วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


maeklong01

หลังเรียนทฤษฎีและฝึกปฏิบัติกันในห้องเรียนหนึ่งวันเต็มๆ อีก ๓ วันที่เหลือของค่าย “เล่าเรื่องด้วยภาพ บางจากสร้างเยาวชนนักเขียน” ปีที่ ๖ เป็นช่วงเวลาสำหรับการฝึกปฏิบัติจริงภาคสนาม ในพื้นที่อัมพวา-บางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม สัมผัสวิถีบ้านสวนริมคลองสองฝั่งน้ำแม่กลอง

เป็นการเรียนรู้จากการทำงานจริง โดยมีครูเขียนครูภาพดูแลใกล้ชิดแบบพาทำด้วยกัน ฝึกการสัมภาษณ์ การถ่ายภาพ คัดเลือกภาพ เขียนเรื่อง เขียนคำบรรยายภาพ แล้วนำผลงานที่ได้มานำเสนอ ชื่นชมให้คำวิจารณ์ ติชม เสนอแนะ แลกเปลี่ยนกัน จากมุมมองของครูและในหมู่เพื่อนนักสารคดี(ภาพ)มือใหม่ด้วยกัน

๓ วันในพื้นที่กับนับสิบกรณีศึกษาที่ได้สัมผัสเรียนรู้ สู่การเลือกสรรกลั่นกรอง พัฒนามาเป็นผลงานเดี่ยวของแต่ละคนในตอนท้ายค่าย

โดยคำบอกเล่า-ทุกบอกว่าตนได้เข้าใจในงานสารคดีชัดเจนขึ้นกว่าก่อนมาค่าย

โดยผลงาน-เมื่อเทียบกับชิ้นที่ส่งมาพร้อมใบสมัคร เกิน ๙๐ เปอร์เซ็นต์เป็นชิ้นงานที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

หลายชิ้นงานผ่านมาตรฐานสำหรับการตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชนได้อย่างเต็มภาคภูมิ ซึ่งทีมสารคดีกำลังเตรียมคัดสรรเพื่อตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มต่อไป

เบื้องต้นในที่นี้ขอยกตัวอย่างมาให้ลองอ่านกันชิ้นหนึ่งก่อน

เป็นสารคดีภาพ เล่าถึงการเคี่ยวน้ำตาลและวิถีในร่องสวนมะพร้าว ตัวเรื่องใช้รูปแบบจดหมาย ซึ่งถือเป็นรูปแบบเก่าแก่ แต่ผู้เขียนนำมาใช้ได้อย่างไม่เชย ด้วยน้ำเสียง สำนวนภาษาที่ร่วมสมัย และภาพถ่ายที่เล่าความได้ครบใน ๗ ภาพ

ชื่อเรื่อง “น้ำตาลหวานใจ “ สื่อความหมายสองนัย คือ น้ำตาลมะพร้าว ของดีอัมพวาอันแสนหวานชื่นใจที่เป็นเนื้อความหลักของเรื่อง กับเพื่อนรักชื่อน้ำตาล ที่จะเป็นคนรับจดหมายจากผู้เขียนคือ ภารัตน์

maeklong02 maeklong03 maeklong04 maeklong05 maeklong06 maeklong07 maeklong08

น้ำตาลหวานใจ

ถึงน้ำตาลเพื่อนรัก

เพื่อนได้มีโอกาสมาที่สถานที่แห่งหนึ่ง คิดว่าเพื่อนตาลคงจะตื่นเต้นเหมือนกันแน่ ถ้าได้เห็นสิ่งเดียวกับที่เพื่อนเห็น ที่โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์เขามีโชว์ทำน้ำตาลมะพร้าวให้ดูกันสด ๆ ด้วยแหละเพื่อนตาลเอ๋ย เธอคงจะไม่รู้ล่ะสิว่าน้ำตาลมะพร้าวนั้นต่างกับน้ำตาลปี๊ปที่ใส่ในส้มตำของโปรดเธอนั้นแตกต่างกันเช่นไร จ้างให้ก็ไม่บอกหรอก google เอาสิเดี๋ยวเธอก็จะรู้เอง

วันนี้แสงแดดช่างร้อนแรง และแผดเผาผิวของฉันเสียหายเหลือเกิน ฉันเดินเลาะเลียบท้องร่องเข้าไปในสวนมะพร้าวของโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ มีพี่คนหนึ่งท่าทางปราดเปรียว คล่องแคล่ว ตัวเบาคล้ายกับลิงลม กำลังปีนขึ้นต้นมะพร้าวต้นหนึ่ง สองมือกอดรัดลำต้นสูงนั้นไว้ สองเท้าคล้องกันไว้ด้วยสายรัดเท้า ทำจากเส้นป่านซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีสีขาวมาก่อน คุณสมบัติเด่นของมันคงเห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากความเหนียวและทนทานของตัวมัน นอกจากนี้ยังมีมีดยาวสีสนิมเสียบอยู่ที่กระเป๋าหลังของกางเกงด้วยนะ ดูท่าทางเหมือนจะทื่อ แต่… “ฉับๆ” เสียงมีดที่สับเข้ากับเครือของทลายมะพร้าวก่อนร่วงตุบลงมา ช่างคมซะเหลือเกินเธอจ๋า

