ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


หม่อมเจ้าหญิงดวงจิตร จิตรพงศ์ (พ.ศ. 2451-2548) พระธิดาใน “สมเด็จครู” สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเล่าไว้ในหนังสือ “ป้าป้อนหลาน” พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระชันษาครบ 5 รอบ 26 กันยายน 2511 ตอนหนึ่ง ว่าในราชสกุลจิตรพงศ์มีคติยึดถือสืบต่อกันมาว่าห้ามกิน “ปลาสีเสียด” เป็นอันขาด เพราะเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณแก่ “คุณก๋ง” บรรพชนฝ่ายจีน

ท่านหญิงทรงบันทึกไว้ว่า ท่านเคยได้ยินเรื่องนี้มาตั้งแต่ยังเล็ก “จนขึ้นใจเป็นนิทานฟังก่อนเข้านอนทีเดียว” ต้นเรื่องมีอยู่ว่า

“คุณก๋งเป็นจีนพ่อค้า เดินเรือสำเภาค้าขายระหว่างเมืองไทยกับเมืองจีน ครั้งหนึ่งเรือถูกพายุหนักก็หลบเข้าไปอาศัยเกาะกำบังลม แต่เคราะห์ร้ายท้องเรือกระทบหินจนแตกรั่วน้ำไหลเข้าในอับเฉามากมาย พยายามวิดน้ำอุดยาแก้ไขอย่างใด ๆ ก็ไม่สำเร็จ เห็นว่าเรือจะจมเป็นแน่ จึงบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอให้ช่วยคุ้มครอง หากรอดพ้นภยันตรายไปได้ จะทำบุญทำทานให้หนักหนา สักครู่หนึ่งเรือก็หยุดรั่วไปเองโดยไม่มีเหตุผล พอลมพายุผ่านพ้นไปแล้วก็รีบซ่อมแซมเรือ เดินทางกลับมาเข้าท่าได้โดยสวัสดิภาพ เมื่อจัดแจงขนสินค้าขึ้นแล้ว จึงเอาเรือเข้าอู่ซ่อม ก็ได้พบว่ามีปลาสีเสียดแทรกตัวเข้าไปฝังแน่นอยู่ในรอยไม้ที่แตกนั้นจึงได้ทำให้เรือหยุดรั่ว คุณก๋งทำบุญทำทานเป็นอันมาก แล้วสั่งไว้ว่าปลาสีเสียดมีบุญคุณแก่บรรพบุรุษ เพราะฉะนั้นห้ามมิให้ลูกหลานต่อจากท่านไปเจ็ดชั่วโคตรกินปลาสีเสียด ทั้งสาปแช่งไว้ด้วยว่า “หากผู้ใดอกตัญญูฝ่าฝืนคำสั่ง ขอให้เป็นขี้เรื้อนกุฏฐัง”…”

ปลาสีเสียดที่ว่านี้เป็นปลาทะเล ตัวแบนยาว ตัวสีเทาเงิน มีจุดสีเข้มเรียงแถวกันไปด้านข้างลำตัว อยู่ในตระกูลเดียวกับปลาสละ นิยมนำมาทำเป็นปลาเค็ม และคติเรื่องนี้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงยึดถือปฏิบัติเคร่งครัดมาจนตลอดพระชนม์ชีพ ดังที่ท่านหญิงดวงจิตรทรงเล่าไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่มีเครื่องเสวย (อาหาร) เป็นปลาชิ้น ทั้งปลาสดหรือปลาเค็ม สมเด็จฯ จะต้องทรงสอบถามให้แน่พระทัยเสมอว่า “ปลาอะไร ?” “ไม่ใช่ปลาสีเสียดนะ” และหากไม่มีใครยืนยันได้ ก็ถึงกับจะทรงงดเว้น ไม่เสวยอาหารจานนั้น

หม่อมเจ้าหญิงดวงจิตรเล่าด้วยว่า ท่านเคยซักถามสมเด็จฯ ต่อไปอีกว่า “”คุณก๋ง” นี้เป็นบรรพบุรุษฝ่ายไหนยุคใดสมัยใด ก็ได้ความไม่ชัด ต่อมาเมื่อท่านทรงสอบถามในหมู่พระญาติพระวงศ์ ก็พบว่าคติเรื่องห้ามกินปลาสีเสียดนี้ มี “ผู้ที่อยู่ในข่ายถูกสาปไว้” ได้แก่สายสกุลศิริสัมพันธ์ ราชสกุลศิริวงศ์ ราชสกุลในรัชกาลที่ ๕ ทั้งหมด ราชสกุลกุญชร จักรพันธ์ ภาณุพันธ์ และจิตรพงศ์

และเมื่อทรงพยายามสืบค้นดูว่าจะเป็นบรรพชนในชั้นใด ก็ได้ข้อสรุปว่า “คุณก๋ง” น่าจะเป็นคนในชั้นกรุงเก่า คือมีชีวิตอยู่สมัยกรุงศรีอยุธยา และว่าที่จริง “เจ็ดชั่วโคตร” ที่ว่านั้นคงจะผ่านเลยไปนานแล้ว แม้กระนั้นก็ทรงสรุปไว้อย่างงดงามว่า

“ขอแนะนำว่า จงเล่านิทานเรื่องปลาสีเสียดให้ลูกหลานฟังต่อไป เพื่อรักษาชีวิตของคุณก๋งไว้มิให้ตายไปเสีย ให้ยืนยงคงอยู่ในจิตใจของลูกหลานอีกเจ็ดชั่วโคตรเถิด หากไม่เห็นว่าจะมีประโยชน์อย่างอื่น ก็จงนึกเสียว่าช่วยกันสงวนพันธุ์ปลาสีเสียดไว้บ้างเล็กน้อย”

คุณธรรมเรื่องความกตัญญูรู้คุณของ “ท่านแต่ก่อน” นี้ น่านับถือยิ่งนัก เพราะมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่มนุษย์ที่มีบุญคุณแก่ตน หากแต่ยังกว้างขวางครอบคลุมถึงสรรพสัตว์น้อยใหญ่อีกด้วย


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี