ผลงานค่ายสารคดีครั้งที่ 13
งานเขียนสารคดีดีเด่น
เรื่อง : เสาวลักษณ์ เชื้อคำ
ภาพ : ณัฐนิชา กรกิ่งมาลา
“อันนี้เป็นรูปตอนรับรางวัลนางสาวเชียงใหม่ในดวงใจ แต่งเป็นคุณพรรณนิภา นันทยา ปี 2499 อันนี้ตอนขึ้นเครื่องไปสัมมนาของบริษัท นี่คือชุดขึ้นเครื่อง ก็เล่นใหญ่แต่งเป็นแอร์โฮสเตส…” – เสียงเจื้อยแจ้วกำลังบอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังของภาพแต่ละภาพที่เธอโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ภาพที่เห็นคือคนร่างแคระแกร็นคนหนึ่ง ผิวซีดหมองตามลักษณะของผู้ป่วยโรคทาลัสซีเมีย แต่งกายและแต่งหน้าจัดเต็มในวาระและโอกาสต่างๆ
ภาพแรก เธอสวมมงกุฎและผ้าคลุมไหล่สีแดง สองมือประคองถ้วยรางวัล นั่งยิ้มหวานอยู่ข้างบัลลังก์นางงามร่วมกับเพื่อนนางงามเวทีเดียวกันอีกสี่คน
ภาพที่ 2 เธอแต่งกายด้วยเดรสแขนยาวลายเฉียงเข้ารูป มวยผมต่ำเรียบเก๋ มือหนึ่งเท้ากระเป๋าเดินทางแบบมีล้อลาก โพสท่าราวกับแอร์โฮสเตส เขียนบรรยายภาพไว้ว่า “บินวนไป…เก็บคะแนนวันที่ 1” พร้อมกับให้เครดิตผู้สนับสนุนเสื้อผ้าหน้าผมไว้อย่างมืออาชีพ
“แก้วลอดฟ้า” หรือ กฤษฎา ทิพยศ เจ้าของภาพเหล่านี้ เป็นสาวร่างเล็กเหมือนเด็ก มีผิวซีดเหลือง จมูกแบน โหนกแก้มสูง แต่งหน้าอย่างประณีต ทาลิปสติกชมพู และแต่งกายด้วยชุดไทยสีฟ้า หากไม่บอกเราคงนึกไม่ถึงเลยว่าเธอคนนี้ไม่ใช่เด็กประถมฯ แต่เธออายุ 24 ปีแล้ว และมีคำนำหน้าชื่อตามกฎหมายว่า “นาย”
ชื่อแก้วลอดฟ้าเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเฉพาะกับนักศึกษาที่อยู่ในช่วงปี 2555 เป็นต้นมา เธอคนนี้เป็นผู้เติมเต็มสีสันและเสียงหัวเราะให้กับงานในมหาวิทยาลัยหลายงาน แม้หลายคนอาจไม่คุ้นหูกับชื่อของเธอ แต่หากย้อนความไปถึงช่วงปี 2558 ที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กเปลี่ยนภาพโปรไฟล์ให้เป็นสีรุ้งเพื่อเฉลิมฉลองให้กับกฎหมายการแต่งงานของเพศเดียวกันในสหรัฐอเมริกา หลายคนคงเคยผ่านตากับภาพของคนที่ใช้เครื่องสำอางมาแต่งแต้มใบหน้าให้เป็นแถบสีเจ็ดสี สวยได้โดยไม่ต้องใช้โปรแกรม ภาพโปรไฟล์ของเธอในครั้งนั้นมียอดไลก์สูงกว่า 4 หมื่นไลก์ และมียอดแชร์กว่าหมื่นครั้ง
แก้วลอดฟ้า : ผู้รอดจากความตาย