บุญเยี่ยม น้อยเกษม คือชื่อของชายที่ฉันกล่าวถึง ฉันเรียกเขาด้วยชื่อเล่นว่า พี่เยี่ยม

พี่เยี่ยมเล่าให้ฉันฟังว่า ปีนต้นมะพร้าวตั้งแต่อายุ 13 ขวบ จนตอนนี้เขาอายุ 46 ปีแล้วแก ร่วม 33 ปีได้ที่พี่เยี่ยมปีนขึ้นลงต้นมะพร้าวมาด้วยจำนวนที่นับไม่ถ้วน แต่แกไม่เคยตกจากต้นมะพร้าวเลยซักครั้งเดียว

“ไม่เคยตกเลย คนที่ตกส่วนใหญ่ก็ไม่อยู่” พี่เยี่ยมหัวเราะร่วนหลังจากพูดจบ

ฉันถามพี่เยี่ยมไปว่ารู้สึกอย่างไรกับอาชีพที่กำลังทำอยู่ แกบอกว่า “อาชีพนี้ดี มีแต่สูงขึ้นๆ ไม่มีวันตกต่ำ” พี่เยี่ยมยังคงพูดติดตลกส่งท้ายก่อนที่ฉันจะปลีกออกมา

ไม่ไกลกันเท่าไหร่ กลิ่นไหม้จางๆโชยมาตามสายลม นำฉันไปพบ จำลอง จันทร์สะอาดกำลังเติมเชื้อเพลิง ใส่เข้าไปในเตาปล่อง ด้านบนของเตามีกระทะตั้งอยู่สามใบ ใบแรกและใบที่สองมีน้ำใสๆ ถูกเคี่ยวอยู่ในกระทะ

ด้วยความสงสัย ฉันถาม ธนัญชัย สังขพูล หญิงวัยกลางคนที่ยืนอยู่ใกล้ๆกัน ได้ความว่า น้ำใสข้นที่ดูหนืดๆในกระทะนั้นเรียกว่าน้ำตาลมะพร้าว ได้มาจากการปีนขึ้นไปถึงยอดต้นมะพร้าว เพื่อเอามีดปาดที่ปลายงวงมะพร้าวเอากระบอกครอบไว้ที่งวงทิ้งไว้เป็นวันกว่าน้ำตาลจะเต็มกระบอก ใช้เวลาเคี่ยวน้ำตาลราวชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมง จากนั้นเอากระทะลงจากเตา ใช้ลวดกระทุ้งตีน้ำตาลเพื่อเพิ่มอากาศเข้าไปในน้ำตาล เมื่อเสร็จแล้วขั้นตอนสุดท้ายก็คือเอาน้ำตาลที่ได้ไปใส่ในภาชนะ

เมื่อเธออ่านถึงตรงนี้แล้วที่ฉันบอกให้เธอไป google ดูนั้น เกรงว่าคงจะไม่ต้องแล้ว ฉันจะเป็นคนบอกเธอเอง

ถ้าใส่น้ำตาลลงในปี๊ปก็เรียกว่าน้ำตาลปี๊ป แต่ที่นี่เขาไม่ได้ใส่ในปี๊ปยังไงเล่าหล่อน อ่อ อีกอย่างน้ำตาลมะพร้าวที่นี่เขาไม่ได้ใส่แบะแซนะ เป็นน้ำตาลมะพร้าวล้วนๆ ไร้สิ่งใดเจือปน

ฉันนั่งพูดคุยกับคุณป้าธนัญชัยถึงการมาทำงานที่โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ป้าเล่าว่าก่อนหน้านี้แกขายส้มตำมาก่อน หนี้สินเยอะแยะ แต่หลังจากได้มาทำงานที่โครงการนี้ ถึงแม้ว่าจะได้เงินเดือนเพียงเก้าพันบาท แต่หนี้สินไม่เพิ่มพูน

“อยู่ที่นี่ก็ค้าขาย เราทำงานอยู่กับตังค์ เราต้องซื่อ – ซื่อสัตย์และพอเพียง” เธอกล่าวพร้อมกับใบหน้าที่เปื้อนยิ้ม

ตอนนี้เป็นเวลาเย็นมากแล้ว ในสวนที่โครงการฯ ร่มรื่นขึ้น ไร้ซึ่งไอแดดที่แผดเผาฉันไปเมื่อยามบ่าย ถึงเวลาแล้วที่ฉันคงจะต้องเดินทางกลับ ฉันได้ความรู้มากมายจากที่นี่ พร้อมกับรูปสวยๆ ที่ฉันอยากให้เธอได้ดู

จริงๆ แล้วฉันมีเรื่องที่อยากเล่าให้เธอฟังเต็มไปหมด แต่การจะให้เขียนเล่าส่งให้เธออ่านคงจะไม่ได้อรรถรสเท่ากับเล่าให้เธอฟังด้วยตัวฉันเอง หวังว่าเราทั้งคู่จะหาเวลาว่างที่เราต่างมีน้อยเหลือเกิน มาพบกันให้หายคิดถึงเสียหน่อย

รักและคิดถึงเธอเสมอ
ภารัตน์


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา