เรื่องและภาพ : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
แปลก เดชะบุญ เป็นชาวแม่จัน เชียงราย เดิมเป็นข้าราชการครูวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย ก่อนลาออกมาสู่งานที่รัก บนที่ดินมรดกตกทอดจากพ่อแม่ซึ่งเป็นชาวนา แต่เขาเปลี่ยนพื้นที่ ๑๒ ไร่ในหมู่บ้านสันนายาว ตำบลศรีค้ำ ให้กลายเป็นสวนเกษตรผสมผสาน และเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนที่เขาตั้งชื่อว่า “บ้านนาหลังคาแดง”
“เป็นบ้านกลางทุ่งมุงหลังคาสีแดง สร้างไว้นานแล้ว ตอนแรกมาได้แค่วันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงเราไม่อยู่เด็กวัยรุ่นมามั่วสุมกัน ชาวบ้านจะบอกตำรวจว่าให้ไปจับที่บ้านหลังคาแดง จนน้องสาวอยากรื้อบ้านทิ้ง ปี ๒๕๔๗ ผมจึงเออร์ลีฯ จากราชการมาอยู่ประจำ ทำสวนผสมผสาน ก็ใช้ชื่อเดิมที่ชาวบ้านเรียก แต่เราทำจากเชิงลบให้เป็นบวก”
ลุงแปลกเล่าที่มาของชื่อสวนที่ฟังสะดุดหูและพ้องกับชื่อโรงพยาบาลจิตเวช
“คิดไว้ว่าช่วงปลายชีวิตจะมาอยู่กลางทุ่งนานี่แหละ” ชายสูงวัยบอกความปรารถนา
และเล่าย้อนที่มาของความบันดาลใจว่า อยากสืบเจตนาของพ่อที่เป็นหมอยาแผนโบราณ ด้วยการรักษาพันธุ์ยาสมุนไพรไว้ กับประทับใจพระราชดำรัสเรื่องเกษตรผสมผสานทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งเขาอยากทำให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยนำมาใช้จริง
“พระเจ้าอยู่หัวทรงเขียนขึ้นเพื่อเป็นทางออกให้เกษตรกรรายย่อยที่มีปัญหาดินน้ำ หรือทำเกษตรเชิงเดี่ยว ให้จัดสรรพื้นที่ใหม่ในการทำเกษตร เป็นแหล่งน้ำ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ปลูกข้าวไว้กิน ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ปลูกไม้ผลยืนต้นไว้ใช้สอยประโยชน์ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ และอีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์เป็นที่อยู่อาศัยและคอกวัวควาย”
ในสวนเกษตรผสมผสานบ้านนาหลังคาแดงมีครบหมด จากหลักเกณฑ์การเพาะปลูกที่ว่า “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และทั้งหมดเป็นเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นมิตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
สร้างกิจกรรมทั้งการขยายและรวบรวมพันธุ์ไม้พื้นบ้าน พืชผัก สมุนไพร ที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
“ปลูกไม้ ๓ อย่าง ได้ประโยชน์ ๔ อย่าง ตามที่ในหลวงพระราชทานพระราชดำริไว้ ปลูกไม้สร้างบ้าน ไม้สัก ไม้พะยูง ผัก ผลไม้ มีหมด เลี้ยงสัตว์ทั้งเป็ด ไก่ ห่าน วัว ควาย หมู หมูป่า เลี้ยงผึ้ง เลี้ยงปลา และสัตว์น้ำ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก แบบผสมผสาน และพึ่งพาอาศัยกันโดยไม่ใช่การลงทุน”
จากที่นากลายเป็นสวนเกษตรเชิงนิเวศที่มีไม้ใหญ่ สมุนไพร พืชผักพื้นบ้านเป็นพันต้น ให้ร่มเงาช่วยลดความร้อนระอุของแดดแรง ใบร่วงกลายเป็นขยะ หมักรวมกับมูลสัตว์ทำปุ๋ยชีวภาพ
สร้างที่พักแบบโรงแรมชาวนาไว้ต้อนรับมิตรสหายที่มาเยี่ยมเยียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และทำแนวรั้วด้วยกอไผ่นานาชนิด ให้คนที่มาได้รู้จักไม้สารพัดประโยชน์นี้ด้วย
“ผมสร้างที่นี่เพื่อรักษาสิ่งดีงามที่ปู่ย่าตายายของเราได้คิดได้ทำสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของครอบครัว ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ผมไม่อยากให้สิ่งดี ๆ ถูกลบเลือนหายไปตามกาลเวลา และอยากช่วยให้คนร่วมโลกมีวิถีชีวิตดีขึ้น”
แผนการต่อไปของเขาจะขยับสู่การพึ่งตนเองด้านพลังงาน ทำเตาเผาถ่านประหยัดพลังงานจากถัง ๒๐๐ ลิตร ผลิตแก๊สชีวภาพ ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ ฯลฯ
“คนสมัยนี้คิดว่าเงินสำคัญที่สุด หากมีเงินก็ไม่อดตาย แต่ถ้าคนไม่รู้จักพึ่งตนเอง ต่อไปก็อยู่กันไม่ได้ เด็ก ๆ เดี๋ยวนี้ใบโหระพา แมงลัก กะเพรา แยกไม่ออก เรียนสูง แต่เรื่องใกล้ตัวไม่ค่อยรอบรู้”
นี่เป็นความบันดาลใจให้เขาตั้งศูนย์เรียนรู้บ้านนาหลังคาแดงเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของบรรพชน แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อรู้จักตัวตนจนถึงรากเหง้า
ดังคำประกาศแนวทางจากใจเจ้าของบ้านที่ติดอยู่หน้าประตูรั้วว่า ณ ที่แห่งนี้
“แหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สู่ชีววิถีวัฒนธรรมล้านนา สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ดินแดนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม”