ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
patwajee@gmail.com
หน้าฝนอย่างนี้หันไปทางไหนก็เห็นสีเขียวของต้นไม้ใบหญ้าน่าชุ่มชื่นใจ แต่ที่อิ่มใจและสบายท้องที่สุดเห็นจะเป็นสารพัดผักที่เบ่งบานมากับสายฝนให้ เก็บกินได้ไม่จำกัด ช่วยประหยัดเงินในกระเป๋า ที่สำคัญคือลดการเติมสารพิษเข้าสู่ร่างกายไปได้ระยะหนึ่ง และถ้าเลือกเมนูดีๆ คุณจะรอดปลอดภัยจากโรคสุดฮิตที่ใครๆ ไม่อยากร่วมกระแสอย่างไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ได้อีกด้วย
ผักผลไม้กับฤดูกาลสำคัญอย่างไร ?
สำหรับบางคนที่เคยเห็นและกินผักนับนิ้วมือทั้งสองข้างไม่ครบ–ผักกาดขาว กะหล่ำปลี คะน้า ผักกวางตุ้ง ถั่วฝักยาว ผักบุ้งจีน… อาจคิดว่าผักเหล่านี้ก็มีให้กินทุกฤดูกาลอยู่แล้วนี่นา
แท้จริงผักและผลไม้ล้วนมีฤดูกาลของตัวเองทั้งสิ้น โดยจะเติบโตแข็งแรงมีภูมิคุ้มกันโรคและแมลงเมื่ออยู่ภายใต้สภาพอากาศและแสง แดดที่เหมาะสม แต่ที่ยังมีผักนอกฤดูให้กินกันทั้งปีเพราะเกษตรกรเขาอัดปุ๋ยอัดยาต้านโรคและ แมลงกันเต็มกำลัง ชนิดที่ไปเก็บตัวอย่างที่ตลาดกี่มุมเมืองก็แล้วแต่ ล้วนพบว่าปริมาณสารพิษเกินพิกัดด้วยกันทั้งนั้น และหากคุณยังดึงดันเลือกกินผักผิดฤดูกาล ก็หมายความว่าคุณสมยอมที่จะรับผักที่อุดมไปด้วยสารพิษเข้าสู่ร่างกายนั่นเอง ที่สำคัญราคาผักนอกฤดูกาลยังแพงจับใจอีกด้วย
จึงขอเชิญชวนให้มากินผักตามฤดูกาลค่ะ ยิ่งเป็นผักพื้นบ้านยิ่งดี นอกจากไม่จำเจแล้วยังมั่นใจว่าปลอดสารพิษแน่นอน เรียกว่าดีทั้งต่อสุขภาพกายและสุขภาพเงินในกระเป๋า และหากจะมองเป็นองค์ร่วมสมัยยังช่วยดูแลสุขภาพของโลกด้วยการลดการใช้พลังงาน ในการผลิตปุ๋ยและยาอีกด้วย
ฤดูฝนเช่นนี้คุณจะพบผักพื้นบ้านจำพวกผักหวานบ้าน ผักปลัง (ปั๋ง) ผักขจร (สลิด) ผักบุ้งนา ตำลึง แค ยอดอ่อนมะรุม ฯลฯ แทงยอดอวบน่ากินได้ตามริมรั้วและสวนผักข้างบ้าน แต่หากคุณเป็นคนเมืองก็สามารถหาซื้อผักเหล่านี้ในตลาดสดได้ไม่ยาก ดิฉันยังเคยเห็นผักหวานป่าชูช่อสดเหมือนเพิ่งปลิดจากต้นบนเขาในป่าเมืองกา ญจน์ที่แผงลอยแถวตลาดท่าช้างและวังหลังอยู่บ่อยๆ
ถ้าไม่คุ้นเคยกับเมนูพื้นบ้านข้างต้น ขอแจ้งข่าวว่าผักพาณิชย์ประจำฤดูฝนนั้น ได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้งจีน ผักกวางตุ้งฮ่องเต้ ผักกาดขาว ถั่วแขก ถั่วฝักยาว ข้าวโพด บวบ แตงกวา ผักกาดหอมและผักสลัดต่างๆ มะเขือยาว มะเขือเปราะ พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู ส่วนผักหลงฤดูอย่างผักชี ขึ้นฉ่าย ตั้งโอ๋ ผักปวยเล้ง และบรอกโคลี กินให้น้อยลงหรือบอกลาไปสักพักจะดีกว่าค่ะ
