ผลงานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 13
งานภาพสารคดีดีเด่น
เรื่อง : ณัฐมน สะเภาคำ
ภาพ : นิสากร ปิตุยะ
pole dance กีฬาชนิดหนึ่งสำหรับคนที่ชอบความท้าทาย ที่ต้องใช้ทั้งความแข็งแรงและความอ่อนช้อยของร่างกาย
ใน 1 วันคนเราเป็นอะไรได้หลายอย่างเกินกว่าที่คนอื่นเห็น บางคนเป็นแม่ในตอนเช้า เป็นพนักงานในตอนกลางวัน และเป็นศิลปินในตอนเย็น ความชอบส่วนตัวกับเวลาส่วนเกินถูกจัดสรรออกมาเป็นการสรรค์สร้างทางเลือกที่จะทำให้เราเป็นอะไรได้มากกว่านั้น
ฉันเดินทางตามแผนที่จากสถานีรถไฟฟ้า สถานีอารีย์ ใจกลางเขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ฉันเดินตามไปจนเจออาคารพาณิชย์ชื่อยศวดี จากนั้นกดลิฟต์ขึ้นไปชั้น 5 จนมาประจันหน้ากับเสาโลหะหกต้นที่ตั้งตระหง่านอยู่ในสตูดิโอ กระจกติดตามผนังสะท้อนท่าทางของฉันออกมา ฝาผนังเพนต์รูปบอลลูนสีดำพร้อมคำว่า “Fly Me to the Moon” ตัวหนังสือตัวใหญ่สะดุดตากลางสตูดิโอที่นำพาทางเลือกในการออกกำลังกายแนวใหม่ “pole dance” มาให้คุณค้นหา
ถ้าพูดถึง pole dance จริงอยู่ว่าภาพลักษณ์ของคนทั่วไปเมื่อแรกเห็นคงจะจินตนาการเป็นหญิงสาวแต่งชุดสายเดี่ยวรัดติ้ว นุ่งสั้นเต้นยั่วยวนบนเสาที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “stripper” เป็นการบริการความสุขผ่านการเต้นเพื่อแลกเงินจากผู้ชายที่มาเที่ยวในตอนกลางคืน หรือคนไทยเรียกเป็นคำบ้านๆ ว่า “เต้นรูดเสา”
แม้คำว่ารูดเสาจะบั่นทอนความเป็นศิลปะไป แต่ในยุคนี้ศิลปะการเต้นกับเสากลับมีผู้คนให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นสตูดิโอโพลแดนซ์อยู่ทั่วประเทศ ฉันจึงต้องเดินทางมาสัมผัสมันเพื่อตอบสนองความใคร่รู้ของตัวเอง หรือจะบอกว่าฉันกำลังทำตัวเป็นไกด์ทัวร์ให้คุณก็ได้
ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ฉันอยากให้คุณลองเปิดใจอ่านโลกอีกใบและทำความรู้จักกับมันดู
อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับกีฬานี้คือเสา ทุกคนจะมีเสาคู่ใจในการเล่นคนละ 1 ต้น สำหรับมือใหม่อาจมีเบาะไว้สำหรับรองรับการกระแทก และก่อนขึ้นเสาต้องวอร์มร่างกายก่อน
หลังจากวอร์มร่างกาย ผู้เล่นก็เริ่มการร่าท่าทางไปบนเสาอย่างอิสระ ไปพร้อมกับจังหวะของเสียงเพลง
ทันทีที่ฉันเดินเข้าไปในสตูดิโอ ความเย็นของเครื่องปรับอากาศด้านนอกก็หายไปและถูกแทนที่ด้วยไอร้อนจากอุณหภูมิในร่างกายของนักเรียนโพลแดนซ์ที่แผ่ออกมาส่งถึงกัน ฉันได้เห็นสีหน้าที่มุ่งมั่นสลับกับสีหน้ายิ้มแย้มของคนในนั้น พวกเขาน่าสนใจพอๆ กับเสียงดนตรีและเสียงหอบหายใจ
ร่างกายของพวกเขาเสียดสีกับเสาเป็นจังหวะ หัวใจของฉันพลันเต้นเร็วขึ้น กลายเป็นความตื่นเต้นราวกับโดนสะกดจิตให้มีชีวิตชีวา ฉันเริ่มสัมผัสได้ถึงความไม่ธรรมดาของกีฬาชนิดนี้และมันได้จุดประกายให้ฉันก้าวไปลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน
การเดินทางของโพลแดนซ์นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ประวัติของโพลแดนซ์คือการผสมผสานการเต้นกับแอโรบิกโดยใช้อุปกรณ์เป็นเสาเหล็ก การเต้นชนิดนี้ไม่ได้เป็นเพียงการเต้นยั่วยวนในคลับเท่านั้น แต่ได้กลายมาเป็นกีฬาที่นิยมเล่นกันในโซนยุโรปและทวีปอเมริกา ก่อนจะเดินทางมาถึงเอเชีย อย่างจีน ไต้หวัน สิงคโปร์ และเมืองไทยเองในปี 2545
โอ-กมลทิพย์ ตั้งเทียนทอง ผู้บริหารสตูดิโอ Fly Me to the Moon และนักเรียน
เธอเล่าความเป็นมาของ “โพลแดนซ์” ในฐานะการออกกำลังกายแนวฟิตเนสครั้งแรกของประเทศไทยว่า เกิดขึ้นพร้อมกับการเปิดตัวของฟิตเนส California Wow ที่กรุงเทพมหานคร มีสมาชิกที่มีฝีมือจำนวนหนึ่ง แต่หลังจากการปิดตัวของแคลิฟอร์เนียว้าว สมาชิกเหล่านั้นได้เดินทางไปแข่งขันตามประเทศต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับและทยอยเปิดสตูดิโอโพลแดนซ์ของตัวเอง
โดยเฉพาะใน 3 ปีที่ผ่านมานี้เราจะเห็นโพลแดนซ์เติบโตอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทั้งนักเต้นจากประเทศไทยที่ไปแข่งขันและชนะการประกวดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะตามสื่อ โฆษณา เช่น รายการโชว์ทางโทรทัศน์ งานเปิดตัวสินค้า ห้างร้าน โรงแรม ฯลฯ ต่างก็ให้ความสนใจการแสดงโพลแดนซ์มากขึ้น
เธอเล่าพร้อมท่าทางที่กระตือรือร้นและสายตาที่ลุกวาวราวกับทุกย่างก้าวการเติบโตของโพลแดนซ์คือการเติบโตของเธอในโลกใบนั้น
บางครั้งเกิดความผิดพลาดขึ้นในขณะเล่น ลงจากเสาไม่ได้กว่าจะเป็นท่าที่สวยงามต้องผ่านการฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
ริ้วของกล้ามเนื้อที่เห็นบนแขน ทำให้เห็นว่าท่าทางความสวยงามที่เห็นอยู่บนเสาต้องใช้พละกำลังและความแข็งแรงของร่างกายค่อนข้างมาก
ฉันเดินผ่านสตูดิโอตู้กระจกผ่านเข้าไปในห้องแต่งตัวที่จงใจตกแต่งให้บรรยากาศคล้ายกับหลังเวทีการแสดง ฉันสวมเสื้อผ้าตามคำแนะนำของครูผู้สอนว่าควรใส่สปอร์ตบราและกางเกงขาสั้นเพื่อให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้อิสระที่สุด และการใส่สั้นก็ไม่ใช่เหตุผลของการเปิดเผยสัดส่วนร่างกายอย่างไร้เหตุผลเพราะการเล่นโพลแดนซ์นั้นต้องอาศัยความฝืดของเนื้อหนังทั้งเอวและข้อพับในการยึดเกาะกับเสา
