อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม
ท่าเรือเมืองปากแบงตั้งอยู่ทางตอนเหนือของลาว มีแม่น้ำโขงไหลผ่าน เมืองปากแบงเป็นเมืองท่องเที่ยวและเป็นกึ่งกลางของเส้นทางเดินเรือ ใช้เป็นจุดแวะพักสำหรับเรือโดยสาร เรือสินค้า และเรือท่องเที่ยวจาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย ก่อนมุ่งลงไปยังหลวงพระบาง (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)
>
ถ้าเทียบชื่อ “เขื่อนปากแบง” กับเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งอื่นๆ ไม่ว่าเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง ใน สปป.ลาว เขื่อนม่านวาน เขื่อนจิ่งหง ในจีน เขื่อนปากแบงแห่งนี้น่าจะเป็นที่รู้จักน้อยที่สุด ถึงแม้ว่าจะอยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุดก็ตาม
ด้วยระยะห่างจากแก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เข้าไปในเมืองปากแบง แขวงอุดมไชย เพียง ๙๒ กิโลเมตรเท่านั้น ทำให้โครงการสร้างเขื่อนปากแบงเป็นที่วิตกของผู้คนริมฝั่งไทย โดยเฉพาะชาวบ้านบริเวณแก่งผาได พื้นที่สุดท้ายก่อนที่แม่น้ำโขงจะลับหายไปในเขตแดนลาว
ด้วยระยะทางที่น้อยกว่ากรุงเทพฯ ไปอยุธยา ถ้ามีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ ย่อมมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบมาถึงไทย ไม่ว่าเรื่องระดับน้ำ พันธุ์ปลา เรื่อยไปเรื่องวิถีเกษตรและการทำประมง
ดอนเทด บริเวณที่คาดว่าจะเป็นที่ตั้งของสันเขื่อนปากแบง อยู่ท้ายน้ำจาก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ประมาณ ๙๒ กิโลเมตร และอยู่ตอนบนจากตัวเมืองปากแบง แขวงอุดมไชย ประมาณ ๑๔ กิโลเมตร (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)
แผนที่แสดงที่ตั้งเขื่อนปากแบง และเขื่อนอื่นๆ ในแม่น้ำโขง ทั้งที่สร้างเสร็จแล้วและกำลังก่อสร้าง (ภาพ : International Rivers)
>>
เขื่อนปากแบง (Pak Bang Dam) เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ โครงการประกอบด้วยโรงไฟฟ้า ประตูระบายน้ำ ประตูให้เรือสัญจรแบบยกระดับน้ำขึ้นน้ำลง และทางปลา ด้วยวัตถุประสงค์หลักคือผลิตไฟฟ้า สอดรับกับยุทธศาสตร์ “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” ของชาติลาว ผู้สร้างยังหวังว่าเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายประธานตอนล่างลำดับที่ ๓ ถัดจากเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง จะช่วยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเส้นทางเดินเรือบนแม่น้ำโขง
เจ้าของโครงการคือกลุ่มบริษัท ต้าถัง จากประเทศจีน ถือหุ้น ๕๑ เปอร์เซ็นต์ ร่วมด้วยเอ็กโกกรุ๊ป (EGCO) บริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือหุ้น ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก ๑๙ เปอร์เซ็นต์เป็นของการไฟฟ้าแห่งชาติลาว
ตามแผนการ หลังสร้างเขื่อนเสร็จไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมด ๙๑๒ เมกกะวัตต์ ๙๐ เปอร์เซ็นต์จะขายให้กับ ประเทศไทย ผ่านสายไฟแรงสูงเข้ามาทางจังหวัดน่าน แล้วส่งต่อไปยังโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ขณะที่ไฟฟ้าที่เหลืออีกประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์จะเก็บไว้ใช้เองในลาว
เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โครงการเขื่อนปากแบงได้เข้าสู่ขั้นตอนปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. ๒๕๓๘ เพราะเป็นโครงการที่กั้นแม่น้ำโขงสายหลัก ได้รับการวิจารณ์ว่าข้อมูลในเอกสารไม่เพียงพอและเป็นข้อมูลเก่า ไม่สามารถอธิบายเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนได้
เรื่อง “ผลกระทบข้ามพรมแดน” ถือเป็นเรื่องใหญ่ ลำพังการสร้างเขื่อนทำให้เกิดน้ำท่วมขังอย่างถาวรในเขตลาว คาดว่าจะมีชาวบ้าน ๖,๗๐๐ คน จาก ๑๔-๒๕ หมู่บ้าน ต้องอพยพขึ้นสู่ที่สูงเพื่อหาที่ทำกินใหม่ นั้นไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคนไทยเสียทีเดียวนัก หากแต่ยังมีเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกี่ยวข้องโดยตรง
