล้วไปไหน?

เป็นคำถามที่ตอบได้ แต่บางทีก็อธิบายยาก

เรามีแฟ้มทะเบียนสมาชิกค่ายแต่ละรุ่น แต่เมื่อผ่านเวลาคนหนุ่มสาวชาวค่ายสารคดีก้าวต่อไปถึงจุดไหน หรือเติบโตอยู่ในที่ทางใด เราไม่ได้ติดตามไปกล่าวอ้างหรือตามทวงความเป็นศิษย์ค่ายสารคดีแบบเกาะติด

ไม่โหนหรือแห่ว่าคนนั้นคนนี้เป็นเด็กสร้างจากค่ายเรา

เว้นแต่พวกเขาจะรายตัวหรืออ้างถึงค่ายด้วยตัวเขาเอง

แม้ว่าตามความเป็นจริง ๑๓ ปีที่รับสมาชิกเข้ามาเรียนรู้รุ่นละ ๕๐ คน มีศิษย์ค่ายสารคดีแยกย้ายกันไปสังกัดอยู่ในสำนักสื่อสารมวลชนชั้นนำแทบทุกแห่ง

รวมทั้งที่ทำงานเขียนและถ่ายภาพอยู่ตามวิถีของตน ทั้งแบบที่ทำเป็นงานหลัก หรือทำควบคู่ไปกับการงานอื่น

เขาเหล่านี้คือปรากฏการณ์จริงในการ “แจ้งเกิด” ของนักสารคดีรุ่นใหม่ ที่แสดงสถานะและหลักฐานอยู่โดยตัวของเขาเอง

บางทีคนทำค่ายก็ไม่ได้ล่วงรู้ จนกว่าเขาจะรายงานตัวเข้ามา หรือมีผู้นำมาเล่า

ดังคำเล่าของป๊อปปี้ หรือณัฐมน สะเภาคำ สมาชิกค่ายสารคดี รุ่นที่ ๑๓ เธอเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างค่ายได้คุยกับนักเขียนหนุ่มคนหนึ่งในเมืองเชียงใหม่แบบบังเอิญ จนได้รู้ว่าเขาเป็นรุ่นพี่ค่ายสารคดี รุ่นที่ ๖

เรื่องราวของนักเขียนหนุ่มรุ่นพี่ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอฝันจะดำเนินรอยตาม

นี่เป็นคำเล่าของเธอ

“เจอกันโดยบังเอิญหลังจากได้อ่านหนังสือของเขาเรื่อง “๑ ปีที่ผมอยู่อเมริกา” เล่าชีวิตช่วงที่เขาไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน หนูอ่านหนังสือแนวท่องเที่ยวแล้วไม่ค่อยอิน แต่เมื่อได้อ่านของพี่คนนี้รู้สึกว่าแปลกออกไป มันน่าสนใจ เขาเขียนแบบเล่าให้เพื่อนฟัง

เขาชื่อพี่เจม ธีรนัย โสตถิปิณฑะ ตอนเจอกันก็บอกเขาว่า ตอนนี้หนูไปหัดเขียนหนังสือที่ค่ายสารคดี เขาบอก เฮ้ย ไปค่ายสารคดีเหมือนกันหรือ รุ่นที่เท่าไหร่ พี่เคยไปเรียนน รุ่นที่ ๖ ครูวียังสอนอยู่ไหม เขาถาม ครูวีชอบเอาอ่านงานพี่ไปเป็นตัวอย่างให้น้องดู

เขาเล่าว่าหลังจบค่าย หลังจากไปอยู่เอเมริกาเขาพยายามเขียนหนังสือส่งไปหลายสำนักพิมพ์ แต่ไม่ผ่านพิจารณา เขามาคิดว่าถ้าไม่มีใครเอาเขาจะทำขายเอง โดยสร้างกลุ่มผู้อ่านในออนไลน์ก่อน ปรากฏว่าได้ผลตอบรับดี ทำให้เขาทำหนังสือออกมาได้

เขาว่าค่ายสารคดีทำให้เขาคิดได้หลังเรียนจบว่าเขาจะเป็นนักเขียน

ทำให้เราอยากเดินตามเขามาก การเป็นนักเขียนสำหรับหนู ไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องสวยงาม แต่อยากเล่าในสิ่งที่คนอาจยังไม่รู้ไม่เคยได้ยิน ผ่านมุมมองของเราแบบที่พี่เจมทำ

รู้สึกว่าคลิกกับแบบที่พี่เขาทำ และรู้สึกว่าพวกเราเป็นคนในครอบครัวค่ายสารคดีด้วยกันค่ะ”