ผลงานค่ายสารคดีครั้งที่ 13
งานเขียนสารคดีดีเด่น
เรื่อง : พรไพลิน จิระอดุลย์วงค์
ภาพ : ณัฏฐา รัตนโกสินทร์

คราบแฝง ร่องรอยในก้นถ้วยชา...สุนทรียะนักดื่ม

เสียงแปรงตีชาดังขึ้นเป็นจังหวะ เร็วและเร็วขึ้นๆ เหมือนเสียงจังหวะหัวใจที่เต้นถี่เมื่อรับรู้ถึงความตื่นเต้นบางอย่าง

กลิ่นอ่อนๆ ของ “มัตจะ” ลอยกรุ่นมาแตะจมูก

ชายร่างท้วมในชุดจีนสีน้ำเงินตีชาสีเขียวข้นด้วยสีหน้าสุขุม

“ดื่มให้หมด”

ฉันรับถ้วยชามาถือด้วยสองมือ ยกขึ้นดื่ม สัมผัสอุ่นๆ ผ่านถ้วยเซรามิกใบเก่า ความขมแรกที่สัมผัสลิ้นทำให้ฉันรู้สึกต่อต้าน แต่เมื่อจางลงกลับเป็นรสหวานข้นอวลอยู่ในลำคอ

สดชื่น

ฉันมองชาในถ้วยเหมือนซุปเนื้อละเอียด ยกดื่มอีกครั้งจนหมด ทิ้งคราบหลงเหลือสีเขียวเป็นทางลงก้นถ้วยดุจงานศิลปะ

“ช่วงนั้นผมใช้เวลาทุกเช้าราวครึ่งชั่วโมงกับการดื่มชา”

คุณตี่-จงรักษ์ กิตติวรการ เจ้าของร้านชา Double Dogs tea room ร้านเล็กๆ ห้องเดียวที่แทรกตัวระหว่างตึกแถวริมถนนเยาวราชเล่าถึงช่วงเวลาที่ไปอยู่ญี่ปุ่น บรรยากาศในร้านมีแสงสลัวๆ ตกแต่งเรียบง่ายด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้ ขับเครื่องใช้อุปกรณ์ให้ดูโดดเด่น

เขาจัดวางชาที่ห่ออัดไว้อย่างดีเรียงบนถาดไม้ บรรจงหยิบใส่โหลแก้วชา

“เป็นช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตัวเอง ได้โฟกัสชีวิต ทำให้เรามีพลังไปเริ่มอะไรใหม่ๆ ของวันนั้น”

ชา : ศาสตร์และศิลป์

“ศาสตร์ก็เหมือนความอร่อย การแสดงออกก็คือศิลปะ”

ประโยคที่เอ่ยจากปากชายผู้เคยเป็นอาจารย์ด้านชีวเคมี และเรียนมาด้านเภสัชศาสตร์ กระตุ้นต่อมความสนใจของฉัน

วิทยาศาสตร์กับศิลปะดังทางคู่ขนาน แต่เขากลับแสดงออกอย่างลงตัว

วิทยาศาสตร์ศึกษาเพื่อมองหาจุดเล็กๆ เข้าหาความจริง เป็นอุปกรณ์ไขความจริงที่มีพลัง มีประสิทธิภาพ แต่ในมุมมองของเขากลับพบว่ายิ่งเข้าใกล้ความจริงขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่เคยเข้าถึงความจริงในสิ่งใดๆ

ถึงจุดหนึ่งเขาเลิกทำงานวิจัย เลิกเป็นอาจารย์ และหันเหมาทำ “ชา”

สิ่งที่เขาเรียกว่าเป็นของเล่นกลับกลายมาเป็นธุรกิจ

“เป็นความโชคดีที่ได้เรียนเภสัชฯ ต้องถูกบังคับให้ดูสาร ดมกลิ่น ชิมรส ทำให้รู้ถึงตัวตนของวัตถุดิบ”

“ถ้าเรารู้ว่าอะไรอร่อย ทำจนถึงความอร่อย เราก็จะแหวกได้อย่างมีเป้าหมาย”

ในเชิงสุนทรียะ เป้าหมายคือการเข้าถึงความอร่อย

เริ่มแรกคือต้องกินให้รู้ว่าความอร่อยคืออะไรสำหรับวัตถุดิบนั้น และต้องฝึกทำให้ได้ความอร่อยนั้นเพื่อให้ “เข้าถึง” สิ่งที่เรารู้ว่าคือความอร่อย ในที่สุดเมื่อจะลองใช้วัตถุดิบอื่นหรือทำแหวกไปก็จะรู้เองว่าสำเร็จหรือ
ไม่ ถ้าไม่รู้อะไรเลยแต่แค่อยากทำให้แตกต่าง จะตอบได้อย่างไรว่าดีหรือไม่ดี

สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ภายในดังตาที่ ๓ ที่ต้องเปิดออก ต้องฝึกให้เห็นเอง ดังคำที่เขากล่าวย้ำว่า “เข้าถึง”

คุณตี่ค่อยๆ รินชาในถ้วย เขาหมั่นเติมน้ำร้อนลงในกาชาใบเล็กและรินเติมไม่เคยให้ชาพร่องแก้ว ขณะที่ฉันยกดื่มจนหมดก็จะเป็นช่วงจังหวะพอดีกับที่เขารินน้ำชาอีกครั้ง เป็นความสอดคล้องที่แฝงไว้ด้วยความตั้งใจ

ชาก็เหมือนกับงานศิลป์ แสดงออกตั้งแต่การชง

“ชาที่เปลี่ยนคนชง รสชาก็ไม่เหมือนกัน”

เพราะความรู้สึกที่ใส่ลงไปล้วนแตกต่าง…มนุษย์มักเปิดเผยตัวตนในสิ่งที่เล็กน้อยที่สุด

ศิลปะหรือการจัดฉาก

เสียงกระดิ่งหน้าประตูดังขึ้นแสดงถึงการมีแขกมาเยี่ยมเยือน ลูกค้าอาจมาแวะดื่มคนเดียวบ้าง หรือมานั่งคุยกันเป็นกลุ่มๆ ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ หลายคนคือคนสนิทสนมและนิยมสนใจชาจนพูดคุยกันเรื่องชาอย่างถูกคอ

“ชาและการชงชา แสดงถึงตัวตน วัฒนธรรม”

คนญี่ปุ่นมีพิธีชงชาซึ่งจะต้องทำในห้องพิธีชา ก่อกำเนิดวัฒนธรรมชงชาที่เรียกว่าเทมาเอะ (Temae) ซึ่งไม่ใช่เพียงการดื่มชา แต่องค์ประกอบสำคัญอยู่ที่การชื่นชมคุณค่าและความงามของสิ่งต่างๆ

การจัดวางภายในพิธีชงชาของญี่ปุ่นไม่มีความบังเอิญ ทุกสิ่งล้วนผ่านการคิดมาแล้ว ฤดูกาล ช่วงวัย และจุดประสงค์ของพิธี

เขาลุกเดินไปหยิบห่อผ้าบรรจุกล่องไม้ขนาดกะทัดรัด ภายในมีถ้วยชาญี่ปุ่นขนาดพอดีมือ สีแดงอมส้มคล้ายผลลูกพลับสุกปลั่ง

“อย่างถ้วยชาใบนี้ สวยเมื่อวางในห้องที่ตกแต่งด้วยโทนสีอ่อนหรือขาว การจัดแสงไฟให้พอเหมาะจะทำให้ถ้วยชาดูโดดเด่นสำหรับพิธีชงชาในงานปีใหม่ซึ่งสื่อถึงความสุข ความสดชื่น สดใส ถ้วยชานี้ถือว่าบรรลุจุดประสงค์”

แม้แต่ตำแหน่งแสงไฟหรือการแง้มช่องหน้าต่างเล็กน้อยเมื่อพิธีชงชาเริ่มขึ้นขณะหิมะแรกตกพัดละอองของหิมะเข้ามาผ่านช่องหน้าต่าง ฉากที่แสดงนั้นก็นับว่าสมบูรณ์แบบ ชายหนุ่มผู้รักในชาบอกว่าทุกสิ่งที่คนญี่ปุ่นสื่อสารในการชงชาคือความตั้งใจ การชงชาของญี่ปุ่นจึงต่างจากจีน

“ดื่มชาญี่ปุ่นแล้วรู้สึกต่างไหม”

ฉันก้มลงมองชาในถ้วยที่ขณะนี้เหลือเพียงคราบจางๆ

“อารมณ์เมื่อเราดื่มชาก็แตกต่างกันตามชาแต่ละประเทศ ชามัตจะของญี่ปุ่นจะทำให้เราตื่น แต่ตื่นแบบนิ่งๆ” สมัยก่อนพระจีนหรือพระญี่ปุ่นนิยมดื่มก่อนนั่งสมาธิเพราะช่วยให้จมดิ่ง ไม่ตื่นตระหนกแต่ตื่นรู้

“ชาจีนจะง่ายๆ ไม่เป็นทางการ เน้นการพูดคุยกัน มีความฉูดฉาดมากกว่า”

จงใจอย่างมีศิลปะ

ถ้วยชาขนาดใกล้เคียงกัน แต่ต่างทรงต่างสี คุณตี่จับวางลงอย่างทะนุถนอมข้างตัว ขณะที่พนักงานนำขนมเปี๊ยะชิ้นพอดีคำที่ตัดแบ่งอย่างน่ากินมาเสิร์ฟ ข้างในสอดไส้ถั่วดำไม่หวานจนเกินไป ได้จากการที่เขาตระเวนชิมจนพบร้านอร่อยที่ขายมานานกว่า ๕๐ ปี

“ลองจับด้วยสองมือ รู้สึกยังไงกับถ้วยชานี้บ้าง”

เขาวางถ้วยชาสีครีมผิวขรุขระลงเบื้องหน้า ลักษณะปากแคบ ผิวภายในมีรอยขูดขีดเมื่อผ่านการใช้งานมาแล้ว ฉันหมุนถ้วยช้าๆ พบว่าก้นถ้วยมีรอยบิ่นพอดีกับนิ้วสัมผัส เมื่อฉันหมุนถ้วยจนรู้สึกพอดีมือก็หยุดและถือถ้วยชาไว้อย่างนั้น

“นั่นแหละคือด้านถ้วยที่ถูกต้อง คนปั้นตั้งใจให้มีด้านที่พอดีกับมือผู้ถือมากที่สุด”

การจงใจปั้นให้ไม่กลมสมบูรณ์ การเว้าลงบางจุดของปากถ้วย หรือแม้แต่รอยบิ่นตรงก้นถ้วยไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นการออกแบบให้พอดีกับมือ จัดวางให้ด้านปากดื่มหันเข้าหาผู้ดื่ม และด้านหน้าถ้วยที่แต่งลวดลายหันออก

“พิธีชงชาเกิดขึ้นในชนชั้นสูง บางสำนักจะหมุนถ้วยก่อนดื่ม คนชงชาจะหันด้านหน้าถ้วยซึ่งเป็นด้านที่งามที่สุดของถ้วยชาให้ผู้ดื่ม เมื่อผู้ดื่มรับถ้วยชามาก็จะหมุนถ้วยเพื่อหันด้านหน้าที่งามนั้นให้คนอื่นๆ เห็นแล้วจึงดื่ม เป็นมารยาทอย่างหนึ่ง”

ร่องรอยในถ้วยชาแสดงถึงการผ่านการใช้งานมายาวนาน บางคนจึงนิยมสะสมถ้วยชาที่มีผู้ใช้แล้ว

“ถ้วยชาสำหรับคนญี่ปุ่น ผมมองว่าคือเครื่องบันทึกเหตุการณ์ของบรรพบุรุษ”

หากผู้ที่สะสมเข้าใจและรับรู้ถึงคุณค่าที่ซ่อนอยู่ คงจะตื่นตาไม่น้อย

“ถ้วยใบเดียวกันที่มองได้จากมุมต่างๆ ก็ไม่ต่างจากคน แต่ละคนล้วนมีด้านที่งามและไม่งาม”

ฉันมองถ้วยบิ่นอย่างพินิจ และได้ลองสัมผัสถ้วยใบต่างๆ ด้วยสองมือ แต่ละใบมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน

ชายผู้เชี่ยวชาญในชาเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของถ้วยอย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่ความเป็นมาของตระกูลช่างปั้นถ้วย การสื่อสารด้วยการสร้างตำหนิ สีสันของถ้วย จนถึงผิวสัมผัสภายใน เป็นความรู้ที่ไม่อาจศึกษาจบเพียงวันเดียว

“เราควรทำตัวเป็นชาค่อนถ้วยจึงจะสามารถเติมได้อีก”

ชาดีคืออะไร

เวลาล่วงเข้ายามบ่ายคล้อย “ชาอึ่งกิมกุ่ย” รินลงสู่ถ้วย น้ำชาสีเขียวอ่อนชัดเมื่ออยู่ในถ้วยสีขาว ชาให้รสชาติฝาด แต่กลับกรุ่นกลิ่นหอมชวนจดจำ

“เป็นกลิ่นของดอกสารภี หรือดอกหอมหมื่นลี้”

แค่ได้ฟังชื่อก็รู้สึกหอมมากขึ้นเป็นพิเศษ ความหอมเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของชาอึ่งกิมกุ่ย

“ถ้าเทียบกับชา ‘อู่หลง’ จะไม่ฝาดแบบนี้ แต่หอมคนละแบบ หรือชา ‘ทิกวนอิม’ ก็จะให้สีต่างออกไป แต่ดื่มแล้วเรียกน้ำย่อยช่วยให้อยากอาหาร”
การได้ชงมาก ชิมมาก ก็จะแยกรส แยกคุณสมบัติของชาได้ นี่คือสิ่งจำเป็นของนักชิม นักชงชา

“ชาจีนที่รับเข้ามาที่ร้านทั้งหมดมาจากจีน ชาญี่ปุ่นก็มาจากญี่ปุ่น ชาไทยหาคุณภาพดียาก”

“ชาดีคือชาฟรี เคยได้ยินไหม”

เขาพูดพร้อมรอยยิ้มบนใบหน้า

“คนที่รู้จักไปมาหาสู่เอาชามาให้ เรารู้จักและมั่นใจว่าเขาดื่มชาเป็น ชาที่เขาให้เราก็เชื่อมั่นว่าดี ดื่มครั้งแรกยังไม่รู้สึกพิเศษ แต่เราก็ยังให้โอกาสดื่มครั้งต่อไป”

ร้านชาที่เขาต้องการสื่อสารจึงไม่ใช่การตามกระแส เขาทำร้านชาที่เน้นขายเฉพาะกลุ่ม เฉพาะคนที่รักชาจริง สนใจอยากดื่มชาจริง

“ชาไม่ใช่สำหรับทุกคน ของทุกอย่างถ้าทำให้แมส (mass) จะไม่สามารถทำดีได้ เพราะจะถูกควบคุมด้วยปริมาณ บนโลกนี้ไม่มีชาจำนวนมากสำหรับทุกคนหรอก”

……………….

ฉันคิดว่าชาถ้วยหนึ่งอธิบายตัวตนของมันเองได้เป็นอย่างดี

“ชาดีสำหรับคุณก็คือชาที่คุณชอบ เมื่อคุณชอบคุณจะรู้ว่ามันดีอย่างไร นั่นแหละชาที่ดี…”