เก็บตกสาระ แนะนำสื่อภาพยนตร์ และสื่อแขนงอื่นๆ จากที่เห็นและเป็นไป ในและนอกกระแส
เปิดชื่อข้อเขียนล่อเป้าซะขนาดนี้(อาจเรียกตามภาษาการตลาดยุคใหม่ได้ว่า Clickbait) ผู้เขียนเองไม่ได้มีเจตนาเสนอพฤติกรรมดังกล่าวในแง่ลบเสียทีเดียว (แม้มันจะเริ่มต้นด้วยเจตนาเช่นนั้นก็เถอะ) แต่พบว่ามันเป็นประโยคที่อธิบายยุคสมัยนี้ได้ดีทั้งในแง่บวกและลบ
เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่งขณะกำลังเดินทางไปต่างจังหวัดพักผ่อนกับครอบครัว ญาติคนหนึ่งที่ชอบเที่ยวตามสถานที่ยอดฮิตได้ขับรถพาไปยังร้านอาหารแห่งหนึ่งกลางหุบเขา แล้วเราก็พบภาพที่น่าตกใจ (แต่กับหลายคนคงบอกผู้เขียนว่า ‘อ้าว ! นี่ยังไม่ชินกันอีกเหรอ’)
เส้นทางที่เคยโล่งมาตลอด เมื่อถึงร้านอาหารชื่อดังนั้นกลับรถติดยาวเหยียด กว่าจะหาที่จอดได้ก็ผ่านไปแล้วร่วมชั่วโมง ผู้คนในนั้นต่างจับจองสถานที่กันถ่ายรูปตามมุมต่างๆ ที่ทางร้านทั้งจงใจจัดเตรียมไว้ให้ถ่ายรูป และไม่ได้เตรียม ไม่ว่าจะเป็นซุ้มภาพถ่ายตกแต่งสวยงาม ป้ายร้าน สวนดอกไม้ที่จัด วิวทิวทัศน์ท่ามกลางธรรมชาติ บ้างก็ถ่ายรูปอาหารหน้าตาสวยๆ ที่สั่งกันมา
ภาพตรงหน้าอันละลานตา สร้างความหงุดหงิดเล็กๆ เนื่องจากการเดินทางมาที่นี่ของผู้คนที่มาใช้เวลาอยู่นานด้วยวัตถุประสงค์หลักดังกล่าวจริงๆ จนผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะพิมพ์สเตตัสในเฟซบุ๊คไปว่า
“มีชีวิตเพื่อถ่ายรูปในร้านกาแฟวิวสวยๆ กับอาหารชิคๆ คูลๆ ลงเฟซแล้วตายจากไป” ก่อนจะรู้สึกผิดในภายหลัง ต้องมาอธิบายเพื่อนๆ ที่มาคุยด้วยอยู่นานสองนานว่าเอาเข้าจริงก็คิดว่าพฤติกรรมดังกล่าวไม่ใช่เรื่องผิดถูกอะไรเสียทีเดียว
หากมันได้กลายเป็นเหมือนวัฒนธรรมของยุคสมัยไปแล้ว และเปลี่ยนพฤติกรรมหลายอย่างในอดีตไปอย่างน่าตกใจ
เดิมผมเคยได้ยินคำเรียกคนที่ติดหน้าจอโทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟนรวมๆ ว่า “สังคมก้มหน้า” ซึ่งน่าจะเอาไว้ใช้เหน็บแนมพฤติกรรมของคนวัยรุ่นวัยทำงานเป็นหลัก
แต่ทุกวันนี้ทุกเพศวัยต่างก็จับจ้องหน้าจอกันแทบทั้งสิ้น โทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่ขาดไปไม่ได้แล้วของหลายๆ คน ในร้านอาหารชื่อดังที่ผมไป ผู้ใหญ่ที่คะเนอายุราว ๕๐-๖๐ ปีซึ่งได้เรียนรู้คุ้นชินกับอุปกรณ์เหล่านี้ ก็ล้วนถ่ายรูปอาหารก่อนจะรับประทานกันเสียส่วนใหญ่
กล่าวเฉพาะเจาะจงในเรื่องการถ่ายภาพ โทรศัพท์สมาร์ทโฟนยุคปัจจุบันที่มีกล้องถ่ายรูปในตัว พร้อมความสามารถในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เข้ากับโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่าง เฟซบุ๊ค, อินสตาแกรม, ไลน์ โดยง่าย ทำให้ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรมการถ่ายรูปไปจากเดิมมาก
ย้อนกลับไปในสมัยที่การถ่ายรูปยังใช้กล้องถ่ายรูปที่บันทึกภาพด้วยฟิล์ม การถ่ายรูปเป็นงานอดิเรกเฉพาะกลุ่ม เพราะต้องใช้ค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นค่ากล้องถ่ายรูป หากอยากจะได้ภาพที่มีคุณภาพก็ต้องเรียนรู้ทฤษฎีถ่ายภาพ หรือเก็บเงินซื้อกล้องราคาแพง การถ่ายรูปแต่ละภาพต้องผ่านกระบวนการคิดแล้วคิดอีกเพราะพลาดไม่ได้ เพราะการอัดภาพทุกภาพมีราคาที่ต้องจ่าย
สมุดรวมภาพถ่ายที่เราเห็นประจำแทบทุกบ้าน จึงไม่พ้นภาพถ่ายรูปเดี่ยว ภาพถ่ายรูปหมู่ ภาพงานสำคัญของคนในครอบครัว ถ้าคนที่เล่นกล้องถ่ายรูปเป็นงานอดิเรกก็จะมีภาพธรรมชาติ วิวทิวทัศน์ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เก็บไว้จำนวนหนึ่ง
ภาพถ่ายอาหาร หรือมุมต่างๆ ตามร้านอาหารคงมีบ้าง แต่คงมีสัดส่วนที่น้อยยิ่งกว่าน้อยด้วยเหตุผลเรื่องค่าใช้จ่าย ภาพเหล่านี้จึงปรากฎตามหนังสือทำอาหารเท่านั้น
ในวันที่เริ่มมีการประดิษฐ์กล้องดิจิทัลขึ้นมาได้ในปี ค.ศ.๑๙๗๕ พฤติกรรมดังกล่าวโดย สตีเว่น แซสสัน วิศวกรบริษัท Eastman Kodak กล้องดังกล่าวยังไม่ได้รับความนิยมเพราะไม่เห็นว่ามันจะต่างจากกล้องฟิล์มตรงไหน เดิมเป็นสินค้าที่ขายไม่ออก จนผู้คนเริ่มค้นพบข้อได้เปรียบของกล้องดิจิทัลจาก Casio QV-10 ซึ่งประดิษฐ์โดย ฮิโรยูกิ สุเอะทากะ และทีมพัฒนาของบริษัท Casio Computer กล้องดิจิทัลรุ่นแรกที่มีจอ LCD ด้านหลังให้เราสามารถดูภาพที่ถ่ายไว้ได้ทันที และส่งถ่ายข้อมูลให้กับคอมพิวเตอร์ได้ กล้องดิจิทัลจึงค่อยๆ ได้รับความนิยมขึ้นมาแทนที่กล้องฟิล์ม
เช่นเดียวกับพฤติกรรมของผู้คนที่เริ่มสนุกกับการถ่ายภาพได้อย่างไม่จำกัด ตามความสามารถของเครื่องมือเก็บบันทึกที่มีความจุมากขึ้นเรื่อยๆ
จนมาถึงยุคโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่มีกล้องถ่ายรูป สามารถนำภาพเหล่านั้นส่งต่อสื่อสารกับเพื่อนโซเชียลมีเดียได้ง่ายๆ นั่นเองที่เราพบว่าไม่นานเลย การถ่ายรูปอาหารต่างๆ ได้กลายเป็นความนิยม ก่อนจะกลายเป็นเรื่องปกติไปเรียบร้อยแล้ว แม้แต่ข้าวไข่เจียวธรรมด๊าธรรมดาก็ยังมีคนลงอินเทอร์เน็ต ไม่จำเป็นต้องเป็นอาหารสวยงามเลิศหรูแต่อย่างใด
ในบทความ The Food Photography Trend: A Discussion of the Popular Trend and Tips on Taking Great Pictures ฮีธ ร็อบบินส์ ช่างภาพด้านอาหารและไลฟ์สไตล์อธิบายสาเหตความนิยมการถ่ายอาหารว่า “อาหารคือชีวิต…มันเชื่อมโยงความรู้สึกของพวกเราทุกคนร่วมกันได้ และเชื่อมโยงกับผู้คน เพื่อน และช่วงเวลาสำคัญในชีวิต”
แต่ส่วนตัวผมมีชุดคำอธิบายอีกแบบว่า “เพราะลึกๆ แล้วทุกคนก็อยากแสดงตัวตนสื่อสารกับเพื่อน หรือคนบนโลก” ยังไงล่ะ ? กล่าวในอีกทางนี่คือรูปแบบของการเป็นสื่อมวลชนที่เน้นเฉพาะด้านชีวิตประจำวัน
เราทราบกันดีถึงอำนาจของสื่อมวลชนซึ่งสามารถโน้มน้าวและเปลี่ยนแปลงผู้คนในสังคมได้จากบทบาทในการรายงานข่าวสารต่างๆ ซึ่งสื่อมวลชนในยุคปัจจุบันก็ถูกสั่นคลอนด้วยสื่ออิสระ นักข่าวภาคประชาชน ซึ่งกรณีที่มักถูกยกบ่อยครั้งเช่นการแฉข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการคอรัปชั่นของวิกิลีกส์ จนเกิดนิยามของสื่อยุคใหม่ว่า “ใครๆ ก็สามารถเป็นสื่อได้”
หากมองในระดับที่เล็กกว่านั้น แต่เข้าถึงได้ง่ายก็คือการถ่ายอาหาร ถ่ายรูปตามใจฉันด้วยโทรศัพท์มือถือนี่เอง ต่างอาชีพสื่อที่เดิมคือช่างภาพในการจัดงานโอกาสต่างๆ ซึ่งเป็นผู้กุมกล้องถ่ายภาพที่จะมีบทบาทในการจัดวางท่าทาง
เมื่อคนพบว่าการถ่ายภาพทำได้ง่ายขึ้น สื่อให้คนเห็นได้ง่ายขึ้น พวกเขาก็เริ่มฝึกฝนการเป็นสื่อโดยไม่รู้ตัว
พฤติกรรมเหล่านี้มีทั้งแง่บวกและลบ แต่ที่ชัดที่สุดคือมันก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อยุคสมัย ในเชิงธุรกิจร้านอาหารและผู้สร้างโซเชียลมีเดียทราบดีว่าภาพถ่ายอาหารในร้านของตนนั้นมีมูลค่าเมื่อมันถูกนำไปลงในอินเทอร์เน็ต “การปักหมุด” เพื่อสร้างโปรโมชั่น หรือกระตุ้นให้คนสนใจด้วยการตกแต่งอาหาร และรูปลักษณ์ของร้านตามมา
การถ่ายภาพอาหารยังเป็นการฝึกทักษะความชำนาญการถ่ายภาพ ภาพของหลายคนไม่ต้องตรงตามทฤษฎีใดๆ แต่ออกมาแล้วกลับได้รับความสนใจอย่างไม่น่าเชื่อ หลายคนก็สร้างอาชีพให้กับการบ้าถ่ายภาพและกระหน่ำแชร์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพช่างภาพ พ่อค้าแม่ค้า ไปจนเนตไอดอลด้านอาหาร ตามแต่ความสนใจของพวกเขา ข้อได้เปรียบของคนเหล่านี้เห็นได้ชัดว่าเขาเรียนรู้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้เร็วกว่าช่างภาพในอดีตที่เพิ่งมาเรียนรู้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนบางคนเสียอีก งานภาพที่จะทำให้คนสนใจ ใช้คำสื่อสารแบบไหนจะทำคนกดไลค์ตาม
จากคนที่อาจไม่มีโอกาสในชีวิต ไม่มีตัวตนในสังคมจนตายจากไป หลายคนก็ได้ใช้พื้นที่ตรงนี้ถ่ายรูปอาหารเพื่อให้รู้ว่าเขามีตัวตน
เขียนมีแต่น้ำมาถึงตรงนี้(ฮา) ย่อมมีคนสงสัยเช่นผมว่า “เฮ้ย ! แล้วเราจะ ‘มีชีวิตเพื่อถ่ายรูปในร้านกาแฟวิวสวยๆ กับอาหารชิคๆ คูลๆ ลงเฟซแล้วตายจากไป’ กันจริงๆ หรือ ?”
ผมคิดว่านั่นเป็นเรื่องในอนาคตที่สุดท้ายเมื่อมันกลายเป็นวัฒนธรรมในสังคม พฤติกรรมเหล่านี้พอถึงจุดอิ่มตัว ผู้คนในสังคมจะเริ่มมองหากาลเทศะให้กับความง่ายและอิสระในการถ่ายภาพเหล่านั้นในที่สุดว่า อะไรทำได้ อะไรล้ำเส้น ได้ในที่สุด
ส่วนจะช้าจะเร็ว อาจขึ้นอยู่กับว่าโซเชียลมีเดียจะยังทรงอิทธิพลไปได้เรื่อยๆ เช่นนี้ และเรายังสนุกเพลิดเพลินกับเทคโนโลยีของกล้องถ่ายรูปเหล่านี้ไปได้นานขนาดไหนนั่นเอง…