หลายคนคงเดาออกว่าชื่อ “แก้วลอดฟ้า” ของเธอนี้ไม่ใช่ชื่อที่เธอได้ติดตัวมาแต่เกิด ชื่ออันแสนสะดุดหูนี้เธอได้มาจากกิจกรรมรับน้องใหม่ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“ก่อนจะเป็นแก้วลอดฟ้าก็มีมาสี่ชื่อ ชื่อแรก สาธุ ชื่อ 2 บอส ชื่อ 3 บอสวันเพ็ญเย็นเผา คือช่วงนั้นรับน้องของคณะวิจิตรศิลป์ค่อนข้างเหนื่อย ทุกเย็นเราก็จะต้องป่วย (หัวเราะ) รุ่นพี่ก็เลยบอกว่า ถ้าแบบนี้ เอามันไปเผาเถอะ”
เธอเล่าที่มาของชื่อเล่นที่ใช้ในคณะปนด้วยเสียงหัวเราะ แม้นั่นจะเป็นการกล่าวถึงเรื่องความเจ็บป่วยที่ค่อนข้างหนักหนาจนต้องนอนโรงพยาบาลก็ตาม “สุดท้ายมาจบที่แก้วลอดฟ้า ที่มาคือตอนวันที่พรีเซนต์ป้ายชื่อวันสุดท้ายก็ได้ไปโรงพยาบาล เพราะว่ารับน้องของอีกวันมันหนักมาก เข้าโรงพยาบาลก่อน ไปเติมเลือดหรืออะไรสักอย่าง เลือดขาด รุ่นพี่คณะก็ขอรับบริจาค มีทหาร ตำรวจ พยาบาล มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฏฯ เขาก็มา แห่กันมาเต็มโรงพยาบาลเลย เพื่อมาบริจาคเลือดให้เรา สภากาชาดนี่สายเข้าทุกวัน สามวันนั้น คนที่ไม่ได้เลือดนี่ก็กระจายให้ทุกคน แล้วเราก็กลับมารับน้องต่อ ป้ายใหม่ก็มาคล้องคอ กลายเป็นแก้วลอดฟ้า เป็นผู้รอดจากความตาย” (เธอปิดท้ายที่มาของชื่อจนเราคิดว่าเธอนี่เท่จริงๆ – เท่เหมือน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทีเดียว)
“ก็ปรกติค่ะ ที่บ้านไม่ได้เลี้ยงดูมาแบบเคร่งครัด พ่อแม่ก็ไม่จ้ำจี้จำไชเรามาก เราก็สบายๆ” เธอเล่าเมื่อเราถามถึงชีวิตในวัยเด็ก แก้วลอดฟ้ามีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่จังหวัดน่าน แต่เธอย้ายมาเรียนที่สาขาจิตรกรรมไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “นี่แม่ แม่มาซับหน้าให้ตอนออกหอประชุม สนิทกับแม่มาก ที่ผ่านมาแม่รู้ทุกเรื่องเลย แม่เป็นคนไปซื้อวิกให้ (หัวเราะ)” เธอชวนให้เราดูภาพที่สวมชุดครุยบัณฑิต มีแม่คอยซับหน้าและแต่งตัวให้ จากบุคลิกร่าเริง เต็มไปด้วยความมั่นใจของสาวร่างเล็กคนนี้ เราเชื่อว่าความอบอุ่นจากครอบครัวก็เป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอเป็นแก้วลอดฟ้าเช่นทุกวันนี้ด้วยเช่นกัน
เพศสภาพ สุขภาพ กับข้อจำกัดและสีสันของชีวิต
“มันลงตัวแล้ว ถ้าหนูไม่ได้เป็นทาลัสซีเมีย เป็นกะเทยอย่างเดียว มันก็ขาดไปอย่างหนึ่งเหมือนกันนะ อาจจะไม่ใช่แก้วลอดฟ้า เป็นแม่แก้วแม่คำที่ไหนก็ไม่รู้”
แก้วลอดฟ้าป่วยด้วยโรคทาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคโลหิตจางเรื้อรังชนิดหนึ่ง มีสาเหตุมาจากความผิดปรกติในการสร้างเฮโมโกลบินซึ่งเป็นส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดง ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้มักมีอาการซีด ตาเหลือง ตัวเหลือง ตับโต ม้ามโต แคระแกร็น จมูกแบน ฟันบนยื่น และท้องป่อง ทั้งยังส่งผลให้ร่างกายเติบโตช้ากว่าปรกติ ด้วยเหตุนี้เธอจึงมักถูกเข้าใจผิดอยู่เสมอ
