ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
ช่วงปลายทศวรรษ ๒๕๔๐ ต่อต้นทศวรรษ ๒๕๕๐ หรือเมื่อราว ๑๐ กว่าปีมาแล้ว ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของ “จตุคามรามเทพ”
ผู้เขียนเคยเห็น “จตุคามรามเทพ” ครั้งแรกที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ทีแรกเห็นไกลๆ ยังนึกว่าเป็นพระพุทธรูปนาคปรก เพราะมีรูปบุคคลประทับนั่งอยู่บนขนดนาค โดยมีเศียรนาคแผ่เป็นแผ่นหลัง แต่พอเข้าไปดูใกล้ๆ ถึงเห็นว่าเข้าใจผิด เพราะทรงเครื่องอย่างเทวรูป ไม่ใช่พระพุทธรูป และนั่งในท่าที่เรียกในตำราวิชาประติมาณวิทยาว่า “มหาราชลีลา” คือนั่งชันเข่าข้างขวา ซึ่งก็เป็นท่านั่งของเทวรูป แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าเป็นใครหรือเทพองค์ไหน
หลังจากนั้นไม่นานจึงทราบว่านั่นคือ “จตุคามรามเทพ” ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมบูชากันแพร่หลาย
“จตุคามรามเทพ” เริ่มต้นขึ้นจากฐานะเทพท้องถิ่นของนครศรีธรรมราช มีตำนานเล่าผูกโยงกับประวัติศาสตร์ตามความรับรู้ของคนในพื้นที่และตำนานพระบรมธาตุ คนแรกที่สร้างวัตถุมงคลจตุคามรามเทพขึ้น คือ พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช “จอมขมังเวทย์” เมื่อปี ๒๕๓๐ เพื่อหาทุนสมทบสร้างศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช จนเมื่อท่านขุนถึงแก่กรรมลงในปี ๒๕๔๙ ทำให้เริ่มมีการเสาะหาวัตถุมงคลรุ่นนั้น เหรียญรูปกลมๆ แบนๆ รุ่นแรก จากที่เคยเช่ากันไม่กี่สิบบาท ราคาทะยานขึ้นเป็นหลักแสนหลักล้าน
จากเทพเจ้าท้องถิ่น “จตุคามรามเทพ” แผ่ขยายกลายเป็นความเชื่อระดับชาติ มีการสร้างรูปลอยตัวและเหรียญขึ้นนับพันๆ รุ่น ทั้งโดยวัดต่างๆ ทั่วนครศรีธรรมราช และวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ
เรียกได้ว่าวัดใด หน่วยราชการไหน ต้องการระดมทุนสร้างถาวรวัตถุ ก็ต้องจัดสร้างรุ่นของตัวเองขึ้นมา และยิ่งมีมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งต้องสร้าง “จุดขาย” ใหม่ๆ มากขึ้นเท่านั้น เช่นตั้งพิธีปลุกเสกที่พิสดารขึ้นเรื่อยๆ จำได้ว่ามีการลอยเรือทำพิธีกลางทะเล เอาขึ้นเครื่องบินไปปลุกเสกกันกลางอากาศ ให้เครื่องบินขับไล่บรรทุกมวลสารบินทะลุกำแพงเสียง หรือแม้แต่มวลสารก็ต้องเป็นของแปลกหายาก จนถึงผงฟอสซิลช้างแมมมอธ น้ำบริสุทธิ์จากขั้วโลกเหนือ ไททาเนียมจากปีกเครื่องบินเจ็ต ฯลฯ
นักวิชาการเชื่อว่านาม “จตุคามรามเทพ” มีต้นทางมาจากการผสมนามของรูปเทวดาสององค์ข้างทางขึ้นลานประทักษิณองค์พระมหาธาตุนครศรีธรรมราชทางด้านวิหารพระม้า มีจารึกอยู่ที่ฐานว่าองค์หนึ่งชื่อ “ท้าวขัตตคาม” อีกองค์คือ “ท้าวรามเทพ” และเมื่อสืบค้นกันต่อไป ยังสันนิษฐานได้ว่าชื่อเหล่านี้มาจากคติเรื่องเทพเจ้าที่พิทักษ์รักษาเกาะลังกาด้วย แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็มิได้มีความหมายอะไร เพราะผู้ศรัทธามิได้นับถือที่ประวัติความเป็นมาหรือจะมาสนใจงานค้นคว้าวิชาการ แต่ที่คนพากันมาบูชาจตุคามรามเทพกันตอนนั้น ก็ด้วยความเชื่อว่า “มึงมีกูไว้ไม่จน” และ “ขอได้ไหว้รับ” คือท่านสามารถ “ให้” ได้โดยแทบไม่มีข้อแม้ข้อจำกัดใดๆ
ยิ่งกว่านั้น หลายคนมองว่า “จตุคามรามเทพ” น่าจะเป็นรูปแบบการลงทุนที่ดี ให้ผลตอบแทนสูง เพราะภายใน ๒๐ ปี จากของราคาไม่กี่บาทกลับมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นเป็นแสนเท่า แต่เพียงไม่กี่ปีต่อมา เมื่อ “สินค้า” มีมากเกินความต้องการของ “ตลาด” จึงนำไปสู่ “ขาลง” ของจตุคามฯ เดี๋ยวนี้ แม้เหรียญจตุคามรามเทพรุ่นแรกจะยังมีมูลค่าสูงลิบ แต่รุ่นอื่นๆ อีกหลายร้อยหลายพันรุ่นนั้นก็ไม่มีใครกล่าวถึงหรือจดจำได้อีกต่อไป
กระแส “ตื่น” จตุคามฯ เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน ยังทิ้งร่องรอยไว้เป็นรูปเคารพตามวัดหลายแห่ง รวมถึงฝังแน่นอยู่ในความทรงจำของคนนครฯ ว่า “สมัยนั้น” เคยเฟื่องฟูกันถึงขนาดไหน
ศรัณย์ ทองปาน
เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี