อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


๒๙ พฤศจิกายน – ๕ ธันวาคม ๒๕๖๐ ได้รับเชิญจากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) และเสมสิกขาลัย มูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป ออกเดินทางสู่ทวาย เมืองเล็กๆ ตอนใต้พม่า ร่วมโครงการ “ท่องทวายกับอาสาอาเซียน”

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ทวายถูกพูดถึงในหมู่นักลงทุนในฐานะที่ตั้งโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โครงการตัดถนนเชื่อมทวายกับท่าเรือแหลมฉบัง บ้างอ้างว่าพื้นที่แถบนี้จะกลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด “เวอร์ชั่นพม่า”

หลังออกท่องทวายร่วมสัปดาห์ ผมพบว่าเมืองเล็กๆ ในอ้อมกอดเขาตะนาวศรียังมีอีกหลายสิ่งน่าสนใจ

“ทวาย” หรือ “ทะเว”

ชื่อ “ทวาย” เป็นคำที่คนไทยใช้เรียกกัน ความจริงแล้วนั้นคนทวายออกเสียงเรียกตัวเองว่า “ทะเว” (Dawei)

ทวาย หรือ ทะเว เป็นเมืองเอกแห่งแคว้นตะนาวศรี ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของพม่า ดินแดนส่วนนี้มีลักษณะเป็นแหลมยื่นออกจากส่วนหลักของประเทศคล้ายภาคใต้ของไทย มีแม่น้ำทวายไหลผ่าน ขนาบเทือกเขาตะนาวศรีและอ่าวเมาะตะมะ ทวายจึงมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ทั้งป่าเขาและทะเล

นอกจากทวายแล้วแคว้นตะนาวศรียังมีเมืองสำคัญอื่นๆ อีกที่คนไทยคุ้นชื่อ คือ มะริด และเกาะสอง

เกาะสองตั้งอยู่ตรงข้ามจังหวัดระนอง มะริดอยู่ตรงข้ามประจวบคีรีขันธ์ ทวายอยู่ตรงข้ามกาญจนบุรี

ฝ่าด่าน “เคเอ็นยู”

หากไม่ขึ้นเครื่องจากกรุงเทพฯ ไปลงสนามบินย่างกุ้ง แล้วต่อรถหรือสายการบินในประเทศมาลงสนามบินทวาย

การเดินทางมาด้วยทวายรถยนต์ต้องขับรถผ่านเทือกเขาตะนาวศรี บางช่วงเลาะเลียบแม่น้ำตะนาวศรี

ที่ชายแดนไทย ฝั่งตรงข้ามจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี คือด่านทิคี่ ชายแดนพม่า การยื่นหนังสือผ่านเข้าประเทศอยู่ในควารับผิดชอบของรัฐบาลพม่า แต่หลังจากนั้นเรายังต้องผ่านจุดตรวจย่อยของกองกำลังสหภาพชนชาติกระเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยู อีก ๔-๕ ด่าน ทุกด่านติดป้ายห้ามถ่ายรูป

หลังเจรจาหยุดยิงเพื่อสันติภาพ พื้นที่ตามแนวชายแดนยังถือเป็นเขตอิทธิพลของกระเหรี่ยงเคเอ็นยู

ระยะทาง ๑๓๒ กิโมเมตร ใช้เวลาประมาณ ๗ ชั่วโมงถึงตัวเมืองทวาย

พืชเศรษฐกิจชื่อ “มะม่วงหิมพานต์”

ของกินเล่นขึ้นชื่อทางภาคใต้ของไทยก็มีวางจำหน่ายอยู่ทั่วไปในภาคใต้ของพม่า

ส่วน “ติ่ง” ของผลพืชที่ชื่อขึ้นต้นว่า “มะม่วง” แต่รสชาติคล้าย “ถั่ว” เป็นพืชเศรษฐกิจของคนทวาย อดีตเคยเป็นสินค้าส่งออกไทย ปัจจุบันนิยมส่งไปจีน
ในเมืองทวายมีโรงงานทำมะม่วงหิมพานต์มากกว่า ๓๐ แห่ง โรงงานที่ใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ในห้องแถว เจ้าของยังคงใช้เตาถ่านและเตาอบแบบโบราณ คนงานต้องคอยพลิกกลับเม็ดมะม่วงหิมพานต์ สลับถาดชั้นบนกับชั้นถาดล่างทุก ๔๕ นาที

วิธีการอันพิถีพิถันและใส่ใจนี้ เริ่มตั้งแต่รับมะม่วงหิมพานต์จากเกษตรกรมาตากแดด ๔ วัน ต้ม ๓๐ นาทีงแล้วกะเทาะเปลือกแข็ง อบต่ออีก ๒ วัน ขูดเปลือกอ่อนแล้วคัดแยกตามขนาด

คนงานร้อยกว่าคนเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง มีรายได้เฉลี่ย ๕,๐๐๐ – ๑๑,๐๐๐ จ๊าด หรือ ๑๒๕-๒๗๕ บาทไทยต่อวัน ขึ้นอยู่กับน้ำหนักและการแตกหักของเม็ดมะม่วง

มะม่วงหิมพานต์เกรดเอราคาใกล้เคียงกับไทย คือกิโลกรัมละ ๑๖,๐๐๐ จ๊าด หรือ ๔๐๐ บาท

“ถนนต้นตาล” และ “น้ำตาลเมา”

ถนนหลายสายในเมืองทวายมีต้นตาลสูงใหญ่ขึ้นเรียงรายสองฝั่ง บางเส้นเป็นแนวยาวไปจนสุดสายตา ขนาบด้วยท้องทุ่งนา บรรยากาศคล้ายจังหวัดเพชรบุรีเมื่อหลายปีก่อน

ไม่มีใครให้ข้อมูลชัดเจนได้ว่าต้นตาลเหล่านี้ถูกปลูกขึ้นเมื่อไร และเพราะอะไรถึงเลือกใช้ต้นตาลเป็นไม้ริมถนน

ถนนต้นตาลสายหนึ่งเป็นถนนสุขภาพ เพราะนอกจากจะมีรถยนต์และมอเตอร์ไซด์แล่นผ่าน คนทวายยังชอบออกมาวิ่งออกกำลังกายกัน

ริมถนนสายเดียวกันยังมีเพิงเล็กๆ ที่ชาวบ้านปลูกขึ้นเพื่อขาย “น้ำตาลเมา” หมักจากน้ำตาลสดที่ชาวบ้านปีนขึ้นไปปาดงวงตาล เวลาเสิร์ฟใส่กระบอกไม้ไผ่ คู่กับแกล้มทำจากปลาแห้ง หอยเสียบ ยำถั่วคลุกหัวหอม

ภาพชาวบ้านกลุ่มหนึ่งวิ่งออกกำลังกาย กับอีกกลุ่มซดน้ำตาลเมาจนได้ที่ บางคนคอพับ ริมท้องทุ่งคล้ายเพชรบุรี เป็นภาพแปลกตาริมถนนต้นตาลแห่งทวาย

ณ หลักกิโลเมตรที่ศูนย์

หลักกิโลเมตรที่ศูนย์ เป็นจุดเริ่มต้นของถนนออกจากเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และเป็นจุดสร้างท่าเรือน้ำลึกรับส่งสินค้ายื่นออกไปในทะเล

เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเป็นมหากาพย์ร่วมระหว่างไทยกับพม่า ลงนาม MOU พัฒนาเส้นทางเชื่อมทวาย-แหลมฉบังตั้งแต่ปี ๒๕๕๑

ร่วมสิบปีไปผ่านไป ที่ดินริมชายหาดมยินจีถูกปรับสภาพให้ราบเรียบ มีการย้ายหมู่บ้านชาวประมงออกจากหน้าหาด สร้างโรงไฟฟ้า ท่าเรือขนาดเล็ก หมู่บ้านรองรับผู้อพยพ แต่โดยรวมโครงการมีความคืบหน้าช้ามาก

เพราะถูกคัดค้านจากชาวบ้าน และไม่ค่อยมีนักลงทุนจากต่างชาติกล้าเสี่ยงเข้ามาตั้งโครงการนำร่อง

ถึงตอนนี้ยังไม่แน่ชัด ว่าโครงการทวายที่รัฐบาลพม่าและนักลงทุนต่างชาติหวังจะพัฒนาทวายไปในทิศทางอุตสาหกรรม จะสิ้นสุดลงตรงไหน

ปลาสดๆ บนหาด “ตาบอเส็ก”

ณ ชายหาดหมู่บ้านตาบอเส็ก ไม่ห่างจากเรือประมงที่เพิ่งเข้าเทียบท่า แม่บ้านชาวประมงนำปลาออกมาวางขายเต็มชายหาด
ปลาสดๆ ที่สามีของพวกเธอจับได้มีหลายชนิด เช่น ปลากดทะเล ปลาดาบลาว ปลาสละ อินทรี ใบขนุน มง ฉลาม ปักเป้า กุเลา กระบอก ช่อนทะเล เก๋า สีกุล ดุกทะเล สาก ฯลฯ

บางชนิดเคยมีในอ่าวไทย
สุ่มถามราคาขาย แม่บ้านบอกปลาอินทรีน้ำหนัก ๑ วิสส์ (viss) ราคา ๑๐,๐๐๐ จ๊าด คิดเป็นเงินไทยประมาณ ๒๕๐ บาท
วิดเป็นหน่วยวัดน้ำหนัก ๑ วิสส์ เท่ากับ ๑.๖๓ กิโลกรัม

แทบทุกวัน ปลาสดจากท้องทะเลจะถูกนำมาวางเรียงเต็มหาด พอดวงตะวันพ้นจากขอบฟ้าตลาดปลาก็เริ่มวาย มีพ่อค้าเข้ามาต่อรองราคาปลาไปขายต่อ

ชาวประมงตาบอเส็กไม่ได้ออกเรือทุกวัน แต่ละเดือนจะมีอย่างน้อย ๑-๒ วัน ที่พวกเขาหยุดออกหาปลา คือวันพระจันทร์เต็มดวงขึ้น ๑๕ ค่ำ

แรม ๒-๔ ค่ำ ถึงจะออกทะเลอีก

หมู่บ้าน “กาโลนท่า” และผ้าป่าสามัคคี

หมู่บ้านกาโลนท่าตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองทวายประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณชั่วโมงครึ่ง ก่อนถึงตัวหมู่บ้าน แสงแรกของวันสะท้อนเกาะแก่งกลางแม่น้ำตาไลน์ยาร์เป็นประกายระยิบระยับ ชาวบ้านเล่าว่าบางช่วงที่น้ำมาก จะมีคนออกมาร่อนแร่

บ้านเรือนในหมู่บ้านกาโลนท่าเป็นบ้านไม้ ล้อมรอบด้วยสวนสมรมและต้นหมากสูงใหญ่ที่ปลูกส่งออกไปขายทั่วประเทศพม่า อย่างไรก็ตาม ไม่นานมานี้รัฐบาลพม่าได้แจ้งว่าพื้นที่ทั้งหมดของหมู่บ้าน รวมถึงผืนป่า ๗ ล้านตารางกิโลเมตร จะจมอยู่ใต้น้ำเมื่อมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำตาไลน์ยาร์

หลวงพ่ออู ปิญญา วันตะ เจ้าอาวาสวัดธรรมเลกิต และลูกบ้าน เล่าว่าพวกตนไม่ต้องการอพยพไปไหน และอยากผลักดันพื้นที่หลายๆ แห่งรอบหมู่บ้านโดยเฉพาะบ่อน้ำพุร้อน และน้ำตกเป็นแหล่งท่องเที่ยว

๑ ธันวาคม ๒๕๖๐ คนไทยกลุ่มเล็กๆ จึงเป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่าจากเมืองไทย รวบรวมเงินทำบุญเงินได้ ๕๑ ล้านจ๊าด หรือประมาณ ๑๒๕,๐๐๐ บาท เจ้าอาวาสบอกว่าจะนำมาใช้พัฒนาวัด และหมู่บ้านต่อไป

มองมะกัน “บางแสน” เวอร์ชั่นทวาย

หาดมองมะกันเป็นสถานที่พักผ่อนยอดนิยมของคนทวาย ให้ความรู้สึกคล้ายชายหาดบางแสนบ้านเรา แต่เงียบสงบกว่า
เมื่อดวงอาทิตย์คล้อยไปทางตะวันตก ถึงเวลาน้ำลด ชายหาดทรายจะแผ่ออกกว้างใหญ่ คนที่มาเล่นน้ำต้องเดินลงไปเกือบครึ่งกิโลเมตร
หาดมองมะกันน้ำใสสะอาด เม็ดทรายละเอียด แทบไม่มีเศษขยะ แต่ลึกลงไปใต้น้ำ บางช่วงเป็นหาดโคลน ทำให้น้ำมีสีขุ่นจากตะกอนโคลนอยู่บ้าง
เกือบทุกวันเมื่อแดดร่มลมตก นอกจากมีคนเล่นน้ำแล้วยังมีภาพชาวทวายออกมาเดินหาหอยในชายหาดเป็นอาหารและเป็นรายได้เลี้ยงชีวิต

ความหวังของหมู่บ้านประมง “ซานลาน”