หลักการนี้เป็นหลักการเดียวกับการเลือกรับประทานผลไม้ หลักอุปสงค์อุปทานทำให้ชาวสวนที่ไม่อยากเผชิญหน้ากับภาวะผลไม้ล้นตลาดราคาตก ต่ำ เขาลงทุนลงแรงไปกับการกระตุ้นหรือยับยั้งการเติบโตของไม้ผล ทั้งการให้ปุ๋ยให้ยาหรืองดน้ำงดอาหารเพื่อให้ได้ผลไม้นอกฤดูราคาดีกันทั้ง นั้น
มิเพียงการเลือกชนิดผักและผลไม้ตามฤดูกาล เคล็ดลับอีกอย่างของคนรักสุขภาพและอยากใช้อาหารเป็นยาอย่างแท้จริง คือการเลือกเมนูอาหารให้เข้ากับฤดูกาล
เมื่อเร็วๆ นี้มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรแนะนำวิธีต้านหวัดหน้าฝนง่ายๆ ด้วยการกินสมุนไพรรสจัด เช่น พริก ดีปลี พริกไทย ตะไคร้ ข่า ฟ้าทะลายโจร ขิง กระเทียม หอมใหญ่ กะเพรา ซึ่งส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นส่วนผสมในอาหารจานเด็ด เช่น แกงไก่บ้าน ต้มโคล้ง ไก่ย่างต้มขมิ้น แกงเห็ด แกงอ่อมหมูใส่ฟักทอง เมนูเหล่านี้ทั้งอิ่มท้องและทำให้หัวโล่งไล่หวัดได้ดี
อย่าลืมเสริมทัพด้วยผักและผลไม้ที่ให้วิตามินซีสูง (ตัวเลขในวงเล็บคือปริมาณมิลลิกรัมของวิตามินซีต่อผักและผลไม้ ๑๐๐ กรัมที่หยิบยกมาเพื่อให้คุณเลือกกินตามใจชอบค่ะ) เช่น ฝักเพกา (๔๘๔) ดอกขี้เหล็ก (๓๙๘) ยอดมะยม (๓๐๒) พริกกะเหรี่ยง (๒๓๓) ลูกยอ (๒๐๘) มะระขี้นก (๑๙๐) ฝักมะรุม (๑๕๙) ผักเชียงดา (๑๕๓) ยอดฟักข้าว (๑๔๗) ผักโขม (๑๒๐) ทองหลาง (๑๐๐) ยอดน้ำเต้า (๙๕) คะน้า(๙๓) ยอดมะม่วงหิมพานต์ (๘๙) ผักชี (๗๘) ใบยอ (๗๖) ดอกบรอกโคลี (๗๕) ดอกกะหล่ำ (๗๒) ดอกสะเดา (๗๓) ผักปลัง (๗๓) กวางตุ้ง (๕๓) ใบมะรุม (๕๓) ดอกแค (๕๒) ดอกขจร (๔๕) แครอต (๔๑) ส่วนผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น มะขามป้อม (๖๐๐) ฝรั่ง (๑๘๗) สตรอว์เบอร์รี่ (๗๗) มะละกอ (๖๐) ส้มเขียวหวาน (๔๒) มะม่วง (๓๖) น้ำมะนาว (๓๔) สับปะรด (๒๒) มะเขือเทศ (๒๑.๓)
ส่วนอาหารที่มีวิตามินอีสูง เช่น น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง ถั่วเปลือกแข็งประเภทอัลมอนด์ จมูกข้าวสาลี กะหล่ำปลี มันเทศ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มะพร้าว ปวยเล้ง เป็นต้น
สุดท้ายนี้มีของฝากเป็นเมนูแสนอร่อยรับหน้าฝน ทั้งไล่หวัดแบบง่ายและประหยัดเพราะผักส่วนใหญ่เก็บจากในสวน ต้นทุนหม้อละไม่เกิน ๓๐ บาท (ค่ากุ้ง) กินอิ่มทั้งครอบครัว ที่สำคัญคือไม่ต้องเป็นแม่ครัวฝีมือเอกก็ทำให้อร่อยได้เพราะมีความหอมหวาน ของผักสดเป็นตัวชูรสอยู่แล้ว
แกงเลียงผักรวมผักและเครื่องปรุง :
|
- ตีพิมพ์ใน : นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๓๐๗ กันยายน ๒๕๕๓