ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


doctor-sook-rz

หมอสุก หรือที่ชาวบ้านมักเรียกว่า “หมอเทวดา” เป็นหมอพื้นบ้านที่รักษาโรคด้วยเครื่องยาสมุนไพร เกิดสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อปี 2375 และถึงแก่กรรมในเดือนกรกฎาคม 2453 ก่อนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเสด็จสวรรคตเพียงไม่กี่เดือน

หมอสุกเป็นชาวเมืองชลบุรี มีชื่อเสียงว่ารักษาคนเจ็บป่วยได้ชงัดนัก ข้อสำคัญคือทำเป็นการกุศลทั้งสิ้น ไม่คิดราคาค่ารักษาแต่อย่างใด หรือแม้มีใครเอาเงินไปให้ ท่านก็จะมอบเงินกลับคืนไป

คุณสุบิณ สืบสงวน (2438-2530) ปราชญ์ท้องถิ่นของชลบุรี ผู้สอบค้นและบันทึกเรื่องของหมอสุกไว้เมื่อปี 2514 เล่าว่าตัวท่านเองเมื่อยังเด็ก เคยตามผู้ใหญ่ไปบ้านหมอสุกหลายครั้ง จำได้ว่าเมื่อมีคนไข้มาหา หมอสุกจะซักอาการก่อน แล้วใช้มือจับง่ามมือคนไข้ตรวจดูชีพจร จากนั้นเขียนใบสั่งยาให้ไปหาซื้อเครื่องยาต่างๆ มาพร้อมกับหม้อดินเผาใบหนึ่ง เมื่อได้มาแล้ว ท่านก็เอาเครื่องยาที่สับเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วใส่ลงในหม้อ เติมสมุนไพรของท่านเองลงไปผสม กวนให้เข้ากัน แล้ว “เอาใบตองฉีกปิดปากหม้อ เอาเชือกกล้วยคาด หยิบตอกออกมาเส้นหนึ่ง หักไปหักมา ขัดเป็นเฉลว เสียบลงบนใบตองที่ปากหม้อ” พร้อมกับสั่งถึงวิธีต้มและกำหนดปริมาณที่ให้กิน โดยสำทับว่าหากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบส่งข่าวมาบอกอีกครั้งหนึ่ง

เล่ากันมาว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าพระยาเทเวศรฯ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) เคยส่งคนมารับท่านเข้ากรุง ไปตรวจรักษาพระอาการประชวรของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (ภายหลังคือสมเด็จพระศรีสวรินทิรา พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) หมอสุกไม่กล้าแตะต้องพระวรกายเพราะผิดกฎมณเฑียรบาล จึงใช้ผ้าเช็ดหน้าขาวคลุมศีรษะ แล้วกราบทูลให้สมเด็จฯ ทรงวางข้อพระหัตถ์บนผ้าขาวอีกทีหนึ่งเพื่อฟังชีพจร แล้วจึงประกอบพระโอสถถวาย จนพระอาการค่อยทุเลา จึงทูลลากลับบ้าน โดยถวายเงินที่สมเด็จฯ ประทานให้กลับคืนไปทั้งหมด ตามที่เคยปฏิบัติมากับคนไข้ทุกราย

หมอสุกถึงแก่กรรมเมื่ออายุใกล้ 80 ปีที่บ้าน และในงานฌาปนกิจศพของท่านที่วัดใหญ่อินทาราม เจ้าพระยาเทเวศรฯ ยังส่งคณะโขนของท่านจากกรุงเทพฯ ลงมาช่วยงานด้วย

หลังจากหมอสุกถึงแก่กรรมไปแล้วหลายปี ผู้ที่ยังระลึกถึงคุณงามความดีของท่านจ้างช่างปั้นรูปของหมอสุก เทวดา อย่างที่ทุกคนคุ้นตา คือเป็นชายไทยสูงอายุ นุ่งผ้าไม่สวมเสื้อ มีผ้าพาดไหล่ นั่งชันเข่าข้างหนึ่ง แล้วสร้างอาคารเป็นเหมือนกุฏิเล็กๆ เอารูปนั้นตั้งไว้ให้คนบูชา จนในเวลาต่อมาเมื่อต้องการใช้พื้นที่นั้นสร้างโรงเรียน ทางเจ้าคุณพระไพโรจน์ภัทรธาดา (จำรัส นุตตานนท์) เจ้าอาวาสวัดใหญ่อินทาราม ขณะนั้น จึงขอให้ย้ายรูปปั้นไปไว้ที่วัด โดยจัดขบวนแห่มารับไปประดิษฐานเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2509

จนทุกวันนี้ รูปปั้นหมอสุก เทวดา ยังตั้งอยู่ในศาลาข้างมณฑปพระพุทธบาท วัดใหญ่อินทาราม ให้ชาวเมืองชลฯ ได้กราบไหว้

(ข้อมูลจากบทความ “หมอสุก (เทวดา)” ในหนังสือ “อนุสรณ์ในการฌาปนกิจศพ คุณพ่อสุบิณ สืบสงวน” โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2530)

doctor-sook-rz