“ตอนปี 1 ทุกคนก็ยังรู้ว่าเราเป็นกะเทยเนอะ พอปี 2 ปี 3 ผมมันยาวละ อ้าว ผู้หญิง (หัวเราะ) เป็นปัญหาโลกแตกมาก คือถามกันมาอยู่นั่นแหละ ถามมาในเฟซบุ๊ก ถามพี่คณะ ถามในเพจ คนอื่นเค้าก็จะไปตอบให้ เอ เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายดี อะไรอย่างนี้” เธอเล่าอย่างอารมณ์ดี แม้จะมีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศโดยกำเนิด แต่ด้วยความที่มีรูปร่างเล็กและมีลักษณะโครงหน้าที่ยากจะแยกได้ว่าหญิงหรือชาย เธอจึงมักถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเพศของตัวเองเสมอ ประกอบกับสไตล์การแต่งตัวจัดเต็มด้วยชุดไทยบ้าง ชุดกระโปรงแบบแฟนซีบ้าง หรือแม้กระทั่งสูทแฟชั่นทรงเข้ารูปแบบนักธุรกิจหญิง จึงไม่แปลกนักหากคนอื่นจะเข้าใจผิดว่าเป็นผู้หญิง
“กินยาวันละ 10 เม็ด” เธอพูดสั้นๆ ในขณะที่ทำเอาคนฟังตาโต “…ก็มียาขับเหล็ก ยาป้องกันเลือดอุดตัน แคลเซียม แล้วก็มีพวกยาบำรุงตามที่หมอสั่ง” เธอวางยาเม็ดเขื่องลงบนมือเล็กๆ มันมากจนเรียกได้ว่าเต็มฝ่ามือ ทำให้เราเข้าใจอาการป่วยของเธอชัดขึ้น นอกจากยาจำนวน 10 เม็ดที่ต้องกินทุกวันไปตลอดชีวิตแล้ว เธอยังต้องได้รับเลือดเพิ่มเป็นระยะๆ ตามความเห็นของแพทย์อีกด้วย แต่ปัญหาด้านสุขภาพร่างกายกลับไม่ส่งผลต่อสุขภาพจิตใจของเธอเลยแม้แต่น้อย
“การเป็นโรคนี้มันเป็นตั้งแต่เกิด ถ้าเราเอาใจใส่ดูแลตัวเอง อันนี้เราทำได้ เราทำ อันนี้เรากินได้ เรากิน ให้เรามีความสุข สุขมากที่สุด สุขเท่าไรยิ่งดี อย่าไปคิดว่าการเป็นโรคนี้มันต่างจากคนอื่น” ในขณะที่พูดนั้นเธอกำลังเก็บยาใส่ถุง ถุงยาของเธอนั้นขนาดพอๆ กับกระเป๋าใบย่อม ภายในมีทั้งยาในถุงซิปล็อก ยาที่อยู่ในแผง และยาที่อยู่ในขวด หากมองผ่านๆ ดูเหมือนถุงที่ใส่ของจากร้านสะดวกซื้อมากกว่าถุงใส่ยาเสียอีก
“ถามว่าเหนื่อยไหม ก็ไม่เหนื่อยนะ สบายๆ เหมือนเป็นหน้าที่มากกว่า เหมือนเรียนหนังสือ จันทร์ถึงศุกร์ต้องไปเรียนใช่ไหม โรงพยาบาลก็ต้องไปทุกเดือนเหมือนกัน เป็นหน้าที่ในการดูแลตัวเอง”
สำหรับผู้ป่วยหลายๆ คนแล้ว คำถามที่ว่าทำไมต้องเป็นเราที่ป่วย? อาจเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่สำหรับแก้วลอดฟ้าเธอไม่มีความคิดนั้นเกิดขึ้นเลย กลับมองเห็นแง่งามของการใช้ชีวิตเพิ่มมากขึ้น
“จริงๆ เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมนะ แต่ถ้ารู้ว่าเราเป็นแล้วเราต้องเป็นสุข เรื่องมันจะพลิกมาเป็นเรื่องดี มันทำให้เราเข้มแข็งขึ้นนะ ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น แต่ไม่ยอมแพ้” และเธอได้พิสูจน์คำพูดนั้นแล้วด้วยตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับสอง นางสาวเชียงใหม่ในดวงใจ ปี 2560 เวทีประกวดนางงามระดับจังหวัดที่เธอคว้ามงกุฎและสายสะพายมาได้ด้วยร่างเล็กๆ กับทัศนคติอันยิ่งใหญ่นี้
นอกจากเวทีประกวดนางงามต่างๆ แล้ว เธอยังมีผลงานในแวดวงบันเทิงอีกหลายอย่าง เริ่มต้นจากการเป็นนักเต้นให้กับเวทีของเจ้าพ่อแร็ปเปอร์ชื่อดังอย่าง โจอี้ บอย และร่วมแสดงภาพยนตร์ชื่อดังหลายเรื่อง เช่น รุ้งสีเทา หลวงพี่แจ๊ส หอแต๋วแตก แหกนะคะ เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าความสดใสและพลังชีวิตด้านบวกของเธอได้นำพาตัวเธอก้าวข้ามขีดจำกัดของชีวิตไปได้ไกล
“อย่ายึดติดกับว่าเราเป็นอะไร เราเป็นโรคอะไร เราเป็นกะเทย มันไม่ใช่ อย่าไปยึดติดกับมัน ถ้าเรามีความสุขมันก็จะสุขไปทั้งหมด สุขไปทั้งกาย ทั้งใจ ทั้งคนรอบข้าง” เธอกล่าวกับเราพร้อมรอยยิ้ม
เพราะความมั่นใจ ทำให้ผู้หญิงสวยขึ้น
แม้แก้วลอดฟ้าจะมีโครงหน้าที่ห่างจากคำว่า “สวย” ในแบบพิมพ์นิยม ซ้ำโรคภัยจะทำให้ร่างกายของเธอไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เธอยอมแพ้ ด้วยความรักในแฟชั่นและความงาม จึงเป็นเรื่องปรกติที่เธอจะแต่งองค์ทรงเครื่องด้วยชุดที่ดีที่สุดเสมอ
“ต้องสวยตลอดเว ถ้าเราคิดว่าเราสวย เราก็จะสวยค่ะ ถ้าเราไม่สวยก็ให้คิดว่าตัวเองสวย เราก็จะสวย ถ้าเราคิดว่าเราไม่สวย เราจะพะวง ออกไปข้างนอกได้ไหม คนจะมองเราไหม ชุดแปลกหรือเปล่า ถ้าเรามั่นใจ เราก็จะสวย ใส่ชุดนอน แต่งหน้าเต็มออกไปข้างนอก เราก็ยังสวย ถ้าเราไม่มั่นใจก็จะแบบ ว้าย ชุดนอนมันจะเหมาะไหมนะ คนจะมองเราไหม”
แม้ในตอนที่พูดคุยกัน เธอก็ยังแสดงให้เราเห็นว่าความมั่นใจคืออาภรณ์ชิ้นสำคัญที่สุด เพราะขณะที่นั่งคุยกันอยู่ แม้เธอจะแต่งหน้าจัดเต็มอย่างประณีต แต่ผมยุ่งเหยิง และสวมเสื้อคลุมชิ้นเดียวเพื่อรอแต่งองค์ทรงเครื่องต่อ เธอก็มีน้ำเสียง กิริยามารยาท และแววตาที่นิ่มนวลอย่างนางงาม จนทำให้คนที่ฟังอยู่รู้สึกเหมือนกำลังเป็นพิธีกรในการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์เลยทีเดียว
บ่ายวันนี้เธอเดินชอปปิงเครื่องสำอางวนไปมาในตลาดวโรรส เข้าร้านนั้นออกร้านนี้เป็นสิบๆ ร้าน ทุกๆ ร้านที่เธอก้าวเข้าไปเต็มไปด้วยคำทักทายและรอยยิ้ม
“โอ๊ย แม่นางงาม ไปไหนมา…”
“มาหาอี่แม่นี่กะ วันนี้เปิ้นสวยก่อ” แก้วลอดฟ้าพูดคุยกับแม่ค้าด้วยภาษาเหนือ เธอเรียกแม่ค้าในย่านนั้นทุกคนว่าแม่ ไม่ว่าจะเป็นร้านเครื่องสำอาง ร้านเสื้อผ้าแฟชั่น ร้านขายผ้าถุงและชุดพื้นเมือง เธอโผล่ร้านนั้นทีร้านนี้ที เข้านอกออกในและหยิบจับเครื่องสำอางในตู้ได้เหมือนเป็นคนในร้าน
“มันก็ไปขอเป็นลูกสาวเขาไปทั่วนั่นแหละ” หนึ่งในแม่ค้า หรือ “อี่แม่” ของแก้วลอดฟ้าเล่าสั้นๆ ปนเสียงหัวเราะ แล้วหันกลับไปเลือกสีลิปสติกให้เธอต่อ
แก้วลอดฟ้ามาเดินตลาดวโรรสด้วยชุดหนังรัดรูปสีแดงเลือดหมูยาวกรอมเท้า เธอเลือกซื้อต่างหูและเครื่องสำอางอีกเล็กน้อย ก่อนเดินลงบันไดไปมีหนุ่มๆ ทักทายเป็นระยะๆ
ในสายตาของแม่ค้าบนชั้น 2 ของตลาดวโรรสแล้ว ลูกสาวคนนี้ไม่ใช่นางงามธรรมดา – เธอเป็นนางงามมิตรภาพ
สำหรับแก้วลอดฟ้าแล้วหน้าตาแบบพิมพ์นิยมไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เธอสวย แต่ความมั่นใจต่างหากคือกุญแจสำคัญ บ่อยครั้งที่เธอออกงานด้วยชุดที่สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับคนรอบข้าง เช่น ชุดหนูน้อยนาจา ชุดเซเลอร์มูน ชุดผีนางกวัก ชุดเจ้าแม่กวนอิมพันมือ แต่ละชุดล้วนเกิดจากการประดิษฐ์ขึ้นจากสิ่งของต่างๆ รอบตัว เธอออกแบบและสร้างชุดขึ้นมาเองทั้งสิ้น แม้กระทั่งครั้งหนึ่งที่เธอขึ้นเวทีเคียงคู่กับ โจอี้ บอย ในเทศกาลดนตรีบิ๊กเมาน์เทน เธอและเพื่อนสาวอีกหนึ่งกลุ่มใหญ่ก็เป็นผู้ออกแบบและประดิษฐ์ชุดแฟนซีสีสันฉูดฉาดสดใสเหล่านั้นขึ้นด้วยตัวเอง
หลายครั้งที่ทั้งชุดและชื่ออันแปลกหูแปลกตาของเธอนั้นนำไปสู่ความเข้าใจผิด
“ครั้งหนึ่งเคยแต่งตัวเป็นนางลัวะ เป็นชนเผ่าดั้งเดิมของล้านนา จูงหมาดำ ในงานรับน้องขึ้นดอย แล้วคนก็ไปเข้าใจกันว่าแก้วลอดฟ้าคือชื่อของหมา มีกระทู้รวบรวมหมาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เขาก็ว่าแก้วลอดฟ้าเป็นหมาคณะวิจิตรฯ ที่จริงหมาชื่อซีอิ๊ว แก้วลอดฟ้าน่ะชื่อคน ขอชี้แจงไว้ตรงนี้ด้วยนะคะ (หัวเราะ)
