อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


ราว ๑ เดือนหลังถูกจับจากบ่อน้ำสาธารณะใกล้หาดเลพัง จ.ภูเก็ต สู่บ่อปูนภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต ๕ ถึงที่สุดผลตรวจสุขภาพและพันธุกรรมของ “จระเข้เลพัง” ก็ออกมา

เป็นผลที่สร้างความผิดหวังและสมหวังให้กับใครหลายต่อหลายคน

๒๕ กันยายน ๒๕๖๐ หลังลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเลือด เซลล์เยื่อบุตา เซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และส่งตรวจเลือดระบุพันธุกรรมที่ภาควิชาพันธุ์ศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผู้เชี่ยวชาญจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ส่งรายงานผลตรวจสุขภาพจระเข้เลพังให้อธิบดีกรมประมง ผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการจำแนกเป็นด้านต่างๆ ดังนี้

๑. สุขภาพทั่วไป : เป็นจระเข้เพศผู้ ความยาว ๒.๘๐ เมตร โตเต็มวัย สภาพโดยทั่วไปสมบูรณ์ มีบาดแผลภายนอกเล็กน้อย
๒. เลือดและซีรัม : อยู่ในเกณฑ์ปรกติ ไม่พบปรสิต
๓. พันธุกรรม : จากการตรวจ DNA พบว่าเป็นจระเข้ลูกผสมระหว่างจระเข้สยาม หรือจระเข้น้ำจืด (C.siamensis) กับจระเข้น้ำเค็ม (C.porosus)
๔. เครื่องหมายระบุตัว : ไม่พบการทำเครื่องหมายภายนอกและการฉีดไมโครชิพ
๕. พฤติกรรม : ไม่ก้าวร้าวนัก คงมีความเครียดและกำลังปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อม

รายงานผลตรวจสุขภาพจระเข้เลพังยังระบุเพิ่มเติมว่า

ผลการตรวจเลือดและสารเคมีในเลือดเพื่อประเมินสุขภาพจระเข้ที่ศูนย์วิจัยสุขภาพจระเข้ (Crocodile Health Research Center) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ค่าทั้งหมดปรกติ ผลตรวจโรคติดเชื้อ Chlamydophila psittoci, Mycoplasma spp. และ West Nile virus ที่ศูนย์เฝ้าระวังและและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่น และสัตว์อนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลตรวจทั้งหมดเป็นลบ ผลจากการส่งตรวจที่ศูนย์ตรวจวินิจฉัยทางการสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่พบปรสิตในเลือด

ผลสืบเนื่องจากการตรวจสอบพันธุกรรม พบว่าเป็นจระเข้ลูกผสมระหว่างจระเข้น้ำจืดและจระเข้น้ำเค็ม ประกอบกับไม่มีประวัติการพบเห็นในธรรมชาติและไม่มีประวัติการแพร่กระจายของจระเข้น้ำเค็มมาก่อน จึงเป็นไปได้ว่านี่เป็นจระเข้ที่เกิดจากฟาร์ม เล็ดลอดเข้าสู่ธรรมชาติโดยไม่ทราบสาเหตุและแหล่งที่มา

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีข้อเสนอแนะว่า จระเข้ลูกผสมไม่มีคุณค่าในเชิงอนุรักษ์ ไม่สามารถปล่อยสู่ธรรมชาติหรือนำไปใช้เป็นแหล่งพันธุกรรมจระเข้พันธุ์แท้ได้อีกต่อไป

ทางออกของจระเข้ตัวนี้ คือถือเป็นโอกาสในการฟื้นฟูประชากรจระเข้น้ำเค็ม โดยมีจระเข้เลพังเป็นตัวกระตุ้นความตระหนักของการมีจระเข้ในแหล่งควบคุมที่เป็นแหล่งเดิม เช่น พรุไม้ขาว ด้วยการทำพื้นที่แยกจระเข้ลูกผสมตัวนี้ให้เป็นสัดส่วน พร้อมกับนำจระเข้น้ำเค็มพันธุ์แท้ขนาดและจำนวนเหมาะสมเข้ามาเลี้ยงในบริเวณควบคุมที่เป็นธรรมชาติ จัดตั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ อนุรักษ์พันธุ์จระเข้น้ำเค็มของภูเก็ต เพื่อให้เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ และได้อนุรักษ์สัตว์ป่าที่เคยสูญพันธุ์ไปแล้วให้กลับมา

แม้มีเสียงเรียกร้องไม่ให้กักขังเลพัง ขอให้ปล่อยออกสู่ธรรมชาติเพื่อใช้ชีวิตอิสระมาตั้งแต่แรกจับ แต่ผลการตรวจอีเอ็นเอที่ออกมาว่าเป็นลูกผสมระหว่างจระเข้น้ำจืดกับน้ำเค็ม ก็ได้ถูกนำมาใช้เป็นปัจจัยหลักในการหาทางดูแลเลพังต่อไป

๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้แจงในเฟซบุคว่า เมื่อผลการพิสูจน์ออกมาว่าเป็นจระเข้ลูกผสม จึงไม่สามารถปล่อยในธรรมชาติ ต่อจากนี้เป็นหน้าที่กรมประมงที่จะดูแลเจ้าเลพังต่อไป จะเอาไปดูแลที่ไหน จะเอาไปฝากไว้กับฟาร์มจระเข้หรือสวนสัตว์ก็แล้วแต่ความเหมาะสม

ผศ.ธรณ์ ยังระบุว่า จระเข้ลูกผสมจึงถือเป็นเอเลียนสปีชีส์ การจัดการกับเอเลียนสปีชีส์หรือชนิดพันธุ์ต่างถิ่นต้องเป็นไปตามเหตุผลและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ใช้ความรู้สึกสงสารเข้ามาตัดสินใจ

๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ดร.อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง แถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต ๕ (ภูเก็ต) ถึงแนวทางการจัดการจระเข้เลพังว่า จากการพิจารณาหาสถานที่ปิด พบว่ามีหลายแห่งที่ถูกเสนอให้เป็นทางเลือก เช่น

๑.พื้นที่ของกรมอุทยาน / หน่วยพิทักษ์อุทยาน ในภูเก็ต พอจะเป็นสถานที่เลี้ยงดูได้ แต่มีปัญหาไม่มีผู้เชี่ยวชาญดูแล

๒. พื้นที่ป่าพรุเจะสัน อยู่ในพื้นที่ของอบต.ไม้ขาว อ.ถลาง มีพื้นที่ความกว้าง ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการสร้างสิ่งล้อมกั้น และมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากพื้นที่ได้

๓. บ่อเลี้ยงของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต ๕ (ภูเก็ต) ซึ่งจระเข้เลพังพักอยู่ในปัจจุบัน มีอุปสรรคคือขนาดบ่อมีความคับแคบ ไม่เหมาะสม และไม่มีผู้เชี่ยวชาญดูแล

จึงจำเป็นต้องเลือกทางเลือกที่ ๔. คือให้สวนสัตว์ของเอกชนเป็นผู้ดูแลในลักษณะการฝากเลี้ยง ทั้งนี้ในภูเก็ตมีสวนจระเข้ถึง ๓ – ๔ แห่ง แต่ ๓ แห่งมีการแสดงโชว์จระเข้ รวมทั้งไม่มีพื้นที่หรือบ่อขนาดใหญ่ให้จระเข้เลพังอยู่อาศัยได้อย่างเหมาะสม

กระนั้น ยังมี ๑ แห่งที่พร้อม สามารถจัดพื้นที่ และดูแลเลพังได้ คือสวนสัตว์ภูเก็ต ซอยป่าหล่าย ต.ฉลอง เลี้ยงดูแลจระเข้มานาน เจ้าหน้าที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลจระเข้

กระบวนการต่อไปจะเป็นการปรึกษาหารือเกี่ยวกับรายละเอียด ข้อตกลงและกฎระเบียบ รวมถึงการดำเนินการในส่วนของเอกสารให้ถูกต้องตามกฎหมาย คาดว่าจะส่งมอบเลพังให้สวนสัตว์ภูเก็ตได้ก่อนปีใหม่ โดยยืนยันว่าจระเข้เลพังยังคงเป็นสมบัติของชาวภูเก็ตและคนไทย การมอบให้สวนสัตว์ภูเก็ตดูแลนั้นไม่ใช่การยกให้ แต่เป็นการฝากให้ดูแล

ล่าสุดมีรายงานว่าสวนสัตว์ภูเก็ตกำลังปรับปรุงบ่อเลี้ยงเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒๐ เมตร เดิมเป็นบ่อที่เลี้ยงจระเข้ประมาณ ๒๐ ตัว ได้ย้ายจระเข้ออกแล้วปรับปรับภูมิทัศน์ใหม่

พิชัย สกุลศร ผู้จัดการสวนสัตว์ภูเก็ต ให้รายละเอียดว่า จะดูแลอย่างดี ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง หากอนาคตมีสถานที่เหมาะสมกว่า ไม่ว่าของรัฐหรือเอกชน ก็พร้อมที่จะส่งมอบเลพังให้ดูแลต่อไป

กว่า ๓ เดือนตั้งแต่มีผู้พบเลพังว่ายน้ำอยู่ในทะเล ถูกควบคุมตัวมาเก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจหารหัสทางพันธุ์กรรม ฉากสุดท้ายของเรื่องราวอันหลากหลายและเต็มไปด้วยข้อถกเถียงใกล้ถึงบทสรุปเข้ามาทุกที

เป็นฉากสุดท้ายที่ละม้ายคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา

เมื่อเลือดในกายลิขิตชะตาชีวิตเลพัง