เป็นสายวันที่แดดร้อนเปรี้ยง แต่ทุกคนที่นั่งตรงนั้นไม่มีใครขยับหนีไปไหนซ้ำยังมีคนทยอยเดินเข้ามาขอนั่งสมทบในที่ว่าง
ข้างผมเป็นหญิงวัยกลางคนที่มาจากจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน เธออยู่ตรงนี้เป็นวันที่ ๔ แล้ว
เธอบอกว่าจะอยู่จนถึงวันสุดท้ายของพระราชพิธีเพื่อส่ง “พ่อ”
ก่อนริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคารจากสนามหลวงจะเคลื่อนมาถึงตรงที่เรานั่งกันอยู่เล็กน้อย คงด้วยทั้งแดดกล้าและความอ่อนล้ามาหลายวัน ผู้หญิงข้างผมและผู้สูงอายุอีกสองสามคนจึงเกิดหน้ามืดจะเป็นลมต้องพาไปปฐมพยาบาลกันใต้ร่มเงาด้านหลังเมื่อริ้วขบวนเคลื่อนผ่าน รอบตัวผมมีแต่เสียงสะอื้นไห้และน้ำตา
…
หลังฝนตกหนักตอนบ่ายวันก่อนหน้านั้น ผู้คนรอถวายดอกไม้จันทน์ยังยืนแถวเป็นระเบียบต่อกันยาวเหยียด ใครก็อาจคาดคะเนได้ว่า ถึงเวลา ๔ ทุ่ม คนสุดท้ายของแถวตอนนี้ก็อาจยังไม่ได้ถวายดอกไม้จันทน์
แต่ทุกคนที่ยืนรอไม่แสดงอาการหวั่นไหว
ดึกเกือบ ๕ ทุ่ม ผมฝ่าฝูงชนคลาคล่ำเข้ามายืนอยู่หน้าหอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อันเป็นที่ตั้งของศูนย์สื่อมวลชนฯ ท่ามกลางความสับสนของหมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพจริงเพราะไม่มีการแจ้งข่าวและเผยแพร่ภาพในโทรทัศน์
กลุ่มควันที่ลอยปกคลุมเหนือพระเมรุมาศในความมืดทำให้ประชาชนที่นั่งเฝ้าอยู่บริเวณนั้นต่างจ้องมองมวลสีเทาที่แปรเปลี่ยนรูปร่างไปไม่หยุดนิ่ง
หลายคนพนมมือไหว้แล้วปาดน้ำตา
สักครู่ดูเหมือนควันจะจางหาย แต่ไม่นานก็ปรากฏกลุ่มควันลอยคลุ้งชุดใหม่ผมยืนเหม่อมองด้วยความนิ่งงัน
…
สองสัปดาห์ถัดมา ผมยืนทำใจสงบอยู่หน้าพระเมรุมาศสีทองอร่าม ท่ามกลางบรรยากาศอันค่อนข้างวุ่นวายของประชาชนจำนวนมากที่กำลังเดินชมและถ่ายภาพนิทรรศการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
เป็นยามสนธยาที่มีแสงสีชมพูและสีเหลืองส้มฉายทาบหมู่เมฆใกล้ขอบฟ้า ก่อนรัตติกาลจะค่อย ๆ เข้าโอบคลุม
เป็นช่วงกาลรอยต่อที่มิใช่ทั้งกลางวันและกลางคืนอันน่าฉงน
ความรักที่ทุกคนร่วมกันแสดงต่อ “พ่อ” ในช่วงแห่งความโศกเศร้า หลังจากนี้จะแปรเป็นพลังเพื่อร่วมสร้างสรรค์พัฒนาตนเองและประเทศชาติได้อย่างไร
และอีก ๑ เดือน ๑ ปี หรือ ๑๐ ปี ผมถามตนเองว่าจะยังจดจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้แม่นยำแค่ไหน
นึกถึงที่บางคนกล่าวไว้ - สิ่งโหดร้ายที่สุดมิใช่ความตาย
แต่คือการมีชีวิตอยู่โดยลืมเลือนคนที่รัก
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี
suwatasa@gmail.com
- ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 393 พฤศจิกายน 2560