“เดี๋ยวนี้ทำงานแล้ว เรื่องการแต่งตัวก็ต้องปรับให้เป็นผู้ใหญ่ขึ้น เมื่อก่อนก็จะแฟนซีตอนเป็นนักศึกษา ตอนนี้ทำงานแล้วก็เริ่มอยู่ในกรอบให้ดูน่าเชื่อถือ แต่ก็ยังแฟชั่นอยู่ ยังเต็มที่” เธอเล่าพร้อมเปิดภาพในเฟซบุ๊กให้ดูอีกครั้งหนึ่ง เธอแต่งกายด้วยชุดที่เป็นทางการมากขึ้น แต่ยังคงความเป็นแฟชั่น ชุดสูทสีขาวเข้ารูปกับกางเกงขาบานสีเดียวกัน ดูเป็นมืออาชีพ ทรงผมปัดข้างเรียบร้อย และต่างหูยาวที่ส่องแสงวิบวับ เป็นลุคใหม่ของเธอ
แต่ถัดไปไม่กี่ภาพเป็นภาพของเธอในชุดตัวละครฮีโร่หญิงอย่างวันเดอร์วูแมนเต็มยศ พร้อมถือดาบพลาสติกดูเข้าชุดกัน ขณะที่อีกมือถือฝากระทะไฟฟ้าไว้เป็นโล่ “ทุกครั้งที่แต่งตัวก็จะดูว่าอะไรดัง ช่วงนี้จริงๆ อยากแต่งเป็นพี่ชมพู่ อารยา แต่ชุดเราตัดไม่ทัน ก็เลยเป็นวันเดอร์วูแมนไป ทำชุดเอง กระดาษแข็งล้วนๆ สองวันสองคืน”
เพราะความมั่นใจของเธอ แก้วลอดฟ้าจึงเป็นอะไรก็ได้แม้กระทั่งวันเดอร์วูแมน และด้วยพลังแห่งการคิดบวกของเธอ ยิ่งทำให้ชุดซูเปอร์ฮีโร่สาวสวยนั้นเหมาะกับเธอมากขึ้นไปอีก
ก็เธอน่ะคือวันเดอร์วูแมนทั้งตัวและหัวใจ!
แก้วลอดฟ้า : ผู้ไม่ยี่หระต่อความตาย
ในหนังสือเรื่อง “แก้วลอดฟ้า” ของนักเขียนซีไรต์จากแผ่นดินล้านนาอย่าง มาลา คำจันทร์ นั้นให้คำนิยามของ “แก้วลอดฟ้า” ไว้ว่า หมายถึงเด็กคนหนึ่งซึ่งผ่านความเจ็บป่วยปางตายแล้วรอดมาได้อย่างเหลือเชื่อ ราวกับมีปาฏิหาริย์ เราคิดว่าชื่อ “แก้วลอดฟ้า” ของสาวน้อยผู้มากับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเราคนนี้ก็คงมีความหมายไม่ต่างกัน เพียงแต่แก้วลอดฟ้าในวันนี้ไม่ใช่เป็นเพียงผู้รอดจากความตายเท่านั้น เธอยังเป็นผู้ไม่ยี่หระ ไม่เกรงกลัวต่อความตายอีกด้วย
ท่ามกลางรูปภาพที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา เต็มไปด้วยความสดใสที่ถูกโพสต์ลงหน้าเฟซบุ๊กของเธอ ยังมีภาพวินาทีชีวิตของเธอปะปนอยู่ในนั้น
“วันนี้คุณอาจจะดีสนุกสนาน แต่คุณไม่รู้หรอกว่าอีกกี่นาทีข้างหน้าคุณจะทรุดหนัก รักษาสุขภาพด้วย…รักทุกคน <3.” เป็นคำบรรยายภาพที่แก้วลอดฟ้าเขียนไว้ใต้ภาพ ในชุดผู้ป่วย นอนบนเตียงโรงพยาบาล พร้อมด้วยสายออกซิเจนที่คล้องหูทั้งสองข้าง แม้ในขณะที่เธอยังต้องพึ่งพาออกซิเจนจากสายยางนั้น เธอก็ยังไม่ลืมที่จะส่งต่อรอยยิ้มให้กับทุกๆ คนที่กำลังมองภาพนั้นอยู่
ทั้งจากโรคภัยไข้เจ็บและอุบัติเหตุ แก้วลอดฟ้าต้องเข้าออกโรงพยาบาลหลายต่อหลายครั้ง อาการเบาบ้างหนักบ้าง แต่นั่นไม่ได้ทำให้เธอหวาดกลัวต่อการจากไปเลยแม้แต่นิดเดียว
“ไม่ มันยังไม่ถึงเวลาที่จะคิดเรื่องนั้น เราคิดว่าตอนนี้เรามีความสุข ทำ ทำ ทำ ทำ ทำ ทำให้มันมีความสุข แล้วเราจะลืมทุกอย่าง จะตายวันไหนก็ไม่รู้ ถ้าเรารู้ว่าพรุ่งนี้ต้องตาย วันนี้เราจะเศร้า แบบนี้ใช่ไหม เราเลยต้องสุข ทำอะไรก็สุขให้เต็มที่ อย่าทุกข์ ถ้าวันไหนทุกข์เราจะเสียใจ ยังไม่ได้ตายเลยก็เสียใจแล้ว” จะมีใครพูดถึงความตายได้ดีเท่าคนที่เฉียดความตายมาแล้วเช่นเธอคนนี้
แม้เธอจะบอกเสมอว่าไม่คำนึงถึงเรื่องความตาย แต่เรากลับเห็นว่ามุมมองของแก้วลอดฟ้าต่อความตายนั้นเป็นมุมมองที่ใกล้ชิดมาก เพราะเธอมองว่าความตายเป็นเรื่องใกล้ตัว ใกล้ในระดับที่จะมาถึงเราในวันไหนก็ได้ เธอจึงเห็นมันเป็นเพียงอีกหมุดหมายหนึ่งในชีวิต ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างใดเลย
“ไม่ได้คิดเรื่องความตายอะไรสักอย่าง ถ้าเรามีความสุข เราตายไปก็ไม่เสียใจ เมื่อเราสุขเต็มที่กับโลกนี้แล้วก็เฉยๆ กับความตาย มันเป็นแค่เส้นบางๆ ชีวิตนี้ก็คุ้มแล้ว ได้ทำอะไรเยอะแยะ มีคนรู้จักมากมาย มีคนใส่ใจ มีคนทักทาย ก็โอเคแล้ว จากคนที่เริ่มจากศูนย์ ไม่มีอะไร ไม่มีคนรู้จัก เป็นใครก็ไม่รู้”
สามปี สิบปี หรือห้าสิบปี หลายครั้งที่เรามัวแต่วางเป้าหมายของชีวิตไว้ล่วงหน้า จนลืมมองหาเป้าหมายของชีวิตในวันนี้ ตอนนี้ วินาทีนี้ แต่สำหรับแก้วลอดฟ้าแล้ว เป้าหมายในชีวิตของเธอคือมีความสุขกับชีวิต โดยเริ่มตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป
เป็นการมีความสุขกับเวลานี้จนไม่ต้องยี่หระต่อความตายใดๆ
บทส่งท้ายจากอัญมณีแห่งความสุข
“ใจมันรักอะ รักในสีสัน อยากทำ ถ้าคนอื่นยิ้ม เค้ามีความสุข เราก็มีความสุขที่ทำให้เค้ายิ้ม… แก้วในนิยามของคณะวิจิตรฯ ก็คือคนที่มอบสีสัน เป็นสายตระกูลแก้ว เหมือนเป็นตระกูลที่เกิดมาเพื่อสร้างความสุขให้กับโลก (หัวเราะ)”
คำว่า “แก้ว” ของภาษาเหนือนั้น ในอดีตเป็นชื่อที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งชายและหญิง แต่ในอีกความหมายถึง คำว่าแก้วยังหมายถึงสิ่งที่ประเสริฐ เช่น ช้างแก้ว เมียแก้ว หรือหมายถึงสิ่งที่มีลักษณะใส แวววาว เช่นอัญมณีได้ด้วยเช่นกัน
เธอบอกเราว่า “แก้ว” หมายถึงคนที่มอบสีสันให้กับโลก สร้างความสุข
คำว่า “แก้วลอดฟ้า” ในความหมายของเราจากวันนี้เป็นต้นไป คงหมายถึงอัญมณีแห่งสีสัน อัญมณีแห่งความสุขที่ส่งพลังบวกไปให้ทุกคนที่พบเจอ
“หนึ่ง ยิ้มแย้มแจ่มใส สอง อยากทำอะไรทำ สาม อย่าฝืนตัวเอง สี่ ไม่มีแล้วค่ะ (หัวเราะ)” ก่อนจากกันเธอแอบบอกเคล็ดลับการใช้ชีวิตให้เป็นสุขในแบบของแก้วลอดฟ้ามาด้วย
เธอยิ้มตาหยี บอกลาด้วยความสุข…