สิ่งที่ฉันเห็นเด่นที่สุดในห้องนั้นคือเสาโลหะที่ยึดเกาะกับเพดาน เป็นเสาที่มีสองสภาพ โหมดแรกคือ static pole หมายถึงเสานิ่ง เสาที่ยึดให้อยู่กับที่ หากผู้เล่นต้องการขยับจะต้องใช้แรงมหาศาลในการโน้มตัวไปตามแรงโน้มถ่วงของโลกขยับเป็นท่าทางซึ่งจะต้องใช้ความชำนาญอย่างมาก เหมาะกับการทดสอบความแข็งแรง
ส่วนเสาชนิดที่ 2 จะเป็นเสาที่ใช้ในคลาสเรียน เรียกว่าโหมด spinning pole หมายถึงเสาที่ถูกไขให้หลวมไว้ เสาชนิดนี้จะหมุนเมื่อเราเหวี่ยงตัว และจะเกิดการหมุนอย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องอาศัยแรงมาก ทำท่าทางได้สะดวกกว่า เหมาะกับการเต้นประกอบเพลง
ส่วนบริเวณรอบข้างเสาจะมีเบาะวงกลมวางไว้เป็นที่รองรับร่างกายในยามโรยตัวลงจากเสาโดยที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม นอกจากอุปกรณ์หลักในคลาสแล้วก็มีผ้าฉีดแอลกอฮอล์ให้เช็ดเสาเอาเหงื่อที่เป็นตัวการสำคัญของความลื่นออกไป และสำหรับคนที่เหงื่อออกมือมากๆ จะมี dry hands ผงชอล์กในรูปแบบของน้ำที่ช่วยทำให้มือฝืดขึ้น
“แต่จริงๆ การเล่นโพลแดนซ์เราไม่จำเป็นต้องใช้อะไรเลยนะ เราใช้แค่ตัวเรา”
หญิงสาวย้ำขณะที่ฉันจดคำสัมภาษณ์ เธอคงอยากให้ฉันรับรู้ว่าการเล่นโพลแดนซ์ง่ายกว่าที่คิด คุณไม่ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ให้มากความเหมือนกีฬาประเภทอื่น เพียงแค่เราใช้ใจกับร่างกายก็สามารถส่งตัวเองขึ้นเสาได้ทันที
ใน 1 ชั่วโมงของคลาส โพลแดนซ์จะถูกแบ่งออกเป็นสามช่วงใหญ่ ช่วงแรกจะเป็นการอบอุ่นร่างกาย (warm up) และการยืดหยุ่น (stressing) ให้ไหล่เปิดเพราะจะต้องใช้แขนเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเริ่ม ช่วงของการเต้นโพลแดนซ์ซึ่งสามารถแยกย่อยออกเป็นสามประเภท โพลประเภทที่ 1 เรียกว่าโพลสปอร์ต (sport pole) จะเป็นการใช้เทคนิคเฉพาะสำหรับการใช้ความแข็งแรงของส่วนต่างๆ ในร่างกายในการทำท่าทาง เช่น การเกี่ยวขา การตีลังกาบนเสา เป็นต้น ประเภทที่ 2 คือโพลอาร์ทิสติกหรือโพลเพอร์ฟอม (artistic pole or pole perform) จะเป็นการเต้นประกอบเพลง ดังนั้นจะเน้นไปที่ความพลิ้วไหวของท่าทาง ความสวยงามตามอารมณ์เพลง ประเภทสุดท้ายคือเอ็กซอติกโพล (exotic pole) คือเป็นการเน้นในความเซ็กซี่ของท่วงท่าของสัดส่วนในร่างกายประกอบเพลง และส่วนสุดท้ายคือการคลายร่างกาย (cool down) เพื่อเป็นการบอกร่างกายให้กลับสู่สภาพเดิม เกร็งตรงไหนคลายตรงนั้นเพื่อลดอาการบาดเจ็บ
ฉันยืนมองครูเจม-เจมจิรา วงนอก ผู้รับหน้าที่เป็นครูสอนในคลาสนี้ เธอเป็นผู้หญิงตัวเล็ก แต่ร่างกายในชุดเสื้อสายเดี่ยวสีดำตัดกับกางเกงตัวสั้นสีส้มของเธอนั้นเผยให้เห็นสัดส่วนและกล้ามเนื้อที่สวยงามในทุกครั้งที่เธอจับเสาเหวี่ยงตัว ดัดตัวเป็นท่าทางต่างๆ