หมู่บ้านประมงซานลานมีคนอาศัยอยู่ประมาณ ๕๐๐ หลังคาเรือน ได้รับคัดเลือกทางรัฐบาลท้องถิ่นให้เป็นหมู่บ้านนำร่องเรื่องการท่องเที่ยว ประชาคมทวายแนะนำให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันกลุ่มละ ๗ คนทำงานเป็นทีม หาทางพัฒนาการท่องเที่ยวในหมู่บ้าน
อู จามิ ผู้แทนกลุ่มบ้านอายุ ๖๐ ปี เล่าว่าตัวเองออกหาปลามาตั้งแต่อายุยี่สิบ เพิ่งจะเลิกลงทะเลมาเป็นคนรับซื้อปลา และกำลังหาทางพัฒนาหมู่บ้านให้ชาวบ้านมีรายได้จากการท่องเที่ยว

นอกจากดูวิถีชาวประมง ชมลานตากปลาเต็มหาดยามน้ำลด อู จามิ แนะนำว่านักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือไปเล่นน้ำบนเกาะนอกชายฝั่ง มีเกาะลองโลง เกาะมองมะกัน เกาะสวยๆ เหล่านี้อยู่ไม่ห่างจากฝั่ง และมีชายหาดให้เล่นน้ำ

มหกรรม “หลงรักทวาย”

งานหลงรักทวายจัดขึ้นครั้งแรกที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อต้นปี นิทรรศการภาพถ่าย รำพื้นเมืองแบบทวาย ศิลปะแสดงสด และวงเสวนา สร้างความประทับใจให้กับคนทวายที่ที่เดินทางมาร่วมงาน ถึงขนาดปรารภว่า “น่าจะจัดกิจกรรมแบบเดียวกันที่ทวายบ้าง”

ก่อนสิ้นปี ๒๕๖๐ จึงมีการจัดงาน “We love Dawei” ขึ้นบนแผ่นดินมาตุภูมิของคนทวายเอง บริเวณทางเข้าร้าน Bamboo garden มีผู้ร่วมงานนับพันคนตลอดทั้งวัน

บนเวทีเสวนา ช่วงหนึ่ง อู มายิน หม่อง รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรและการท่องเที่ยว แคว้นตะนาวศรี ยอมรับว่า ทวายมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจมากมาย ไม่ว่าทะเล ชายหาด วัด ป่าเขาลำเนาไพร ถึงแม้จะไม่ดีเท่าสมัยก่อน แต่ก็ยังไม่ถูกทำลายนัก สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนพื้นฐานที่คนทวายจะหาทางพัฒนาด้านการท่องเที่ยว

ตัวแทนภาครัฐผู้นี้ยังเปรียบเทียบว่า ถ้าเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ อย่างเช่นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เราต้องใช้เงินมหาศาล ต่างกับการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ไม่ต้องพึ่งทุนสูงนัก อยากให้รัฐเข้ามาสานต่อ

“ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าทวายสงบ น่ารัก น่าอยู่ คนทวายยังรักษาประเพณี แต่หลังจากมีชื่อเสียงเราจะรักษาอย่างไร และจะทำอย่างไรให้ทวายมีชื่อมากขึ้น” อู มายิน หม่อง กล่าว

ทางด้านตัวแทนศิลปินชาวไทย จิตติมา ผลเสวก ให้ความเห็นว่า “การท่องเที่ยวเป็นต้นทุนที่ไม่ต้องลงทุนของคนทวาย และยังสามารถรักษาสิ่งแวดล้อมเอาไว้ได้ ดิฉันเข้าใจว่าโลกต้องพัฒนา แต่ขอให้ดูบทเรียนการท่องเที่ยวของไทยที่เราได้มาแพงเหลือเกิน ทั้งขยะ สิ่งแวดล้อม การรุกล้ำวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนต่างชาติ การท่องเที่ยวที่เคารพวิถีชีวิต วัฒนธรรม ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม น่าสร้างสรรค์ให้ทวายกลายเป็นบ้านเมืองตัวอย่างของการท่องเที่ยว”

….

๗ วันในทวาย แม้ยังมีหลายสิ่งน่าค้นหา แต่เท่านี้ก็พอบอกได้แล้วว่า ทวายยังมีอะไรมากกว่าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและนิคมอุตสาหกรรม

เก็บตกจากลงพื้นที่ : ทวาย ๒๙ พฤศจิกายน – ๕ ธันวาคม ๒๕๖๐
ขอขอบคุณ : มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเสมสิกขาลัย มูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป