วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี
วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ภาพ
ในหมู่คนอ่านหนังสือย่อมรู้ว่านาม อรสม สุทธิสาคร หอมหวนอยู่สวนอักษรมานานนับ 30 ปี
เธอเข้าสู่วงการหนังสือตั้งแต่อายุ 18 ปี จนปีนี้เธออายุ 60 ปีเต็ม กับผลงานหนังสือ 50 กว่าเล่ม ที่ให้ข้อมูลความรู้และรสรื่นรมย์แก่คนอ่าน ด้วยยอดพิมพ์เล่มละเป็น 10 ครั้ง
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 สารคดี จึงจัดงานเล็กๆ “ร่มไม้ในสวนอักษร 60 ปี อรสม สุทธิสาคร” ที่ร้านริมขอบฟ้า มุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เชิญมวลมิตร เพื่อนร่วมงานหลากรุ่นอันยาวนาน เพื่อนนักอ่าน เพื่อนนักเขียน เพื่อนที่รัก-ที่ชัง ญาติสนิทมิตรสหายทั้งใกล้-ไกล มาตั้งวงพูดคุยถึงผลงานอันเป็นเสมือนหลักหมายหนึ่งของวงการสารคดีไทย และตั้งวงนินทาอรสมในแง่มุมที่เขาหรือเธอรู้เห็น
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตบรรณาธิการบริหาร นิตยสารสารคดี ในช่วงที่อรสม เข้ามาประจำกองบรรณาธิการในตำแหน่งนักเขียน เมื่อ 20 กว่าที่ก่อน พูดถึงการมาของเธอว่า ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการสารคดี ด้วยวิธีการทำงานที่เน้นการใช้ข้อมูลชั้นต้น ซึ่งในเวลานั้นแม้แต่คนวงการสารคดีเองก็ยังไม่รู้ชัดว่าสารคดีควรจะเป็นอย่างไร วันชัยให้นิยามงานเขียนในลักษณะที่อรสมทำว่าเป็น ออริจินอล ที่ถือเป็นบรรทัดฐานให้กับวงการสารคดียุคใหม่ต่อมา
ในแง่รูปแบบ อดีต บ.ก. บห. สารคดี ยอมรับว่างานของอรสมถือเป็นงานชั้นเยี่ยม ที่ใช้ภาษาอารมณ์ไม่ต่างจากวรรณกรรมเรื่องแต่ง “เรียกว่าเล่าอย่างมีกลวิธี ทำให้คนอยากอ่าน”
“งานของอรสมจึงถือเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการสารคดีไทย นอกจากเป็นคนเขียน ในช่วงหลังเธอยังทำหน้าที่ส่งต่อวิชาด้วยการเป็นโค๊ชสอนการเขียน อรสมจึงถือเป็นปูชนียบุคคลที่ควรได้เป็นศิลปินแห่งชาติ” วันชัยกล่าวทิ้งท้ายแบบคาดหมายถึงสิ่งที่ควรจะเป็น
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สารคดี ซึ่งพิมพ์งานหนังสือของอรสมมาตั้งแต่ต้น กล่าวว่างานเขียนของอรสมเป็นเรื่องในมุมมืดที่ขายดี และต่อมาอรสมยังริเริ่มให้ทำค่ายสารคดี โดยเขาเป็นผู้ร่วมทีมคนหนึ่งมาตั้งแต่ต้น ต่อมาขยายค่ายการเขียนไปถึงกลุ่มเยาวชนในสถานพินิจ และผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งได้ผลผลิตมาตีพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์สารคดี และเป็นงานเขียนที่ได้รับความสนใจจากผู้อ่านอย่างล้นหลามเช่นกัน
ว่าแล้วเขาก็ฉายวิดีทัศน์สัมภาษณ์ศิษย์นักเขียนจากบางขวาง เล่าความในใจถึงครูอรสมว่า การเกิดขึ้นของห้องเรียนการเขียนในเรือนจำ ช่วยให้พวกเขาได้หันมองชีวิตในแดนตะรางในมุมใหม่ ทำให้ใช้ชีวิตต่อได้อย่างมีความหวัง และความหวังเรื่องหนึ่งของพวกเขาก็คือการได้ออกมามาพร้อมกันในวันเกิดครูในปีต่อๆ ไป จนถึงปีที่ 100
นิพัธพร เพ็งแก้ว เพื่อนนักเขียนรุ่นน้องที่นับเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งของอรสม พูดถึงนักสารคดีหญิงผู้เป็นเสาหลักต้นหนึ่งของวงการว่า งานสารคดีจากการลงพื้นที่จริงแบบ “ถ้าไม่ถึงที่สุด ไม่มีหยุดไม่มียั้ง” ของอรสม ถือเป็นจดหมายเหตุของประเทศไทย
และนิพัธพรก็ยอมรับว่า อรสมไม่ใช่แค่นักเขียน และนักกิจกรรมสังคมในบทบาทครูสอนการเขียนสารคดีเท่านั้น งานที่เธอทำเพื่อสังคมเป็นงานของนักบวชนักบุญ
ชลธร วงศ์รัศมี ศิษย์ค่ายสารคดีรุ่นแรก มาย้อนความหลังถึงครูสารคดีที่เธอได้เจอเมื่อ 13 ปีก่อนว่า ครูอรสมทำให้เห็นว่าวงการนี้สวยงาม “ครูเป็นแบบอย่างเรื่องความเรียบง่าย ทำให้เห็นว่าอะไรจำเป็นต่อชีวิต อะไรที่รุงรัง ปรุงแต่ง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่สำคัญและหายาก ดีใจมากที่ชีวิตนี้ได้เจอครูอรสม”
เช่นเดียวกับ แว่น ลูกศิษย์จากเรือนจำหญิงกลาง ที่ออกมาสู่อิสรภาพแล้ว และมาร่วมงานแซยิดครูด้วย กล่าวว่า “ครูไม่ได้สอนแค่งานเขียน แต่สอนให้คิดเป็นด้วย ทำให้เราได้ฉุกคิดและทบทวนตัวเองขณะที่อยู่ในแดนที่โดนปฏิบัติเหมือนเราไม่ใช่คน”
ขณะที่ปองธรรม สุทธิสาคร ลูกโดยสายเลือดบอกว่า “แม่เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของตน”
อรสม สุทธิสาคร กล่าวในตอนท้ายสุดว่า ย้อนมอง 60 ปีที่ผ่านมา เธอมีวัยเด็กที่ว้าเหว่ ยังไม่ทันได้ใช้ชีวิตวัยสาวเท่าไรก็กลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เรียนไม่จบ เอาไปต้นฉบับไปเสนอสำนักพิมพ์ก็ถูกปฏิเสธจนเธอต้องแอบหลั่งน้ำตา แต่ก็ผ่านมาได้ และยืนยันที่จะเลือกชีวิตนักเขียน พอใจกับการได้สร้างคนรุ่นหลัง ความหวังต่อไปใน 4-5 ปีข้างหน้านี้ คือนำพระพุทธรูปจากฝีมือการปั้นของลูกศิษย์หลังกำแพง ไปมอบให้กับโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ ในราว 40 จังหวัด ให้เป็นที่พึ่งทางใจของผู้ป่วยนะยะสุดท้ายในแผนกดูแลรักษาแบบประคับประคอง
เป็นความฝันเป็นเป้าหมายในใจของหญิงสาวที่เพิ่งครบ 60 ปีเต็มไปเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2560 ที่เราคงได้ร่วมสาธุการและชื่นชมยินดีด้วยในกาลต่อไป