อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม
นกกระเรียนพันธุ์ไทย มีสีเทาทั้งตัว เฉพาะส่วนหัวและคอด้านบนเท่านั้นที่มีสีแดง ชอบอาศัยในป่าโปร่ง ทุ่งโล่ง ทุ่งนา พื้นที่ชุ่มน้ำ
๑
ปี ๒๕๖๐ น่าจะเป็นปีแห่งความหวังและกำลังใจของผู้ติดตามข่าวการขยายพันธุ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ
ตั้งแต่ต้นปีเราได้ยินข่าวความสำเร็จในการขยายพันธุ์นกซึ่งสาบสูญจากธรรมชาติบ้านเรามานานหลายสิบปี ทั้งข่าวการปล่อยนกกระเรียนเพิ่ม ข่าวนกกระเรียนจับคู่ผสมพันธุ์ ทำรัง วางไข่ รวมทั้งมีลูกนกเกิดใหม่ฟักตัวออกจากไข่ในธรรมชาติ
แต่แล้วปลายปีก็มีข่าวพบซากลูกนกกระเรียน ๑ ตัว
คาดว่าถูกรถยนต์แล่นชน หรือไม่ก็บินไปชนเสาไฟฟ้า
แม่พันธุ์นกกระเรียนและลูกนกในกรงเลี้ยง (ภาพ : เฟสบุค Sarus Crane Reintroduction Project Thailand)
๒
นกกระเรียน หรือ นกกระเรียนพันธุ์ไทย (Eastern Sarus Crane: Grus antigone) เป็น ๑ ใน ๑๕ สัตว์ป่าสงวนตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕ ไม่พบในธรรมชาติบ้านเรามาตั้งแต่ปี ๒๕๑๑
ทั้งนี้ รายงานการพบ “นกกระเรียนพันธุ์ไทยตัวสุดท้าย” เกิดขึ้นที่จังหวัดสุรินทร์ ใกล้ชายแดนกัมพูชา เมื่อจับมาเลี้ยงที่สวนรุกชาติช่อแฮ จังหวัดแพร่ ก็มีชีวิตอยู่ต่อมาได้อีก ๑๖ ปี ก่อนจะตายลงเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๗
รายงานอื่นๆ ที่กล่าวถึงนกกระเรียนพันธุ์ไทยตัวท้ายๆ เช่น ปี ๒๕๐๗ พบ ๔ ตัวที่วัดไผ่ล้อม จังหวัดปุทมธานี ปี ๒๕๒๘ มีผู้อ้างว่าพบ ๔ ตัวที่อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
หลังจากนั้นมา เราจะภาพนกกระเรียนที่งดงามราวจุติลงมาจากสรวงสวรรค์ก็แต่ในสถานที่เพาะเลี้ยงของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือไม่ก็องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่วนหนึ่งได้รับมอบจากสวนสัตว์เอกชน อีกส่วนมีชาวบ้านที่จับมาเลี้ยงส่งมอบคืนให้ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ
๓
นกกระเรียนพันธุ์ไทยเป็นนกน้ำขนาดใหญ่ อาจมีความสูงถึง ๑๗๐-๑๘๐ เซนติเมตร ลำตัวมีขนคลุมสีเทา เฉพาะส่วนหัวและคอด้านบนมีสีแดงสด ชอบอาศัยในป่าโปร่ง ที่ราบลุ่ม ป่าพรุ ทุ่งหญ้า ทุ่งนา พื้นที่ชุ่มน้ำ การนำมาเลี้ยงต้องจัดสภาพกรงให้มีลักษณะใกล้เคียงกับธรรมชาติ มีทั้งส่วนกลางแจ้ง ที่ร่ม พื้นกรงควรมีทั้งสนามหญ้า บ่อน้ำ พื้นทราย