เธอเล่าประสบการณ์การเล่นโพลแดนซ์ว่าต้องฝึกฝนอย่างหนักเพียงใดกว่าจะชำนาญ และความพยายามของเธอก็ได้ถ่ายทอดออกมาให้ทุกคนได้เห็นจากทุกท่วงท่าและทุกจังหวะที่เธอทำ การโหนเสาของเธอทั้งติดตาตรึงใจ มีความสวยงามสลับกับความแข็งแรงของร่างกายอย่างลงตัว
ในประเทศไทยคงจะมีอยู่ไม่กี่ร้อยคนที่จะเป็นมืออาชีพและลงแข่งขันได้ ปัจจุบันโพลแดนซ์อยู่ระหว่างการเสนอชื่อให้บรรจุในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เพื่อสลัดภาพลักษณ์ของการเป็น stripper หรือความเซ็กซี่เพียงอย่างเดียวให้ไปสู่ภาพลักษณ์ของกีฬามากขึ้น เพราะกีฬาชนิดนี้ต้องใช้การเกร็งของกล้ามเนื้อทุกส่วนและความแข็งแรงของร่างกายเป็นหลักมากกว่าการโชว์ความยั่วยวน หากโพลแดนซ์ได้บรรจุเป็นกีฬาโอลิมปิกวิธีการตัดสินก็เช่นเดียวกับกีฬาทั่วไป มีท่าบังคับ ให้คะแนนลดหลั่นกันไปตามความยากง่าย มีการหักคะแนนเมื่อหมุนไม่ครบรอบ หรือไม่ไขว้เท้า การตัดสินก็มาจากกรรมการมืออาชีพ มีเวลาการแข่งขันตามกำหนดในหนึ่งบทเพลง ซึ่งในประเทศไทยได้มีการจัดแข่งขันประจำปีที่พัทยาปลายเดือนกรกฎาคม 2560
และนี่คือคำตอบอย่างละเอียดที่อธิบายจากครูเจมเพื่อทำความเข้าใจในอุปกรณ์และทำความรู้จักกีฬาชนิดนี้จนทำให้ฉันต้องนำพาร่างตัวเองไปสู่อีกขั้นตอนหนึ่ง นั่นคือการปฏิบัติจริง
อาจเป็นเพราะบุคลิกที่ไม่ใช่คนเรียบร้อยและรักการเต้น จึงทำให้ฉันรู้สึกว่าที่นี่คงเหมาะกับหลายๆ คนที่เป็นเหมือนกัน มันเป็นความรู้สึกถึงความอยากรู้อยากลอง อยากท้าทายตัวเองว่าเราจะเอาตัวเองขึ้นไปบนเสานั้นอย่างไรและเราจะทำมันได้ไหม
แต่แล้วความมั่นใจตลอด 20 ปีของฉันก็พังลง ฉันทำไม่ได้แม้แต่จะหมุนตัวเองไปกับเสาในคลาสแรก ฉันจินตนาการว่าตัวเองเป็นนักแสดงสาวสุดเซ็กซี่ที่วาดลวดลายบนเสาอย่างสวยงาม แต่ภาพที่ออกมาช่างแตกต่างเหมือนสิงโตทะเลที่เอาตัวเองหนีบกับคันเบ็ด แต่นั่นก็เป็นก้าวแรกที่ทำให้ฉันรู้ว่าโพลแดนซ์ไม่ง่ายเลย
“จุดเด่นของโพลแดนซ์คือ เราทุกคนเป็นไฟต์เตอร์ วันนี้เราทำไม่ได้ พรุ่งนี้เราต้องกลับมาทำอีก” คำพูดของโอที่ถ่ายทอดเข้าสู่หูฉันทำให้ฉันหวนคิดว่าฉันควรจะสู้มันให้มากกว่านี้
การต่อสู้นี่แหละที่เป็นเสน่ห์ของโพลแดนซ์ ทั้งในแง่ของความรู้สึกและการเอาชนะตัวตน
เธอบอกฉันว่าเธอเชื่อว่าผู้หญิงหรือผู้ชายทุกคนที่เล่นโพลแดนซ์เป็นคนไม่ปรกติเพราะสิ่งที่พวกเขาต้องเจอมันมากกว่าสิ่งที่คนอื่นเห็น ภายใต้ความสวยงามของท่วงท่าที่โพสต์ลงบนโซเชียลฯ ครั้งหนึ่งคนเหล่านี้ต้องพบเจอกับคำสบประมาทในภาพลักษณ์ความเซ็กซี่แบบการเต้นรูดเสา บางคนก็ยอมแพ้หันกลับไปเล่นกีฬาอื่น ส่วนคนที่ยังเต้นอยู่นั่นหมายถึงพวกเขาได้ผ่านจุดเปราะบางนั้นมาแล้ว บางส่วนอาจจะตอกกลับ โดยอวดให้เห็นความแข็งแรงของร่างกายและความแข็งแกร่งทางจิตใจที่อยากจะทำในสิ่งที่ชอบ
นิ้วเท้าที่เกร็งเพราะต้องใช้แรงจากขาช่วยในการพยุงขึ้นไปอยู่บนเสา ไม่ได้ใช้เพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย แต่ต้องใช้ทุกส่วน
สิ่งที่พวกเขาต้องสู้เป็นอย่างที่ 2 คือการสู้กับตัวเอง แน่นอนว่ากีฬาชนิดนี้ไม่ได้มีอะไรยึดร่างกายไว้เลย พวกเขาจึงต้องพยายามอย่างมากในการต่อสู้กับความกลัวของตัวเอง บางคนกลัวความสูง บางคนกลัวท่าเต้นใหม่ที่อาจทำให้เจ็บตัว บางคนกลัวการฝึกฝนเพราะคิดว่าทำไม่ได้
“แต่ถ้าเราต้องเจอมันทุกวัน มันจะมีโอกาสที่ทำให้เราได้สู้กับความกลัวในใจเราทุกวัน จนกลายเป็นแกร่ง พอเราเจอความกลัวบ่อยๆ เราจะรู้สึกว่าเราเอาชนะมันได้ แต่เราต้องเรียนรู้ที่จะรู้จักการก้าวข้ามมันไปก่อน”
ฉันตัดสินใจปีนเสาอีกครั้ง ใช้กำลังขาหนีบเสาแน่น ทำทุกอย่างตามที่ครูบอกจนกลายเป็นความสำเร็จ ฉันทำได้แล้ว เสียงปรบมือของสมาชิกในห้อง รอยยิ้มของครูที่ส่งมาให้ ทำให้ฉันรู้สึกว่าการขึ้นมาอยู่บนเสาครั้งนี้เป็นเหมือนขั้นบันไดความภูมิใจเล็กๆ ที่จะผลักดันฉันให้ขึ้นไปในขั้นที่สูงกว่านี้อย่างมีกำลังใจ
ฉันหันไปสังเกตเพื่อนร่วมคลาสอีกทีพร้อมความสงสัย แผ่นหลังสีแดงจากการหนีบตัวเองกับเสา รอยช้ำตรงต้นขาสีเขียวจากการพลัดตกเสา ในเมื่อเสาเป็นของแข็งและร่างกายเราเป็นของนุ่ม เจ็บและยากขนาดนี้ เขาจะทำไปทำไมกัน
“ต่อให้เราเอาเสาไปตั้งที่บ้านมันก็จะอยู่อย่างนั้น มันไม่สนุก ไม่อยากเล่น เหมือนทำงานแล้วเครียดเราก็อยากมาผ่อนคลายและเป็นตัวเองให้เต็มที่” ทะนงศักดิ์ แซ่ทอ (ชื่อในวงการ “ติ๊ดตี่”)
สำหรับ pole dance การเต้นประกอบเพลงก็เหมือนการด้นสดความรู้สึก ได้ใส่ความคิด ใส่ความเป็นตัวเองลงไปจนทำให้การแสดงออกของแต่ละคนถูกถ่ายทอดออกมาไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเพลงเศร้า สนุก
ทุกคนอาจจะได้รับท่าและเรียนรู้การใช้เทคนิคการเต้นที่เหมือนกันก็จริง แต่วิธีที่สื่อออกมาล้วนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้
ในวันหนึ่งๆ พวกเขาอาจจะเป็นนักบัญชี เจ้าของกิจการหรือทำหน้าที่อะไรก็ตาม แต่เมื่อทุกคนก้าวเข้ามาในสตูดิโอ พวกเขาเป็นเหมือนนักเต้นโพลแดนซ์ผู้สรรค์สร้าง สื่อสารเรื่องราวในความเป็นตัวเองถ่ายทอดออกมาเป็นการเต้น ราวกับช่วงนั้นเป็นเวลาแห่งการแสดงสดของชีวิต