ถึงแม้ว่าเขื่อนปากแบงจะเป็นโครงการพลังน้ำแบบ “น้ำไหลผ่าน” เรียกว่า “Run-of-River” หมายถึง ในการใช้น้ำ จะไม่มีการกักเก็บน้ำไว้ จะปล่อยให้น้ำไหลผ่านกังหันปั่นไฟไปยังบริเวณท้ายน้ำ ทว่าถึงอย่างไร ผลจากการสร้างเขื่อนก็จะทำให้เกิดการยกระดับน้ำ แม่น้ำโขงที่ไหลมาเจอสันเขื่อนจะมีระดับสูงขึ้น ทำให้ต้องมีการคำนวณว่าจะยกระดับน้ำสูงสุดเท่าไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบมาถึงแก่งผาได รวมถึงแม่น้ำงาว แม่น้ำอิง อำเภอเชียงของซึ่งอยู่ในเขตแดนไทยเดิมเคยคำนวณไว้ที่ ๓๔๕ ม.รทก. แล้วได้มีการปรับเปลี่ยนมาเป็น ๓๔๐ ม.รทก.ในฤดูน้ำหลาก ๓๓๕ ม.รทก.ในฤดูแล้ง เพื่อพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ส่งผลกระทบ
ทองสุข อินทะวงศ์ ชาวบ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น เล่าว่าถ้าระดับน้ำโขงเพิ่มขึ้นแค่ ๑ เมตร หรือ ๕๐ เซนติเมตร ก็ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตอย่างมหาศาลแล้ว
ทั้งนี้ กลุ่มรักษ์เชียงของ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรท้องถิ่น เคยยื่นหนังสือถามกรมประมงในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าการสร้างเขื่อนจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างไร
กรมประมงได้ให้ความเห็นว่า เอกสารการศึกษาผลกระทบด้านทรัพยากรประมงตามยังขาดความสมบูรณ์ ไม่ครอบคลุมพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ยกตัวอย่างระยะเวลาเก็บตัวอย่างภาคสนามไม่ครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลในรอบปี นอกจากนี้ วิธีสุ่มตัวอย่างก็ไม่เป็นมาตรฐานสากล เช่นใช้เครื่องมืออวนทับตลิ่งที่มีพื้นที่ขนาดเล็กมาก ไม่สะท้อนความชุกชุมของปลา ไม่มีการสุ่มตัวอย่างลูกปลาวัยอ่อนและวัยรุ่นซึ่งแสดงให้เห็นความสำเร็จในการสืบพันธุ์ วางไข่
ที่สำคัญคือไม่มีการประเมินผลกระทบที่จะเกิดกับกลุ่มชาวประมงในประเทศไทย ตั้งแต่แก่งผาได ตำบลห้วยลึก อำเภอเวียงแก่น จนถึงบ้านปากอิง ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กรมประมงได้แจ้งข้อคิดเห็นไปยังกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยซึ่งนับเป็นความพยายามให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยงานรัฐ
บ้านลวงโต่ง เมืองปากแบง หมู่บ้านริมฝั่งแม่น้ำโขงที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อน คาดว่าจะถูกน้ำท่วมทั้งหมู่บ้าน (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)
การสร้างเขื่อนปากแบงจะทำให้เกิดน้ำท่วมขังอย่างถาวรริมสองฝั่งแม่น้ำ คาดว่าจะมีชาวบ้าน ๖,๗๐๐ คน จาก ๑๔-๒๕ หมู่บ้าน ต้องอพยพออกไปหาที่อยู่และที่ทำกินใหม่ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)
>>>
วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๐ กลุ่มรักษ์เชียงของในนามผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากแบงได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย กรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากเห็นว่าหน่วยงานเหล่านี้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่จนอาจทำให้ชาวบ้านริมแม่น้ำโขงได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบข้ามพรมแดน แต่ศาลปกครองไม่รับฟ้อง
ต่อมาได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ผลคือศาลปกครองสูงสุดได้รับเข้าสู่การพิจารณา
นับเป็นการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐไทยในกรณีผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการที่อยู่นอกประเทศเป็นคดีที่ ๒ ถัดจากกรณีเขื่อนไซยะบุรี ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบข้ามพรมแดนเช่นกัน
หมายเหตุ เก็บตกจากลงพื้นที่ ล่องเรือสำรวจ อ.เชียงของ-เมืองปากแบง แขวงอุดมไชย วันที่ ๒-๔ มิถุนายน ๒๕๖๐ องค์การแม่น้ำนานาชาติ