ทรงกลด ภู่ทอง อดีตหัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี สถานที่เลี้ยงและเพาะพันธุ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เคยให้สัมภาษณ์ผู้เขียนในคอลัมน์โลกใบใหญ่ “อนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย…ความหวังยังไม่สิ้น” นิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๓๖๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ว่า การจำแนกนกกระเรียนพันธุ์ไทยเพศผู้และเพศเมียทำได้ยากมาก เพราะสีของนกทั้งสองเพศแทบไม่ต่างกัน ลักษณะภายนอกก็คล้ายคลึงกัน การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ช่วงแรกๆ เจ้าหน้าที่ต้องลองผิดลองถูก กว่าจะแยกเพศได้ต้องศึกษาพฤติกรรม การเกี้ยวพาราสี ประเมินท่าทางการร้องประสานเสียงที่เรียกว่า guard calls และ Unison calls
นกกระเรียนบางคู่เมื่อนำมาจับคู่กัน กว่าจะผสมพันธุ์ต้องใช้เวลานานกว่า ๑ ปี
กระเรียนพันธุ์ไทยส่วนใหญ่วางไข่ครั้งละ ๒ ฟอง อาจพบ ๑ หรือ ๓ ฟอง ขนาดประมาณเท่าไข่ห่าน (ภาพ : เฟสบุค Sarus Crane Reintroduction Project Thailand)
๔
หากบรรยากาศและสภาพแวดล้อมในกรงเลี้ยงเป็นใจ นกกระเรียนพันธุ์ไทยจะผสมพันธุ์และวางไข่ หลงัจากนั้นเจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระมีวิธีดำเนินการ ๒ วิธี
หนึ่ง ให้นกกระเรียนฟักไข่และเลี้ยงดูลูกด้วยตัวเอง เจ้าหน้าที่เพียงคอยสังเกตพฤติกรรมอยู่หลังซุ้มบังไพร
สอง เก็บไข่มาฝักในตู้อบที่มีอุณหภูมิประมาณ ๓๗ องศาเซลเซียส เมื่อลูกนกฟักออกจากไข่ เจ้าหน้าที่จะใช้หุ่นมือรูปหัวนกป้อนอาหาร ระวังไม่ให้ลูกนกเห็นคนป้อนจนเข้าใจผิดว่าเป็นพ่อแม่
นกกระเรียนมีพฤติกรรมฝังใจเช่นเดียวกับสัตว์ปีกอีกหลายชนิด เมื่อออกจากไข่และเห็นสิ่งที่เคลื่อนไหวเป็นสิ่งแรกจะฝังใจว่าสิ่งนั้นคือพ่อแม่ และคิดว่าตนเป็นมนุษย์ อาหารที่ให้ลูกนกได้แก่ปลาตัวเล็ก หนอน น้ำผสมวิตามิน กินเสร็จแล้วฝึกเดิน ๑-๒ ชั่วโมง ครบกำหนดเวลาก็พากลับเข้ากรงอนุบาล
เวลาผ่านไปลูกนกจะเริ่มมีขนขึ้นตรงหัวไหล่ ตามด้วยปีก เมื่ออายุ ๖ เดือนก็แข็งแรงพอที่นำไปปล่อยสู่ธรรมชาติ
ก่อนปล่อยเจ้าหน้าที่จะย้ายนกกระเรียนมาพักอาศัยในกรงชั่วคราวสร้างในสถานที่จริงที่จะปล่อย เพื่อให้นกกระเรียนได้ปรับตัว
นกกระเรียนพันธุ์ไทยออกหากินในแปลงนาจังหวัดบุรีรัมย์ การใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงส่งผลโดยตรงต่อนก ลูกนก และไข่ การขยายพันธุ์จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากเกษตรกรในพื้นที่ (ภาพ : เฟสบุค Sarus Crane Reintroduction Project Thailand)
๕
นับตั้งแต่ปี ๒๕๕๔-๒๕๕๕ เป็นต้นมา องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดทำโครงการ “นกกระเรียนคืนถิ่น” เพื่อหาทางฟื้นฟูประชากรนกกระเรียนในประเทศไทย
ที่ผ่านมามีนกถูกปล่อยคืนธรรมชาติแล้ว ๘๒ ตัว อยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก ๕๕ ตัว พื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน ๒๗ ตัว ทั้งสองพื้นที่อยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ นกแต่ละตัวถูกติดแท็กเป็นอุปกรณ์ติดตามตัวเล็กๆ ที่ขาเพื่อติดตามพฤติกรรม
เจ้าหน้าที่ต้องรอถึง ๔ ปี คือ เดือนสิงหาคม ปี ๒๕๕๙ ลูกนกกระเรียนตัวแรกถึงฟักตัวออกจากไข่ในธรรมชาติ
ปีต่อมา คือปี ๒๕๖๐ ยังพบว่ามีลูกนกเกิดใหม่ถึง ๙ ตัว ในจำนวนนี้มี ๒ ตัวเกิดเดือนเมษายนซึ่งถือเป็นลูกนกชุดแรกที่เกิดในช่วงฤดูร้อน เจ้าหน้าที่ปล่อยลูกนกตัวหนึ่งให้พ่อแม่เลี้ยงเองในธรรมชาติ อีกตัวหนึ่งแยกออกมาเลี้ยงที่สวนสัตว์โคราชเพิ่มอัตราการรอดชีวิต
การเกิดเองในธรรมชาติของลูกนกกระเรียนสร้างความปลาบปลื้มให้กับเจ้าหน้าที่ และสร้างความยินดีให้กับผู้พบเห็นทั้งเจ้าของแปลงนาที่มีนกกระเรียนเข้สมาอยู่อาศัย และผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา
นกกระเรียนพันธุ์ไทยเป็นนกรูปร่างสูงใหญ่ ท่วงท่าสง่างาม ไม่ว่าตอนหากินอยู่บนพื้นราบหรือโบยบินอยู่บนฟ้า งามประหนึ่งนกที่จุติลงมาจากสรวงสรรค์ (ภาพ : เฟสบุค Sarus Crane Reintroduction Project Thailand)
๖
จากความสำเร็จในการเพาะเลี้ยง ขยายพันธุ์ รวมถึงการอยู่รอดของนกกระเรียนพันธุ์ไทยได้เองในธรรมชาติ แม้จะมีนกกระเรียนจำนวนหนึ่งตายลงบ้าง ก็เริ่มมีข้อเสนอปลดนกกระเรียนพันธุ์ไทย สัตว์ที่สูญพันธุ์ในธรรมชาติแล้วแต่ยังมีในกรงเลี้ยงออกจากบัญชีสัตว์ “ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง” มาอยู่ในระดับ “ใกล้สูญพันธุ์” ถึงเวลานี้ยังไม่ได้ข้อสรุป
ขณะที่สหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) หน่วยงานต่างชาติจัดนกกระเรียนพันธุ์ไทยอยู่ในบัญชีแดงของสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต (IUCN Red List of Threatened Species หรือ IUCN Red List) ส่วนอนุสัญญาไซเตสจัดอยู่ในบัญชีอนุรักษ์ที่ ๒ ที่ถูกคุกคาม
๗
หลังสาบสูญหายจากธรรมชาติร่วมครึ่งศตวรรษ วันนี้พอจะกล่าวได้แล้วว่านกกระเรียนพันธุ์ไทยมีโอกาสที่ดีในการหวนคืนสู่ท้องทุ่งไทยอีกครั้ง
เส้นทางกำลังสดใส แต่แล้วปลายปี ๒๕๖๐ ก็มีข่าวมีผู้พบซากลูกนกกระเรียนพันธุ์ไทย ๑ ตัวเสียชีวิต
แม้ที่ผ่านมานกกระเรียนที่ปล่อยจะไม่ได้รอดชีวิตทั้งหมด แต่ครั้งนี้แตกต่างจากการตายครั้งที่ผ่านมา เมื่อซากนกที่พบมีร่องรอยถูกกระแทกอย่างรุนแรง
นักวิชาการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่าเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ว่านี่เป็นลูกนกกระเรียนเพศผู้ อายุ ๔ เดือน เกิดจากพ่อพันธุ์หมายเลข ๒๓๗ และแม่พันธุ์หมายเลข ๒๗๖ ซึ่งถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ ลูกนกกระเรียนเกิดเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๐ ในพื้นที่เขตห้ามล่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน จังหวัดบุรีรัมย์
เมื่อชันสูตรซากจึงพบว่าสาเหตุการตายมากจากได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรงที่หน้าอก สาเหตุอาจเกิดจาก ๑) ถูกรถยนต์ที่กำลังแล่นอยู่บนถนนสาย ๒๑๘ นางรอง-บุรีรัมย์ ชนอย่างแรง หรือไม่ก็บินไปชนเสาไฟหรือสายไฟฟ้าแรงสูงตามแนวถนน โดยให้น้ำหนักกับการถูกรถชนมากกว่า
นกกระเรียนพันธุ์ไทยที่ถูกปล่อยสู่ธรรมชาติสามารถดำรงชีวิต ขยายพันธุ์ เป็นจุดเริ่มต้นของความหวังในการฟื้นฟูประชากรนกกระเรียน ทั้งนี้ยังต้องอาศัยความร่วมมือของนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ ชาวบ้าน เกษตรกร หน่วยงานท้องถิ่น ในพื้นที่มีนกกระเรียนอาศัยอยู่ (ภาพ : เฟสบุค Sarus Crane Reintroduction Project Thailand)
๘
การฟื้นคืนประชากรนกกระเรียนพันธุ์ไทยในธรรมชาติใช่ว่าจะทำได้โดยง่าย ยังมีอุปสรรคอยู่อีกมากมาย
ที่ผ่านมาสาเหตุของการสูญพันธุ์เกิดจากการทำลายแหล่งพื้นที่ชุ่มน้ำ การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน เช่นเปลี่ยนพื้นที่ทำนาเป็นปลูกอ้อยหรือถั่วเหลือง การใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงซึ่งส่งผลโดยตรงต่อตัวนก ไข่ และลูกนก การขยายตัวของฟาร์มกุ้ง
นอกจากนี้ยังรวมถึงสิ่งก่อสร้าง เช่น เสาไฟ สายไฟ รั้วลวดหลาม การตัดถนนผ่านพื้นที่ชุ่มน้ำ การทำประมง การเลี้ยงสัตว์ สิ่งเหล่านี้ต่างรบกวนและส่งผลต่อความสำเร็จในการขยายพันธุ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย
หลังเกิดเหตุลูกนกกระเรียนตาย เจ้าหน้าที่ประกาศว่าจะเร่งประชาสัมพันธ์ ติดตั้งสัญญาณเตือนเพื่อขอความร่วมมือผู้ขับรถผ่านพื้นที่อาศัยให้ช่วยชะลอความเร็ว
หลังปล่อยให้เจ้าหน้าที่เหน็ดเหนื่อยกันมานาน ความสำเร็จในขั้นตอนสุดท้ายของการขยายพันธุ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยยังขึ้นอยู่กับชาวบ้าน เกษตรกรในพื้นที่ หน่วยงานท้องถิ่น ผู้คนที่สัญจรผ่านทาง
ว่าต้องการให้ภาพที่งดงามราวจุติลงมาจากสรวงสวรรค์ของนกกระเรียนพันธุ์ไทยกลับคืนมาอีกครั้งหรือไม่
เก็บตกจากลงพื้นที่ – สถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี และคอลัมน์โลกใบใหญ่ “อนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย…ความหวังยังไม่สิ้น” นิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๓๖๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
อีกภาคหนึ่งของ “เจ้าชายหัวตะเข้” นักเขียนสารคดีที่เรียนจบมาด้านวิทยาศาสตร์ สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และกีฬาเป็นพิเศษ